Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ประวัติการแพทย์แผนไทย

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
6,531 Views

  Favorite

ประวัติการแพทย์แผนไทย

      การศึกษาเพื่อให้เห็นภาพการแพทย์ของคนไทยในสมัยโบราณนั้นอาจศึกษาได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีเหลือตกทอดมาจนถึงปัจจุบันซึ่งส่วนใหญ่เป็นหลักฐานเกี่ยวกับการแพทย์ของราชสำนักหลักฐานเหล่านี้สะท้อนภาพรวมของการแพทย์ในแต่ละสมัยได้เป็นอย่างดี

สมัยอยุธยา

     ช่วงก่อนสมัยสุโขทัยถึงสมัยอยุธยาตอนต้นคือตั้งแต่ก่อน พ.ศ. ๑๗๙๒ ถึงราวพ.ศ. ๑๙๙๘ ไม่มีจารึก ตำรา หรือเอกสารโบราณเหลือตกทอดมาให้ได้ศึกษาเรียนรู้การแพทย์แผนไทยในสมัยนั้น อย่างไรก็ดีมีหลักฐานสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพในบางแง่มุมของการแพทย์ในราชสำนักสมัยอยุธยาตอนต้นคือทำเนียบศักดินา ใน "กฎหมายตราสามดวง" ที่ตราขึ้นใน พ.ศ. ๑๙๙๘ มีการระบุศักดินาของข้าราชการพลเรือนที่ปฏิบัติงานด้านการแพทย์ในตำแหน่งต่าง ๆ ตามลำดับโดยแบ่งเป็นกรมต่าง ๆ หลายกรม เช่น กรมแพทยา กรมหมอยา กรมหมอกุมาร กรมหมอนวด กรมหมอยาตา กรมหมอวรรณโรค โรงพระโอสถ แต่ละกรมมีเจ้ากรม และตำแหน่งข้าราชการระดับอื่น ๆ ที่มีศักดินาลดหลั่นกันไปดังปรากฏอยู่ในข้อความนี้


"…ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ นา ๒๐๐๐ พระศรีมโหสถ ราชแพทยาธิบดีศรีองครักษ เจ้ากรมแพทยาหน้า นา ๑๖๐๐ เจ้ากรมหมอนวด ซ้าย ขวา หลวงราชรักษา หลวงราโช นาคล ๑๖๐๐ ออกพระสิทธิสาร เจ้ากรมหมอยาซ้าย นา ๑๔๐๐…"


      ทั้งนี้ตำแหน่ง "ออกญาแพทยพงษาวิสุทธาธิบดี อะไภยพิรียบรากรมพาหุ จางวางแพทยาโรงพระโอสถ" ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลโรงพระโอสถเป็นผู้ที่ถือศักดินาสูงสุดในบรรดาข้าราชการฝ่ายหมอหลวงแสดงให้เห็นบทบาทสำคัญของแพทย์ปรุงยาซึ่งทำหน้าที่ทั้งเสาะหา รวบรวม และดูแลรักษาเครื่องยาสมุนไพรต่าง ๆ รวมทั้งการปรุงยาหลวงและประสานงานกับหมอในกรมอื่น ๆ นอกจากนี้กรมหมอนวดก็เป็นกรมที่มีความสำคัญด้วยเนื่องจาก "การนวด" เป็นการบำบัดโรคพื้นฐานในสมัยนั้น  ในเรื่องนี้เดอ ลาลูแบร์ (de la Loube`re) ราชทูตชาวฝรั่งเศสซึ่งเดินทางมาเข้าเฝ้าสมเด็จพระนารายณ์มหาราชในสมัยอยุธยาได้บันทึกไว้ว่า 


"...ในกรุงสยามนั้นถ้าใครป่วยไข้ลงก็จะเริ่มทำให้เส้นสายยืด โดยให้ผู้ชำนาญการในทางนี้ขึ้นไปบนร่างกายของคนไข้และใช้เท้าเหยียบทๆ..."


      ในสมัยอยุธยาตอนปลายมีหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งแสดงให้เห็นภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์ของบรรพบุรุษไทยคือ "ตำราพระโอสถพระนารายณ์" ตำรานี้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพรหรือคำราชาศัพท์บางคำผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพมีพระวินิจฉัยว่าตำรานี้น่าจะรวบ รวมขึ้นในราวรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าท้ายสระหรืออย่างช้าก็ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศโดยสรุปหลักวิชาการแพทย์แผนไทยในยุคนั้นไว้อย่างสั้น ๆ แต่ได้ใจความยิ่ง  ภาษาที่ใช้ก็ไพเราะสละสลวยใช้การอุปมาอุปไมยอันทำให้เห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายดังข้อความที่คัดมาดังนี้


"….อยํ กาโย อันว่ากายเราท่านทั้งหลายนี้เหตุธาตุทั้ง ๔ เป็นที่ตั้งแห่งกายแลอายุถ้าธาตุทั้ง ๔ มิได้บริบูรณ์เมื่อใด สมุฏฐานก็จะแปรไปให้กำเนิดแก่โรคเมื่อนั้นเวชโชอันว่าแพทย์ผู้พยาบาลไข้สืบไปเมื่อน่าจงพิจารณาให้แจ้งไปในปฐมธาตุทั้งหลายอันจะแปรปรวนพิการกำเริบตามฤดูเดือนวันเวลาอายุที่อยู่ที่เกิดก่อนจึงจะรู้กำเนิดไข้แล้วให้รู้สรรพคุณยาเเลรศยา ทั้ง ๙ ประการก่อนจึงประกอบยา วางยา ถ้าวางยาชอบโรค ๆ นั้นกลัวยาดุจกาเห็นธนู ถ้ามิดังนั้นดุจดังหมู่เนื้อเห็นพระยาไกรสรสีหราชก็จะปลาศหนีไปโดยเร็ว ถ้าดูโรคมิถูกวางยาผิดดังอสรพิศม์อันบุคคลเอาไม้ไปรันลงที่ขนดหาง โรคคือโทโสจะกำเริบขึ้นกลมทั่วสรรพางค์กาย มรณํ อันว่าความตาย ภวิสสติ ก็จะมี ทุวํ แท้จริงถ้าไข้ในคิมหันต์ โลหิตมีกำลังวสันต์ วาโยมีกำลังเหมันต์ เสมหะมีกำลัง กล่าวไว้ดังนี้พอประมาณวิตถารแจ้งอยู่ในฤดู ๖ คัมภีร์มหาโชติรัตแลโรคนิทานนั้นแล้ว"


      จากตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้เองทำให้เรารู้ว่ามีคัมภีร์อย่างน้อย ๒ เล่ม คือ คัมภีร์มหาโชติรัต (ตำราเกี่ยวกับโรคสตรี) และคัมภีร์โรคนิทาน (ตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรค) มีใช้กันอยู่แล้วอย่างน้อยก็ในสมัยอยุธยาตอนปลายและคัมภีร์ทั้ง ๒ เล่มนี้ ยังคงเป็นตำราการแพทย์แผนไทยโบราณที่ผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยใช้ศึกษากันในปัจจุบัน

การแพทย์แผนไทย
ทำเนียบศักดินาของกรมหมอนวดใน "กฎหมายตราสามดวง"

 

      ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้แบ่งออกได้เป็น ๓ ส่วนคือ ส่วนที่ ๑ ว่าด้วยความผิดปกติของธาตุทั้ง ๔ และยาแก้ ส่วนที่ ๒ ว่าด้วยตำรับยาที่มีชื่อเรียก และส่วนที่ ๓ ว่าด้วยตำรับยาน้ำมันและยาขี้ผึ้ง มีตำรับยาบันทึกไว้ทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๘๑ ตำรับ บางตำรับระบุชื่อแพทย์ผู้ประกอบยาตลอดจนวันเดือนปีที่ปรุงยาถวายซึ่งทั้งหมดเป็นยาที่ปรุงถวายในช่วงปีที่ ๓ ถึงปีที่ ๕ ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๒๐๒ - ๒๒๐๔) ที่น่าสนใจอย่างยิ่งก็คือมีการระบุชื่อแพทย์ที่ประกอบยาถวาย ๙ คน ในจำนวนนี้เป็นหมอชาวต่างชาติ ๔ คน คือ หมอจีน ๑ คน (ขุนประสิทธิโอสถจีน) หมอแขก ๑ คน (ออกประสิทธิสารพราหมณ์เทศ) และหมอฝรั่ง ๒ คน (พระแพทย์โอสถฝรั่ง และเมสีหมอฝรั่ง) แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลวัฒนธรรมทางการแพทย์ของต่างประเทศที่เข้ามามีบทบาทและผสมผสานกับภูมิปัญญาดั้งเดิมของไทยมีการใช้เครื่องยาเทศในยาเกือบทุกตำรับที่บันทึกไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ เช่น โกฐต่าง ๆ เทียนต่าง ๆ โหราต่าง ๆ ชะมดเชียง โกฐสอเทศ น้ำดอกไม้เทศ ยิงสม (โสม) อันแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่รู้จักเลือกใช้เครื่องยาดีของต่างประเทศประยุกต์เข้ากับของพื้นบ้านที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่น เช่น ยาขนานที่ ๔๓ ชื่อ "ยาทิพกาศ" เป็นยาเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง ตำราบันทึกยาขนานนี้ไว้ดังนี้


"….ยาทิพกาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกัญชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสายกินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ…."


      ยาทิพกาศขนานนี้เข้าเครื่องยา ๙ สิ่ง เป็นของพื้นบ้านไทย ๕ สิ่ง ได้แก่ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน ฝิ่น และใบกัญชา เข้าตัวยาเทศ ๔ สิ่ง ได้แก่ ยาดำ เทียนดำ การบูร และพิมเสน ตัวยาเทศทั้ง ๔ สิ่งนี้เป็นของต่างชาติที่แพทย์ไทยโบราณนำมาผสมผสานในตำรับยาไทย ยาดำ (aloe) ได้มาจากทวีปแอฟริกา เทียนดำ (black cumin) มาจากอินเดียและเปอร์เซีย การบูร (camphor) มาจากญี่ปุ่นและแถบชายฝั่งตะวันออกของจีน และพิมเสน (Borneo camphor) ได้มาจากรัฐตรังกานู ไทรบุรี และปะลิส ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรไทย

 

การแพทย์แผนไทย
เครื่องยาของ "ยาทิพกาศ" ซึ่งเป็นยาช่วยเจริญอาหาร บำรุงธาตุ แก้ตกเลือดตกหนอง

 

      เมื่อเสียกรุงศรีอยุธยาแก่พม่าใน พ.ศ. ๒๓๑๐ เอกสารและหลักฐานต่าง ๆ ทางประวัติศาสตร์อีกทั้งตำราสรรพวิชาถูกทำลายหรือไม่ก็สูญหายไปมาก ผู้ทรงความรู้จำนวนมากหากไม่ล้มหายตายจากไปก็หนีภัยสงครามหรือถูกจับเป็นเชลยศึก แม้ภายหลังการกอบกู้เอกราชและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นราชธานี ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (พ.ศ. ๒๓๑๐ - ๒๓๒๕) หรือกระทั่งในช่วงต้นของการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีก็ยังไม่สามารถฟื้นฟูการแพทย์แผนไทยขึ้นมาใหม่ให้รุ่งเรืองเทียบเท่าครั้งกรุงศรีอยุธยาได้ 

สมัยรัตนโกสินทร์

      รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการรวบรวมตำราต่าง ๆ ครั้งใหญ่ จากหมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และหมอที่เป็นพระภิกษุสงฆ์ ทั่วพระราชอาณาจักรโดยให้พระพงษ์อำมรินทรราชนิกูลพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นนายกองผู้รวบรวม

 

การแพทย์แผนไทย
ตำรายาที่จารึกไว้บนแผ่นหินอ่อน ประดับที่ผนังด้านนอกบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดราชโอรสาราม กรุงเทพฯ

 

      ตำราแพทย์และตำรายาพระโอสถที่รวบรวมขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๕๕ และมีการตรวจชำระอย่างดีแล้วนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างยาวราว ๓๐ เซนติเมตร ประดิษฐานไว้ที่วัดราชโอรสาราม  ในพ.ศ. ๒๓๖๔ สองปีหลังจากอหิวาตกโรคระบาดครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ จารึกตำรายาบนหินอ่อนซึ่งประดับบนกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาสน์และที่ศาลารายหลังเล็กที่ปลูกติดกับกำแพงแก้วหน้าพระอุโบสถยังคงปรากฏอยู่จนปัจจุบันนี้

 

การแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาที่จารึกตำรายา ณ วัดราชโอรสาราม
 

 

      ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้โปรดเกล้าฯ ให้บูรณปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามครั้งใหญ่  ในพ.ศ. ๒๓๗๕ และโปรดเกล้าฯ ให้พระยาบำเรอราชแพทยา พระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทำหน้าที่สืบหาตำรายาและตำราลักษณะโรคทั้งปวงมาจารึกไว้บนแผ่นศิลาติดไว้ตามศาลาราย มีเรื่องเล่าสืบต่อกันมาว่าผู้ถวายตำรับยาต้องสาบานตนว่ายาขนานนั้นตนได้ใช้มาและไม่ปิดบังแล้วให้พระยาบำเรอราชแพทยาตรวจดูอีกครั้งถ้าเห็นว่าดีก็ให้จารึกไว้โดยให้จารึกชื่อเจ้าของตำรับยากำกับไว้ด้วย จารึกเกี่ยวกับการแพทย์แผนไทยนี้แบ่งออกเป็นหมวดต่าง ๆ ๔ หมวด ได้แก่

๑. หมวดเวชศาสตร์

      เป็นจารึกเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ว่าด้วยสมุฏฐานของการเกิดโรคพร้อมระบุตำรับยาต่าง ๆ ที่ใช้แก้โรคนั้น ๆ ซึ่งมีจารึกไว้ถึง ๑,๑๒๘ ขนาน

การแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาที่จารึกตำรายา ณ วัดราชโอรสาราม

 

๒. หมวดเภสัชศาสตร์ 

      เป็นจารึกว่าด้วยสรรพคุณของเครื่องยาสมุนไพรแต่ละชนิดทั้งที่เป็นของไทยและของเทศ ส่วนที่ใช้ประโยชน์และวิธีการใช้ประโยชน์ มีจารึกไว้ ๑๑๓ ชนิด

 

การแพทย์แผนไทย
แผ่นศิลาที่จารึกตำรายา ณ วัดราชโอรสาราม


๓. หมวดหัตถศาสตร์ (การนวด) 

      เป็นจารึกแผนภาพของโครงสร้างร่างกายมนุษย์แสดงที่ตั้งของเส้นที่ใช้นวด ๑๔ ภาพ และจารึกเกี่ยวกับการนวดแก้ขัดยอก แก้ปวดเมื่อย และแก้โรคต่าง ๆ อีก รวม ๖๐ ภาพ

การแพทย์แผนไทย
การย่อยขนาดตัวยาสมุนไพร โดยใช้ครกตำและหินบดยาของโรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบันคือ โรงพยาบาลศิริราช)

 

๔. หมวดอนามัย (ฤๅษีดัดตน)

      เป็นวิธีการบริหารร่างกายหรือดัดตนสำหรับแก้ปวดเมื่อย จารึกเป็นรูปฤๅษีดัดตนในท่าต่าง ๆ มี ๘๐ ท่า แต่ละท่ามีคำอธิบายประกอบปัจจุบันจารึกที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเหล่านี้มีการรวบรวมจัดพิมพ์เป็นตำราซึ่งยังคงใช้เป็นตำราต้นแบบในการศึกษาวิชาการแพทย์แผนไทยในปัจจุบัน

การแพทย์แผนไทย
พระยาประเสริฐศาสตร์ ธำรง (หมอหนู)

 

      ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ในพ.ศ. ๒๔๑๑ มีพระราชประสงค์ที่จะพัฒนาการแพทย์แบบดั้งเดิมของบรรพบุรุษให้ก้าวหน้าทันสมัยและมีมาตรฐานที่เชื่อถือได้ดังนั้นในพ.ศ. ๒๔๑๓ สองปีหลังขึ้นครองราชย์จึงโปรดเกล้าฯ ให้ชำระตำราแพทย์แผนไทยให้ตรงกับของดั้งเดิมซึ่งก่อนหน้านี้กระจัดกระจายและคัดลอกกันมาจนผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิมมาก และจดเป็นหลักฐานไว้ในหอพระสมุดหลวง ตำราที่ชำระแล้วนี้เรียกว่า ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง ในสมัยนั้นหมอฝรั่งซึ่งส่วนใหญ่เป็นมิชชันนารีได้เข้ามาตั้งโรงพยาบาลแผนตะวันตกกันมากและได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าอยู่หัวซึ่งทรงโปรดการแพทย์แบบดั้งเดิมได้มีพระราชหัตถเลขาแสดงความห่วงใยไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓ ความตอนหนึ่งว่า 


"...ขอเตือนว่าหมอฝรั่งนั้นดีจริงแต่ควรให้ยาไทสูญหรือหาไม่ หมอไทควรจะไม่ให้มีต่อไปภายหน้าหรือควรมีไว้บ้างถ้าว่าส่วนตัวฉันเองสมัคกินยาไทแลยังวางใจหรืออุ่นใจในหมอไทมากถ้าหมอไทจะรักษาแบบฝรั่งหมดดูจะเยือกเย็นเหมือนเหนอื่นไม่เหนพระเหนสงฆ์เลยเหมือนกันแต่ตัวฉันอายุมากแล้วเหนจะไม่ได้อยู่จนเหนหมอไทหมดดอก คนภายหน้าจะพอใจอย่างฝรั่งกันทั่วไปจะไม่เดือดร้อนเช่นฉันดอกกระมังเป็นแต่ลองเตือนดูตามหัวเก่า ๆ ทีหนึ่งเท่านั้น..."


      ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวการแพทย์แผนไทยเจริญก้าวหน้ามากได้โปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งโรงศิริราชพยาบาล (ปัจจุบันเรียกกันทั่วไปว่าโรงพยาบาลศิริราช) ในพ.ศ. ๒๔๓๐ เพื่อเป็นสถานพยาบาลและบำบัดโรคทั้งแบบแผนเดิมและแบบแผนตะวันตก จัดตั้งโรงเรียนแพทยากรขึ้นและจัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ซึ่งมีเนื้อหาของแพทย์แผนเดิมและแพทย์แผนตะวันตกในพ.ศ. ๒๔๓๒ เพื่อใช้ในโรงเรียนแต่จัดพิมพ์ได้เพียง ๓ เล่มเท่านั้นก็ล้มเลิกไป ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๔๐ ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกโรงเรียนแพทยากรขึ้นเป็นโรงเรียนราชแพทยาลัยและยังคงให้เปิดสอนการแพทย์ทั้ง ๒ แบบ คือ แผนเดิมและแผนตะวันตก ในพ.ศ. ๒๔๔๔ กรมพยาบาลได้จัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์เป็นเล่ม ๆ ต่อจากตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ที่ยกเลิกไปโดยการรวบรวมตำราทั้งแผนโบราณที่ตรวจสอบแล้ว เช่น คัมภีร์ปฐมจินดา คัมภีร์ธาตุอภิญญา คัมภีร์ธาตุบรรจบ ตำราแพทย์ฝรั่งที่สอนกันอยู่ในโรงเรียนและในปีเดียวกันนี้มีการผลิตยาตำราหลวงเป็นครั้งแรกจำนวน ๘ ขนาน

 

การแพทย์แผนไทย
พระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง)
 

 

      ในพ.ศ. ๒๔๕๐ มีการจัดพิมพ์ตำราแพทย์ศาสตร์วรรณาโดยพระยาประเสริฐศาสตร์ธำรง (หมอหนู) ได้รวบรวมและเรียบเรียงจากพระคัมภีร์โบราณที่ตรวจสอบแล้วหลายเล่มและตำราแพทย์ ศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวง มี ๒ เล่ม โดยพระยาพิศนุประสาทเวช (หมอคง) ได้รวบรวมและเรียบเรียงจากตำราแพทย์ไทยโบราณหลายเล่ม ตำราแพทยศาสตร์สงเคราะห์ฉบับหลวงทั้ง ๒ เล่มนี้รัฐประกาศให้ใช้เป็นตำราหลวง  ต่อมาในพ.ศ. ๒๔๕๑ พระยาพิศนุประสาทเวชเห็นว่าตำรานี้ยากแก่การศึกษาจึงคัดเอาเฉพาะที่จำเป็นแล้วเขียนขึ้นใหม่ให้ง่ายขึ้น จัดพิมพ์เป็น ๓ เล่มให้ชื่อว่าตำราแพทย์ ศาสตร์สังเขปหรือตำราเวชศึกษาต่อมาได้มีประกาศให้ใช้ตำราทั้ง ๓ เล่มนี้เป็นตำราหลวงเช่นกัน  ในพ.ศ. ๒๔๕๘ หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว ๕ ปี จึงมีการยกเลิกการสอนแพทย์แผนไทยในโรงเรียนราชแพทยาลัยและยกเลิกการจ่ายยาไทยให้ผู้ป่วยในโรงศิริราชพยาบาล ต่อมามีการออกพระราชบัญญัติควบคุมการประกอบโรคศิลปะปีพุทธศักราช ๒๔๖๖ ซึ่งทำให้การแพทย์แผนไทยพ้นจากระบบการแพทย์ของประเทศไทยและการแพทย์แบบตะวันตกเข้ามาแทนที่อย่างสมบูรณ์

      ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชการแพทย์แผนโบราณได้รับการฟื้นฟูและพัฒนาในทุก ๆ ด้านและเรียกชื่อใหม่ว่า "การแพทย์แผนไทย" แทน "การแพทย์แผนโบราณ" จนคุ้นเคยกันในปัจจุบัน  ในพ.ศ. ๒๕๔๒ มีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยพุทธศักราช ๒๕๔๒ พร้อมทั้งได้จัดตั้งหน่วยงานเรียกว่า "สถาบันการแพทย์แผนไทย" ขึ้นตาม พระราชบัญญัติดังกล่าว  ต่อมามีการจัดระบบการบริหารจัดการภายในกระทรวงสาธารณสุขใหม่โดยได้จัดตั้งกรมใหม่ขึ้น "กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก" ขึ้นและได้ให้สถา บันการแพทย์แผนไทยมีฐานะเป็นกองหนึ่งในกรมดังกล่าวทำให้การแพทย์แผนไทยได้รับการฟื้นฟู คุ้มครอง ส่งเสริม จนก้าวหน้าขึ้นดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow