Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การทำแผนที่

Posted By Plookpedia | 23 พ.ค. 60
2,089 Views

  Favorite

การทำแผนที่

ภารกิจหลักของสถาบันการทำแผนที่ก็คือ การสำรวจเพื่อทำแผนที่พื้นดินภายในประเทศ การสำรวจนี้ได้มีวิวัฒนาการมาเป็นลำดับตามความเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ทางด้านนี้ ภารกิจหลักดังกล่าวนี้เองได้เชื่อมโยงกับวิทยาศาสตร์โลกบางสาขาที่เกี่ยวพันโดยใกล้ชิดกับการสำรวจเพื่อ"ทำแผนที่" เช่น การสำรวจเพื่อหาขนาดและสภาวะกายภาพบางประการของโลกที่มีชื่อว่า "งานจีออเดซี" (geodesy) และ "ธรณีฟิสิกส์" (geophysics)

 

แผนภาพแสดงการโยงหมุดหลักฐาน
แผนภาพแสดงการโยงหมุดหลักฐานระวางงานวงรอบชั้นที่ ๑ กับงานสามเหลี่ยมชั้นที่ ๑
ที่จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๔-๗๕ และพ.ศ. ๒๔๘๐-๘๑

 

 

การทำแผนที่ต้องให้ได้ลักษณะสำคัญ ความถูกต้องสมจริงของตำแหน่งที่ตั้งของรายละเอียดต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่าตำบลที่ (position) และของที่มีระดับสูง (elevation) ของรายละเอียดนั้น ๆ จากพื้นระดับมูลฐาน ซึ่งจะต้องแสดงในแผนที่ให้ตรงตามที่เป็นจริงบนผิวโลก จึงต้องมีการดำเนินงานสำรวจรังวัดเพื่อให้ได้ตำบลที่ที่ถูกต้องของจุดบางจุดบนผิวโลก เรียกว่า "หมุดหลักฐานบังคับทางแนวราบ"(horizontal control) และจุดที่มีระดับสูงถูกต้องเรียกว่า "หมุดหลักฐานบังคับทางแนวดิ่ง" (vertical control) ซึ่งจะใช้เป็นกรอบบังคับให้จุดต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงมีความถูกต้องตามไปด้วย 

"การวางหมุดหลักฐานทางแนวราบ" ให้มีจำนวนมากพอและมีกระจายอยู่ทั่วประเทศเพื่อใช้เป็นกรอบบังคับความถูกต้องของตำบลที่ของจุดต่าง ๆ ในแผนที่นั้น ทำได้โดยเลือกจุดในภูมิประเทศที่จะใช้เป็นที่วางหมุดหลักฐานก่อน แล้วทำการรังวัดเพื่อเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นให้เป็นรูปสามเหลี่ยม ในบริเวณพื้นที่ที่เป็นภูเขาจะเลือกยอดเขาที่สูงเด่นเป็นจุดที่จะใช้เป็นที่วางหมุดหลักฐาน แล้วรังวัดเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นให้เป็นรูปสามเหลี่ยมเรียกว่า "งานสามเหลี่ยม" (triangulation) รูปสามเหลี่ยมนี้จะวางต่อเนื่องกันไปหลาย ๆ รูปจนทั่วบริเวณที่ต้องการเรียกว่า "โครงข่ายการสามเหลี่ยม" (triangulation net) และเพื่อให้นำกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์มาใช้ในการคำนวณได้ ในการทำงานสามเหลี่ยมจึงต้องมีการกำหนด"เส้นฐาน" (base line) ขึ้น ได้แก่ แนวตรงที่วัดความยาวไว้ด้วยวิธีการอันละเอียดและประณีต เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณหรือสอบเทียบความยาวของด้านต่าง ๆ ของรูปสามเหลี่ยมแต่ละรูปในโครงข่าย ส่วนในบริเวณที่เป็นพื้นราบจะเลือกจุดสำหรับวางหมุดหลักฐานให้ลัดเลาะไปตามตำแหน่งต่าง ๆ ทั่วบริเวณ แล้วรังวัดเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นด้วยเส้นตรงต่อเนื่องกันไปเพื่อนำผลการรังวัดไปคำนวณหาตำบลที่ต่อไปเรียกว่า "งานวงรอบ" (traverse)

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow