Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
3,432 Views

  Favorite

ลักษณะของจิตรกรรมไทยแบบประเพณี

      จิตรกรรมไทยแบบประเพณีเด่นชัดด้วยสีที่ระบายเรียบและตัดเส้นแสดงรูปร่างแสดงรายละเอียดของภาพดังภาพบุคคล เช่น พระราชาเสนาบดี บ่าว ไพร่ หรือภาพสัตว์ ต้นไม้ ดอกไม้ ใบไม้ ทั้งหมดเขียนเพื่อให้ดูสมจริงตามเรื่องราวอันเป็นอุดมคติในพุทธศาสนา  งานตัดเส้นในงานจิตรกรรมไทยมีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะนอกจากจะแสดงฝีมือเชิงช่างแล้วยังสะท้อนให้เห็นแนวความคิดทางสังคมระดับต่าง ๆ ภาพพระราชา เจ้านาย หรือบุคคลชั้นสูง ข้าทาส บ่าวไพร่ มีกฎเกณฑ์ในการแสดงภาพแตกต่างกัน การแสดงออกทางด้านความประณีตก็ต่างกันด้วย 

 

       ภาพพระราชาได้รับการตัดเส้นให้ดูอ่อนช้อยรายละเอียดทางด้านสรีระเขียนเพียงเท่าที่จำเป็น โดยไม่แสดงกล้ามเนื้อ รอยต่อ ข้อกระดูก เพราะสิ่งเหล่านี้ขวางกั้นลักษณะเลื่อนไหวที่ก่อให้เกิดความนุ่มนวล งามสง่าอย่างละคร โดยสื่อความตามท้องเรื่องซึ่งชาวไทยมีแนวความคิดว่าพระราชาทรงเป็นเทวราชาหรือสมมติเทพ เครื่องทรงของพระองค์ก็เขียนขึ้นอย่างประณีต พิถีพิถัน ปิดทอง ตัดเส้นอย่างงดงามที่เครื่องประดับ ภาพเจ้านายหน่อเนื้อเชื้อกษัตริย์ก็เขียนอย่างประณีตลดหลั่นลงไป ดังกล่าวนี้เป็นลักษณะแห่งอุดมคติที่อิงความสมจริง 

 

 

จิตรกรรมฝาผนัง


      ภาพเสนาบดีขุนนาง ภาพบ่าวไพร่ มีเครื่องแต่งกายตามยศศักดิ์ฐานะ กิริยาท่าทางของภาพบุคคลเหล่านี้มักเป็นไปอย่างธรรมชาติ ภาพผู้ดีมีกิริยาสุภาพนุ่มนวลไม่ตลกคะนองอย่างภาพชาวบ้าน ซึ่งได้พบเห็นเสมอในฉากที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน 
      ภาพพระพุทธองค์ซึ่งย่อมเป็นภาพประธานในฉากเล่าเรื่องพุทธประวัติตอนต่าง ๆ เขียนขึ้นให้สมจริง โดยผสมผสานกับพุทธลักษณะอันเป็นอุดมคติตามที่คัมภีร์ระบุไว้ กรรมวิธีของจิตรกรรมที่ช่างเขียนนำมาใช้เพื่อเน้นพุทธบารมี ได้แก่ กรอบประภามณฑลรอบพระวรกายหรือกรอบรอบพระเศียร เป็นต้น ประภามณฑล หมายถึง รัศมีที่เปล่งออกมาจากพระพุทธองค์ภายหลังจากที่ทรงตรัสรู้ พระรัศมีรูปเปลวเหนือพระเศียรซึ่งมักปิดทองเพื่อให้ดูแวววาวก็เป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่นิยมใช้ในงานจิตรกรรมไทยแบบประเพณี 

 

จิตรกรรมฝาผนัง2


      ภาพปราสาทราชวัง เครื่องสูงต่าง ๆ ของพระราชามหากษัตริย์มีสีสัน ปิดทอง ตัดเส้น อย่างงดงาม เขียนขึ้นอย่างสมจริงที่อิงความงามอย่างอุดมคติ โดยสอดคล้องกับภาพระราชาขณะที่ภาพบ้านเรือน ภาพสัตว์น้อยใหญ่ ต้นไม้ ท้องฟ้า น้ำ เป็นต้น มีความสมจริงมากกว่า อนึ่งเนื่องจากยังมีภาพบนแผ่นราบเป็น ๒ มิติ คล้ายงานจิตรกรรมแต่ไม่ระบายสีมักอนุโลมจัดไว้ในกลุ่มงานจิตรกรรม ได้แก่ ภาพลายเส้นปิดทองที่เรียกว่า ลายรดน้ำ ภาพลายเส้นจารลงบนแผ่นหินหรืองานประดับมุก ภาพที่มีกรรมวิธีพิเศษต่างกันเหล่านี้ต่างมีลักษณะสำคัญอย่างเดียวกัน คือ ลายเส้นที่งดงามตามแบบฉบับแต่ในงานจิตรกรรมนั้นมีการระบายสีด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow