Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ตัวอย่างปัญหาที่เกิดจากของเสียที่เป็นอันตรายบางชนิด

Posted By Plookpedia | 24 เม.ย. 60
1,177 Views

  Favorite

 

๑. สารปรอท 

ผู้ป่วยโรคมินามาตะ
ผู้ป่วยโรคมินามาตะในประเทศญี่ปุ่น
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

เป็นสารโลหะหนักที่ใช้มากในอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมทำวัตถุระเบิด ทำสี ทำหลอดฟลูออกเรสเซนซ์ เทอร์โมมิเตอร์ทำโซดาไฟ ตลอดจนใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ใช้ในยาฆ่าเชื้อรา ปรอทเป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อสุขภาพอนามัยค่อนข้างรุนแรง โดยผู้ที่ได้รับสารนี้เข้าไป จะทำให้เกิดอาการท้องร่วง เป็นโรคไต และโรคลำไส้เรื้อรัง มีอาการระคายเคืองและอักเสบของระบบประสาท เช่น ง่วงซึม สูญเสียระบบการทรงตัวไม่อาจควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ ชักกระตุก ความจำเสื่อม และอาจถึงตายได้ 

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารปรอทเจือปนที่เห็นได้ชัด ได้แก่ กรณีของโรคมินามาตะที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น โรคนี้เกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม ที่มีสารปรอทเจือปนอยู่ลงในอ่าวมินามาตะ ทำให้มีสารปรอทสะสมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นได้นำ ปลาและสัตว์ทะเลมารับประทาน มีรายงานว่า ประชาชนในบริเวณอ่าวมินามาตะกว่า ๒,๐๐๐ คน มีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ไม่สามารถ ควบคุมการทรงตัว และการทำงานของกล้ามเนื้อ ประสาทตาและหูเสื่อม ความจำเสื่อม บางรายมีอาการชัก มีการตรวจพบผู้ป่วยด้วย โรคนี้รายแรกเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๙ ตั้งแต่นั้น จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๙ มีผู้เสียชีวิตจากโรคมินามาตะแล้วกว่า ๖๐๐ ราย แม้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นมากกว่า ๓๐ ปีแล้วก็ตาม แต่ยังมีรายงานผู้เสียชีวิต หรือมีอาการของโรคมินามาตะ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหารทะเล จากอ่าวมินามาตะในครั้งนั้นอยู่ 

๒. สารหนู 

เป็นสารที่ใช้ในอุตสาหกรรม เช่น ทำยารักษาโรค ทำสีทำวัตถุระเบิด ทำแก้ว และเซรามิก อีกทั้งยังใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ใช้ในยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหนู เป็นสารพิษที่มีอันตรายต่อร่างกายอย่างรุนแรงเช่นกัน หากร่างกายมนุษย์ได้รับสารดังกล่าวเข้าไปในปริมาณไม่มากนัก จะทำให้เกิดการระคายเคืองบริเวณที่สัผัส เป็นโรคผิวหนัง เป็นตุ่มแข็งใสพอง หรือผิวหนังแข็งด้าน หรือเป็นจุดสี เกิดเป็นหูด อาจเป็นสาเหตุของมะเร็งผิวหนังทำให้ตาแดง ตาอักเสบ หลอดลมอักเสบ เบื่ออาหาร ปลายประสาทอักเสบ แขนขาชา อาจเป็นอัมพาตความจำเสื่อม และมีอาการทางตับ ไต หากร่างกายรับสารดังกล่าวเข้าไปมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งการรับประทานเข้าไป โดยตรงจะทำให้ตายได้ 

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารหนูเจือปนอยู่ ได้แก่ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เกิดกรณีโรคพิษสารหนูเรื้อรัง หรือที่เรียกว่า "ไข้ดำ" ที่อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่พบผู้ป่วยมากกว่า ๒๐๐ ราย มีอาการของโรคผิวหนัง เนื่องจากชาวบ้านบริโภคน้ำและอาหาร ที่มีสารหนูปนเปื้อนอยู่ติดต่อกันเป็นเวลานาน การปนเปื้อนของสารหนูในอำเภอร่อนพิบูลย์มี สาเหตุจากการทำเหมืองแร่ดีบุก และอุตสาหกรรมการแต่งแร่ สารหนูที่ปนอยู่ในดินบริเวณเหมือง ถูกชะล้างไปกับน้ำฝนลงสู่แหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการปล่อยน้ำเสียจากการแต่งแร่ ซึ่งมีสารหนูเจือปนอยู่ ออกสู่สิ่งแวดล้อม สารหนูดังกล่าวปนเปื้อนลงในน้ำใต้ดิน ในห้วยน้ำ ธรรมชาติ ในดินและพืชผักต่างๆ เป็นบริเวณโดยรอบพื้นที่ 

๓. สารตะกั่ว 

โรคผิวหนังที่เกิดจากแพ้สารตะกั่ว
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 17

 

เป็นสารโลหะหนักที่ใช้กันมากในการทำแบตเตอรี่รถยนต์ ทำสี ผสมในน้ำมันเบนซิน ผสมในยากำจัดศัตรูพืช ถ้าร่างกายได้รับสารตะกั่วเข้าไปในระดับความเข้มข้นสูงเป็นเวลานานๆ จะปรากฎอาการแพ้พิษสารตะกั่ว คือ มีอาการผิดปกติทางประสาท เช่น เซื่องซึมหงุดหงิด ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อกระตุก ความจำเสื่อม อาจถึงขั้นเพือ คลั่ง ชัก อัมพาต และตายได้ พบว่าตะกั่วสามารถถ่ายทอดจากมารดาไปสู่ทารก ในครรภ์ได้โดยผ่านทางรก นอกจากนี้ยังทำให้เป็นหมัน แท้ง เป็ฯมะเร็งในกระเพาะ ตับ ลำไส้ และไต

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารตะกั่วเจือปนที่เกิดขึ้นแล้ว ได้แก่ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ที่ตำบลบางครุ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เด็กหญิงคนหนึ่งเสียชีวิต เนื่องจากแพ้พิษสารตะกั่ว และคนในหมู่บ้านบริเวณนั้น มีระดับตะกั่วในเลือด สูงกว่าปกติ ที่เป็นเช่นนี้ เนื่องจากมีการนำกากตะกอน ของโรงงานหลอมตะกั่วจากซากแบตเตอรี่รถยนต์ มาถมบริเวณบ้านและถนนในซอยเข้าหมู่บ้าน ทำให้สารตะกั่วที่ยังติดค้างอยู่ในแบตเตอรี่ รั่วไหลซึมออกมาปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำใช้ของชาวบ้าน และบางส่วนระเหยกลายเป็นไอ หรือฝุ่นตะกั่วอยู่ในอากาศ 

๔. สารแคมเดมียม 

เป็นสารโลหะหนักที่ใช้มาในอุตสาหกรรมชุบโลหะทำสี อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยางและพลาสติก ตลอดจนใช้ในการเกษตรกรรม เช่น ใช้ในยาฆ่าเชื้อรา สารแคดเมียม เป็นพิษ ต่อร่างกายโดยทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ หงุดหงิดเกิดอาการระคายเคือง และอักเสบของระบบทางเดินหายใจติดขัดเบื่ออาหาร โลหิตจาง เป็นโรคตับและลำไส้และมีอาการปวดกระดูก

ตัวอย่างอันตรายจากของเสียที่มีสารแคดเมียมเจือปนอยู่ ได้แก่ กรณีของโรคอิไต-อิไต ที่เกิดขึ้นในมณฑลโทยามา ประเทศญี่ปุ่น โดยเกิดจากการปล่อยน้ำเสียจากเหมืองตะกั่ว และ สังกะสี รวมทั้งโรงงานถลุงตะกั่ว และสังกะสี ที่มีสารแคดเมียมเจือปนอยู่ลงในแม่น้ำจินซู ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่ม และน้ำใช้ ในการเกษตรกรรม ทำให้มีสารแคดเมียมสะสมอยู่ในน้ำและในข้าว ที่ใช้น้ำจากแม่น้ำในการเพาะปลูก เมื่อประชาชน นำน้ำและข้าวนั้นมาบริโภคจึงได้รับสารแคดเมียม ด้วย ผู้ป่วยด้วยโรคอิไต-อิไต จะมีอาการปวด และเจ็บหน้าอก ไอ หายใจติดขัด กระดูกเปราะ และมีรูปร่างผิดปกติ เนื่องจากแคดเมียมจะเข้า ไปแทนที่แคลเซียมในกระดูก ทำให้ผู้ป่วยมี อาการปวดกระดูกตลอดเวลา ตามรายงาน ปรากฏผู้ป่วยด้วยโรคอิไต-อิไต ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๙๗ - พ.ศ. ๒๕๑๑ มีมากกว่า ๗๐ ราย และมีผู้ป่วยที่สงสัยว่าจะเป็นโรคอิไต-อิไต แต่ ยังไม่แสดงอาการเด่นชัดอีกประมาณ ๑๕๐ ราย

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow