Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การติดตาต่อกิ่ง (Propagation by grafting)

Posted By Plookpedia | 26 เม.ย. 60
13,805 Views

  Favorite

 

 

การติดตาต่อกิ่ง เป็นศิลปะของการเชื่อมส่วนของต้นพืชเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะให้ส่วนของพืชนั้นๆ ติดต่อกัน และเจริญต่อไป เหมือนกับเป็นต้นพืชต้นเดียวกัน ส่วนของต้นพืชที่ต่ออยู่ทางส่วนบน หรือที่ทำหน้าที่เป็นยอดของต้นพืชนั้น เรียกว่า กิ่งพันธุ์ดี (scion) และส่วนของพืชที่ต่ออยู่ทางส่วน ล่างหรือที่ทำหน้าที่เป็นรากเรียกว่า ต้นตอ (stock or rootstock) จะเห็นได้ว่า ในการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการติดตาต่อกิ่ง ส่วนของต้นพืชที่เกี่ยวข้องก็คือต้นตอ และกิ่งพันธุ์ดี ด้วยเหตุนี้การศึกษาเกี่ยวกับต้นตอ และกิ่งพันธุ์ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอันดับแรก

 

 

 

การติดตา
การติดตา 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

ต้นตอ ในการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการติดตาต่อกิ่ง การใช้ต้นตอที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วๆ ไปพอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด 

๑. ต้นตอที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด 

หมายถึง ต้นพืชที่จะใช้เป็นต้นตอนั้นเพาะมาจากเมล็ด เมื่อต้นมีขนาดโตพอแล้ว จึงนำมาใช้เป็นต้นตอ สำหรับติดตาต่อกิ่ง หรือทาบกิ่ง เรามักเรียกต้นตอชนิดนี้ว่า ต้นตอเพาะเมล็ด (seedling-rootstock) เนื่องจากต้นตอชนิดนี้เพาะมาจากเมล็ด อาจมีความผิดเพี้ยนหรือกลายพันธุ์ไปบ้าง จึงต้องมีการคัดเลือกต้นที่ไม่ตรงตามพันธุ์ หรือผิดเพี้ยนไปจากลักษณะที่ต้องการออกเสีย ตลอดจนต้นที่อ่อนแอ หรือมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นต้นตอ เช่น ลำต้นคดบิด หรือมีลักษณะของรอยต่อระหว่างต้นและราก เป็นแบบคอห่านซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดเพาะผิดวิธี ถ้านำต้นพืช ที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ ไปเป็นต้นตอแล้ว มักจะเกิดการหักโค่นตรงบริเวณที่ เป็นคอห่านได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องคัดทิ้งเสีย เนื่องจาก ต้นตอที่ขยายพันธุ์จากเมล็ด มีระบบรากที่หยั่งลึก สามารถจะยึดเกาะต้นได้แข็งแรง จึงได้รับความนิยมใช้เป็นต้นตอ ของไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ทุเรียน มะขาม เป็นต้น พืชพันธุ์ใดก็ตามที่จะนำมาใช้เป็นต้นตอนั้น ควรจะเป็นพันธุ์พืชที่หาเมล็ดได้ง่าย หรือมีเมล็ดมากด้วย

 

 

 

การต่อกิ่ง
การต่อกิ่ง 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

๒. ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ การตอนหรือการแยกหน่อ 

มักเรียกต้นตอเช่นนี้ว่า ต้นตอตัดชำ (cutting stock) ข้อดีของต้นตอชนิดนี้ก็คือ เป็น ต้นตอที่ตรงตามพันธุ์แน่นอน เหมาะที่จะใช้ในงานทดลอง หรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ใช้เป็นต้นตอ ทนโรค ทนแล้ง ทนแฉะ หรือทน สารบางอย่าง แต่เนื่องจากเป็นต้นตอที่มีระบบรากตื้น จึงไม่นิยมใช้กับไม้ยืนต้น แต่มักใช้กับไม้ดอก หรือไม้ประดับที่เป็นพุ่ม เช่น กุหลาบ ชบา ดอนย่า ฯลฯ และพืชพันธุ์ใดก็ตามที่จะนำมาใช้เป็นพันธุ์ ต้นตอนั้น นอกจากจะมีคุณสมบัติพิเศษตามวัตถุ ประสงค์ที่ต้องการแล้ว ควรจะมีคุณสมบัติในการ เจริญเติบโตและการออกรากได้ดีด้วย

ต้นตอ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลเกี่ยวกับความ สำเร็จในการติดตาต่อกิ่ง การเลี้ยงดูต้นตอให้สมบูรณ์ และการเลือกขนาดของต้นตอ ให้พอเหมาะ ในการติดตาต่อกิ่งต้นพืชแต่ละชนิด จะช่วยให้ได้ผลดีขึ้นด้วย 

กิ่งพันธุ์ดี คือ ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นส่วนยอดของต้นพืชที่ต่ออยู่ หรืออาจหมายถึง กิ่งพืช ที่จะนำไปติดหรือต่อบนต้นตอก็ได้ ในการติดตาต่อกิ่ง มีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิ่งพันธุ์ดีที่ควรจะทราบ คือ 

ก. การเลือกกิ่งพันธุ์ดี (selection of scion wood) 

ในการติดตาต่อกิ่ง ทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีที่นำมาติดหรือต่อเข้าด้วยกันนั้น จะต้องมีการสร้างเนื้อเยื่อให้ประสานกัน การสร้างเนื้อเยื่อจะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์หรืออาหารที่มีอยู่ในส่วนของพืชทั้งสอง โดยเฉพาะกิ่งพันธุ์ดี ซึ่งเป็นชิ้นส่วนที่เล็ก ย่อมจะมีอาหารสะสมอยู่น้อย จึงจำเป็นต้องเลือกให้เหมาะสม เพื่อให้การติดหรือต่อได้ผลดี การเลือกกิ่งพันธุ์ดี ที่นิยมปฏิบัติกันทั่วๆไปนั้น อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด คือ 

๑. กิ่งพันธุ์ดีเป็นกิ่งแก่หรือกิ่งที่กำลังพักตัว (brown bud wood) 

เป็นกิ่งที่เจริญในฤดูที่แล้ว หรือปีที่แล้ว ปกติจะมีอายุ ๑ ฤดูหรือไม่เกิน ๑ ปี ลักษณะกิ่งมีเปลือกสีน้ำตาลแข็ง มีอาหารสะสมอยู่มาก ทนต่อการเหี่ยวแห้งและชอกช้ำ สามารถ เก็บรักษาไว้ได้นาน ข้อเสียของการใช้กิ่งชนิดนี้ก็ คือ ตาที่ติดมักจะเจริญช้า จะต้องมีการบังคับตาอย่างหนัก จึงจะแตกเป็นกิ่งได้ 

๒. กิ่งพันธุ์ดีที่เป็นกิ่งอ่อน หรือกิ่งที่กำลังเจริญเติบโต (green wood or green bud)

เป็นกิ่งอ่อนสีเขียวที่กำลังเจริญเติบโต มีอาหารสะสมน้อย เหี่ยวแห้งและชอกช้ำง่าย แต่ก็มีตาที่เจริญได้รวดเร็ว การบังคับตาให้แตกหลังจากติดตาหรือต่อกิ่งแล้ว สามารถทำได้ง่าย 

ในการติดตาต่อกิ่งพันธุ์พืชทั่วๆ ไป เราอาจใช้กิ่งพันธุ์ดีได้ ทั้งที่เป็นกิ่งแก่และกิ่งอ่อน ส่วนการเลือกกิ่ง ถือหลักเกณฑ์การปฏิบัติเช่นเดียวกัน

หลักเกณฑ์ในการเลือกกิ่งพันธุ์ดี 

๑. เป็นกิ่งปีเดียวหรือฤดูเดียว คือ ถ้าเป็น กิ่งแก่ควรมีอายุไม่เกิน ๑ ปี ถ้าเป็นกิ่งอ่อนควรจะมี อายุไม่เกิน ๑ ฤดู เพราะกิ่งที่มีอายุแก่เกินไป ตาที่ ติดมักไม่ค่อยเจริญ 

๒. เป็นกิ่งที่มีตา (bud) แข็งแรง ไม่ว่าจะเป็นตายอดหรือตาข้าง มองเห็นได้ชัดว่า จะเจริญเป็นกิ่งหรือต้นได้งอกงาม ปกติเป็นตาที่อยู่ทางด้านปลายกิ่ง 

๓. เป็นกิ่งที่สมบูรณ์ มีการเจริญปานกลาง คือ มีข้อไม่ห่างจนเกินไป ลักษณะกิ่งกลมไม่ขึ้นเหลี่ยมหรืออวบจนเห็นได้ชัด กิ่งมีความแข็งพอควร โดยเฉพาะกิ่งอ่อน ปกติมักใช้กิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง 

๔. กิ่งมีขนาดพอเหมาะ คือ มีเส้นผ่านศูนย์ กลางขนาดประมาณ  ๑/๔ - ๑/๒ นิ้ว หรือมีขนาดประมาณดินสอดำ และมักใช้  ๒/๓ ของกิ่ง ส่วนใหญ่ จะอยู่ประมาณกลางกิ่งและปลายกิ่ง 

๕. เป็นกิ่งที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรง ได้รับการตรวจแล้วว่า ไม่เป็นโรค โดยเฉพาะโรคที่ติดต่อถ่ายทอดกันได้ด้วยการติดตาต่อกิ่ง เช่น โรคไวรัส เป็นต้น เป็นต้นที่รู้พันธุ์แน่นอน และควรจะเป็น ต้นที่ตัดแต่งไว้สำหรับใช้เป็นกิ่งพันธุ์ดีโดยเฉพาะ 

ข. การเก็บรักษากิ่งพันธุ์ดี (storage of scion wood) 

ในการติดตาต่อกิ่ง กิ่งพันธุ์ดีที่นำมาใช้อาจได้มาจากบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสามารถจะติดหรือต่อ ให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว ซึ่งเรียกกิ่งพันธุ์ดีพวกนี้ว่า กิ่งสด (fresh scion) หรืออาจเป็นกิ่งที่เก็บไว้ใช้ในเวลาอื่น หรือฤดูอื่นที่เหมาะสม ซึ่งเรียกกิ่งพวกนี้ว่า กิ่งเก็บ (storage scion) ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากิ่งแก่ที่พักตัวหรือกิ่งอ่อนสีเขียว และจะนำมาใช้ทันที หรือนำมาใช้ในเวลาต่อไปก็ดี จะต้องปฏิบัติดูแลให้กิ่งที่ตัดมานั้นมีสภาพเหมือนกับ อยู่บนต้นเดิมให้มากที่สุด วิธีที่จะรักษากิ่งพันธุ์ดีให้สดอยู่ได้นานๆ นั้น ควรจะปฏิบัติดังนี้ 

๑. หลังจากที่ตัดกิ่งพันธุ์ดีออกจากต้น จะต้องรีบลดการคายน้ำจากกิ่งที่ตัดทันที โดยเฉพาะกิ่งพันธุ์ดีที่เป็นกิ่งอ่อน และมีใบติดอยู่บนกิ่ง จะมีการคายน้ำออกจากใบได้อย่างรวดเร็ว จะต้องรีบตัดใบออกทันที เหลือแต่โคนก้านใบที่จะใช้จับ เวลาสอดแผ่นตาเท่านั้น 

๒. เก็บกิ่งที่ริดใบหมดแล้วไว้ในที่ชื้น เช่น ในกาบกล้วย ในห่อผ้าที่ชื้นหรือในถุงพลาสติก โดยมีผ้า กระดาษ หรือสำลีชุบน้ำ และบีบจนสะเด็ดน้ำ ใส่ไว้ในถุงแล้วรัดปากถุงพลาสติกให้แน่น 

๓. เก็บห่อหรือถุงที่ใส่กิ่งพันธุ์ดีไว้ในที่ร่ม ชื้นหรือเย็น หรือในห้องที่มีการถ่ายเทอากาศดี 

๔. ถ้ามีห้องเย็นหรือตู้เย็น ควรเก็บกิ่งพันธุ์ ดีไว้ในอุณหภูมิ ๔๐°ฟ. หรือชั้นเก็บผลไม้สด ซึ่งการเก็บกิ่งในอุณหภูมิต่ำเช่นนี้ จะสามารถเก็บกิ่งไว้ได้นาน ๒-๔ สัปดาห์ 

ค. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

ไม่ว่าจะเป็นการติดตา หรือการต่อกิ่งวิธีใด ก็ตาม การเตรียมแผ่นตาในการติดตาและการเตรียม กิ่งตาในการต่อกิ่ง มักจะมีวิธีปฏิบัติคล้ายๆ กัน คือ การเตรียมแผ่นตา 

๑. การเฉือนแผ่นตา ควรเฉือนจากปลาย แผ่นไปทางโคนแผ่น แต่จะเฉือนตาที่ปลายกิ่งหรือ โคนกิ่งก่อนก็ได้ การเฉือนจากปลายแผ่นเช่นนี้เพื่อ ป้องกันการเฉือนหลุดที่ตา 

๒. เฉือนให้แผ่นตา มีความยาว ๑ นิ้ว โดย เฉือนให้เหนือตาครึ่งนิ้วและใต้ตาครึ่งนิ้ว 

๓. ถ้าเป็นพวกกิ่งสด ควรตัดก้านใบให้ เหลือไว้สำหรับจับแผ่นตา แต่ถ้าเป็นกิ่งเก็บหรือกิ่ง สดที่ก้านใบหลุดไปแล้ว ควรเฉือนให้แผ่นตาส่วนที่อยู่เหนือตามีความยาว ๑ นิ้ว เพื่อไว้เป็นที่จับสอด แผ่นตา และจะตัดส่วนที่จับนี้ออก เมื่อสอดแผ่นตาเรียบร้อยแล้ว 

๔. ต้องเฉือนแผ่นตาให้ติดเนื้อไม้เล็กน้อย เพื่อให้เกิดบริเวณของแนวเยื่อเจริญ (cambium layer) ซึ่งจะทำให้เกิดรอยต่อ 

๕. ควรเฉือนที่เดียวให้ตลอดแผ่นตา ไม่ควรขยับมีดหรือแต่งรอยเฉือนให้เรียบภายหลังเพราะจะทำให้รอยเฉือนเป็นคลื่น แนวเยื่อเจริญไม่แนบกันตลอด ทำให้รอยต่อติดกันไม่สนิท 

๖. การติดตาบางวิธีที่ต้องลอกเนื้อไม้ออก ต้องระวังมิให้เปลือกของแผ่นตาย่นหรือช้ำได้เพราะจะทำให้แผ่นตาเสียได้ 

การเตรียมกิ่งตา 

กิ่งตาคือ ชิ้นส่วนของกิ่งพันธุ์ดีที่ใช้ในการต่อกิ่ง ซึ่งจะมีตาตั้งแต่หนึ่งตาขึ้นไป การเตรียมกิ่ง ตาควรปฏิบัติดังนี้ 

๑. เลือกกิ่งพันธุ์ดีที่จะเฉือนให้มีขนาดพอ เหมาะกับแผลที่เตรียมบนต้นตอ และกะบริเวณแผลที่จะเฉือน ให้มีขนาดที่จะสอดได้พอเหมาะ 

๒. เฉือนกิ่งตาทั้งท่อนยาว โดยเฉือนท่อนโคนกิ่งก่อน การเฉือนต้องให้รอยแผลเรียบและตรง ถ้ายังไม่เรียบต้องตั้งต้นเฉือนใหม่ ไม่ควรแต่งแผล ที่เฉือน เพราะจะทำให้รอยแผลเป็นคลื่น และควร ให้รอยแผลที่เฉือนยาว ๑-๑.๕ นิ้ว หรือเท่ากับรอย แผลที่เตรียมบนต้นตอ 

๓. ตัดกิ่งให้มีตาเหลืออยู่บนกิ่งตา ๓-๕ ตา และยาวไม่เกิน ๓ นิ้วโดยตัดให้รอยตัดเหนือตาบน ยาวประมาณ  ๑/๔ นิ้ว 

๔. หลังจากสอดกิ่งตาและพันรอยต่อเรียบ ร้อยแล้ว ควรหาวัตถุคลุมเพื่อรักษากิ่งตาไม่ให้แห้ง ขณะรอการติด โดยเฉพาะกิ่งตาที่เป็นกิ่งอ่อนสีเขียว 

การบังคับตา 

ไม่ว่าการติดตาหรือต่อกิ่ง โดยเฉพาะการต่อกิ่งที่ไม่ตัดยอดต้นตอ หลังจากติดตาต่อกิ่งได้แล้ว จะต้องมีการบังคับตาหรือกิ่งตาที่ต่อ ให้เจริญเป็นยอดพันธุ์ดีตามที่ต้องการ การบังคับตาดังกล่าว อาจจะทำทันที่หลังจากที่ทราบผลการติดหรือต่อแล้ว หรืออาจทำในระยะใดระยะหนึ่ง ที่มีสภาพเหมาะสมในการเจริญของกิ่งตาก็ได้สิ่งที่ต้องพิจารณาในการบังคับตาก็คือ เรื่องของฮอร์โมน ที่ควบคุมการเจริญของตาที่อยู่บนกิ่ง เรื่องของอาหารภายในต้นตอ และเรื่องของสภาพแวดล้อม ในการเจริญของตา ซึ่งจะได้กล่าวต่อไป 

วิธีติดตาต่อกิ่ง 

ในการติดตาต่อกิ่งต้นพืช มีวิธีการต่างๆ ที่ จะทำได้หลายวิธี แต่พอจะแบ่งเป็นวิธีใหญ่ๆ ได้ ๓ วิธี คือ 

๑. การติดตา (bud grafting or budding) 
๒. การต่อกิ่ง (grafting) 
๓. การทาบกิ่ง (inarching or approach grafting) 

การติดตา 

เป็นการต่อต้นพืชแบบหนึ่งที่ใช้กิ่งพันธุ์ดีเพียงตาเดียว พอจะแบ่งวิธีติดตาโดยเฉพาะวิธีที่ใช้กันทั่วๆ ไปได้ ๓ วิธี คือ

๑. การติดตาแบบตัวที (T. budding)

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาต้นพืชแบบตัวที

๑. ต้นตอจะต้องมีเปลือกล่อนสามารถลอกเปลือกต้นตอได้ง่าย
๒. ต้นตอไม่ควรมีขนาดโตเกินไป ควรจะมีขนาดเท่าดินสอดำหรือมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณไม่เกิน ๑/๒  นิ้ว
๓. ไม่เป็นพืชที่มีเปลือกบาง หรือเปลือกเปราะ หรือมีเปลือกหนาเกินไป
๔. เป็นวิธีที่ใช้ในการติดตาต้นพืชทั่วๆ ไป เช่น ใช้กับกุหลาบ พุทรา ส้ม เป็นต้น

วิธีติดตาแบบตัวที

ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ 

๑. เลือกต้นตอบริเวณที่เป็นปล้องแล้วกรีดเปลือกให้ถึงเนื้อไม้เป็นรูปตัวที (T) โดยให้หัวของตัวทีที่กรีดยาวประมาณ ๑/๒ นิ้ว และความยาวของตัวทียาว ๑ - ๑ ๑/๒  นิ้ว ทั้งนี้แล้วแต่ขนาดของต้นตอ 

๒. ใช้ปลายมีดแงะบริเวณหัวตัวทีให้เปลือกเผยอเล็กน้อย แล้วล่อนเปลือกของต้นตอด้วยปลายเขาที่ติดอยู่ที่ด้ามมีด 

ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปโล่ให้ติดเนื้อไม้เล็กน้อย ในกรณีที่พืชนั้นมียางควรจะลอกเนื้อไม้ทิ้ง เพื่อให้มีบริเวณของการเกิดรอยต่อมากขึ้น 

ค. การสอดกิ่งพันธุ์ดีบนต้นตอ 

๑. สอดแผ่นตาลงบนแผลรูปตัวทีที่เตรียมไว้ แล้วค่อยๆ กดแผ่นตาลงไปในแผลให้สนิท และลึกราว ๑/๒  นิ้ว เหนือตา  
๒. ถ้าเปลือกแผ่นตายังเหลือเลยหัวตัวที ให้ตัดส่วนที่เหลือออกพอดีกับหัวตัวที  
๓. ใช้ผ้าพลาสติกที่ตัดเป็นชิ้นขนาดกว้าง ๑-๑.๕ ซม. ยาวราว ๒๐-๒๕ ซม. พันทับแผ่นตาให้แน่น และควรพันจากข้างล่างขึ้นข้างบน  
๔. หลังจาก ๑๐ วัน จึงตรวจ ถ้าตาใดยังสดก็แสดงว่าติด จึงเปิดผ้าพันตาแล้วพันใหม่ให้คร่อมตา

 

ขั้นตอนการติดตากุหลาบแบบตัวที (T)

 

 

กรีดเปลือกต้นตอ ให้ถึงเนื้อไม้เป็นรูปตัวที (T) และแงะบริเวณ ให้เปลือกเผยอเล็กน้อย
กรีดเปลือกต้นตอ ให้ถึงเนื้อไม้เป็นรูปตัวที (T) และแงะบริเวณ ให้เปลือกเผยอเล็กน้อย 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

เฉือนแผ่นตาในกิ่งพันธุ์ดี
กรีดเปลือกต้นตอ ให้ถึงเนื้อไม้เป็นรูปตัวที (T) และแงะบริเวณ ให้เปลือกเผยอเล็กน้อย 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

สอดแผ่นตาบนแผลต้นตอ
สอดแผ่นตาบนแผลต้นตอ 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

แผ่นตาที่ติดเรียบร้อยแล้ว
แผ่นตาที่ติดเรียบร้อยแล้ว 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

๒. การติดตาแบบชิพ (chip budding)

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาแบบชิพก็คือ

๑. เป็นวิธีที่ใช้ในการติดตาต้นพืชที่ลอกเปลือกไม่ได้ เป็นพืชที่มีเปลือกบางหรือเปลือกหนา หรืออยู่ในระยะพักตัว
๒. มักใช้กับพืชที่ไม่มียาง และมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของต้นตอประมาณ ๒/๓  - ๑/๒  นิ้ว
๓. มักใช้ในการติดตา องุ่น ชบา ฯลฯ

วิธีติดตา 

ปฏิบัติดังนี้ (modified chip)

ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ 

๑. เลือกต้นตอที่เปลือกติด หรือที่ชะงักการเจริญ 
๒. เฉือนต้นตอเฉียงลงให้เข้าเนื้อไม้เล็กน้อย และยาวประมาณ ๑ นิ้ว 
๓. เฉือนตัดขวางให้จดโคนแผลที่เฉือนครั้งแรก โดยให้รอยเฉือนนี้ทำมุม ๔๕° กับลำต้น แล้วแกะชิ้นส่วนของพืชที่เฉือนออก 

ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

เฉือนแผ่นตาบนกิ่งพันธุ์ดีให้มีความยาวเท่ากับรอยแผลที่เตรียมบนต้นตอ โดยกะให้ตาอยู่ตรงกลางพอดี

ค. การสอดแผ่นตา

๑. ประกบแผ่นตาบนต้นตอ โดยให้เยื่อเจริญด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้านสัมผัสกับเยื่อเจริญของต้นตอ
๒. ใช้ผ้าพลาสติกพันตา เช่นเดียวกับการติดตาแบบตัวที

 

ขั้นตอนการติดตาองุ่นแบบชิพ

 

เฉือนตันตอเฉียงลงให้เข้าเนื้อไม้
เฉือนตันตอเฉียงลงให้เข้าเนื้อไม้ 
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

เฉือนแผ่นตาในกิ่งพันธุ์ดี
เฉือนแผ่นตาในกิ่งพันธุ์ดี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

สอดแผ่นตาบนแผลต้นตอ
สอดแผ่นตาบนแผลต้นตอ
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

 

๓. การติดตาแบบเพลท (Plate budding)

สิ่งที่ต้องพิจารณาในการติดตาแบบเพลท คือ

๑. มักใช้กับต้นตอที่มีขนาดโต คือ มีเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑/๒  - ๑ นิ้ว
๒. ต้นตอต้องลอกเปลือกได้หรือมีเปลือกล่อน
๓. เป็นพืชที่มีเปลือกหนาและเหนียวพอสมควร
๔. นิยมใช้กับพืชมียาง เช่น มะม่วง ขนุน ยางพารา หรือพืชบางชนิดที่เกิดเนื้อเยื่อช้า เช่น มะขาม หรือน้อยหน่า เป็นต้น

วิธีติดตาแบบเพลท

ก. การเตรียมแผลบนต้นตอ 

๑. เลือกต้นตอบริเวณที่จะทำแผลให้เป็นปล้องที่เรียบและตรง 
๒. กรีดเปลือกต้นตอถึงเนื้อไม้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานเปิดดังภาพ 
๓. เผยอเปลือกต้นตอออกจากเนื้อไม้ ทาง ด้านบน หรือด้านล่างของรอยกรีด แล้วลอกเปลือกขึ้นหรือลงตามรอยกรีดที่เตรียมไว้แล้ว

ข. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี

เฉือนแผ่นตากิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปโล่ ยาวประมาณ ๑ นิ้ว แล้วแกะเนื้อไม้ออก

ค. การสอดแผ่นตาบนแผลของต้นตอ

๑. ประกบแผ่นตาลงบนแผลของต้นตอ จัดแผ่นตาให้อยู่กลางแผลแล้วประกบแผ่นเปลือกของต้นตอทับแผ่นตา แต่ถ้าใช้ตาอ่อนจะต้องตัดแผ่นเปลือกต้นตอตอนบนออก ๓ ส่วนเหลือไว้ ๑ ส่วน
๒. พันผ้าพลาสติกเช่นเดียวกับการติดตาแบบตัวทีหรือแบบชิพ และต้องใช้พลาสติกใส เมื่อใช้ตาอ่อน

 

ขั้นตอนการติดตาขนุนแบบเพลท

กรีดและเผยอเปลือกต้นตอออกจากเนื้อไม้
กรีดและเผยอเปลือกต้นตอออกจากเนื้อไม้
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

เฉือนกิ่งพันธุ์ดี
เฉือนกิ่งพันธุ์ดี
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 5

 

 

 

การต่อกิ่ง 

คือ การต่อต้นพืชโดยใช้กิ่งพันธุ์ดี ที่มีตามากกว่า ๑ ตาขึ้นไป แบ่งประเภทของการต่อกิ่งตามตำแหน่งที่ทำการต่อออกเป็น ๓ แบบ คือ 

๑. การต่อราก (root grafting) 

คือ การนำ เอากิ่งพันธุ์ดีมาต่อกับรากของต้นพืชโดยตรง ซึ่งรากที่นำมาต่อนั้น อาจจะเป็นรากทั้งหมด (whole root) หรืออาจเป็นท่อนราก (piece root) ก็ได้ เป็นวิธีที่ใช้กันทั่วไปในการต่อไม้ผลเมืองหนาว เช่น แอปเปิ้ล และแพร์ และโดยทั่วๆไป มักจะใช้รากต้นพืชที่เพาะจากเมล็ด และเมื่อจะต่อมักจะขุดรากที่กำลัง อยู่ในระยะพักตัวมาต่อในโรงเรือน เรียกการต่อ กิ่งแบบนี้ว่า เบนซ์กราฟท์ (bench graft) 

๒. การต่อต้นตอคอดิน (crown grafting) 

คือ การนำกิ่งพันธุ์ดีมาต่อบนต้นตอในระดับคอดิน (crown) เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการเปลี่ยนพันธุ์องุ่นที่มีอายุมากๆ ให้เป็นพันธุ์ใหม่ที่ต้องการ 

๓. การต่อยอด (top grafting) 

คือการนำกิ่งพันธุ์ดีมาต่อบนต้นตอเหนือระดับผิวดิน รวมทั้งการต่อต้นพืชเหนือระดับผิวดินมากๆ และเป็นต้นพืชที่มีขนาดโต ซึ่งมักจะให้ผลแล้ว เรียกการต่อเช่นนี้ว่า การต่อเปลี่ยนยอด (top working) 

สำหรับวิธีต่อกิ่งโดยทั่วไป ส่วนใหญ่มักเป็นการต่อกิ่งแบบต่อยอด ฉะนั้น วิธีที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ จึงเน้นหนัก เฉพาะวิธีต่อแบบต่อยอดเท่านั้น ซึ่งมีวิธีที่ควรทราบดังนี้

๑. การต่อกิ่งแบบเสียบลิ่ม (cleft grafting)

เป็นวิธีที่นิยมใช้ในการต่อแบบต่อยอดเป็นส่วนใหญ่ สามารถต่อได้ตั้งแต่กิ่งขนาด ๑ นิ้ว ถึง ๔ นิ้ว ใช้กับพันธุ์พืชที่มีเสี้ยนเนื้อไม้ตรง กิ่งพันธุ์ดีควรเป็นกิ่งแก่ และควรต่อขณะที่พืชชะงัก หรือหยุดการเจริญซึ่งเป็นระยะที่เปลือกไม่ล่อนจากเนื้อไม้ หรือเปลือกติด โดยมีวิธีปฏิบัติดังนี้ 

การเตรียมต้นตอ 

๑. ตัดต้นตอให้มีบริเวณที่จะต่อเป็นส่วน ของปล้องที่ตรง 
๒. ผ่าต้นตอให้เป็นแผลลึก ๒-๓ นิ้ว แล้ว แต่ขนาดของกิ่ง 

การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเฉียงลงให้เป็นปากฉลาม ทั้งสองด้าน โดยเฉือนให้มีสันด้านหนึ่งหนากว่าอีก ด้านหนึ่ง 

การสอดกิ่งพันธุ์ดี 

๑. เผยอรอยผ่าบนต้นตอ โดยใช้ใบมีดหรือ ที่เผยอรอยแผลสอดเข้าไปในรอยผ่า แล้วบิดใบมีด ให้รอยผ่าเผยอออก 
๒. สอดโคนกิ่งพันธุ์ดี โดยเอาด้านสันหนา ไว้ริมนอก แล้วจัดให้แนวเยื่อเจริญของรอยเฉือนบนต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี ทับกันด้านใดด้านหนึ่ง
๓. พันด้วยผ้าพลาสติก หรือเชือกปอแล้ว อุดรอยต่อด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง และควบคุมกิ่งตาด้วย ถุงพลาสติกหรือก้านกล้วย 
 

 

๒. การต่อกิ่งแบบเสียบข้าง (side grafting) 

การต่อกิ่งแบบนี้ มักนิยมใช้กับต้นพืชขนาดเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะปลูกอยู่ในกระถาง เป็นการต่อขณะที่เปลือกยังไม่ล่อนเช่นเดียวกัน และไม่ตัดยอดต้นตอ จนกว่ากิ่งที่ต่อติดเรียบร้อยแล้ว จึงตัดต้นตอ และบังคับให้กิ่งพันธุ์ดีแตกตา โดยมีวิธีปฏิบัติ ดังนี้ 

การเตรียมต้นตอ 

๑. เลือกต้นตอที่มีขนาดประมาณ ๑ ซม. หรือขนาดดินสอดำ 
๒. เฉือนต้นตอเฉียงลงเป็นมุมราว ๓๐° ให้ รอยเฉือนยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว และลึกเข้าในเนื้อ ไม้ประมาณ ๑/๓  ของเส้นผ่านศูนย์กลางของต้น

การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

๑. เลือกกิ่งพันธุ์ดีขนาด  ๑/๒ ซม. ยาวประ มาณ ๒-๓ นิ้ว (๕-๗ ซม.) และมีตาอยู่บนกิ่ง ๒-๓ ตา  
๒. เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นรูปลิ่มให้มีแผล ยาวประมาณ ๑-๒ นิ้ว แล้วแต่แผลบนต้นตอ 

การสอดกิ่งพันธุ์ดี 

๑. สอดกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลของต้นตอ โดย โน้มต้นตอไปทางด้านตรงข้ามรอยเฉือนเล็กน้อย แล้วจึงสอดกิ่งพันธุ์ดี จัดรอยเฉือนให้แนวเยื่อเจริญ ทับกันด้านใดด้านหนึ่ง แล้วจึงปล่อยให้ต้นตอกลับ ที่เดิม 

๒. พันด้วยพลาสติกหรือเชือก แล้วหุ้มรอย ต่อด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง 

 

๓. การต่อกิ่งแบบเสียบเปลือก 

เป็นวิธีที่นิยมใช้กันมากในการต่อยอดไม้ผล ที่กิ่งมีขนาดโตประมาณ ๑/๒  - ๔ นิ้ว เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลดีทั้งพืชที่มีเปลือกหนา และเปลือกบาง ข้อดีของการต่อกิ่งวิธีนี้ก็คือ เนื้อไม้จะไม่ถูกผ่าออกจากกัน โอกาสที่รอยต่อจะเน่า หรือถูกทำลายจากเชื้อโรค จึงมีน้อย ข้อเสียเปรียบของการต่อกิ่งวิธีนี้ก็คือ จะต้องต่อขณะที่ต้นตอมีเปลือกล่อน ซึ่งจะเป็นระยะที่ต้นพืช มีการเจริญเติบโตดีเท่านั้น  สำหรับวิธีต่ออาจทำได้สองแบบดังนี้ 

๑. แบบตัดยอดต้นตอ 

การเตรียมต้นตอ 

๑. เลือกต้นตอที่มีเปลือกล่อน แล้วกะดู บริเวณที่จะต่อซึ่งจะต้องเรียบและตรง โดยเฉพาะ ได้รอยตัดตรงบริเวณที่จะต่อ ระยะ ๑-๒ นิ้ว จะต้อง ไม่มีข้อ 

๒. ตัดต้นตอให้ตั้งฉากกับกิ่งหรือต้น แล้ว กรีดเปลือกต้นตอจากหัวรอยตัดลงมาด้านโคนกิ่งให้ ยาว ๑-๒ นิ้ว แล้วเผยอเปลือกต้นตอที่หัวรอยตัด เล็กน้อย 

การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

เฉือนโคนกิ่งพันธุ์ดีเป็นปากฉลาม ให้ยาว ๑-๒ นิ้ว แล้วเฉือนด้านหลังของปลายรอยเฉือน เล็กน้อย 

การสอดกิ่งพันธุ์ดี 

๑. สอดปลายรอยเฉือนของกิ่งพันธุ์ดีลงบน แผลของต้นตอให้ด้านรอยเฉือนด้านยาวหันเข้าหาต้นตอ 
๒. กดกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลและรอยเฉือนจน โคนของรอยเฉือนเสมอกับหัวรอยตัดของต้นตอพอดี 
๓. พันด้วยพลาสติก หรือเชือก แล้วหุ้ม ด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง 

๒. แบบไม่ตัดยอดต้นตอ 

๑. เลือกต้นตอที่เปลือกล่อน และมีขนาด ค่อนข้างโต 
๒. กรีดเปลือกต้นตอบนบริเวณที่จะต่อเป็น รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าฐานเปิด คล้ายการติดตาแบบเพลท แต่ให้มีขนาดของรอยแผลโตกว่าขนาดกิ่งพันธุ์ดีเล็ก น้อย 
๓. เผยอและลอกเปลือกลงมาประมาณ ๑ ๑/๒  - ๒ นิ้ว 
๔. เฉือนแผ่นเปลือกเหนือหัวรอยเฉือน เฉียงลงให้จดหัวรอยกรีดพอดี 

การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี 

เฉือนกิ่งพันธุ์ดีเป็นปากฉลาม และปาด ปลายด้านหลังรอยเฉือนออกเล็กน้อย เช่นเดียวกับ วิธีแรก 

การสอดกิ่งพันธุ์ดี 

๑. ดึงแผ่นเปลือกของต้นตอที่ลอกลงมาให้ เผยอออก 
๒. สอดกิ่งพันธุ์ดีลงบนแผลของต้นตอจน โคนรอยเฉือนเสมอกับหัวรอยเฉือนบนต้นตอพอดี 
๓. พับแผ่นเปลือกต้นตอทับบนกิ่งพันธุ์ดี แล้วพันพลาสติกหรือเชือกและอุดด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง 

การทาบกิ่ง

เป็นวิธีการติดตาต่อกิ่งเช่นเดียวกับการติดตา และการต่อกิ่ง คือ ต้นพืชที่ได้จากการทาบกิ่งจะมีส่วนยอดเป็นพันธุ์ดี และมีรากเป็นพันธุ์ต้นตอเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การทาบกิ่งก็ มีข้อแตกต่างไปจากการติดตาและการต่อกิ่งอยู่ ๒ ประการ คือ 

ก. การทาบกิ่ง เมื่อจะทาบจะต้องนำต้นตอ เข้าไปหากิ่งพันธุ์ดี แทนที่จะนำกิ่งพันธุ์ดีเข้าไปหา ต้นตอเหมือนการติดตาและการต่อกิ่ง ข. การทาบกิ่ง ทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดียัง มีรากเลี้ยงต้นและเลี้ยงกิ่งอยู่ทั้งคู่ ส่วนการติดตา และการต่อกิ่ง จะตัดกิ่งพันธุ์ดีจากต้นที่ต้องการมาติด หรือต่อ จึงต้องรักษากิ่งให้มีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดจน กว่าจะเกิดการเชื่อมกับต้นตอได้ ฉะนั้นโอกาสการ ติดหรือต่อได้สำเร็จจึงมีโอกาสน้อยกว่าการทาบกิ่ง 

วัตถุประสงค์ของการทาบกิ่ง พอจะแบ่ง ออกเป็น ๒ ประการ คือ 

๑. การทาบกิ่งเพื่อการขยายพันธุ์ 
๒. การทาบกิ่งเพื่อเปลี่ยนพันธุ์ 

สำหรับการทาบกิ่งเพื่อการขยายพันธุ์ มีวิธีการที่นิยมใช้อยู่ ๒ แบบ คือ 

๑. การทาบกิ่งที่คงยอดต้นตอไว้ 

เป็นวิธีทาบกิ่งแบบประกับ (spliced-approach graft) ที่นิยมปฏิบัติกันดั้งเดิมทั่วๆ ไป การมียอด หรือมีใบของต้นตอไว้ ก็เพื่อที่จะให้ใบได้สร้างอาหารไปเลี้ยงรอยต่อให้เกิดเร็วขึ้น และแม้การทาบจะไม่สัมฤทธิผลในครั้งแรก ก็ยังมีโอกาสที่จะทาบแก้ตัวได้ใหม่อีก โดยที่ต้นตอไม่ได้รับการกระทบกระเทือนมากนัก การทาบกิ่งวิธีนี้ ข้อยุ่งยากอยู่ที่ จะต้องคอยรดน้ำต้นตอขณะทาบอยู่เสมอๆ ฉะนั้นจึงไม่ใคร่นิยมทำกัน ในปัจจุบัน ส่วนวิธีการทาบนั้น ปฏิบัติดังนี้ 

๑. เลือกต้นตอ และกิ่งพันธุ์ดีให้บริเวณที่ จะทาบกันมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว ๑/๒  - ๑ ซม. 
๒. เฉือนต้นตอบริเวณที่จะทาบกันได้สนิท และกะให้ชิดโคนต้นตอโดยเฉือนให้ลึกเข้าไปในเนื้อ ไม้เล็กน้อยและให้เป็นแผลยาวราว ๕-๘ ซม. 
๓. เฉือนกิ่งพันธุ์ดีในทำนองเดียวกันและให้ มีความยาวเท่ากับแผลรอยเฉือนบนต้นตอ
๔. มัดหรือพันต้นตอและยอดพันธุ์ดีเข้าด้วย กันให้แผลรอยเฉือนทับกัน โดยให้แนวเยื่อเจริญสัมผัสกันด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้งสองด้าน 
๕. เมื่อแผลรอยเฉือนประสานกัน (ประมาณ ๓-๔ สัปดาห์) จึงบากเตือนทั้งต้นตอและกิ่งพันธุ์ดี 
๖. หลังจากบากเตือนได้ ๑-๒ สัปดาห์ ตัดโคนกิ่งพันธ์ดีออกจากต้นแม่  

๒. การทาบกิ่งแบบตัดยอดต้นตอออก 

การทาบกิ่งวิธีนี้ เป็นวิธีที่เปลี่ยนแปลงมาจากการทาบกิ่งแบบมียอดต้นตอ โดยการปาดยอดต้นตอออก เพื่อป้องกันการคายน้ำจากต้น พร้อมกันนั้นก็จะมัดปากถุงปลูกของต้นตอ มิให้น้ำหรือความชื้นจากเครื่องปลูกระเหยออกข้างนอกได้ การทาบกิ่งวิธีนี้สะดวกที่ไม่ต้องรดน้ำให้ต้นตอ จนกว่าจะตัดกิ่งที่ติดเรียบร้อยแล้วมาปลูก ฉะนั้นจึงสามารถทำได้ตลอดปี และถ้าใช้เครื่องปลูกต้นตอที่มีน้ำหนักเบาๆ แล้ว จะสามารถผูกต้นตอติดกับกิ่งพันธุ์ดีได้ โดยไม่ต้องใช้ไม้พยุง หรือผูกค้ำต้นตอ

สำหรับวิธีการทาบ ปฏิบัติดังนี้ 

๑. เลือกต้นตอที่มีขนาดต้นประมาณดินสอดำหรือเล็กกว่าเล็กน้อย
๒. ตัดต้นตอให้เหลือยาวประมาณ ๓-๖ นิ้ว ริดใบที่เหลือออกให้หมด 
๓. รดน้ำดินปลูกให้ชื้นแล้วนำขึ้นห่อหรือ อาจสวมถุงพลาสติกทับอีกชั้นหนึ่ง แล้วมัดปากถุง ปลูกให้แน่น 
๔. นำต้นตอขึ้นทาบกับกิ่งพันธุ์ดี โดยเลือก กิ่งพันธุ์ดีให้มีขนาดใกล้เคียงกัน 
๕. ทำแผลบริเวณโคนกิ่งพันธุ์ดีที่เลือกไว้ โดยเฉือนกิ่งเป็นรูปโล่ให้ยาวประมาณ ๕-๘ ซม. 
๖. ปาดปลายกิ่งต้นตอเป็นปากฉลามให้มี ความยาวประมาณ ๕-๘ ซม. เช่นเดียวกัน 
๗. นำต้นตอขึ้นทาบกับกิ่งพันธุ์ดี ให้รอย เฉือนทับกันและจัดให้แนวเยื่อเจริญของทั้งสองทับ กันด้านใดด้านหนึ่ง แล้วมัดด้วยพลาสติกให้แน่น และตรึงต้นตอให้อยู่กับที่ 
๘. มัดหรือตรึงกิ่งพันธุ์ดีกับต้นตอให้แน่น และอุดรอยแผลด้วยขี้ผึ้งต่อกิ่ง 
๙. ปล่อยไว้จนแน่ใจว่า กิ่งพันธุ์ดีติดกับต้น ตอได้ หรือจนรากของต้นตอเจริญได้ดีพอจึงตัดโคนกิ่งพันธุ์ดีใต้รอยต่อ

 

การบังคับตา 

ไม่ว่าจะเป็นการติดตา หรือต่อกิ่ง โดยเฉพาะการต่อกิ่ง บางวิธีที่ไม่ได้ตัดยอดต้นตอออก ตาที่ติดหรือกิ่งตาที่ต่อนั้น แม้จะติดหรือต่อได้สำเร็จ ถ้าทิ้งไว้ในลักษณะเช่นนั้นตลอดไป ตาหรือกิ่งที่ติดไว้แล้วก็จะไม่มีโอกาสเจริญเป็นต้น หรือเป็นกิ่งขึ้นมาได้ จะต้องมีการทำให้ตาเหล่านั้นเจริญเป็นกิ่ง หรือเป็นต้นขึ้นด้วย และเรียกวิธีเช่นนี้ว่า "การบังคับตา"

โดยธรรมชาติในต้นพืชทั่วๆ ไป จะมีตาอยู่ ๒ ชนิด คือ ตายอด (terminal-bud) และตาข้าง (lateral bud) ปกติตาที่อยู่บนต้นพืชจะพยายามแย่งกันเจริญ แต่ถ้ามีตาใดเจริญมาก ตาอื่นๆ จะเจริญน้อยลง หรืออาจหยุดเจริญ และเป็นธรรมชาติของต้นพืชทั่วๆ ไปเช่นเดียวกัน ที่ตายอดจะเจริญได้ดีกว่าตาข้าง และแม้แต่ตาข้างด้วยกัน ตาที่อยู่บนๆ หรือสูงสุดจะเจริญได้ดีกว่าตาที่อยู่ต่ำกว่า (ในกรณีที่ตัดตายอดออก) ทั้งนี้เพื่อที่จะแย่งตำแหน่งการเป็นตายอด ซึ่งจะได้ทำหน้าที่ควบคุมการเจริญของตาข้างอื่นๆ ได้ การที่ตายอดเจริญได้ดีกว่าตาข้าง หรือตาบนเจริญได้ดีกว่าตาล่างที่อยู่ต่ำๆ กว่านี้ เป็นเพราะอิทธิพลของฮอร์โมนที่มีอยู่บนตายอด หรือตาบนนั่นเอง ด้วยเหตุนี้จึงต้องมีการบังคับตา โดยทำให้อิทธิพลของฮอร์โมนที่มีอยู่หมดไป ตาหรือกิ่งที่ติดอยู่บนต้นตอซึ่งเปรียบเสมือนเป็นตาข้างของต้นตอนั้น จะได้มีโอกาสเจริญเป็นต้นหรือกิ่งต่อไปนั่นเอง

การทำให้อิทธิพลของตายอดหรือตาบนหมด ไปซึ่งเรียกว่าเป็นการบังคับตานั้น อาจทำได้หลายวิธี เช่น 

๑. ควั่นเปลือกต้นตอเหนือตา หรือกิ่งตา ที่ติดหรือต่อ 
๒. บากต้นตอเหนือตาหรือกิ่งตา 
๓. ตัดยอดให้เหลือใบที่ต้นตอเล็กน้อยหรือ เบนกิ่งหรือโน้มกิ่งไปทางด้านตรงกันข้ามกับตาที่ติด หรือกิ่งตาที่ต่อ 
๔. ตัดต้นตอให้สั้นเหนือตาที่ติดหรือกิ่งที่ต่อ 

การทำเช่นนี้ก็จะทำให้ตาที่ติดหรือกิ่งตาที่ต่อ ถูกกระตุ้นให้เจริญเป็นกิ่ง หรือเป็นต้นได้ตามที่ต้องการ

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องในการเจริญของกิ่งพันธุ์ดี หลังจากการบังคับตา 

อาหารในต้นตอ 

เนื่องจากการเจริญของกิ่งพันธุ์ดีขึ้นอยู่กับ อาหารที่มีอยู่ในต้นตอเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เราจึงอาจแบ่งชนิดของต้นตอ ตามลักษณะของการมีอาหาร ได้เป็น ๒ พวก

 

๑. ต้นตออ่อน

การใช้ต้นตออ่อนซึ่งอาจเป็นต้นตอเพาะเมล็ดที่ยังมีอายุน้อยและมีขนาดเล็กอยู่ หรือต้นตอตัดชำที่เพิ่งปลูก หรือพอเริ่มตั้งตัวได้ แต่ก็พอจะติดตาและต่อกิ่งได้ ซึ่งต้นตอทั้ง ๒ ประเภทนี้ยังมีความแข็งแรงไม่พอ โดยเฉพาะอาหารสะสมภายในต้นยังมีน้อย ดังนั้น วิธีการที่จะบังคับตาบนต้นตอที่มีลักษณะดังกล่าว จึงต้องมีใบติดอยู่บนต้นตอพอสมควร เพื่อให้ใบได้ปรุงอาหาร เลี้ยงตาที่เจริญออกมาให้แข็งแรง มิฉะนั้น กิ่งที่แตกออกมาจะไม่แข็งแรงพอ หรืออาจตายทั้งต้นตอ และ ตาที่ติดเลยก็ได้ 

 

๒. ต้นตอแก่ 

อาจเป็นต้นตอเพาะเมล็ดหรือ ต้นตอตัดชำที่ปลูกหรือเลี้ยงไว้นาน อายุตั้งแต่ ๑ ปี หรือมากกว่า ทั้งนี้เพื่อให้ต้นตอได้มีระบบรากเจริญ เต็มที่ มีรากหยั่งลึกและแข็งแรง มีอาหารสะสมอยู่ ตามรากและโคนต้นมาก ต้นตอดังกล่าวนี้ หลังจากที่ได้ตรวจสอบว่า ติดหรือต่อได้สำเร็จแล้ว ก็อาจบังคับตาด้วยการตัดยอดต้นตอให้ชิดตาได้เลย โดยไม่ต้องคำนึงถึงใบบนกิ่งที่จะมาเลี้ยงยอดให้เจริญ เพราะการเจริญของกิ่งพันธุ์ดีที่แตกตาออกมาในระยะนี้ จะอาศัยอาหารสะสม ที่มีอยู่ตามรากและตาม โคนกิ่งเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น การบังคับตาดังกล่าวแล้ว จึงสามารถทำได้ง่ายขึ้นในประเภทของต้นตอชนิดนี้

 

โดยที่การปลูกต้นตอเพื่อใช้ขยายพันธุ์ด้วย วิธีติดตาต่อกิ่งทั่วๆ ไปมักจะทำอยู่ ๒ แบบ คือ ปลูก ต้นตอลงแปลง ซึ่งอาจจะเป็นแปลงขยายพันธุ์หรือ แปลงปลูกถาวรโดยตรง และปลูกต้นตอในภาชนะ หรือในกระถาง

 

การปลูกต้นตอลงแปลงมักเป็นวิธีที่ใช้ปฏิบัติ กันสำหรับการขยายพันธุ์ไม้ผล แต่ก็มีไม้ดอก หลายชนิด เช่น กุหลาบที่ปฏิบัติเช่นเดียวกัน ซึ่ง ต้นตอที่ปลูกตามแบบนี้จะได้รับการเลี้ยงดูให้มีระบบ รากที่แข็งแรงและมีอายุมากพอ ดังนั้นการบังคับ ตาหลังจากที่ได้ติดตาต่อกิ่งแล้ว จึงสามารถทำได้ ง่ายโดยการตัดต้นตอให้เหลือสั้น 

ส่วนการปลูกต้นตอในภาชนะหรือในกระถาง ปลูกรวมทั้งการปลูกลงแปลงขณะที่ต้นยังไม่แข็งแรง พอ การสะสมอาหารภายในรากหรือส่วนของโคน กิ่งจึงเกิดขึ้นน้อย ไม่เพียงพอที่จะนำมาเลี้ยงยอด ของกิ่งพันธุ์ดีให้เจริญแข็งแรงได้ ดังนั้นจึงต้องบังคับตาโดยวิธีที่ให้มีใบติดอยู่บนต้นตอด้วย มักใช้กับไม้ ประดับที่ปลูกในกระถาง เช่น สนชนิดต่างๆ กุหลาบ และชบา เป็นต้น

สภาพดินฟ้าอากาศ 

เพื่อให้ตาที่ติดหรือต่อไว้เจริญได้แข็งแรง และสมบูรณ์ การบังคับตาจึงควรจะต้องเลือกฤดู หรือระยะดินฟ้าอากาศที่จะอำนวยให้ต้นพืชนั้นๆ มี การเจริญได้ดีที่สุดด้วย โดยเหตุนี้ การบังคับตา จึงไม่จำเป็นต้องกระทำทันที หลังจากที่ได้ตรวจ สอบแล้วว่าติดต่อได้สำเร็จ อาจจะปล่อยไว้ในสภาพ นั้นๆ ได้ระยะหนึ่ง (๑-๓ เดือน) กิ่งหรือตาที่ ติดหรือต่อได้นี้จะมีสภาพเป็นตาข้าง ซึ่งถูกควบ คุมจากตายอดของต้นตอมิให้มีการเจริญเกิดขึ้นจน กระทั่งถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะบังคับตา โดย เฉพาะในช่วงที่ต้นพืชมีการเจริญได้ดีที่สุด การ บังคับตาของกุหลาบจะอยู่ในช่วงของต้นเดือน มิถุนายน กันยายน และธันวาคม 

การปฏิบัติหลังจากการบังคับตา 

สิ่งที่ต้องทำหลังจากการบังคับตาก็คือ การ ปลิดตาข้างของต้นตอที่เจริญออกมาหลังจากการบัง คับตาแล้ว โดยเฉพาะการบังคับตาต้นตออ่อน ซึ่งยังคงเหลือใบรวมทั้งตาของต้นตออยู่เป็นจำนวน มากและมักจะทำให้เกิดความยุ่งยากแก่การปลิดตา สำหรับการปลิดตาของต้นตอนี้ จะต้องทำอยู่สัก ๒-๓ ครั้ง และจะต้องไม่ปล่อยให้ตาของต้นตอ ยาวจนเกินไป ปกติจะทำทุกระยะที่ตาของต้นตอ มีขนาดโตพอจับปลิดได้สะดวก หรือราวสัปดาห์ ละ ๑ ครั้ง จนกระทั่งตาของกิ่งพันธุ์ดีจะเจริญ พอที่จะปรุงอาหารและเลี้ยงตัวเองได้ จึงจะตัดต้น ตอเหนือตาที่ติดเช่นเดียวกับการบังคับตาจากต้นตอ แก่ ก็จะทำให้หมดปัญหาในเรื่องการปลิดตาของ ต้นตอในที่สุด

การผูกยึดกิ่งพันธุ์ดีที่เจริญจากตาที่ติดก็เป็น เรื่องจำเป็น โดยเฉพาะตาที่เจริญมากๆ จะทำให้ กิ่งหรือยอดมีน้ำหนักมากเกินกว่าที่รอยต่อจะทานน้ำ หนักได้ ซึ่งอาจจะหักเสียหายได้ง่าย ถ้าไม่รีบผูก หรือยึดกิ่งเสียในระยะแรกๆ แต่สำหรับไม้พุ่ม (shrub or bush) การผูกหรือยึดกิ่งอาจมีความจำเป็น น้อย เพราะอาจแก้ไขได้ง่ายโดยการตัดยอดกิ่ง พันธุ์ดีที่เจริญออกมาเมื่อกิ่งยาวได้ ๓-๕ นิ้ว ทั้งนี้ จะทำให้กิ่งที่ตัดยอดแตกเป็นพุ่มดีขึ้น พร้อมกันนั้น ก็จะช่วยให้รอยต่อแข็งแรงพอที่จะยึดกิ่งที่เจริญออก มาได้โดยไม่หักเสียหายด้วย

นอกจากนี้ การดูแลรักษาใบของกิ่งพันธุ์ดี ที่เจริญออกมาด้วยการฉีดยาป้องกันโรคแมลง ก็จะ ต้องทำควบคู่ไปกับการปลิดต้นตอ เพราะใบของ กิ่งพันธุ์ดีในระยะนี้จะต้องรับหน้าที่ในการเลี้ยงต้น แทนใบของต้นตอ หรืออาหารที่สะสมอยู่ในต้นตอ ฉะนั้นความสมบูรณ์ของใบของกิ่งพันธุ์ดีในระยะนี้ จึงเป็นเครื่องที่บ่งบอกถึงความแข็งแรงของกิ่งพันธุ์ดี ที่จะเจริญต่อไป ซึ่งถ้าใบของกิ่งพันธุ์ดีถูกทำลายให้ เสียหายหมดไปบ่อยๆ ก็แสดงว่าต้นพันธุ์ดีนั้นๆ จะสิ้นอายุไปในไม่ช้า 

ขอบเขตของการติดตาต่อกิ่ง (limits of grafting) 

ขอบเขตของการติดตาต่อกิ่ง หมายถึงว่า การติดตาต่อกิ่งจะทำกับต้นพืชอะไรได้บ้าง หรือจะเอาต้นพืชใดมาติดตาหรือต่อกิ่ง กับพืชใดได้บ้าง

ในการที่จะนำพืชใดมาติดตาหรือต่อกิ่งกันได้ นั้น ก่อนอื่นจะต้องพิจารณาลักษณะการจัดเรียงของ เนื้อเยื่อโดยเฉพาะเยื่อเจริญ ซึ่งเป็นตัวการสำคัญใน การสร้างเนื้อเยื่อของต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีให้เชื่อมต่อ กัน พืชที่จะนำมาติดหรือต่อกันนั้นจะต้องมีเยื่อเจริญ ที่เจริญติดต่อกันได้ตลอด (vascular cambium) เมื่อ เป็นเช่นนี้การติดตาหรือต่อกิ่งจึงจำกัดอยู่เฉพาะพืชใบเลี้ยงคู่ และพืชจำพวกสนเท่านั้น เพราะมีเยื่อเจริญ ที่เจริญติดต่อกันอยู่ระหว่างเปลือกและเนื้อไม้ ส่วนพืชจำพวกใบเลี้ยงเดี่ยว ไม่สามารถที่จะติดตาต่อกิ่งกันได้ เพราะแนวเยื่อเจริญไม่เจริญติดต่อกัน แต่จะ อยู่กระจัดกระจายทั่วต้น ทั้งบริเวณที่ติดกับเปลือก และบริเวณที่เป็นเนื้อไม้หรือไส้

 

อย่างไรก็ตาม ในพืชพวกใบเลี้ยงคู่หรือพืช จำพวกสนด้วยกันก็มิใช่ว่าจะติดกันได้หมดทุกต้นทุก พันธุ์หรือทุกชนิด ทั้งนี้จะต้องสังเกตความใกล้ชิด คือ รูปร่าง หน้าตา และนิสัยการเจริญที่ใกล้เคียงกัน หรือเหมือนกัน นั่นก็คือต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีจะ ต้องมีรูปร่างหน้าตา ตลอดจนนิสัยการเจริญคล้าย กัน จึงจะสามารถติดหรือต่อกันได้

 

แต่เนื่องจากการสังเกตลักษณะตลอดจนนิสัย การเจริญเติบโตนี้ อาจจะมีความเห็นไม่ตรงกัน โดยเฉพาะพืชที่ปลูกต่างแหล่งกัน ดังนั้นเพื่อความ สะดวกจึงได้ยึดถือหลักเกณฑ์ในการจัดหมวดหมู่ ของพืชในทางพฤกษศาสตร์เป็นหลักในการพิจารณา ความใกล้ชิด คือ ถ้าพืชใด เป็นต้น (clone) เดียวกัน พันธุ์เดียวกัน ชนิดเดียวกัน สกุลเดียวกันหรือตระกูลเดียวกัน ก็จะมีความใกล้ชิดทางเครือญาติที่ใกล้กัน ตามลำดับ ซึ่งในการติดตาต่อกิ่งนิยมถือหลักการ ดังนี้

 

๑. ถ้าต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีนั้นเป็นต้นเดียว กัน เช่น นำกิ่งที่ยอดมาติดตาหรือต่อกิ่งที่โคนต้น (same plant and same clone) หรืออยู่คนละต้นกัน แต่อยู่ในต้นเดียวกัน (different plant and same clone) เช่น เอากิ่งมะม่วงอกร่องจากต้นหลังบ้านไป ติดบนต้นมะม่วงอกร่องที่ปลูกอยู่หน้าบ้านเช่นนี้ ถือ ว่าจะสามารถติดต่อกันได้แน่นอน 

๒. ถ้าต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีนั้นต่างพันธุ์กัน (different varieties) แต่อยู่ในชนิดเดียวกัน (same species) เช่นนี้ โดยทั่วไปแล้วถือว่า จะติดกันได้ง่าย เช่น มะม่วงอกร่อง ติดบนต้นมะม่วงแก้ว ซึ่งต่าง พันธุ์กัน แต่อยู่ในชนิดของมะม่วงด้วยกันคือ Man- gifera indica เช่นนี้ย่อมติดกันได้ง่าย เพราะยัง อยู่ในเครือญาติที่ใกล้ชิดกัน 

๓. ถ้าต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีนั้น ต่างชนิดกัน (different species) แต่อยู่ในสกุลเดียวกัน (same genus) ดังเช่นเอาส้มเขียวหวาน (Citrus reticulata) ติดบนต้นตอส้มโอ (Citrus grandis) เช่นนี้ส่วนใหญ่ จะติดหรือต่อกันได้ดี แต่ก็อาจมีพืชบางชนิดที่ติด กันไม่ได้บ้าง เช่น เอาต้นดอนย่าสีชมพู (Mussaenda hybrida Lus Mczayzay) ติดบนต้นตอดอนย่าสีขาว (Mussaenda phillipica) ซึ่งต้นพืชอาจจะเจริญต่อไป ได้ แต่จะติดกันเฉพาะเปลือกเท่านั้น เนื้อไม้จะไม่ เชื่อมตัวกัน ซึ่งถือว่าติดหรือต่อกันไม่ได้ แม้ว่า ดอนย่าสีชมพูจะเป็นลูกผสมของดอนย่าสีขาวก็ตาม ทั้งนี้เพราะอยู่ในเครือญาติที่เริ่มจะห่างไกลกัน 

๔. ถ้าต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีอยู่ต่างสกุลกัน (different genus) แต่อยู่ในตระกูลเดียวกัน (same family) เช่น เอามะม่วงซึ่งอยู่ในสกุล Mangifera ไปติดหรือต่อกับมะปรางซึ่งอยู่ในสกุล Bocea หรือ มะม่วงหิมพานต์ ซึ่งอยู่ในสกุล Anacarduim แม้ ทั้งหมดนี้อยู่ในตระกูล Anacardiaceae ด้วยกัน แต่ ส่วนใหญ่จะติดกันไม่ได้ กระนั้นก็ยังมีพืชบางชนิด ในพวกส้ม ซึ่งอาจติดได้แต่เป็นส่วนน้อย เช่น เอา ส้มเขียวหวานซึ่งอยู่ในสกุล Citrus ไปติดหรือต่อกับ ส้มสามใบ ซึ่งอยู่ในสกุล Poncirus และอยู่ในตระกูล Rutaceae ด้วยกัน 

๕. ถ้าต้นตอและกิ่งพันธุ์ดีอยู่ต่างตระกูล (different family) กัน เช่น จะเอามะม่วงซึ่งอยู่ใน ตระกูล Anacardiaceae ไปติดหรือต่อกับส้ม ซึ่งอยู่ ในตระกูล Rutaceae เช่นนี้ ไม่สามารถจะทำได้เลย ในทำนองเดียวกันก็ไม่สามารถจะเอามะยมไปติดกับ มะดัน เพราะมีรสเปรี้ยวเหมือนกัน หรือเอากุหลาบ ไปติดบนส้มเพราะมีหนามเหมือนกัน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การติดตาต่อกิ่งที่ถือหลักตาม ความใกล้ชิดในทางพฤกษศาสตร์ อาจจะผิดเพี้ยน หรือไม่ตรงตามนี้เสมอไป ทั้งนี้เพราะการติดตาต่อ กิ่งนั้นพิจารณาต้นพืชทางโครงสร้าง (anatomy) ส่วน การจัดหมวดหมู่ของพืชนั้นพิจารณาเกี่ยวกับลักษณะ ของเครื่องเพศ (morphology) เป็นเกณฑ์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow