Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การผสมวง

Posted By Plookpedia | 25 เม.ย. 60
2,302 Views

  Favorite

การผสมวง


ผสมวง คือ การเอาเครื่องดนตรีหลาย ๆ อย่างมาบรรเลงรวมกันแต่การที่จะนำเอาเครื่องดนตรีคนละอย่างมาบรรเลงพร้อม ๆ กันนี้จะต้องพิจารณาเลือกแต่สิ่งที่มีเสียงกลมกลืนกันและไม่ดังกลบเสียงกันสมัยโบราณนั้นเครื่องดีดก็จะผสมแต่กับเครื่องสีเพราะมีเสียงที่ค่อนข้างเบาด้วยกันและเครื่องตีก็จะผสมแต่เฉพาะกับเครื่องเป่าเท่านั้น เพราะมีเสียงค่อนข้างดังมากด้วยกันภายหลังเมื่อรู้จักวิธีสร้างหรือแก้ไขเครื่องตีและเครื่องเป่าให้ลดความดังลงได้พอเสมอกับเครื่องดีดเครื่องสีจึงได้นำเครื่องตีและเครื่องเป่าเหล่านั้นบางอย่างเข้าผสมเฉพาะแต่ที่ต้องการและจำเป็นและเลือกดูว่าเครื่องดนตรีอย่างไหนทำเสียงสูง ๆ ต่ำ ๆ ได้หลายเสียงก็ให้บรรเลงเป็นทำนองอย่างไหนทำเสียงสูงต่ำหลาย ๆ เสียงไม่ได้ก็ให้เป็นพวกบรรเลงประกอบจังหวะ

วงดนตรีไทยที่ผสมเป็นวงและถือเป็นแบบแผนมีอยู่ ๓ อย่างคือ วงปี่พาทย์ วงเครื่องสายและวงมโหรีนอกจากนี้ถือว่าเป็นวงพิเศษ


วงปี่พาทย์ 

วงปี่พาทย์ผสมด้วยเครื่องตีและเป่ามีอยู่ ๓ ขนาดคือวงปี่พาทย์เครื่องห้า วงปี่พาทย์เครื่องคู่และวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

วงปี่พาทย์เครื่องห้ามีเครื่องดนตรีที่ผสมในวง โดยมีวิธีบรรเลงและหน้าที่ต่าง ๆ กันดังนี้

๑. ปี่ในเดินทำนองถี่ ๆ บ้าง โหยหวนเป็นเสียงยาวบ้างมีหน้าที่ดำเนินทำนองและช่วยนำวงด้วย 
๒. ระนาดเอกตีพร้อมกัน ๒ มือเป็นคู่ ๘ เดินทำนองเก็บถี่ ๆ โดยตลอดมีหน้าที่เป็นผู้นำวง 
๓. ฆ้องวงใหญ่ตีพร้อมกัน ๒ มือบ้าง ตีมือละลูกบ้างมีหน้าที่ดำเนินทำนองเนื้อเพลงเป็นหลักของวง 
๔. ตะโพนตีมือละหน้าให้เสียงสอดสลับกัน มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับให้รู้วรรคตอนของเพลงและเป็นผู้นำกลองทัดด้วย 
๕. กลองทัดตีห่างบ้างถี่บ้างตามแบบแผนของแต่ละเพลง 
๖. ฉิ่งโดยปกติตีสลับกันให้ดังฉิ่งทีหนึ่งดังฉับทีหนึ่งโดยสม่ำเสมอมีหน้าที่กำกับจังหวะย่อยให้รู้จังหวะเบาจังหวะหนัก

วงปี่พาทย์เครื่องห้า

 

 

วงปี่พาทย์เครื่องคู่ 
มีเครื่องดนตรีที่ผสมเป็นวงดังนี้ 
๑. ปี่ใน (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๓. ระนาดทุ้มตีพร้อมกันทั้งสองมือบ้างตีมือละลูกบ้างและมือละหลาย ๆ ลูกบ้างมีหน้าที่สอดแทรกหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองให้สนุกสนาน 
๔. ฆ้องวงใหญ่ (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๕. ฆ้องวงเล็กตีเก็บถี่ ๆ มือละลูกบ้างมือละหลาย ๆ ลูกบ้างมีหน้าที่สอดแทรกทำนองในทางเสียงสูง 
๖. ตะโพน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๗. กลองทัด (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๘. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
ปี่พาทย์เครื่องคู่นี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 

วงปี่พาทย์เครื่องคู่

 

 

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่มีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงดังนี้ 
๑. ปี่ใน (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๓. ระนาดทุ้ม (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่) 
๔. ระนาดเอกเหล็กตีพร้อมกันทั้งสองมือเป็นคู่ ๘ เดินทำนองถี่ ๆ บ้างตีกรอบ้างเช่นเดียวกับระนาดเอกแต่มีหน้าที่เพียงช่วยให้เสียงกระหึ่มขึ้นเท่านั้นไม่มีหน้าที่เป็นผู้นำวง 
๕. ระนาดทุ้มเหล็กตีมือละลูกหรือหลาย ๆ ลูกเดินทำนองห่าง ๆ มีหน้าที่ยั่วเย้าทำนองเพลงห่าง ๆ
๖. ฆ้องวงใหญ่ (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๗. ฆ้องวงเล็ก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่) 
๘. ตะโพน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๙. กลองทัด (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า) 
๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)

 

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่นี้เกิดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

วงปี่พาทย์เครื่องใหญ่



ในวงปี่พาทย์ทั้งเครื่องห้า เครื่องคู่และเครื่องใหญ่นี้ถ้าการบรรเลงบางเพลงเห็นควรมีฉาบ เล็ก ฉาบใหญ่หรือโหม่งก็นำมาผสมกันได้โดยมีหน้าที่ดังนี้

ฉาบเล็กตีได้ทั้งให้ข้าง ๆ กระทบกันหรือตี ๒ ฝาเข้าประกบกันมีหน้าที่หยอกล้อยั่วเย้าไปกับฉิ่งหรือให้สอดคล้องกับทำนองเพลง 

ฉาบใหญ่ตี ๒ ฝาเข้าประกบกันตามจังหวะห่าง ๆ มีหน้าที่ช่วยกำกับจังหวะห่าง ๆ ถ้าเป็นเพลงสำเนียงจีนก็ตีให้เข้ากับทำนอง

โหม่ง ตีตรงปุ่มด้วยไม้ตีตามจังหวะห่าง ๆ มีหน้าที่ควบคุมจังหวะห่าง ๆ

การบรรเลงปี่พาทย์นี้โดยปกติระนาดเอกและฆ้องวงใหญ่จะใช้ไม้แข็งตีแต่ถ้าต้องการให้มีเสียงนุ่มนวลก็เปลี่ยนไม้ตีเป็นไม้นวมเสียทั้งสองอย่างเรียกว่า "ปี่พาทย์ไม้นวม"

ถ้าบรรเลงประกอบการขับเสภาซึ่งมีร้องส่งก็เอาตะโพนและกลองทัดออกใช้ "สองหน้า" ตีกำกับจังหวะหน้าทับและใช้ได้ทั้งปี่พาทย์เครื่องห้า เครื่องคู่และเครื่องใหญ่ ใช้ไม้แข็งตีตามปกติ

หากจะให้เป็นปี่พาทย์นางหงส์ก็เอาตะโพนกลองทัดและปี่ในออกเอา "ปี่ชวา" และ "กลองมลายู" เข้ามาแทนปี่พาทย์นางหงส์นี้ใช้เฉพาะงานศพเท่านั้น

 

เครื่องเครื่องสาย 

วงเครื่องสายเป็นวงดนตรีที่มีเครื่องดีดและเครื่องสีเป็นหลักมีเครื่องเป่าและเครื่องตีที่ได้เลือกว่ามีเสียงเหมาะสมกันผสม ดังนี้ 

เครื่องสายวงเล็กมีเครื่องดนตรีผสมในวงและมีหน้าที่ต่าง ๆ กันคือ 

๑. ซอด้วงสีเป็นทำนองเพลงมีถี่บ้างโหยหวนเป็นเสียงยาวบ้างมีหน้าที่เป็นผู้นำวงและเป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง
๒. ซออู้สีหยอกล้อยั่วเย้าไปกับทำนองเพลง 
๓. จะเข้ดีดเก็บถี่ ๆ บ้างห่าง ๆ บ้าง สอดแทรกทำนองให้เกิดความไพเราะ 
๔. ขลุ่ยเพียงออเป่าเก็บถี่ ๆ บ้างโหยหวนเป็นเสียงยาวบ้างดำเนินทำนองเพลง 
๕. โทนตีให้สอดสลับกับรำมะนากำกับจังหวะหน้าทับ 
๖. รำมะนาตีให้สอดสลับกับโทนกำกับจังหวะหน้าทับโทนกับรำมะนานี้ต้องตีให้สอดคล้องกันเหมือนเครื่องดนตรีอย่างเดียวเพราะฉะนั้นบางทีจึงใช้คนเดียวตีทั้งสองอย่าง 
๗. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์) 

วงเครื่องสายเครื่องคู่มีเครื่องดนตรีผสมอยู่ในวงและมีหน้าที่ดังนี้ 

๑. ซอด้วง ๒ คัน การสีเหมือนในเครื่องสายวงเล็กแต่มีหน้าที่การนำวงมีเพียงคันเดียวอีกคันหนึ่งเพียงช่วยเป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง 
๒. ซออู้ ๒ คัน (การสีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก) 
๓. จะเข้ ๒ ตัว (การดีดและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก) 
๔. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก) 
๕. ขลุ่ยหลิบวิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออแต่มีหน้าที่สอดแทรกทำนองไปในทางเสียงสูง 
๖. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก)
๗. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในเครื่องสายวงเล็ก) 
๘. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องห้า)

วงเครื่องสายเครื่องคู่


 

วงมโหรี 


มโหรีเป็นวงดนตรีผสมตั้งแต่มีไม่กี่สิ่งจนกลายเป็นวงเครื่องสายผสมกับวงปี่พาทย์ดังจะกล่าวต่อไปนี้ 

วงมโหรีโบราณมีเครื่องดนตรีและผู้บรรเลงเพียง ๔ คน 

๑. ซอสามสายสีเก็บบ้าง โหยหวนเสียงยาว ๆ บ้างมีหน้าที่คลอเสียงคนร้องและดำเนินทำนองเพลง 
๒. กระจับปี่ดีดดำเนินทำนองถี่บ้างห่างบ้างเป็นหลักในการดำเนินเนื้อเพลง 
๓. โทนตีให้สอดสลับไปแต่อย่างเดียว (เพราะยังไม่มีรำมะนา) มีหน้าที่กำกับจังหวะหน้าทับ 
๔. กรับพวงตีตามจังหวะห่าง ๆ มีหน้าที่กำกับจังหวะย่อยซึ่งคนร้องเป็นผู้ตี 

วงมโหรีอย่างนี้ได้ค่อย ๆ เพิ่มเครื่องดนตรีมากขึ้นเป็นขั้น ๆ ขั้นแรกเพิ่มรำมะนาให้ตีคู่กับโทนแล้วเพิ่มฉิ่งแทนกรับพวงต่อมาก็เพิ่มขลุ่ยเพียงออและนำเอาจะเข้เข้ามาแทนกระจับปี่ต่อจากนั้นก็นำเอาเครื่องดนตรีในวงเครื่องสายและวงปี่พาทย์เข้ามาผสมแต่เครื่องดนตรีที่นำมาจากวงปี่พาทย์นั้นทุก ๆ อย่างจะต้องย่อขนาดให้เล็กลง เพื่อให้เสียงเล็กและเบาลงไม่กลบเสียงเครื่องดีดเครื่องสีที่มีอยู่แล้วมีขนาดวงตามลำดับ ดังนี้

วงมโหรีวงเล็ก มีเครื่องดนตรีดังนี้ 

๑. ซอสามสาย (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงมโหรีโบราณ) 
๒. ระนาดเอก (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์) 
๓. ฆ้องวงเนื่องจากย่อขนาดเล็กลงกว่าฆ้องวงใหญ่และใหญ่กว่าฆ้องวงเล็กในวงปี่พาทย์จึงมักเรียกว่า "ฆ้องกลาง"หรือ "ฆ้องมโหรี" วิธีตีและหน้าที่เหมือนฆ้องวง ใหญ่ในวงปี่พาทย์ 
๔. ซอด้วง (วิธีสีเหมือนในวงเครื่องสายแต่ไม่ต้องเป็นผู้นำวงเพราะมีระนาดเอกเป็นผู้นำวงอยู่แล้ว) 
๕. ซออู้ (วิธีสีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) 
๖. จะเข้ (วิธีดีดและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) 
๗. ขลุ่ยเพียงออ (วิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) 
๘. โทน (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) 
๙. รำมะนา (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสาย) 
๑๐. ฉิ่ง (วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์)

 วงมโหรีเครื่องคู่มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงทั้งวิธีบรรเลงและหน้าที่เหมือนกับวงมโหรีวงเล็กทุกอย่างแต่เพิ่มซอด้วงเป็น ๒ คัน ซออู้เป็น ๒ คัน จะเข้เป็น ๒ ตัว กับเพิ่มเครื่องดนตรีอีก ๓ อย่าง คือ 
๑. ขลุ่ยหลิบวิธีเป่าและหน้าที่เหมือนในวงเครื่องสายเครื่องคู่ 
๒. ระนาดทุ้มวิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องคู่ 
๓. ฆ้องวงเล็กมีขนาดเล็กกว่าฆ้องวงเล็กในวงปี่พาทย์วิธีตีและหน้าที่เหมือนอย่างในวงปี่พาทย์เครื่องคู่บางทีก็เพิ่มซอสามสายคันเล็กเรียกว่าซอสามสายหลิบอีก ๑ คัน

 

วงมโหรีเครื่องใหญ่มีเครื่องดนตรีที่ผสมอยู่ในวงตลอดจนวิธีบรรเลงและหน้าที่เหมือนกับวงมโหรีเครื่องคู่ทุกอย่างแต่เพิ่มเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ

๑. ระนาดเอกเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่ 
๒. ระนาดทุ้มเหล็ก (หรือทอง) วิธีตีและหน้าที่เหมือนในวงปี่พาทย์เครื่องใหญ่

วงมโหรีเครื่องใหญ่



ในสมัยปัจจุบันมักจะเพิ่ม "ขลุ่ยอู้" ขึ้นอีกอย่างหนึ่งขลุ่ยอู้นี้วิธีเป่าเหมือนกับขลุ่ยเพียงออแต่มีหน้าที่ดำเนินเนื้อเพลงเป็นทำนองห่าง ๆ ในทางเสียงต่ำส่วนฉาบเล็ก ฉาบใหญ่และโหม่งผสมได้ทั้งวงเล็กเครื่องคู่และเครื่องใหญ่มีหน้าที่อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในวงปี่พาทย์

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow