Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อุดมคติกึ่งสมจริงที่ปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
1,668 Views

  Favorite

อุดมคติกึ่งสมจริงที่ปรับเปลี่ยนมาตามยุคสมัย

      การแสดงออกของช่างเขียนโบราณประกอบจากปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่ทำให้จิตรกรรมไทยแบบประเพณีมีคุณค่าแตกต่างไปจากจิตรกรรมแนวตะวันตก เรื่องราวเนื่องในพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติหรือชาดก ได้รับการถ่ายทอดออกเป็นภาพสืบทอดความนิยมกันมาช้านานและแม้จะเป็นเรื่องราวที่ซ้ำซากแต่ก็มีความแตกต่างกันของแต่ละยุคสมัยตามทัศนคติของสังคมที่แปรเปลี่ยนอันเป็นผลต่อการแสดงออกของช่างเขียนด้วย 

      คัมภีร์เล่มเดียวกันหรือเนื้อเรื่องเดียวกันเมื่อช่างนำมาเขียนเป็นภาพเล่าเรื่องก็มีความแตกต่างกันด้วย  ขึ้นอยู่กับช่างหรือสังคมนั้นให้ความสำคัญต่อประเด็นความเชื่อในเนื้อหาตอนใด เช่น ภาพเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติที่เขียนขึ้นสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาบางแห่งให้ความสำคัญแก่จำนวนอันมากมายจนนับไม่ได้ของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติ  อดีตพระพุทธเจ้าเหล่านั้นเสด็จมาตรัสรู้บนโลกนี้ ก่อนพระพุทธเจ้าของเรา (พระศรีศากยมุนี) ดังกล่าวนี้มีระบุไว้ในคัมภีร์ของพุทธศาสนาโดยมิได้ระบุรายพระนามของพระพุทธเจ้าในอดีตชาติเหล่านั้น  ช่างเขียนนำมาแสดงเป็นภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงรายเป็นแถวแต่ละแถวเรียงซ้อนกันจนเต็มผนัง  ส่วนจิตรกรรมบางแห่งก็เขียนภาพอดีตพระพุทธเจ้าเรียงกันเพียงจำนวน ๒๔ หรือ ๒๘ พระองค์ อันเป็นจำนวนอดีตพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาตรัสรู้ในโลกนี้ซึ่งคัมภีร์เล่มเดียวกันได้ระบุพระนามของแต่ละพระองค์ไว้  การเลือกให้ความสำคัญตอนใดตอนหนึ่งในคัมภีร์คงสะท้อนศรัทธาความเชื่อที่ผิดแผกกันไปบ้าง เรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติได้รับความนิยมน้อยลงในสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์  ภาพที่มีอยู่กลับเป็นภาพเล่าเรื่องมีหลายตอนต่อเนื่องกันแตกต่างจากเรื่องเดียวกันที่เขียนขึ้นเมื่อกว่า ๔๐๐ ปี ที่ผ่านมา แนวความนิยมในการแสดงเรื่อง และลักษณะของภาพที่แตกต่างกันแต่ละสมัยช่วยให้ทราบกำหนดอายุก่อนหรือหลังของภาพจิตรกรรมซึ่งเป็นประโยชน์ในการศึกษาทางด้านประวัติศาสตร์ศิลปะโบราณคดีและทำให้ทราบถึงความเปลี่ยนแปลงทางด้านแนวความคิดที่คลี่คลายปรับเปลี่ยนไปด้วย 

 

จิตรกรรมฝาผนัง


      ภาพเล่าเรื่องนิทานชาดกที่เขียนกันในสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา เขียนเป็นภาพเล่าเรื่องด้วยฉากเหตุการณ์เดียวมีภาพบอกเรื่องราวอยู่อย่างจำกัดเพียงเพื่อให้ทราบเรื่องราวเฉพาะตอนสำคัญเพียงตอนเดียว ตัวอย่างเช่น นิทานชาดกเรื่องมหาชนกที่ช่างเลือกเขียนเพียงฉากเรือของพระมหาชนกที่อับปางอยู่กลางทะเล มีภาพนางมณีเมขลาอุ้มพระมหาชนกให้รอดพ้นจากการจมน้ำแต่เรื่องเดียวกันนี้ที่เขียนขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายและสมัยกรุงรัตนโกสินทร์  นิทานชาดกเรื่องดังกล่าวมีฉากเหตุการณ์อื่นเพิ่มขึ้นรายละเอียดที่ปรากฏในภาพจิตรกรรมฝาผนังมากขึ้นเปิดโอกาสทำให้เราสามารถศึกษาแง่มุมต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์ สังคม ขนบประเพณี ที่แฝงอยู่ในภาพมากขึ้นด้วยจึงเท่ากับว่าจิตรกรรมไทยแบบประเพณีเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์ได้อย่างหนึ่ง 

 

จิตรกรรมฝาผนัง2

      จิตรกรรมเรื่องพุทธประวัติก็เช่นกัน ตอนต่าง ๆ ในพุทธประวัติได้รับการถ่ายทอดเป็นภาพอย่างจำกัดที่เรียกว่า เหตุการณ์ตอนเดียว ระยะหลังจึงมีรายละเอียดประกอบฉากมากขึ้นทุกที โดยแบ่งเป็นฉากย่อย ๆ เพิ่มขึ้นซึ่งเป็นพัฒนาการเช่นเดียวกับภาพเล่าเรื่องพระพุทธเจ้าในอดีตชาติและเรื่องชาดกที่กล่าวมาแล้ว  การคลี่คลายของลักษณะของจิตรกรรมนอกจากช่วยให้เราสามารถสังเกตความแตกต่างของภาพและแนวความคิดในการแสดงออกที่แตกต่างกันไปตามยุคสมัยแล้วยังสะท้อนแนวความคิดวิธีการของช่างเขียนที่แตกต่างไปตามยุคสมัยด้วยกล่าวคือ 

 

จิตรกรรมฝาผนัง3

 

       การแสดงเรื่องเล่าด้วยภาพเหตุการณ์ตอนเดียวของช่างสมัยต้นกรุงศรีอยุธยา มีลักษณะในเชิงสัญลักษณ์เพราะด้วยฉากเหตุการณ์ตอนเดียวก็สื่อให้ผู้ดูนึกถึงเรื่องราวได้ตลอดทั้งเรื่อง ช่างเขียนเลือกเหตุการณ์ในท้องเรื่องมาเขียนเป็นภาพ ย่อมเลือกเหตุการณ์ที่เด่นเพียงพอที่จะเป็นตัวแทนของเรื่องราวทั้งหมด  เมื่อการเขียนภาพเชิงสัญลักษณ์คลี่คลายไปในระยะหลังโดยสร้างฉากเหตุการณ์เพิ่มขึ้นการแสดงออกของช่างจึงสื่อความทางด้านรายละเอียดมากกว่าก่อนเป็นช่องทางที่ช่างได้แสดงศิลปะของตน  โดยสร้างฉากเหตุการณ์ที่ซับซ้อนยิ่งขึ้นรายละเอียดต่าง ๆ ที่เพิ่มมากขึ้นต้องการความสามารถในการออกแบบควบคุมทุกสิ่งที่ปรากฏเป็นภาพให้มีความสอดคล้องแนบเนียนทำให้ผู้ดูภาพเกิดความเพลิดเพลินกับฉากเหตุการณ์ที่ต่อเนื่องกัน  จิตรกรรมที่คลี่คลายมาเป็นลักษณะเช่นนี้เป็นภาพเล่าเรื่องอย่างแท้จริงยิ่งไปกว่าจิตรกรรมที่แสดงฉากสัญลักษณ์ซึ่งแสดงถึงภาพเหตุการณ์ตอนเดียว
      ความแตกต่างดังกล่าวต่างก็มีคุณค่าและมีความหมายโดยเฉพาะ  กล่าวคือช่างเขียนสมัยต้นกรุงศรีอยุธยาแสดงความสามารถในการสื่อเรื่องราวเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงภูมิปัญญาในการคัดเลือกความเด่นชัดของเรื่องออกเป็นภาพเพียงเหตุการณ์ตอนเดียวก็สามารถสื่อความได้ทั้งเรื่อง  ส่วนช่างสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหรือสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ได้ใช้ภูมิปัญญาเชิงช่างของตนเพื่อควบคุมเรื่องราวที่เขียนเป็นฉากเหตุการณ์หลายฉาก มีความหลากหลายของส่วนประกอบฉากให้รวมกันอย่างเป็นเอกภาพ  จิตรกรรมของไทยที่ได้รับอิทธิพลตะวันตกนับตั้งแต่เรื่องราวที่นำมาเขียนภาพที่เป็นเรื่องจริง เช่น พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนลักษณะของจิตรกรรมก็เปลี่ยนมาแสดงความเหมือนจริงตามแนวการเขียนภาพแบบตะวันตกด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow