Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม

Posted By Plookpedia | 23 เม.ย. 60
2,441 Views

  Favorite

การเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม

๑. ฟาร์มปลาสวยงามและบ่อเพาะเลี้ยง  
ฟาร์มเพาะเลี้ยงปลาสวยงามจะแตกต่างกันไป ทั้งระบบ รูปแบบ ขนาดของบ่อ ภาชนะ และอุปกรณ์ที่ใช้เพาะเลี้ยง แล้วแต่ชนิดของปลา ปลาขนาดเล็กที่เพาะเลี้ยงได้ง่ายในตู้กระจก หรือภาชนะขนาดเล็ก อาจต้องการพื้นที่ไม่มากนัก และไม่จำเป็นต้องใช้ บ่อคอนกรีตหรือบ่อดิน ส่วนปลาขนาดใหญ่หรือปลาที่เพาะยากอาจต้องใช้บ่อคอนกรีตหรือบ่อดินในการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ หรือการผสมพันธุ์วางไข่ การเพาะเลี้ยงปลากัดต้องการเฉพาะขวดโหล อ่างซีเมนต์ หรืออ่างดินเผา ปลาปอมปาดัวร์และปลาขนาดเล็กอื่นๆที่เพาะง่ายอาจต้องการเพียงตู้กระจก ปลาแฟนซีคาร์ป ปลาตะเพียน และปลาอะโรวานา อาจต้องใช้ทั้งบ่อคอนกรีตและบ่อดิน ซึ่งต้องพิจารณาตามความต้องการของปลาแต่ละชนิด อย่างไรก็ตาม นอกจากบ่อและภาชนะ ที่จะใช้ในการเพาะ การอนุบาล และการเลี้ยงปลาแล้ว ฟาร์มสำหรับเพาะเลี้ยงปลาสวยงามต้องมี องค์ประกอบหลักอื่นๆ คือ แหล่งน้ำและระบบเตรียมน้ำ และระบบการให้อากาศ 

 

บ่อเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม
บ่อเพาะเลี้ยงแบบบ่อซีเมนต์กลม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๒. การเพาะพันธุ์ 
บ่อหรือภาชนะที่ใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม ซึ่งใช้สำหรับการอนุบาลลูกปลา การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ หรือเพาะพันธุ์ อาจใช้ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ บ่อคอนกรีต บ่อผ้าใบ บ่อพลาสติก หรือบ่อดิน แล้วแต่ชนิดของปลา อ่างซีเมนต์ควรเป็นอ่างสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ประมาณ ๖๐ x ๘๐ เซนติเมตร ลึกประมาณ ๒๐ - ๒๕ เซนติเมตร หรือบ่อซีเมนต์กลม มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๘๐ - ๑๒๐ เซนติ-เมตร และลึกประมาณ ๒๕ - ๓๐ เซนติเมตร บ่อคอนกรีตควรมีขนาด ๒ x ๒ เมตร หรือ ๒ x ๓ เมตร บ่อชนิดนี้เหมาะสำหรับการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ เพาะพันธุ์ และเลี้ยงลูกปลาได้ทุกขนาด บ่อผ้าใบ หรือพลาสติก ที่มีโครงเป็นไม้หรือเหล็ก ก็สามารถใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงามได้ดี และสามารถสร้างได้ง่าย ในราคาไม่แพงมากนัก สำหรับบ่อดินควรมีขนาดประมาณ ๑๐ - ๘๐๐ ตารางเมตร ในการเพาะพันธุ์ต้องเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีอายุ ในช่วงเจริญพันธุ์ เป็นปลาที่แข็งแรงสุขภาพดี มีรูปร่างลักษณะที่สมบูรณ์ พ่อแม่พันธุ์ อาจเลี้ยงในบ่อ ถัง ตู้กระจก หรือภาชนะอื่น ที่เหมาะสมสำหรับปลาแต่ละชนิด ตู้หรือบ่อเลี้ยงจะต้องปรับสภาพ ให้สนองความต้องการของปลาแต่ละชนิด น้ำที่ใช้ต้องสะอาด และมีคุณสมบัติตามความต้องการของปลา ปลาที่อยู่เป็นฝูงต้องการพื้นที่กว้างสำหรับการว่ายน้ำ และต้องการพรรณไม้น้ำ เพื่อเข้าไปหลบซ่อน ปลาในกลุ่มปลาดุกและปลาหมู ควรจะมีช่องหรือโพรงให้ พวกปลาหมอสีนอกจากโพรงแล้ว อาจต้องมีกองหินหรือแนวหิน เพื่อเป็นขอบเขต ปลาที่ตามธรรมชาติอยู่ในแหล่งน้ำซึ่งมีแสงน้อย ต้องใส่พรรณไม้น้ำ ประเภทที่ลอยอยู่ที่ผิวน้ำ รักษาคุณภาพน้ำให้สะอาด และมีออกซิเจนสูงตลอดเวลา โดยการทำความสะอาดเครื่องกรอง และเปลี่ยนถ่ายน้ำเป็นระยะๆ พยายามใช้อาหารที่มีชีวิตเป็นหลัก เนื่องจากอาหารที่มีชีวิตจะช่วยกระตุ้นให้ปลาวางไข่ในสภาพที่เลี้ยงได้ดีกว่า การย้ายพ่อแม่พันธุ์ เพื่อให้ผสมพันธุ์วางไข่นั้น หากเป็นปลาที่ไม่มีพฤติกรรมในการดูแลลูกอ่อน เช่น ปลาในกลุ่มปลาตะเพียน และปลาคาร์อะซิน ให้ย้ายปลาออกเป็นคู่ หรือเป็นฝูงเล็กๆ ไปใส่ในถังเพาะพันธุ์วางไข่ที่เตรียมไว้ หลังจากวางไข่หรือออกลูกแล้ว จึงจับคืนสู่บ่อเลี้ยง พ่อแม่พันธุ์ปลาที่สร้างอาณาเขต เช่น ปลาในกลุ่มปลาหมอ และปลากัด สามารถผสมพันธุ์วางไข่ในตู้กระจก การย้ายที่จากเดิมไปสู่สิ่งแวดล้อมใหม่อาจเป็นการรบกวนปลา จนอาจทำให้ไม่วางไข่ หรือกินไข่หรือตัวอ่อน บางครั้งอาจทำให้เกิดพฤติกรรมก้าวร้าว ทำร้ายปลาตัวอื่น ปลาบางชนิดที่วางไข่ผสมพันธุ์ยาก อาจต้องใช้วิธีการกระตุ้นด้วยการฉีดฮอร์โมน หรือใช้วิธีผสมเทียม 

๓. การอนุบาลลูกปลา 
ในการอนุบาลลูกปลาชนิดที่พ่อแม่พันธุ์ มีพฤติกรรมในการดูแลไข่และเลี้ยงลูกวัยอ่อนนั้น ผู้เพาะเลี้ยงเพียงแต่ดูแลเกี่ยวกับการให้อาหารที่เหมาะสมกับลูกปลา ในบางครั้งพ่อแม่ปลาอาจทิ้ง ไม่ดูแลไข่หรือตัวอ่อน หรืออาจ กินไข่หรือตัวอ่อน ซึ่งโดยทั่วไปเกิดจากการที่ถูกรบกวน โดยสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม ในกรณีนี้อาจต้องย้ายไข่หรือตัวอ่อนออกจากถังหรือตู้เพาะ ไปลงถังหรือตู้อื่น ที่มีคุณภาพน้ำเหมือนกัน ถ้าไข่ติดบนไม้ หิน หรือในโพรงหิน ต้องยกออกไปทั้งวัสดุที่ไข่เกาะติด และวางให้อยู่ในลักษณะเดิม ถ้าไข่ติดพรรณไม้น้ำ ใช้วิธีตัดส่วนของพรรณไม้น้ำย้ายไปใส่ถังใหม่ ปลาในกลุ่มปลาหมอซึ่งดูแลไข่ในปาก มักจะพ่นไข่ทิ้ง ถ้ามีการย้ายไข่เร็วเกินไป หลังจากที่วางไข่ และเป็นการยากมาก ที่จะอนุบาลให้ไข่ของปลาในกลุ่มนี้ ฟักออกเป็นตัว โดยไม่มีพ่อแม่ดูแล เนื่องจากไข่ส่วนมากมักจะเสีย ในกรณีของปลา ในกลุ่มที่ไม่ดูแลไข่ และลูกอ่อน สำหรับปลาที่วางไข่ครั้งเดียว ให้เคลื่อนย้ายพ่อแม่ปลาออกจากตู้หรือถังวางไข่ หลังจากที่วางไข่เสร็จ และปล่อยให้ไข่ พัฒนาเป็นตัวอ่อนในถังวางไข่ สำหรับปลาที่วางไข่ติดต่อกันหลายครั้ง ให้ย้ายไข่ไปลงถังอนุบาล โดยทิ้งพ่อแม่พันธุ์ไว้ในถังเพาะพันธุ์เช่นเดิม สำหรับไข่ที่จมอยู่บริเวณก้นถังอาจ ใช้สายยางดูด เพื่อย้ายไข่ ส่วนไข่ที่ติดอยู่ตามพรรณไม้น้ำ ให้แยกเฉพาะไข่ออกมา พวกไข่ลอยก็ใช้วิธีตักออกมา ด้วยภาชนะที่สะอาด เมื่อลูกปลาออกมาจากไข่ จะมีถุงอาหารติดออกมาด้วย ลูกปลาจะใช้อาหารจากถุงอาหาร ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ หลังจากฟักออกเป็นตัว อาจเป็นชั่วโมง หรือ ๒ - ๓ วัน แล้วแต่ชนิดของปลา หลังจากนั้นลูกปลาก็จะว่ายหาอาหาร ซึ่งต้องให้อาหารที่เหมาะสม โดยพิจารณาถึงขนาดของอาหารด้วย 


๔. อาหารปลาสวยงาม 
ปัจจุบันมีการผลิตอาหารสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ และรูปแบบที่หลากหลาย เช่น เป็นเม็ด เป็นเกล็ด เป็นผง อาหารลอยน้ำ อาหารครึ่งจมครึ่งลอย อาหารจมน้ำ ซึ่งมีขนาดต่างๆ กัน สำหรับปลาแต่ละชนิด และแต่ละขนาด อาหารสำเร็จรูปมีข้อดีที่สามารถควบคุมให้มีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐาน แต่อาจทำให้น้ำเสียง่าย อาหารธรรมชาติ ได้แก่ ลูกน้ำ ไรแดง ไรสีน้ำตาลหรืออาร์ทีเมีย (Artemia) หนอนแดง และไส้เดือนน้ำ อาหารที่มีชีวิตเหล่านี้มีคุณค่าทางอาหารสูง ทำให้ปลาโตเร็ว มีความสมบูรณ์ทางเพศดี เหมาะสมต่อการเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์และลูกปลา อาหารธรรมชาติ อาจจะให้ในสภาพที่มีชีวิตหรือตายแล้วก็ได้ ควรให้อาหารอย่างน้อย ๒ - ๓ วันต่อสัปดาห์ การให้อาหารควรให้วันละประมาณร้อยละ ๓ - ๕ ของน้ำหนักปลา หากให้อาหารสำเร็จรูป ปริมาณอาหารที่ให้ต้องไม่มากเกินไป และปลาต้องกินให้หมดภายใน ๑๐ - ๑๕ นาที ควรให้ปริมาณน้อยแต่บ่อยครั้ง เช่น วันละ ๒ - ๓ ครั้ง และควรมีการเสริมอาหารที่มีชีวิต ในบ่อขนาดใหญ่ควรให้อาหารกระจายให้ทั่วถึง 

๕. คุณภาพน้ำ 
ปลาสวยงามแต่ละกลุ่มแต่ละชนิด มาจากแหล่งน้ำ ที่มีสิ่งแวดล้อมและคุณภาพน้ำที่ต่างกัน ซึ่งจะมีผลต่ออัตราการรอดตาย อัตราการเจริญเติบโต และสุขภาพของปลา ตลอดจนการเจริญพันธุ์ และการผสมพันธุ์ วางไข่ การพัฒนาของไข่และตัวอ่อนของปลา ปลาน้ำจืดส่วนมากชอบน้ำ ที่เป็นกรดเล็กน้อยถึงเป็นด่างเล็กน้อย ยกเว้นปลาในกลุ่มปลาหมอสีในแอฟริกา ที่ชอบน้ำที่ค่อนข้างเป็นด่างสูง และต้องการน้ำที่มีความกระด้างสูง ดังนั้น นักเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม จะต้องศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการคุณภาพน้ำของปลา ที่จะเพาะเลี้ยง คุณภาพน้ำที่สำคัญอย่างอื่นคือ ปริมาณคาร์บอเนต - ไบคาร์บอเนต และปริมาณสารพิษในน้ำ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของคุณภาพน้ำที่จะมีผลต่อปลา ปลาต้องการน้ำที่มีปริมาณออกซิเจนสูง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำที่มากเกินไป ก็เป็นอันตรายต่อปลา สารพิษพวกแอมโมเนียไนไทรต์ ไฮโดรเจนซัลไฟด์ โลหะหนัก และคลอรีน เป็นอันตรายโดยตรงต่อปลา ที่ระดับความเข้มข้นแตกต่างกันไป น้ำจากแหล่งต่างๆ ที่นำมาใช้ในการเพาะเลี้ยงปลาสวยงาม เช่น น้ำจากแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึง น้ำบาดาล หรือน้ำประปา อาจมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไป หรืออาจมีปัญหามลพิษ ซึ่งบางครั้งไม่เหมาะสมกับชนิดของปลาที่จะเลี้ยง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงคุณภาพน้ำก่อนนำมาใช้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow