Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต (พ.ศ. ๒๕๓๙ - ปัจจุบัน)

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,941 Views

  Favorite

ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต (พ.ศ. ๒๕๓๙ - ปัจจุบัน)

ในยุคนี้เป็นยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต ไมโครโปรเซสเซอร์ที่ใช้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 

  • สามารถรับคำสั่งได้ถึง ๖๔,๐๐๐ ล้านคำสั่ง หรือใช้ขนาดข้อมูลได้ถึง ๖๔,๐๐๐ ล้านตัวอักษร
  • สามารถประมวลข้อมูลได้ขนาด ๓๒ บิตต่อครั้ง ตัวเลขที่มีค่ามากกว่า ๔,๒๙๕ ล้านจะต้องถูกแยกประมวลเป็นหลาย ๆ ส่วน ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพต่ำแต่ข้อมูลที่ใช้ทั่วไปทางธุรกิจจะมีค่าอยู่ในช่วงนี้ ไมโครคอมพิวเตอร์จึงมีประสิทธิภาพเหมาะสำหรับใช้ทางด้านธุรกิจ
  • มีวิทยากรในการเปิดหรือปิดวงจรทรานซิสเตอร์ได้เร็วกว่า ๑,๐๐๐ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๙,๒๐๐ เท่า)
  • สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้มากกว่า ๙ ล้านตัว (มากกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๓,๙๐๐ เท่า)
  • สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วกว่า ๒๒๐ ล้านคำสั่งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๓,๖๐๐ เท่า)
  • บางรุ่นสามารถประมวลคำสั่งได้มากกว่า ๑ คำสั่ง พร้อม ๆ กัน
  • บางรุ่นจะมีคำสั่งพิเศษที่สามารถประมวลข้อมูลทางด้านรูปภาพ เสียง หรือภาพยนตร์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพจึงทำให้เหมาะสมที่จะใช้ทางด้านการสื่อสารและโทรคมนาคม
  • บางรุ่นจะมีหน่วยความจำแบบเร็ว (cache memory) อยู่ข้างในไมโครโพรเซสเซอร์เพื่อที่จะได้เพิ่มความเร็วของการเรียกใช้ข้อมูล

 

คอมพิวเตอร์
ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันจะมีฮาร์ดดิสก์หลายรูปแบบและหลายขนาด

 

      ไมโครคอมพิวเตอร์ยุคนี้ก็ยังใช้ฟล็อปปีดิสก์ที่มีขนาด ๕.๒๕ นิ้วและขนาด ๓.๕ นิ้ว บางรุ่นสามารถเก็บข้อมูลได้มากขึ้นถึง ๒.๘ ล้านตัวอักษรหรือข้อความ ๑,๔๐๐ หน้า และใช้ฮาร์ดดิสก์หลายรูปแบบที่มีหลายขนาด มีทั้งขนาดใหญ่ที่สามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่า ๑๖,๐๐๐ ล้านตัวอักษรหรือข้อความ ๘ ล้านหน้า ซึ่งเท่ากับหนังสือขนาด ๔๐๐ หน้า จำนวน ๒๐,๐๐๐ เล่ม และขนาดเล็กเท่ากล่องไม้ขีดไฟที่มีขนาดเพียง ๑.๓ นิ้ว ซึ่งสามารถเก็บข้อมูลได้หลายร้อยล้านตัวอักษร ฮาร์ดดิสก์ก็ได้เพิ่มความเร็วในการเก็บและเรียกใช้บางชนิดสามารถถอดและสับเปลี่ยนได้เหมือนฟล็อปปีดิสก์แต่ว่ามีความเร็วสูงและสามารถเก็บข้อมูลได้มากกว่าฟล็อปปีดิสก์ 

 

คอมพิวเตอร์
ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคปัจจุบันจะมีฮาร์ดดิสก์หลายรูปแบบและหลายขนาด
ีคอมพิวเตอร์
เครื่องพิมพ์แบบอิงค์เจ็ต (inkjet printer)


      การแสดงผลข้อมูลก็ใช้จอภาพที่มีความละเอียดมากขึ้น มีขนาดใหญ่ขึ้น และมีจำนวนสีมากขึ้นเป็นล้าน ๆ สี  สำหรับเครื่องพิมพ์ก็ใช้เครื่องพิมพ์แบบเลเซอร์ (laser printer) และอิงก์เจ็ต (inkjet printer) ซึ่งสามารถตีพิมพ์ข้อมูลทั้งภาพและตัวอักษรแบบขาวดำและสีได้อย่างสวยงามเทียบเท่าโรงพิมพ์และเริ่มมีการใช้เสียงในการแสดงผล เช่น การรับฟังวิทยุหรือเล่นเพลงโดยใช้ไมโครคอมพิวเตอร์และลำโพง ส่วนการป้อนข้อมูลก็มีการใช้แป้นพิมพ์ เมาส์ กล้องถ่ายภาพสี ไมโครโฟน และสแกนเนอร์ (scanner) ทำให้เราสามารถแม้กระทั่งสั่งงานคอมพิวเตอร์โดยใช้เสียงได้ เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ในการเรียงพิมพ์ เราสามารถจะเขียนข้อความโดยที่คอมพิวเตอร์สามารถเปลี่ยนข้อมูลของเสียงมาเป็นตัวอักษรได้หรือเราสามารถจะเขียนข้อความบนจอภาพหรือบนกระดาษแล้วให้คอมพิวเตอร์อ่านลายมือและเปลี่ยนมาเป็นตัวอักษร การสื่อสารของเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์มีหลายประเภททั้งเครือข่ายประเภท แลน (LAN - local area network) แวน (WAN - wide area network) หรือ อินเทอร์เน็ต (Internet) จึงทำให้ไมโครคอมพิวเตอร์ยุคนี้มีอุปกรณ์เสริมหลายชนิด เช่น โมเด็ม (modem) ที่ช่วยในการส่งและรับข้อมูลผ่านทางโทรศัพท์และสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เร็วกว่า ๕๖,๐๐๐ บิตต่อวินาที หรือแลนการ์ดที่ช่วยต่อคอมพิวเตอร์เครื่องอื่นที่อยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ได้อย่างรวดเร็วโดยสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เร็วกว่า ๑๐๐ ล้านบิตต่อวินาที  เนื่องจากยุคนี้เป็นยุคที่มีระยะเวลายาวนานจึงมีการปรับปรุงและคิดค้นวิทยาการใหม่ ๆ หลายอย่าง เพื่อทำให้ไมโครคอมพิวเตอร์ทำงานได้เร็วขึ้น ดีขึ้น และมีความสามารถมากขึ้น ไมโครคอมพิวเตอร์จึงมีขนาดเล็กลงและทำงานได้เร็วขึ้น เราสามารถแบ่งขนาดของไมโครคอมพิวเตอร์ได้ ดังต่อไปนี้ 

  • ขนาดตั้งโต๊ะ (desktop) 
  • ขนาดวางบนตัก (laptop) 
  • ขนาดสมุดบันทึก (notebook) 
  • ขนาดฝ่ามือ (palmtop or pad) 

 

คอมพิวเตอร์
๑. ขนาดตั้งโต๊ะ 
คอมพิวเตอร์
๒. ขนาดวางบนตัก 

 

 

คอมพิวเตอร์
๓. ขนาดสมุดบันทึก 
คอมพิวเตอร์
๔. ขนาดฝ่ามือ

 

      เราถือว่าเครื่องขนาดวางบนตัก ขนาดสมุดบันทึก และขนาดฝ่ามือ เป็นเครื่องที่สามารถหอบหิ้วและพกพาได้โดยจะมีแบตเตอรี่ช่วยให้สามารถใช้เครื่องได้โดยไม่ต้องเสียบปลั๊กไฟฟ้า เครื่องขนาดวางบนตักและขนาดสมุดบันทึกจะมีสมรรถภาพและความเร็วเทียบเท่าเครื่องขนาดตั้งโต๊ะแต่มีราคาที่แพงกว่าเนื่องจากออกแบบได้ยากกว่าและจะต้องมีความทนทานมากกว่าเพราะเป็นเครื่องที่ต้องเคลื่อนย้ายบ่อย ๆ สำหรับเครื่องขนาดฝ่ามือนั้นส่วนมากจะใช้สำหรับการเก็บข้อมูลที่ใช้ทั่วไป เช่น การเก็บเบอร์โทรศัพท์ ที่อยู่ เวลานัดหมาย เนื่องจากเครื่องมีขนาดเล็กมากจึงทำให้ไม่สามารถป้อนข้อมูลมาก ๆ โดยการพิมพ์หรือเขียนบนเครื่องได้สะดวก  ปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงปลายยุคของไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๓๒ บิต ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๔๓ จะเริ่มมีไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๖๔ บิต ใช้กันอย่างแพร่หลาย 

 

คอมพิวเตอร์
เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ขนาดสมุดบันทึก iBook ของบริษัทแอปเปิล

 

วิวัฒนาการทางฮาร์ดแวร์ 

      ช่วงต้น ๆ ของยุคนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ บริษัทไอบีเอ็มและบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ คือ สองบริษัทใหญ่ของวงการไมโครคอมพิวเตอร์ บริษัทที่ใหญ่รองลงมา คือ บริษัทคอมโมดอร์และบริษัทเรดิโอแช็ค โดยบริษัทไอบีเอ็มจำหน่ายเครื่องตระกูลพีซีได้ทั้งหมด ๗ ล้านเครื่อง บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์จำหน่ายได้ทั้งหมด ๕ ล้านเครื่อง บริษัทคอมโมดอร์จำหน่ายได้ทั้งหมด ๔ ล้านเครื่อง และบริษัทเรดิโอแช็คจำหน่ายได้ทั้งหมด ๒ ล้านเครื่อง ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จและมีความสำคัญในยุคนี้ มีดังต่อไปนี้ 


พีซีรุ่น ๘๐๓๘๕๖ (พ.ศ. ๒๕๒๙) 
      บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ ชื่อว่า รุ่น ๘๐๓๘๖ ซึ่งเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ขนาด ๓๒ บิต ใช้ทรานซิสเตอร์ ๒๗๕,๐๐๐ ตัว (มากกว่ารุ่น ๘๐๒๘๖ ถึง ๒ เท่า) และมีความสามารถทำงานหลาย ๆ อย่างสลับกันไปมาในเวลาเดียวกันได้อย่างสะดวกและมีประสิทธิภาพ (multitasking) ทำให้มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะใช้กับชุดคำสั่งควบคุมที่มีประสิทธิภาพสูงอย่างบนระบบยูนิกซ์ (Unix) หรือบนวินโดวส์รุ่นหลัง ๆ ได้  ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๖ ล้าน คำสั่งต่อวินาที (เร็วกว่าพีซีรุ่นแรกถึง ๑๘ เท่า) เมื่อไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๓๘๖ ออกมา บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลนทั้งหลายก็รอให้บริษัทไอบีเอ็มผลิตเครื่องพีซีที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่แต่หลังจากรอเป็นเวลานานบริษัทคอมแพกจึงตัดสินใจที่จะไม่รอบริษัทไอบีเอ็ม โดยได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๓๘๖ ขึ้น ในปี พ.ศ. ๒๕๒๙ ชื่อว่า รุ่นคอมแพกเดสก์โปร ๓๘๖ (Compaq Deskpro 386) และใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความ เร็ว ๑๖ ล้านครั้งต่อวินาทีและนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้บริษัทไอบีเอ็มได้สูญเสียความเป็นผู้นำของวงการไมโครคอมพิวเตอร์ 
      นับจากจุดนี้เป็นต้นไปเมื่อบริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ ๆ ออกมา บริษัทที่ผลิตเครื่องโคลนต่างก็แข่งขันกันผลิตเครื่องพีซีที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ออกจำหน่าย โดยไม่มีบริษัทใดสนใจที่จะรอบริษัทไอบีเอ็มอีกต่อไป การที่บริษัทไอบีเอ็มมีความล่าช้าในการผลิตพีซีที่ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๓๘๖ นั้น เพราะว่าบริษัทไอบีเอ็มต้องการที่จะดึงตลาดของเครื่องพีซีให้มาอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทมากขึ้นโดยได้เปลี่ยนการออกแบบโครงสร้างของพีซีรุ่นต่อมาและจดลิขสิทธิ์ของโครงสร้างใหม่ ๆ นี้ไว้เพื่อจะได้สามารถบังคับให้บริษัทอื่น ๆ ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ที่แพงมากให้แก่บริษัทไอบีเอ็มเพื่อที่จะได้สิทธิในการผลิตเครื่องโคลนของพีซีแบบใหม่นี้เนื่องจากเริ่มมีหลาย ๆ บริษัทได้ผลิตเครื่องโคลนของตระกูลพีซีและได้เริ่มแย่งตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ของบริษัทไอบีเอ็ม โดยจำหน่ายในราคาถูกกว่าและเครื่องโคลนยังมีความเร็วกว่าเครื่องตระกูลพีซีแท้ ๆ ทำให้ยอดจำหน่ายเครื่องโคลนทั้งหมดมีมากกว่าเครื่องพีซีของบริษัทไอบีเอ็ม 
      เครื่องพีซีรุ่นใหม่นี้ใช้วิทยาการใหม่สำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลของส่วนต่าง ๆ ภายในตัวเครื่องที่มีชื่อว่า เอ็มซีเอบัส (MCA - Micro Channel Architecture) เครื่องรุ่นใหม่ออกแบบเสร็จและเริ่มนำออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๓๐ โดยเรียกชื่อตระกูลใหม่ของพีซีรุ่นนี้ว่า พีเอส ๒ (PS2) แต่ความพยายามของบริษัทไอบีเอ็มไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากอุปกรณ์เสริม เช่น การ์ดต่าง ๆ จะต้องถูกออกแบบใหม่หมด สำหรับบัสชนิดนี้ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถย้ายอุปกรณ์เสริมต่าง ๆ เหล่านี้มาจากเครื่องรุ่นเก่าได้และกลุ่มบริษัทผู้ผลิตเครื่องโคลนใหญ่ ๆ ๗ บริษัท ได้รวมตัวกันออกมาตรฐานบัสใหม่ที่มีสมรรถภาพเทียบเท่าไมโครแชนเนลบัสโดยเรียกว่า ไอซาบัส (EISA - Extended Industry Standard Architecture) ซึ่งผู้ผลิตเครื่องโคลนทั้งหลายสามารถใช้ได้และไม่ต้องเสียค่าลิขสิทธิ์มีผลให้เอ็มซีเอบัสของบริษัทไอบีเอ็มไม่ค่อยได้รับความนิยม 

แมคอินทอช II (พ.ศ. ๒๕๓๐) 

 

คอมพิวเตอร์โน้ตบุค
แมคอินทอช II 

 

      บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ออกไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า แมคอินทอช II หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า แมค II โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทโมโตโรล่ารุ่น ๖๘๐๒๐ ซึ่งออกมาในปีพ.ศ. ๒๕๒๗ มีทรานซิสเตอร์ ๑๙๐,๐๐๐ ตัว และเป็นไมโครโพรเซสเซอร์ชนิด ๓๒ บิตอย่างแท้จริง  โดยสามารถใช้เก็บและประมวลข้อมูลแบบ ๓๒ บิต ต่อมาบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ก็ได้ใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ของโมโตโรล่ารุ่น ๖๘๐๓๐ (พ.ศ. ๒๕๓๐) ซึ่งมีทรานซิสเตอร์ ๒๗๓,๐๐๐ ตัวและรุ่น ๖๘๐๔๐ (พ.ศ. ๒๕๓๒) ซึ่งมีทรานซิสเตอร์ ๑.๒ ล้านตัว 

พีซีรุ่น ๘๐๔๘๖ (พ.ศ. ๒๕๓๒)
      บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นใหม่ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ชื่อว่า รุ่น ๘๐๔๘๖ ซึ่งเป็นไมโครโปรเซสเซอร์ขนาด ๓๒ บิตและมีทรานซิสเตอร์ ๑.๒ ล้านตัว โดยไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้มีหน่วยความจำเล็ก ๆ ที่มีความเร็วสูง (cache memory) ขนาด ๘,๐๐๐ ตัวอักษร ซึ่งช่วยเก็บคำสั่งและข้อมูลที่ใช้บ่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้ได้รับข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้นและมีหน่วยคำนวณทางคณิตศาสตร์ (math coprocessor) อยู่ในตัว  ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วของการคำนวณจึงมีสมรรถภาพและความเร็วเพียงพอที่จะใช้กับโปรแกรมการออกแบบต่าง ๆ (CAD - Computer Aided Design) เช่น ออกแบบบ้าน เครื่องจักรหรือโปรแกรมจำลองต่าง ๆ (simulation program) ซึ่งจะต้องใช้การคำนวณทางคณิตศาสตร์มาก ไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถประมวลคำสั่งได้ระหว่าง ๒๐-๔๑ ล้านคำสั่งต่อวินาทีและสามรารถใช้สัญญาณที่มีความเร็วระหว่าง ๒๕-๔๐ ล้านครั้งต่อวินาที  ไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นนี้ได้เริ่มใช้หน่วยความจำแบบชั่วคราว-แรมมากโดยจะใช้ขนาดระหว่าง ๔-๓๒ ล้านตัวอักษรและเริ่มนิยมใช้ระบบสั่งงานและควบคุมเครื่องแบบกราฟิก คือ วินโดวส์รุ่น ๓.๐ ของบริษัทมโครซอฟต์  ซึ่งไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นนี้มีความเร็วพอสำหรับระบบวินโดวส์ทำให้ผู้ใช้ไม่เห็นความช้าของเครื่องและไม่รู้สึกรำคาญเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้วินโดวส์บนเครื่องพีซีรุ่น ๘๐๓๘๖ การเริ่มใช้สัญญาณนาฬิกาที่รวดเร็วมากทำให้ต้องเริ่มออกแบบบัสของตัวเครื่องใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับส่วนต่าง ๆ ของเครื่องให้มีความเร็วใกล้เคียงกับความเร็วของการประมวลผลของไมโครโปรเซสเซอร์  ซึ่งในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ มีบัสใหม่ออกมา ๒ มาตรฐาน ได้แก่ เวอซ่าบัส (VESA-Video Electronics Standard Association) และ พีซีไอบัส (PCI-Peripheral Component Interconnect) ปรากฏว่าพีซีไอบัสได้รับความนิยมและได้กลายเป็นมาตรฐานของเครื่องรุ่นใหม่ พีซีไอบัสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เร็วถึง ๑๓๒ ล้านไบต์ต่อวินาที  ซึ่งเท่ากับสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ ๖๖,๐๐๐ หน้าต่อวินาที  ในขณะที่เวอซ่าบัสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้ถึง ๑๐๗ ล้านไบต์ต่อวินาที ส่วนไอซ่าบัสสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้เพียง ๘ ล้านไบต์ต่อวินาที 

พีซีรุ่นเพนเทียม (Pentium) (พ.ศ. ๒๕๓๖) 
      ในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ บริษัทอินเทลได้ออกไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่มีชื่อว่า รุ่นเพนเทียม การที่ตั้งชื่อใหม่นี้แทนที่จะเรียกว่า รุ่น ๘๐๕๘๖ เพราะว่าในช่วงนี้ได้มีบริษัทอื่น ๆ ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์ที่เลียนแบบไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นต่าง ๆ ของบริษัทอินเทลและได้ใช้ชื่อรุ่นไมโครโพรเซลเซอร์เหมือนบริษัทอินเทล โดยบริษัทอินเทลไม่สามารถที่จะห้ามปรามได้เนื่องจากไม่ได้จดลิขสิทธิ์ชื่อรุ่นของไมโครโพรเซสเซอร์ไว้  บริษัทอินเทลจึงได้เปลี่ยนชื่อรุ่นใหม่และจดลิขสิทธิ์ชื่อใหม่เอาไว้  ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ใช้ทรานซิสเตอร์ ๓.๑ ล้านตัว (มากกว่ารุ่น ๘๐๔๘๖ ถึง ๒.๕ เท่า) ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็ว ๖๐ ล้านครั้งต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๔๘๖ ที่ใช้สัญญาณนาฬิกาที่มีความเร็ว ๓๓ ล้านครั้งต่อวินาที ถึง ๕ เท่า และเร็วกว่าพีซีรุ่นแรกถึง ๑๕๐ เท่า โดยสามารถประมวลคำสั่งได้เร็วกว่า ๑๐๐ ล้านคำสั่งต่อวินาที  ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้มีส่วนคำนวณตรรก ๒ ชุด ซึ่งทำให้สามารถคำนวณ ๒ ครั้งพร้อมกันและมีหน่วยความจำเล็ก ๆ ที่มีความเร็วขนาด ๘,๐๐๐ ตัวอักษร ๒ ชุด โดยชุดหนึ่งใช้เก็บคำสั่งที่ใช้บ่อย ๆ และอีกชุดหนึ่งใช้เก็บข้อมูลที่ใช้บ่อย ๆ เพื่อที่จะทำให้การเรียกข้อมูลและการปฏิบัติตามคำสั่งมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น 

พาวเวอร์แมค (PowerMac) (พ.ศ. ๒๕๓๗) 
      ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นใหม่ มีชื่อว่า รุ่นพาวเวอร์แมค โดยใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ตระกูลใหม่ของบริษัทโมโตโรล่าซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ ๒.๘ ล้านตัว โดยบริษัทโมโตโรล่าได้ร่วมกับบริษัทไอบีเอ็มพัฒนาและผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้  การใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ทำให้เครื่องพาวเวอร์แมคมีประสิทธิภาพสูงและสามารถแข่งขันกับเครื่องพีซีตระกูลเพนเทียมได้ 

พีซีรุ่นเพนเทียมโปร (Pentium Pro) (พ.ศ. ๒๕๓๘) 
      ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า รุ่นเพนเทียมโปร ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ ๕.๕ ล้านตัว (มากกว่ารุ่นเพนเทียม ๗๐%) และสามารถประมวลผลข้อมูลได้เร็วกว่ารุ่นเพนเทียมประมาณ ๒๕% ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้สามารถรับข้อมูลได้ครั้งละ ๖๔ บิต มีส่วนคำนวณตรรก ๒ ชุด และได้ปรับปรุงหน่วยความจำขนาดเล็ก ๆ ที่รวดเร็วให้มีประสิทธิภาพที่ดีและรวดเร็วยิ่งขึ้น 

พีซีรุ่นเพนเทียม II (Pentium II) (พ.ศ. ๒๕๔๐) 
      ในปี พ.ศ. ๒๕๔๐ บริษัทอินเทลได้ผลิตไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นใหม่ชื่อว่า รุ่นเพนเทียม II ซึ่งใช้ทรานซิสเตอร์ ๗.๕ ล้านตัว (มากกว่ารุ่นเพนเทียมโปร ประมาณ ๕๐%) ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้ สามารถรับข้อมูลได้ครั้งละ ๖๔ บิต มีส่วนคำนวณตรรก ๒ ชุด และมีหน่วยประมวลผลข้อมูลประเภทภาพและเสียงซึ่งทำให้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้เหมาะสำหรับการใช้ภาพ เสียง และภาพยนตร์ 

 

คอมพิวเตอร์
คอมพิวเตอร์รุ่นใหม่สามารถแสดงผลในรูปแบบภาพยนตร์ได้ 

 

วิวัฒนาการทางซอฟแวร์ 

      ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุคนี้ใช้ระบบสั่งงานและควบคุมเครื่องแบบกราฟิกซึ่งผู้ใช้สามารถเรียนรู้การใช้งานได้ง่าย เมื่อบริษัทไมโครซอฟต์ได้ผลิตวินโดวส์ รุ่น ๓.๐ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๓ ก็สามารถจำหน่ายได้ถึง ๓ ล้านชุดภายในปีแรก การที่บริษัทไมโครซอฟต์ประสบความสำเร็จในครั้งนี้เพราะได้มีการโฆษณาไว้มากและได้ชักชวนบริษัทที่ผลิตซอฟต์แวร์จำนวนมากให้พัฒนาโปรแกรมสำหรับวินโดวส์  ผู้ใช้จึงมีซอฟต์แวร์ให้เลือกอย่างมากมายจึงทำให้ผู้ใช้เริ่มเลือกใช้วินโดวส์มากขึ้น บริษัทไมโครซอฟต์ก็ได้ปรับปรุงวินโดวส์ขึ้นเรื่อย ๆ โดยผลิตวินโดวส์รุ่น ๓.๑ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๕ วินโดวส์ ๙๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๓๘ และวินโดวส์ ๙๘ ในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๓๖ เป็นต้นมา อินเทอร์เน็ตก็เริ่มได้รับความนิยมอย่างสูงทำให้มีซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับอินเทอร์เน็ตออกมามากมายซึ่งมีข้อมูลหลายประเภทรวมทั้งโปรแกรมภาพ เสียง และภาพยนตร์  นับแต่ไมโครคอมพิวเตอร์ได้เริ่มต้นขึ้นมา ในปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ไมโครคอมพิวเตอร์ก็ได้มีวิวัฒนาการไปอย่างมาก โดยมีความเร็วมากขึ้นหลายพันเท่าและมีการผลิตซอฟต์แวร์หลากหลาย สำหรับการใช้งานแทบทุกประเภทปัจจุบันทั่วโลกมีไมโครคอมพิวเตอร์ใช้กันหลายร้อยล้านเครื่องและจะมีใช้กันอย่างแพร่หลายมากขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow