Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เวชกรรมไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
3,042 Views

  Favorite

เวชกรรมไทย

      เวชกรรมไทยเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งในหลักวิชาการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยทุกคนต้องมีความรู้ด้านเวชกรรมไทยจึงจะประกอบวิชาชีพรักษาผู้ป่วยได้โดยต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในหลักความรู้ ๔ ประการ ได้แก่ รู้สาเหตุของโรค รู้ชื่อโรค รู้ยาสำหรับแก้โรค และรู้ว่ายาใดสำหรับแก้โรคใด ในหลักความรู้นี้แพทย์แผนไทยต้องมีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของโรคซึ่งในตำราการแพทย์แผนไทยเรียก "สมุฏฐานแห่งโรค" เป็นเบื้องต้นเสียก่อนจึงจะรู้ชื่อโรคและรู้ยาสำหรับแก้โรค คำว่า สมุฏฐาน แปลว่าที่แรกตั้งหรือที่แรกเกิดดังนั้น "สมุฏฐานแห่งโรค" จึงหมายถึงที่แรกเกิดแห่งโรคหรือสาเหตุของโรค แพทย์ในสมัยโบราณมักเรียกโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ โดยรวมว่า "ไข้" ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยนั้นความเจ็บป่วยนั้นเกิดจากสาเหตุ ๕ ประการ ได้แก่ ธาตุสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อายุสมุฏฐาน กาลสมุฏฐาน และประเทศสมุฏฐาน

 

การแพทย์แผนไทย
แผนภาพสรุป "สมุฏฐานแห่งโรค" (รวมทั้งธาตุทั้ง ๔) ตามแนวคิดของแพทย์หญิงเพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ
ซึ่งได้ประมวลจากคัมภีร์การแพทย์แผนไทยหลายฉบับ

 

๑. ธาตุสมุฏฐาน 

      หลักวิชาการแพทย์แผนไทยระบุว่าธาตุทั้ง ๔ เป็นองค์ประกอบเบื้องต้นของมนุษย์และเป็นสาเหตุของโรค ธาตุทั้ง ๔ นี้ ได้แก่ ธาตุดิน (หรือปถวีธาตุ) ธาตุน้ำ (หรืออาโปธาตุ) ธาตุลม (หรือวาโยธาตุ) และธาตุไฟ (หรือเตโชธาตุ) แต่บางตำราว่าร่างกายมนุษย์ประกอบด้วยธาตุ ๕ อย่าง โดยมี "อากาศธาตุ" เพิ่มเข้ามาอีกอย่างหนึ่ง 

 

๑) ธาตุดิน
      เป็นองค์ประกอบของร่างกายที่เป็นโครงสร้างซึ่งอธิบายได้ว่า "มีคุณสมบัติไปในทางแข็ง อยู่นิ่ง คงตัว เป็นองค์ประกอบที่ทำให้ร่างกายคงรูปอยู่ได้" ซึ่งน่าจะหมายถึง "อวัยวะที่ประกอบกันเป็นร่างกาย" แพทย์แผนไทยแบ่งอวัยวะของร่างกายที่อยู่ในประเภทธาตุดินออกเป็น ๒๐ อย่าง อาทิ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เส้นเอ็น กระดูก ไขกระดูก ม้าม หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด
๒) ธาตุน้ำ
      เป็นองค์ประกอบของร่างกายที่เป็นของเหลวมีคุณสมบัติซึมซาบทำให้อ่อนตัวเป็นตัวกลางที่ทำให้สิ่งต่าง ๆ ไหลเวียนไปได้ ธาตุน้ำในร่างกายแบ่งออกเป็น ๑๒ อย่าง อาทิ น้ำดี เสมหะ หนอง เลือด เหงื่อ น้ำตา น้ำลาย น้ำมูก น้ำปัสสาวะ
๓) ธาตุลม
      เป็นพลังผลักดันภายในระบบของร่างกายและมีการเคลื่อนไหวหมุนเวียน ธาตุลมแบ่งออกเป็น ๖ ประเภท ได้แก่ ลมพัดขึ้น (คือลมที่พัดตั้งแต่ปลายเท้าตลอดถึงศีรษะและจากกระเพาะอาหารตลอดลำคอ เช่น ลมหาว ลมเรอ) ลมพัดลง (เป็นลมที่พัดตั้งแต่ศีรษะตลอดปลายเท้าและตั้งแต่ลำไส้เล็กลงไปถึงทวารหนัก เช่น ลมผาย) ลมในท้อง (เป็นลมที่พัดอยู่ภายในช่องท้องนอกลำไส้) ลมในลำไส้ (เป็นลมที่พัดอยู่ในกระเพาะอาหารและในลำไส้) ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก
๔) ธาตุไฟ
      เป็นพลังที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นเกิดพลังความร้อนและการเผาไหม้ ธาตุไฟแบ่งออกเป็น ๔ ประเภท ได้แก่ ไฟสำหรับอบอุ่นร่างกาย (เป็นไฟที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นเป็นปกติ) ไฟร้อนระส่ำระสาย (เป็นกำลังความร้อนของอากาศภายนอกที่ทำให้เราต้องอาบน้ำและต้องพัดวี) ไฟสำหรับเผาผลาญร่างกายให้แก่เฒ่า (เป็นไฟที่ทำให้ร่างกายและผิวหนัง ซูบซีดเหี่ยวแห้ง ทรุดโทรม ทุพพลภาพไป) และไฟสำหรับย่อยอาหาร (เป็นไฟที่ทำให้อาหารที่กลืนลงไปแหลกละเอียด)
      ธาตุเหล่านี้จะต้องอยู่อย่างสมดุลหากมีธาตุใดธาตุหนึ่งน้อยไปมากไปหรือผิดปกติไปก็จะทำให้เกิดโรค แพทย์แผนไทยเรียกภาวะที่ธาตุน้อยไปว่า "หย่อน" เรียกภาวะที่ธาตุมากไปว่า "กำเริบ" และเรียกภาวะที่ธาตุผิดปกติไปว่า "พิการ" เมื่อรู้ว่าธาตุใดหย่อน กำเริบ หรือพิการ ก็จะให้ยาแก้ได้ 

๒. อุตุสมุฏฐาน 

      ฤดูเป็นสาเหตุของโรค ฤดูหนึ่ง ๆ ย่อมผันแปรไปตามเดือนและวันตลอดจนดินฟ้าอากาศในคราวที่เปลี่ยนฤดูหากธาตุทั้ง ๔ ของร่างกายมนุษย์เปลี่ยนแปลงตามไม่ทันอาจทำให้เจ็บไข้ได้ป่วยต่าง ๆ ตำราการแพทย์แผนไทยมักจำแนกฤดูเป็นปีละ ๓ ฤดู (แต่บางตำราอาจจำแนกเป็นปีละ ๔ ฤดู หรือปีละ ๖ ฤดู)
ฤดู ๓ ฤดู ได้แก่  
คิมหันตฤดู (ฤดูร้อน) 
      นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ รวม ๔ เดือน ฤดูนี้อากาศร้อนเมื่อสัมผัสหรือกระทบถูกความร้อนจะเป็นธรรมดา เมื่อมีฝนหรืออากาศหนาวเจือมาก็จะเกิดโรค 
วสันตฤดู (ฤดูฝน) 
      นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๔ เดือน ฤดูนี้ร่างกายสัมผัสความเย็นจากฝนอยู่เป็นปกติ เมื่อมีอากาศหนาวและอากาศร้อนเจือมาก็จะเกิดความเจ็บป่วย
เหมันตฤดู (ฤดูหนาว) 
      นับตั้งแต่แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึงแรม ๑ ค่ำ เดือน ๔ รวม ๔ เดือน ฤดูนี้ร่างกายสัมผัสอากาศหนาวอยู่ เมื่อกระทบฝนหรืออากาศร้อนเจือมาก็จะเกิดความเจ็บป่วย 

๓. อายุสมุฏฐาน 

      อายุหรือวัยเป็นสาเหตุของโรค แพทย์แผนไทยแบ่งอายุของคนเราไว้เป็น ๓ ช่วงด้วยกัน ได้แก่ ปฐมวัย (วัยแรกเริ่ม) นับตั้งแต่แรกเกิดจนอายุ ๑๖ ปี แบ่งเป็น ๒ ตอน คือ ตั้งแต่แรกเกิดถึงอายุ ๘ ขวบ ตอนหนึ่งและตั้งแต่อายุ ๘ ขวบถึง ๑๖ ปี  อีกตอนหนึ่ง มัชฌิมวัย (วัยกลาง) นับตั้งแต่อายุ ๑๗ ปี จนถึงอายุ ๓๒ ปี และปัจฉิมวัย (วัยปลาย) นับตั้งแต่อายุ ๓๓ ปี จนถึง ๖๔ ปี โดยหลักวิชาการแพทย์แผนไทยได้กำหนดโรคและสาเหตุของโรคที่อาจเกิดในช่วงวัยต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคตลอดจนการกำหนดตัวยาสำหรับบำบัดโรค

๔. กาลสมุฏฐาน 

เวลาเป็นสาเหตุแห่งโรค แพทย์แผนไทยแบ่งเวลาในวันหนึ่ง ๆ ออกเป็น ๔ ยาม ยามละ ๓ ชั่วโมง โดยกลางวันและกลางคืนมี ๔ ยาม เท่ากัน คือ 
      ยาม ๑ (กลางวัน ๐๖.๐๐ - ๐๙.๐๐ น. กลางคืน ๑๘.๐๐ - ๒๑.๐๐ น.) 
      ยาม ๒ (กลางวัน ๐๙.๐๐ - ๑๒.๐๐ น. กลางคืน ๒๑.๐๐ - ๒๔.๐๐ น.) 
      ยาม ๓ (กลางวัน ๑๒.๐๐ - ๑๕.๐๐ น. กลางคืน ๒๔.๐๐ - ๐๓.๐๐ น.)
      ยาม ๔ (กลางวัน ๑๕.๐๐ - ๑๘.๐๐ น. กลางคืน ๐๓.๐๐ - ๐๖.๐๐ น.)  
ตามหลักวิชาการแพทย์แผนไทยกำหนดโรคและสาเหตุของโรคที่อาจเกิดในช่วงเวลา (ยาม) ต่าง ๆ เพื่อใช้ประกอบการวินิจฉัยโรคและการกำหนดตัวยาสำหรับบำบัดโรค

๕. ประเทศสมุฏฐาน 

      สถานที่เกิดและที่อยู่ก็เป็นสาเหตุแห่งโรคได้เนื่องจากภูมิประเทศ ภูมิอากาศ ที่เกิด ที่อยู่ มีความแตกต่างกันรวมทั้งการสัมผัสเคยชินในถิ่นดั้งเดิมและถิ่นใหม่ย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละคน เช่น หนาว เย็น ร้อน อบอุ่น ชื้นแฉะ ทำให้ธาตุสมุฏฐานแปรปรวนไปด้วยเมื่อย้ายถิ่นฐานภูมิลำเนาย่อมทำให้ผิดอากาศ ผิดน้ำ เนื่องจากคนคนนั้นยังไม่คุ้นเคยกับภูมิลำเนาใหม่ทำให้เจ็บไข้ได้ง่าย ละอองหญ้าแห้งและกลิ่นไอปฏิกูลเน่าเหม็นก็อาจเป็นเหตุให้เกิดโทษได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้หลักวิชาการแพทย์แผนไทยจึงได้จำแนกภูมิประเทศเป็นแบบต่าง ๆ ได้เป็น ๔ แบบ คือ ภูมิประเทศร้อน (บุคคลเกิดในที่สูง เนินเขา และป่าดอน) ภูมิประเทศเย็น (บุคคลเกิดในที่ลุ่มน้ำจืด น้ำฝน เปือกตม) ภูมิประเทศอุ่น (บุคคลเกิดในที่น้ำเป็นกรวดทราย) และภูมิประเทศหนาว (บุคคลที่เกิดในที่ลุ่มน้ำเค็ม เปือกตม) เพื่อให้แพทย์ได้สังเกตไว้ประกอบการวินิจฉัยโรคและกำหนดตัวยาสำหรับแก้โรค

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow