Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เพลงดนตรีไทย

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
2,856 Views

  Favorite

เพลงดนตรีไทย


เพลงดนตรีของไทยนั้น มีทำนองต่าง ๆ เพลงบางชนิดก็มีทำนองพื้น ๆ เรียบ ๆ ไม่มีพลิกแพลงอย่างใดเรียกว่า "เพลงพื้น" บางชนิดก็เดินทำนองเป็นเสียงยาว ๆ เพลงชนิดนี้เครื่องดนตรีประเภทเครื่องตีก็จะต้องตีกรอทำให้เสียงยาวจึงเรียกว่า "เพลงกรอ" และเพลงบางชนิดก็มีทำนองพลิกแพลงโลดโผนมีแบ่งเครื่องดนตรีเป็นพวกผลัดกันหยุด ผลัดกันบรรเลงก็เรียกว่า "เพลงลูกล้อลูกขัด"

ท่ารำเพลงเชิด

 

ถ้าจะแบ่งตามลักษณะของเพลงก็จะแบ่งออกได้เป็น ๔ ประเภท คือ 


เพลงหน้าพาทย์

ได้แก่ เพลงที่บรรเลงประกอบกิริยาเคลื่อนไหวหรือเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งของมุนษย์ ของสัตว์ ของวัตถุต่าง ๆ และอื่น ๆ เช่น เดิน นอน วิ่ง กลายร่างเกิดขึ้นสูญไป เป็นต้นไม่ว่ากิริยานั้นจะแลเห็นตัวตน เช่น การแสดง โขน ละครหรือกิริยาสมมุติแลไม่เห็นตัว เช่น การเชิญเทวดาให้เสด็จมาถ้าเป็นการบรรเลงประกอบกิริยานั้น ๆ แล้วก็เรียกว่าหน้าพาทย์ทั้งสิ้น เช่น

  • บรรเลงเพลงเชิด ประกอบกิริยาไปมาไกล ๆ หรือรีบเร่งหรือรบกัน 
  • บรรเลงเพลงเสมอ ประกอบกิริยาไปมาใกล้ ๆ จากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง
  • บรรเลงเพลงโอด ประกอบกิริยาร้องไห้หรือสลบหรือตาย 
  • บรรเลงเพลงเหาะ ประกอบกิริยาไปมาในอากาศของเทวดา 
  • บรรเลงเพลงโล้ ประกอบกิริยาไปมาในน้ำทั้งของมนุษย์ สัตว์หรือวัตถุ

 

เพลงรับร้อง

บางทีก็เรียกว่าเพลงเสภาเพราะเพลงประเภทนี้ใช้บรรเลงประกอบการขับเสภามาก่อนเพลงประเภทรับร้องนี้มีทั้งเพลงพื้นเพลงกรอและเพลงลูกล้อลูกขัดที่เรียกว่าเพลงรับร้องก็ด้วยบรรเลงรับจากการร้อง คือ เมื่อคนร้องได้ร้องจบไปแล้วแต่ละท่อนดนตรีก็ต้องบรรเลงรับในท่อนนั้น ๆ โดยมากมักเป็นเพลงอัตรา ๓ ชั้นและเพลงเถา เช่น เพลงจระเข้หางยาว ๓ ชั้น เพลงสี่บท ๓ ชั้น และเพลงบุหลันเถา เป็นต้น


เพลงละคร

หมายถึงเพลงที่บรรเลงประกอบการแสดงโขน ละครและมหรสพต่าง ๆ ความจริงการแสดงโขนละครนี้ก็จะต้องมีเพลงหน้าพาทย์ด้วยแต่เพลงหน้าพาทย์ได้แยกไปอธิบายอยู่ส่วนหนึ่งแล้วเพลงละครในที่นี้จึงหมายเฉพาะเพลงที่มีรัองและดนตรีรับเท่านั้นเพลงละครได้แก่เพลง อัตรา ๒ ชั้น เช่น เพลงเวสสุกรรม เพลงพญาโศก หรือชั้นเดียว เช่น เพลงนาคราช เพลงตะลุ่มโปง เป็นต้น กับเพลงจำพวกพิเศษที่ใช้เฉพาะละครแท้ ๆ เช่น เพลงช้าปี่ เพลงโอ้ปี่ เพลงโอ้ ชาตรี เพลงโอ้โลม เพลงชมตลาด เป็นต้น 

เพลงที่ใช้ร้องประกอบละครหรือมหรสพอื่น ๆ จะต้องใช้ให้ถูกอารมณ์ของตัวละคร เช่น 

  • เพลงพญาโศก เพลงสร้อยเพลงใช้ในอารมณ์โศกอยู่กับที่ 
  • เพลงทยอย เพลงโอ้ร่ายใช้ในอารมณ์โศกเมื่อเดินหรือเคลื่อนที่ไป 
  • เพลงลิงโลดใช้ในอารมณ์โกรธ 
  • เพลงชมโฉมใช้ในเวลาชมรูปร่างคนที่เราพอใจ 
  • เพลงโอ้โลม เพลงโอ้ชาตรีใช้เวลาเกี้ยวพาราสี 
  • เพลงโอ้ปใช้เวลาครวญคร่ำรำพันด้วยความโศก 
  • เพลงเย้ยใช้เวลาเยาะเย้ย

 

เพลงเบ็ดเตล็ด

ได้แก่ เพลงเล็ก ๆ สั้น ๆ สำหรับใช้บรรเลงเป็นพิเศษ เช่น บรรเลงต่อท้ายเพลงใหญ่เป็น เพลงลูกบทหรือเพลงภาษาต่าง ๆ ซึ่งบรรเลงเพื่อสนุกสนาน 

เพลงภาษานั้นก็คือเพลงที่มีสำเนียงภาษาต่าง ๆ เช่น เพลงจีน เพลงเขมร เพลงญวน เพลงฝรั่ง เป็นต้น ซึ่งมีทั้งเอาเพลงของชาตินั้นจริงมาบรรเลงและเพลงที่ไทยเราแต่งขึ้นโดยเลียนสำเนียงภาษานั้น ๆ

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow