Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การสร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยในสมัยโบราณ

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
2,998 Views

  Favorite

การสร้างจิตรกรรมฝาผนังของช่างไทยในสมัยโบราณ

      กรรมวิธีสร้างจิตรกรรมฝาผนังไทยโบราณไม่ได้มีการบันทึกไว้แน่ชัดว่ามีขั้นตอนโดยละเอียดอย่างไร ใช้วัสดุอะไรบ้าง แต่เท่าที่มีผู้ศึกษาและสอบถามช่างเขียนรุ่นเก่าที่ยังมีชีวิตอยู่สามารถเรียบเรียงเป็นความรู้เบื้องต้นได้ว่าต้องมีการเตรียมผนังมีการลงสีรองพื้นด้วยวิธีการพิเศษก่อนที่จะเขียนภาพ  การเตรียมผนังต้องมีกรรมวิธีที่ดีต้องให้ผิวพื้นเรียบเมื่อระบายสีและตัดเส้นจะทำได้อย่างประณีต ผนังที่เตรียมอย่างดีแล้วต้องไม่ดูดสีที่ระบายอีกด้วย  เพื่อไม่ให้พื้นผนังดูดสีที่จะเขียนการเตรียมผนังจึงต้องหมักปูนขาวที่จะฉาบผนังไว้นานราว ๓ เดือนหรือนานกว่านั้น ระหว่างหมักปูนต้องหมั่นถ่ายน้ำจนความเค็มของปูนลดน้อยลง  ต่อจากนั้นจึงนำปูนที่หมักมาเข้าส่วนผสมมีน้ำอ้อยที่เคี่ยวจนเหนียวประมาณความเหนียวของน้ำผึ้งและยังมีส่วนผสมของกาวที่ได้จากยางไม้หรือกาวหนังสัตว์ที่ได้จากการเคี่ยวหนังวัว หนัง ควาย หรือหนังกระต่ายก็มี บางแห่งมีทรายร่อนละเอียดเป็นส่วนผสมอยู่ด้วยส่วนผสมดังกล่าวจะทำให้ปูนมีความแข็ง เหนียว และผิวเรียบเป็นมัน เมื่อปูนฉาบแห้งสนิทแล้วมีการชโลมผนังด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กเพื่อลดความเป็นด่างของผนังเพราะเชื่อว่าด่างจะทำปฏิกิริยากับสีบางสี เช่น สีแดง ให้จางซีด 
      การทดสอบว่าผนังยังมีความเป็นด่างอยู่อีกหรือไม่กระทำได้ด้วยการใช้ขมิ้นขีดที่ผนัง  หากสีเหลืองของขมิ้นเปลี่ยนเป็นสีแดงแสดงว่าผนังยังมีความเป็นด่างต้องชะล้างด้วยน้ำต้มใบขี้เหล็กต่อไปอีกเสร็จจากขั้นตอนการเตรียมผนังก็ถึงการทารองพื้นก่อนการเขียนภาพ  โดยใช้ดินสอพองบดละเอียดนำไปหมักในน้ำกรองเอาสิ่งสกปรกออกไปแล้วทับน้ำให้หมาดนำมาผสมกับกาวที่ได้จากน้ำต้มเม็ดในของมะขามเมื่อแห้งจึงขัดให้เรียบ  ก่อนเริ่มขั้นตอนการเขียนภาพ อนึ่ง ภาพเขียนบนผืนผ้า (พระบฏ) ภาพเขียนบนแผ่นไม้หรือบนกระดาษที่เรียกว่า สมุดข่อย ก็ต้องรองพื้นด้วยวิธีเดียวกันด้วย 

 

 

สีที่ใช้ในการสร้างภาพจิตรกรรม
สีที่ใช้ในการสร้างภาพจิตรกรรม


      สีที่ใช้ระบายภาพเตรียมด้วย ธาตุ หรือแร่ เช่น สีดำได้จากเขม่าหรือถ่านของไม้เนื้อแข็ง สีเหลือง สีนวล ได้จากดินตามธรรมชาติ  สีแดงได้จากดินแดง บางชนิดเตรียมจากแร่ก่อนเขียนต้องนำมาบดให้ละเอียด สีจะละลายน้ำได้ง่ายน้ำที่ใช้ผสมกับน้ำกาวเตรียมจากหนังสัตว์หรือกาวกระถิน โดยผสมในภาชนะเล็ก ๆ เช่น โกร่งหรือกะลา เมื่อใช้ไปสีแห้งก็เติมน้ำใช้สากบดฝนให้กลับเป็นน้ำสีใช้งานได้อีก สีแดง เหลือง เขียว คราม ขาว ดำ ใช้เป็นหลักโดยนำมาผสมกันเกิดเป็นสีอื่น ๆ ได้อีก  นอกจากนี้ยังมีสีทอง คือ แผ่นทองคำเปลว ใช้ปิดส่วนสำคัญที่ต้องการความแวววาวก่อนปิดทองต้องทากาว เช่น กาวได้จากยางต้นรักหรือจากยางต้นมะเดื่อ หลังจากปิดทองแล้วจึงตัดเส้นเป็นรายละเอียด  การตัดเส้นมักตัดด้วยสีแดงหรือสีดำ เพราะ ๒ สีนี้ ช่วยขับสีทองให้เปล่งประกายได้ดีกว่าสีอื่น จิตรกรรมฝาผนังที่เขียนขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว นิยมปิดทองมาก เช่น ภาพพระราชาที่เครื่องแต่งพระองค์ เครื่องสูง ปราสาทราชมณเฑียร ราชรถ ตลอดจนเครื่องประดับฉากอื่น ๆ มีผู้กล่าวว่าในรัชสมัยดังกล่าวนี้เป็นช่วงแห่งความเจริญสูงสุดของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี 

 

ภาพจิตรกรรมฝาผนัง
ภาพจิตรกรรมฝาผนัง


      การตัดเส้นใช้พู่กันขนาดเล็กเรียกกันตามขนาดที่เล็กว่า พู่กันหนวดหนู ความจริงทำจากขนหูวัว มีขนาดใหญ่ขึ้นตามการใช้งาน เช่น ระบายบนพื้นที่ขนาดเล็ก แปรงสำหรับระบายพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำจากรากต้นลำเจียกหรือจากเปลือกต้นกระดังงาโดยนำมาตัดเป็นท่อนพอเหมาะต่อการใช้  นำไปแช่น้ำเพื่อจะทุบปลายข้างหนึ่งให้แตกเป็นฝอยได้ง่ายเพื่อใช้เป็นขนแปรง นอกจากใช้ระบายพื้นที่ใหญ่ที่กล่าวมาแล้วช่างไทยยังใช้ปลายแปรงแตะสีหมาด ๆ เพื่อแตะแต้มหรือที่เรียกว่า กระทุ้งให้เกิดเป็นรูปใบไม้เป็นกลุ่มเป็นพุ่ม นิยมทำกันในจิตรกรรมสมัยกรุงรัตนโกสินทร์วิธีการนี้ใช้แทนการระบายสีและตัดเส้นด้วยพู่กัน ให้เป็นใบไม้ทีละใบซึ่งต้องใช้เวลามากกว่าการใช้แปรงกระทุ้ง การระบายสีตัดเส้นเป็นใบไม้ทำกันในช่วงเวลาของจิตรกรรมสมัยกรุงศรีอยุธยา 

      ในช่วงเวลาต่อมาอิทธิพลตะวันตกที่ไหลบ่าเข้ามาในประเทศไทยอย่างมากมาย ตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีผลต่อการปรับเปลี่ยนลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี  โดยมีพัฒนาการตามแนวจิตรกรรมตะวันตกเรื่อยมา เช่น เขียนให้มีบรรยากาศตามธรรมชาติจนกลายเป็นภาพเหมือนจริงยิ่งขึ้นทุกที รูปแบบจิตรกรรมเช่นนี้สอดคล้องกับแนวความคิดของสังคมที่เริ่มปรับเปลี่ยนเข้าสู่แนวสัจนิยมอย่างตะวันตก เรื่องราวแนวอุดมคติอันเนื่องในพุทธศาสนาถูกแทนที่ความนิยมด้วยภาพเล่าเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์ เช่น พระราชพงศาวดารหรือพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น  พัฒนาการดังกล่าวได้กลายเป็นจิตรกรรมแบบสากลในที่สุด ดังจิตรกรรมที่เขียนขึ้นในปัจจุบันซึ่งมีแนวทางการแสดงออกที่หลากหลาย มีสีให้เลือกใช้มากมายหลายชนิดเป็นสีที่ได้จากการสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ สีน้ำมัน สีอะคริลิก สีน้ำ เป็นต้น เรื่องราวไม่จำกัดอยู่กับเรื่องราวทางศาสนาอีกต่อไป

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow