Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัญหาการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
2,506 Views

  Favorite

ปัญหาการพัฒนาซอฟต์แวร์ในประเทศไทย

      คอมพิวเตอร์จะมีประโยชน์สำหรับเราก็ต่อเมื่อมีซอฟต์แวร์ที่สั่งให้คอมพิวเตอร์ทำงาน คอมพิวเตอร์ที่ไม่มีซอฟต์แวร์เปรียบเสมือนคนที่ไม่มีวิญญาณ ดังนั้นซอฟต์แวร์จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากแต่ขณะที่คอมพิวเตอร์ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและมีขนาดเล็กลงเรื่อย ๆ ซอฟต์แวร์ที่ต้องใช้กับเครื่องเหล่านี้ก็ยิ่งซับซ้อนมากขึ้นและมีขนาดใหญ่ขึ้นมากจากเดิมที่มีชุดคำสั่งเพียง ๑๐๐-๒๐๐ บรรทัดก็จะเพิ่มเป็นชุดคำสั่งหลายล้านบรรทัด ดังนั้นค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องใช้ในการพัฒนาซอฟต์แวร์จึงมากขึ้นตามไปด้วย  ในปี พ.ศ. ๒๕๔๓ คาดการณ์ว่าตลาดซอฟต์แวร์โลกจะมีมูลค่า ๕.๖ ล้านล้านบาทและคงจะขยายตัวเป็นร้อยละ ๑๒.๒ ต่อปี  ส่วนตลาดซอฟต์แวร์ในประเทศไทยคาดว่ามีมูลค่ากว่า ๖,๖๐๐ ล้านบาท และถ้าภาครัฐเป็นผู้ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศรายใหญ่ก็จะมีมูลค่าสูงถึง ๑๓,๐๐๐ ล้านบาทต่อปี เราอาจจะพิจารณาจากมูลค่าของตลาดซอฟต์แวร์ได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตซอฟต์แวร์น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีและมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไทย เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ลงทุนเรื่องเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ไม่มากแต่จะยึดถือบุคลากรเป็นหลักในการพัฒนา  ความจริงแล้วการพัฒนาซอฟต์แวร์ให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ประเทศไทยยังต้องปรับปรุงศักยภาพของซอฟต์แวร์อีกมากจึงจะสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้  ปัญหาและอุปสรรคที่เห็นได้อย่างชัดเจนในปัจจุบัน ได้แก่ ปัญหาด้านการตลาด ปัญหาด้านการทำวิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี และปัญหาด้านคุณภาพ

๑. ปัญหาด้านการตลาด 

      บริษัทซอฟต์แวร์ไทยประสบปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เช่นเดียวกับบริษัทซอฟต์แวร์ทั่วโลก คือ หลังจากลงทุนมหาศาลในการผลิตซอฟต์แวร์แต่เมื่อนำออกจำหน่ายก็ถูกลอกเลียนแบบด้วยการอัดสำเนาและจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าต้นแบบถึงสิบเท่าซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ต้นแบบจำหน่ายได้น้อยผู้ผลิตจึงขาดทุน 

๒. ปัญหาด้านการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 

      ซอฟต์แวร์ที่สามารถอำนวยความสะดวกให้แก่คนไทยได้อย่างแท้จริงนั้นจะต้องทำให้คอมพิวเตอร์ทำงานโดยใช้ภาษาไทยได้ เช่น อ่านออก เขียน และตรวจไวยากรณ์ได้ ฟังรู้เรื่อง พูดเป็น ฯลฯ แต่การพัฒนาซอฟต์แวร์ให้สามารถทำเรื่องเหล่านี้ได้เป็นเรื่องที่ยากจึงต้องอาศัยการทำวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมาสนับสนุน  นักวิจัยหลายร้อยคนต้องค้นคว้าทดลองนานนับสิบปีจึงจะสามารถพัฒนาซอฟต์แวร์ที่ฟัง พูด และเขียน ภาษาอังกฤษได้สำเร็จ  แต่นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยในเรื่องเหล่านี้ของไทยมีอยู่น้อยมาก  ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องเพิ่มทรัพยากรมนุษย์ในส่วนนี้ 

๓. ปัญหาด้านคุณภาพ 

      ซอฟต์แวร์ที่ได้รับการพัฒนาโดยคนไทยจะมีความแตกต่างด้านคุณภาพ ส่วนใหญ่ประเทศไทยจะประสบปัญหาในเรื่องการประเมินคุณภาพของซอฟต์แวร์ กล่าวคือเมื่อขาดการประเมินคุณภาพที่ดี คนไทยก็จะไปนิยมซอฟต์แวร์จากต่างประเทศเพราะไม่เชื่อถือฝีมือคนไทยด้วยกันทั้งที่ซอฟต์แวร์ของไทยก็มีคุณภาพดี  ในทางกลับกันเมื่อมีซอฟต์แวร์ที่ด้อยคุณภาพผู้พัฒนาก็ไม่ทราบจุดบกพร่อง จึงไม่ได้ปรับปรุงคุณภาพให้ดีเท่าที่ควร 
      สาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้ซอฟต์แวร์ของไทยขาดคุณภาพ ได้แก่ การขาดการบริหารโครงการที่ดี การขาดบุคลากรที่มีทักษะทันสมัยในด้านการพัฒนาและทดสอบซอฟต์แวร์ การขาดวิธีการกำหนดคุณลักษณะซอฟต์แวร์ที่เหมาะสม ฯลฯ  หากจะมีการเพิ่มคุณภาพของซอฟต์แวร์ไทยก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับปรุงเรื่องของกระบวนการพัฒนาซอฟต์แวร์ (ซึ่งรวมถึงการกำหนดคุณลักษณะซอฟต์แวร์และการประเมินคุณภาพของซอฟต์แวร์) และการพัฒนาบุคลากรด้านซอฟต์แวร์ไปพร้อมกันด้วย  ค่าใช้จ่ายในการแก้ไขข้อผิดพลาดในการพัฒนาซอฟต์แวร์จากการศึกษาของนายแบรี่ บีม ในปี ค.ศ. ๑๙๗๖ แสดงให้เห็นว่ายิ่งแก้ไขข้อผิดพลาดล่าช้าก็ยิ่งเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

 

ซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow