Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กำเนิดและพัฒนาการของเงินตรา

Posted By Plookpedia | 23 เม.ย. 60
1,746 Views

  Favorite

กำเนิดและพัฒนาการของเงินตรา

การอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่มชนเล็กๆ ของผู้คนสมัยก่อนประวัติศาสตร์เมื่อประมาณ ๖,๐๐๐ - ๗,๐๐๐ ปี ขึ้นไป ทำให้คนเรารู้จักการแลกเปลี่ยนปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยนำผลิตผลที่ตนมีเกินความต้องการ ไปแลกกับสิ่งอื่นๆ ที่ต้องการ และยังขาดอยู่ จัดเป็นระบบแลกเปลี่ยนโดยตรง 

ครั้นเมื่อสังคมเจริญขึ้น การอยู่อาศัยร่วมกันเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ทำให้คนเรามีความต้องการสิ่งต่างๆ มากขึ้นในการครองชีพ การแลกเปลี่ยนวัตถุกับวัตถุโดยตรงไม่สะดวก เพราะความต้องการของทั้ง ๒ ฝ่ายไม่ตรงกันทีเดียว เพื่อให้แลกเปลี่ยนกันได้ คนเราจึงเริ่มนำวัตถุบางอย่างที่เป็นที่ต้องการและมีค่าในสังคม ไปแลกกับวัตถุสิ่งของหรือผลิตผลอื่นที่ตนต้องการ ระบบการแลกเปลี่ยนโดยใช้สื่อกลางจึงเกิดขึ้น เริ่มจากนำผลผลิตของตนไปแลกกับวัตถุมีค่าที่ใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก่อน แล้วนำวัตถุมีค่านั้นไปแลกกับสิ่งที่ต้องการอีกทอดหนึ่ง ระบบใหม่นี้ยุ่งยากกว่าเดิม แต่ก็ใช้ได้กว้างขวางกว่า วัตถุมีค่าที่นำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนในระยะแรกๆ มีหลากหลาย ได้แก่ ปศุสัตว์ อาวุธ เครื่องมือเครื่องใช้ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ เช่น วัว แพะ แกะ ไก่ ขวานหิน หัวธนู เบ็ดตกปลา จอบ เสียม หนังสัตว์ ขนสัตว์ ผ้า เบี้ยหอย ลูกปัดแก้ว สร้อย ต่างหู กำไล เมล็ดพืช และเกลือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอารยธรรม ความเจริญ และความนิยมของแต่ละชุมชนในแต่ละยุคสมัย 

 

เบี้ย และเงินตราปัจจุบัน
เบี้ยและเงินตราปัจจุบัน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

๑. เงินตราโลหะ 
เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีที่แล้วมา มีการค้นพบสินแร่โลหะ ทองแดง เงิน และทองคำ จึงได้นำโลหะมาใช้ทำประโยชน์อย่างกว้างขวาง เช่น อาวุธเครื่องมือเกษตร เครื่องประดับ เครื่องดนตรี เช่น จอบ เสียม มีด ขวาน หอก หัวธนู เบ็ดตกปลา กำไล แหวน และลูกกระพรวน ด้วยคุณสมบัติของโลหะที่เปลี่ยนแปลงรูปร่างได้ง่าย จึงใช้ทำประโยชน์ได้กว้างขวาง ทั้งมีคุณภาพที่ดีกว่าเครื่องมือหินกระดูกสัตว์ สามารถตัดแบ่งเป็นก้อนเล็กๆ ทอนค่าลงได้ แล้วยังนำมาหลอมรวมกันเป็นก้อนใหญ่ โดยไม่เสียคุณภาพได้อีกด้วย โลหะจึงมีค่า และเป็นที่ต้องการของคนในสังคม โดยเฉพาะโลหะทองแดงซึ่งมีมาก จึงใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนกับวัตถุอื่นอย่างกว้างขวาง ความนิยมที่แผ่กว้างออกไปมากนี้ ทำให้โลหะกลายเป็นเครื่องวัดมูลค่าของวัตถุอื่นไปโดยปริยาย การกำหนดมูลค่าของโลหะ ทำได้โดยการเทียบน้ำหนัก ฉะนั้น ความจำเป็นที่จะต้องวัดและทราบน้ำหนักของโลหะจึงเกิดขึ้น และนำไปสู่การประดิษฐ์ตาชั่ง เพื่อหาน้ำหนักโดยชาวสุเมเรียนแห่งดินแดนเมโสโปเตเมียบริเวณลุ่มน้ำไทกรีส-ยูเฟรตีสในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ และชาวจีน ในเอเชียตะวันออก เมื่อประมาณ ๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว เมื่อกำหนดหน่วยและน้ำหนักของโลหะที่จะใช้เป็นสื่อกลางในการ แลกเปลี่ยนได้แล้ว โลหะ ซึ่งสามารถตัดแบ่งน้ำหนักออกได้ตรงตามหน่วยที่ต้องการใช้แลกเปลี่ยนนั้นพอดี ก็ทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดโลหะก็ได้เข้ามาเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนแทนที่วัตถุชนิดอื่นๆ ทั้งหมด

 

แท่งทองแดง
แท่งทองแดง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

๒. เหรียญกษาปณ์ 
นอกจากการกำหนดน้ำหนักของโลหะต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนระหว่างโลหะทองแดง โลหะเงินและโลหะทองคำ ตามความหาได้ยาก หรือหาได้ง่ายแล้ว ยังได้กำหนดน้ำหนักโลหะที่จะใช้แลกเปลี่ยนกับวัตถุที่ต้องการอื่นๆ ทำให้เกิดมาตรฐานน้ำหนักในการแลกเปลี่ยน หรือที่เรียกว่า “ซื้อขายจ่ายทอน” ขึ้นในชนชาติหนึ่งๆ เมื่อโลหะที่ใช้ซื้อขายจ่ายทอนมีมาตรฐานในด้านน้ำหนักและมูลค่า ประกอบกับการที่มูลค่าไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง ทั้งยังมีขนาดเล็กแต่มูลค่าสูง ทำให้พกพาได้สะดวก ความนิยมใช้โลหะเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้นทั่วโลก เมื่อกำหนดน้ำหนักว่าเป็นมูลค่าของตัวโลหะแต่ละก้อนแล้ว รูปร่างของก้อนโลหะจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญ

 

เหรียญกษาปณ์ต่างประเทศ
เหรียญกษาปณ์ต่างประเทศ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เมื่อการกำหนดมูลค่าตามน้ำหนักเป็นมาตรฐานเกิดขึ้นแล้ว การซื้อขายจ่ายทอนสินค้าและบริการในชนชาตินั้นก็สะดวกและรวดเร็วขึ้น แม้ว่าทั้งผู้ขายและผู้ซื้อจะต้องมีตาชั่งติดตัวไว้ตรวจสอบน้ำหนักของโลหะอยู่ตลอดเวลาก็ตาม และยิ่งเมื่อเกิดจักรวรรดิใหญ่ๆ เช่น สุเมเรีย เมโสโปเตเมีย ฮิตไทต์ แอสซีเรีย ตลอดจนเปอร์เซียขึ้นแล้ว จักรวรรดิที่กว้างใหญ่เหล่านี้สามารถรวบรวมชนชาติต่างๆ เข้ามาเป็นพลเมืองของจักรวรรดิเดียวกัน และเพื่อให้ประชาชนในจักรวรรดิสามารถทำการค้ากันได้โดยสะดวก บรรดาจักรพรรดิของจักรวรรดิเหล่านี้จึงมักประกาศบังคับให้ใช้มาตรฐานน้ำหนัก และมูลค่าของโลหะ เพื่อซื้อขายจ่ายทอนในจักรวรรดิของตนเอง โดยมาตรฐานน้ำหนักของโลหะได้มีการปรับปรุงหลายครั้งในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ จนมีมาตรฐานที่ใกล้เคียงกัน ชนชาติในจักรวรรดิที่ต่างกันจึงสามารถทำการค้าขายกันได้สะดวกและกว้างขวางยิ่งขึ้น 

  • เหรียญประทับตรา เมื่อประมาณ ๕๐๐ ปี ก่อนคริสตกาล กษัตริย์ครีซัส (Croesus) แห่งอาณาจักรลิเดีย (เดิมเป็นส่วนหนึ่งในประเทศตุรกีปัจจุบัน) ได้สั่งให้ตัด แบ่งก้อนนาก (โลหะเงินผสมทองคำ) ตามน้ำหนักมาตรฐานทุกขนาดน้ำหนัก และให้ประทับตราสิงโตประจำพระองค์เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของไว้ แล้วประกาศให้ใช้ก้อนนากที่ประทับตรานี้ เป็นเงินตราของอาณาจักรลิเดีย การกระทำของกษัตริย์ครีซัสนั้น ทำให้ก้อนโลหะมีค่าที่ใช้ซื้อขาย-จ่ายทอนในท้องตลาด มีมาตรฐานเดียวกัน ทั้งด้านน้ำหนักและความบริสุทธิ์ของเนื้อโลหะ และตราผู้มีอำนาจที่ประทับ ซึ่งได้กลายเป็นตรารับรองความถูกต้อง ทำให้เกิด “เงินตรามาตรฐาน” ที่เรียกกันว่า “เหรียญกษาปณ์” ขึ้น และเมื่อมีเหรียญกษาปณ์ที่เป็นหน่วยเดียวกัน ซึ่งมีน้ำหนักและตราเหมือนกันทุกก้อน ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายก็ไม่ต้องเสียเวลาตัดโลหะออกชั่ง เพื่อให้ได้น้ำหนักตามมูลค่าที่ตกลงกันอีกต่อไป การซื้อขายจ่ายทอนจึงสะดวกมากขึ้น เหรียญกษาปณ์จึงเป็นที่นิยมของประชาชนอย่างรวดเร็ว และได้กลายเป็นต้นแบบเหรียญกษาปณ์ของกรีก ต่อมาได้แพร่กระจายออกไป ทั่วตามเมืองท่าชายฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และเมืองสำคัญๆ ในทวีปยุโรป

 

เหรียญเงินที่ใช้ในการค้าขายของชาวยุโรป
เหรียญเงินที่ใช้ในการค้าขายของชาวยุโรป
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เครื่องเทศ
เครื่องเทศ สินค้าสำคัญซึ่งเป็นที่ต้องการของชาวยุโรป
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

  • เหรียญหล่อ ในซีกโลกตะวันออก ประเทศจีนมีการผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้นมาใช้แล้วในเวลาที่ใกล้เคียงกับอาณาจักรลิเดีย แต่ผลิตด้วยกรรมวิธีการหล่อ ซึ่งสามารถผลิตเหรียญได้เป็นจำนวนมากในคราวเดียวกัน โดยแกะแม่พิมพ์เหรียญทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ด้วยหินทราย จากนั้นนำโลหะสำริดที่หลอมละลายดีแล้วเทลงในแม่พิมพ์ และปล่อยทิ้งไว้จนแข็งตัว แล้วจึงถอดเหรียญออกจากแม่พิมพ์ หักเหรียญหล่อออกจากแกนแล้วนำไปขัดถูล้างให้เรียบร้อย และนับรวมกันร้อยด้วยเชือกรอที่จะนำออกใช้ การหล่อทำให้จีนสามารถผลิตเงินตราให้ประชาชนได้เป็นจำนวนมาก และมีเหรียญกษาปณ์ไว้ซื้อขายจ่ายทอน เพียงพอกับความต้องการในชีวิตประจำวัน แม้ว่าเหรียญที่หล่อขึ้นมานั้น จะหนักไม่เท่ากันทุกเหรียญ และอาจจะหนักต่ำกว่าน้ำหนักตามมาตรฐานก็ตาม แต่ข้อบกพร่องก็เทียบกันไม่ได้กับความสะดวกในระยะแรก ประเทศจีนใช้วิธีหล่อเหรียญกษาปณ์ชนิดราคาต่ำเท่านั้น ส่วนการชำระหนี้ค่าสินค้าราคาสูงๆ นั้น ก็ยังคงใช้เงินแท่ง ชั่งตามน้ำหนักเหมือนเช่นเดิม จนกระทั่งใน ค.ศ. ๑๘๙๐ พระเจ้ากวางสูแห่งราชวงศ์ชิง จึงได้ผลิตเหรียญกษาปณ์เงิน ด้วยเครื่องจักรเป็นครั้งแรก ประเทศต่างๆ ที่ผลิตเหรียญกษาปณ์ขึ้น ต่างมีวัตถุประสงค์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ใช้ซื้อขายจ่ายทอนในประเทศของตน จึงได้มีการแบ่งขนาดและชนิดราคาของเหรียญกษาปณ์ต่างๆ กัน ให้เลือกใช้ตามมูลค่าสินค้า แต่เมื่อการค้าระหว่างประเทศเจริญขึ้น โดยเฉพาะในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๖ ชาวยุโรปเริ่มเดินเรือไปยังดินแดนต่างๆ ทางตะวันออกกลาง และตะวันออกไกล เพื่อซื้อเครื่องเทศ และผ้าไหม จึงได้นำเหรียญกษาปณ์เงินที่ใช้ในประเทศของตน ไปซื้อสินค้าในต่างประเทศเป็นจำนวนมาก ทำให้เหรียญกษาปณ์ไม่พอใช้ภายในประเทศ จึงเป็นภาระที่ทำให้ต้องผลิตขึ้นใหม่ ซึ่งต้องใช้เวลา และความพยายามสูง อีกทั้งเหรียญเงินก็มีปะปนกันจากหลายประเทศ ขนาดและความบริสุทธิ์ของเนื้อเงินก็แตกต่างกัน ทำให้ต้องตรวจสอบเหรียญกษาปณ์ทุกชนิด ซึ่งมีจำนวนมาก การค้าระหว่างประเทศจึงเสียเวลามาก และทำได้ไม่สะดวก

 

เงินฮาง
เงินฮางของประเทศเวียดนาม ตรงกับช่วงรัชกาลที่ ๔
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนเหรียญกษาปณ์ที่ใช้ภายในประเทศ และสามารถซื้อขายสินค้าในต่างประเทศได้อย่าง รวดเร็ว ประเทศที่มีการค้าทางเรือที่สำคัญ โดยเฉพาะประเทศสเปน จึงได้แยกเหรียญกษาปณ์ที่ใช้ภายในประเทศ ออกจากเหรียญเงินที่ใช้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ โดยการออกแบบเหรียญเงินให้มีน้ำหนักและตราที่ประทับเหมือนกันทุกเหรียญ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน แล้วใช้แร่เงินจำนวนมากจากอาณานิคมของตนมาผลิตเหรียญเงินดังกล่าว การค้าขายระหว่างประเทศจึงเร็วขึ้น ต่อมาประเทศต่างๆที่มีการค้าระหว่าง ประเทศ จึงพากันผลิตเหรียญกษาปณ์เพื่อการค้าออกมาใช้เช่นกัน

 

๓. บัตรธนาคาร
ถึงแม้ว่าเหรียญกษาปณ์จะอำนวยความสะดวกให้ประชาชนในแต่ละประเทศ สำหรับใช้เป็นเงินตราซื้อขายจ่ายทอนได้เป็นอย่างดีก็ตาม แต่เมื่อมีการซื้อสินค้าที่มีราคาสูง เช่น อัญมณี ที่ดินและอาคารสิ่งก่อสร้าง จำนวนของเหรียญกษาปณ์ที่ต้องชำระเป็นค่าสินค้า ก็มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นภาระของผู้ซื้อที่จะต้องรวบรวมเหรียญจำนวนมาก ส่วนผู้ขายก็ต้องรับเหรียญจำนวนมากที่มีน้ำหนักมากเช่นกัน นอกจากต้องหาที่เก็บที่ปลอดภัยแล้ว ยังเป็นภาระของรัฐบาลที่ต้องเป็นธุระจัดซื้อโลหะเงินจำนวนมาก เพื่อนำมาผลิตเหรียญกษาปณ์มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งต้องสิ้นเปลืองงบประมาณจำนวนมากในการซื้อเครื่องจักรผลิตเหรียญ สร้างโรงงานผลิตเหรียญ มีห้องที่มั่นคงแข็งแรงสำหรับเก็บเหรียญและแร่เงินให้ปลอดภัย ตลอดจนต้องขนเหรียญกษาปณ์ที่มีน้ำหนักมาก ออกจำหน่ายให้ประชาชนได้แลกมาใช้ซื้อขายจ่ายทอนกัน ภาระค่าใช้จ่ายในการผลิตและขนย้ายเหรียญมีสูงขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งไม่สามารถหาซื้อโลหะเงินมาผลิตเหรียญกษาปณ์ได้เพียงพอ ทั้งยังมีราคาสูงขึ้นด้วย ส่วนพ่อค้านอกจากรับภาระในการรวบรวมเหรียญกษาปณ์ให้ได้ตามจำนวนที่ต้องการแล้ว ยังต้องมีภาระในการเก็บรักษา และขนเหรียญกษาปณ์ที่หนักมากนี้เดินทางไปซื้อสินค้าในส่วนต่างๆ ของประเทศ รวมทั้งขนขึ้นเรือไปยังดินแดนโพ้นทะเล เพื่อใช้ซื้อสินค้าอีกด้วย บ่อยครั้งที่ปรากฏว่า เหรียญกษาปณ์เหล่านี้ไปไม่ถึงจุดหมายปลายทาง เนื่องจากเรือสำเภาได้ถูกโจรสลัดปล้นสะดม หรือถูกลมพายุพัดอับปางลงกลางทะเลเสียก่อน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเหล่านี้ พ่อค้าจึงฝากเหรียญกษาปณ์จำนวนมากนี้ ไว้ในสถานที่ที่ปลอดภัยของนายช่างทอง แล้วรับใบรับฝากเหรียญกษาปณ์เก็บไว้เป็นหลักฐาน เพื่อสามารถนำไปยื่นขอรับเหรียญกษาปณ์เหล่านี้คืนได้ โดยจ่ายค่าฝากให้ตามที่ตกลงกัน ด้วยวิธีการ เช่นนี้ พ่อค้าผู้ฝากเหรียญกษาปณ์ก็สามารถนำใบฝากเหรียญดังกล่าวนี้ ไปชำระค่าสินค้าราคาสูงๆ ที่ตนซื้อได้ โดยการโอนสิทธิการถอนเงินตามใบรับฝากเหรียญให้ผู้ขายสินค้า ใบรับฝากจึงเป็นที่นิยมกันอย่างรวดเร็ว เรียกกันว่า “บัตรธนาคาร” (Bank Note) 

 

บัตรธนาคาร
บัตรธนาคารของธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ ชนิดราคา ๑๐๐ บาท
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

บัตรธนาคาร
บัตรธนาคารของธนาคารอินโดจีนของฝรั่งเศส
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


การที่พ่อค้านำเงินตราไปฝากไว้กับช่างทองนี้ เท่ากับช่างทองทำธุรกิจธนาคารพาณิชย์ มีรายได้จากการรับฝาก และเมื่อออกใบรับฝากที่เรียกกันว่า บัตรธนาคาร ให้แก่ผู้ฝากเงินตรามากขึ้นเพื่อหารายได้ จำนวนบัตรธนาคารจึงมีจำนวนมาก ในที่สุดได้กลายเป็นเงินตราชนิดหนึ่งที่ใช้ซื้อหรือชำระหนี้คู่กับเหรียญกษาปณ์ของรัฐบาล ดังนั้น เพื่อป้องกันการทุจริต รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงต้องเข้าไปควบคุมการผลิตบัตรธนาคาร ต่อมารัฐบาลได้เข้าจัดมาตรฐานบัตรธนาคารเหล่านั้น โดยให้ธนาคารของรัฐบาลพิมพ์ออกใช้เองแต่ผู้เดียว บัตรธนาคารลักษณะนี้เรียกกันตามกฎหมายเงินตราของไทยว่า “ธนบัตร” 

 

บัตรธนาคาร
บัตรธนาคารของธนาคารชาร์เตอร์แห่งอินเดีย ออสเตรเลีย และจีน ชนิดราคา ๑ บาท
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

บัตรธนาคาร
ธนบัตรแบบหนึ่งมี ๕ ชนิดราคา นำออกใช้ในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๕ พิมพ์จากรปะเทศอังกฤษและพิมพ์ด้านเดียว 
จากรูป ราคา ๑๐ บาท กว้าง ๑๒.๖ ซม. x ยาว ๒๐.๕ ซม.
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


ธนบัตรที่พิมพ์ออกใช้ในสมัยแรกๆ นั้น รัฐบาลหรือธนาคารผู้พิมพ์ต่างก็เก็บเหรียญกษาปณ์เงินที่มีมูลค่าเท่ากับจำนวนธนบัตรที่พิมพ์ขึ้นไว้เสมอ เพื่อพร้อมที่จะจ่ายคืนให้แก่ผู้ที่นำธนบัตรมาขอแลกเปลี่ยนเป็นเหรียญเงินตามมูลค่าที่พิมพ์ไว้บนธนบัตรนั้น ธนบัตรในสมัยแรกๆ จึงมีเหรียญเงินสำรองไว้สำหรับจ่ายคืน เมื่อถูกขอแลกเป็นเหรียญเงินเต็มจำนวน ซึ่งมีข้อความพิมพ์บนธนบัตรว่า “สัญญาจ่ายเงินเหรียญให้เต็มตามจำนวน” แต่ด้วยเหตุที่เศรษฐกิจและการค้าของแต่ละประเทศได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ปริมาณเงินตราที่ใช้ในธุรกิจการค้าจึงขยายตัวตามไปด้วยอย่างรวดเร็วเช่นกัน ส่งผลให้ความต้องการโลหะมีค่าเพิ่มขึ้น เกินความสามารถของเหมืองเงินเหมืองทองทั่วโลกที่จะผลิตโลหะเงินและโลหะทองให้เพียงพอ แก่ความต้องการของทุกๆ ประเทศได้ โลหะเงินและทองจึงมีราคาสูงขึ้น และหายากมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ เมื่อเกิดภาวะสงครามรัฐบาลของแต่ละประเทศไม่สามารถเก็บเงินสำรอง เพื่อเตรียมไว้จ่ายคืนให้แก่ผู้ที่นำธนบัตรมาขอเปลี่ยนเป็นเหรียญเงินเต็มจำนวนได้ รัฐบาลของประเทศต่างๆ จึงได้ยกเลิกการให้นำธนบัตรมาขอแลกเปลี่ยนกับเหรียญกษาปณ์เงิน และให้พิมพ์ข้อความบนธนบัตรเสียใหม่ว่า “ธนบัตรเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” นอกจากนี้ ยังเลิกการนำโลหะมีค่าสูงมาจัดทำเหรียญกษาปณ์ และหันมาใช้โลหะมีค่าต่ำ เช่น ดีบุก นิกเกิล สังกะสี ทองแดง และทองเหลือง เพื่อให้สามารถผลิตเหรียญกษาปณ์ออกใช้ได้ เป็นจำนวนมากเพียงพอแก่ความต้องการ

 

บัตรธนาคาร
ธนบัตรแบบหนึ่งมี ๕ ชนิดราคา นำออกใช้ในรัชกาลที่ ๕ พ.ศ. ๒๔๔๕ พิมพ์จากรปะเทศอังกฤษและพิมพ์ด้านเดียว 
จากรูป ราคา ๑๐๐ บาท กว้าง ๑๒.๖ ซม. x ยาว ๒๐.๕ ซม.
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow