Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต (พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๓)

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,258 Views

  Favorite

ยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต (พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๓)

ในยุคนี้เป็นยุคไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต ไมโครโพรเซสเซอร์ที่ใช้มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้ 

  • สามารถรับคำสั่งได้ถึง ๖๕,๐๐๐ คำสั่ง หรือใช้ขนาดข้อมูลได้ถึง ๖๕,๐๐๐ ตัวอักษร ไม่สามารถใช้คำสั่ง หรือข้อมูลที่ใหญ่กว่านี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอย่างรวดเร็ว
  • สามารถประมวลข้อมูลได้ขนาด ๘ บิตต่อครั้ง ตัวเลขที่มีค่ามากกว่า ๒๕๖ จะต้องถูกแยกประมวลเป็นหลายๆ ส่วน ซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำ แต่ข้อมูลที่ใช้ทั่วไปทางธุรกิจ จะมีขนาดมากกว่านี้ ไมโครคอมพิวเตอร์จึงมีประสิทธิภาพต่ำ สำหรับใช้ทางด้านธุรกิจ
  • มีวิทยาการในการเปิด หรือปิดวงจรทรานซิสเตอร์ได้เร็วถึง ๒ ล้านครั้งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๑๘ เท่า)
  • สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๖,๐๐๐ ตัว (มากกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๒.๕ เท่า)
  • สามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๖๕,๐๐๐ คำสั่งต่อวินาที (เร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรกถึง ๑๐ เท่า)

 

      ไมโครคอมพิวเตอร์ในยุกนี้ใช้ฟล็อปปีดิสก์ที่มีขนาด ๕.๒๕ และเทศคาสเซ็ตต์ในการเก็บข้อมูล ดิสก์ ๑ แผ่น สามารถเก็บข้อมูลได้ถึง ๓.๖ แสนตัวอักษรหรือข้อความประมาณ ๑๘๐ หน้า โดยมีจอภาพและเครื่องพิมพ์ในการแสดงผล  ในยุคนี้เราจะแยกวิวัฒนาการของไมโครคอมพิวเตอร์ชนิด ๘ บิต เป็น ๒ ส่วน คือ วิวัฒนาการทางส่วนประกอบของเครื่องหรือฮาร์ดแวร์ (hardware) และวิวัฒนาการทางส่วนระบบสั่งงานของเครื่องหรือซอฟต์แวร์ (software) 

วิวัฒนาการทางฮาร์ดแวร์ 

      ไมโครโพรเซสเซอร์อันแรกที่ได้ถูกนำมาใช้ในการสร้างไมโครคอมพิวเตอร์ คือ รุ่น ๘๐๘๐ ซึ่งผลิตขึ้นในต้นปี พ.ศ. ๒๕๑๗ โดยบริษัทอินเทล ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้มีขนาดของข้อมูล ๘ บิต สามารถบรรจุทรานซิสเตอร์ได้ถึง ๖,๐๐๐ ตัว ใช้ความถี่ของสัญญาณนาฬิกาได้ถึง ๒ ล้านครั้งต่อวินาที และสามารถประมวลคำสั่งได้เร็วถึง ๖๔,๐๐๐ คำสั่งต่อวินาที ซึ่งเร็วกว่าไมโครโปรเซสเซอร์รุ่นแรก อินเทล ๔๐๐๔ ถึง ๑๐ เท่า และสามารถมีขนาดของชุดคำสั่งและข้อมูลได้ถึง ๖๕,๐๐๐ ตำแหน่ง ซึ่ง ณ จุดนี้ไมโครโพรเซสเซอร์ก็มีสมรรถภาพพอที่จะใช้ชุดคำสั่งขนาดใหญ่ ๆ ได้และสามารถประมวลข้อมูลประเภทตัวอักษรได้อย่างสะดวกจึงทำให้ไมโครโพรเซสเซอร์สามารถพัฒนาได้ถึงระดับที่มีสมรรถภาพเพียงพอที่จะใช้สร้างไมโครคอมพิวเตอร์ได้   ช่วงปลายปี พ.ศ. ๒๕๑๗ ภายในไม่กี่เดือนหลังจากไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๘๐๘๐ ถูกผลิตออกมา ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จเป็นเครื่องแรก คือ อัลแทร์ ๘๘๐๐ (Altair 8800) ก็ได้ถูกผลิตออกมา ไมโครคอมพิวเตอร์ที่ประสบความสำเร็จและใช้กันอย่างแพร่หลายในยุคนี้มีดังต่อไปนี้ 

อันแทร์ ๘๘๐๐ (Altair 8800) (พ.ศ. ๒๕๑๗) 

 

คอมพิวเตอร์
เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์อัลแทร์ ๘๘๐๐ 

 

      บริษัทเอ็มไอทีเอส (MITS,Model Instrumentation Telemetry Systems) ได้พัฒนาเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์อันแทร์ ๘๘๐๐ ขี้นมาและนำออกจำหน่ายในราคาประมาณ ๔๐๐ เหรียญสหรัฐโดยใช้ไมโครโปรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทลรุ่น ๘๐๘๐  แต่อัลแทร์ ๘๘๐๐ เป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีความสมบูรณ์น้อยมากเพราะจะต้องประกอบเครื่องเองจากอุปกรณ์ชิ้นส่วนและไม่มีแป้นพิมพ์เพื่อรับข้อมูลหรือจอภาพแสดงผล การป้อนข้อมูลจะต้องใช้สวิตช์เปิดหรือปิดเพื่อที่จะใส่ข้อมูลทุกบิตแต่ไม่มีโปรแกรมให้มาด้วยรวมทั้งไม่สามารถจะบันทึกข้อมูลเพื่อที่จะเรียกใช้ในภายหลังได้ง่าย ในระยะแรกบริษัทคาดว่าจะสามารถจำหน่ายเครื่องอัลแทร์ได้อย่างมากปีละ ๘๐๐ เครื่อง แต่หลังจากได้เริ่มจำหน่ายภายในไม่กี่เดือนบริษัทก็สามารถจำหน่ายได้ถึงวันละ ๒๕๐ เครื่อง ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จเกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก ต่อมาภายหลังอุปกรณ์เสริม เช่น แป้นพิมพ์ เทปบันทึกข้อมูล และหน่วยความจำเพิ่มขึ้น ก็เริ่มถูกผลิตออกมาจำหน่าย  

      ซอฟต์แวร์ที่สำคัญและมีส่วนทำให้ผู้ใช้สามารถสั่งงานเครื่องอัลแทร์ ๘๘๐๐ ได้ก็คือโปรแกรมภาษาเบสิกซึ่งนายบิล เกตส์ (William Gates, ค.ศ. ๑๙๕๕ -, ชาวอเมริกัน) และนายพอล อัลเลน (Paul Allen, ค.ศ. ๑๙๕๓-, ชาวอเมริกัน) ได้เป็นผู้เขียนและออกจำหน่ายในปี พ.ศ. ๒๕๑๘  ต่อมาทั้งสองคนได้ร่วมกันเปิดบริษัทไมโครซอฟต์ (Microsoft Corporation) ขึ้นมา ปัจจุบันบริษัทไมโครซอฟต์นับได้ว่าเป็นบริษัทซอฟต์แวร์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก  เมื่อเครื่องอัลแทร์ ๘๘๐๐ ได้ออกวางตลาดและประสบความสำเร็จ บริษัทอื่น ๆ ก็ได้เริ่มผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ออกจำหน่ายในช่วงปี พ.ศ. ๒๕๑๙-๒๕๒๐ อาทิเช่น บริษัทคอมโมดอร์ (Commodor) ที่ผลิตเครื่องคอมโมดอร์ ๒๐๐๑ บริษัทเรดิโอแช็ก (Radio ShacK Corporation) ที่ผลิตเครื่องทีอาร์เอส-๘๐ (TRS-80) และบริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer Corpora- tion) ที่ได้ผลิตเครื่องแอปเปิล II (Apple II) ในคอมพิวเตอร์กลุ่มดังกล่าวเครื่องแอปเปิล II ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างสูงสุด 

 

แอปเปิล II (Apple II) (พ.ศ. ๒๕๑๙) 

 

คอมผิวเตอร์
เครื่องแอปเปิล II

 

      บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ได้ผลิตเครื่องแอปเปิล II แบบสำเร็จรูปออกมาโดยมีทั้งแป้นพิมพ์และสามารถใช้จอภาพสีได้ทันทีโดยผู้ใช้ไม่ต้องประกอบเครื่องด้วยตัวเองเหมือนเครื่องอัลแทร์ ๘๘๐๐ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ใช้ซื้อเครื่องแล้วสามารถใช้ได้ทันที  เครื่องแอปเปิล II ใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่น ๖๕๐๒ ของบริษัทมอสเทคโนโลยี (MOS Technology) สาเหตุที่เลือกใช้ไมโครโพรเซสเซอร์รุ่นนี้เนื่องจากรุ่นนี้มีราคาถูกกว่าไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอินเทลมาก  โดยสามารถซื้อได้ในราคา ๒๐ เหรียญสหรัฐต่อชิ้นในขณะที่ไมโครโพรเซสเซอร์ของบริษัทอิทเทลรุ่น ๘๐๘๐ ซึ่งได้ออกจำหน่ายในราคามากกว่า ๑๕๐ เหรียญสหรัฐต่อชิ้น 
      เครื่องแอปเปิล II ได้เริ่มออกจำหน่ายในราคา ๑,๒๙๘ เหรียญสหรัฐและมีหน่วยความจำแบบชั่วคราว ขนาดสามารถเก็บตัวอักษรได้ ๔,๐๙๖ ตัวเท่านั้นและใช้เทปคาสเซตต์ในการเก็บข้อมูล อีก ๑ ปีต่อมาหน่วยความจำได้ถูกเพิ่มตัวอักษรเป็นขนาด ๔๘,๐๐๐ ตัว เมื่อได้ผลิตรุ่นแอปเปิล II+ ออกมา การเรียกข้อมูลโดยใช้เทปคาสเซตต์ค่อนข้างล่าช้าและไม่สะดวกต่อการใช้ดังนั้นเมื่อมีการผลิตเครื่องเก็บข้อมูลแบบฟล็อปปีในปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ผู้ใช้ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้เครื่องนี้แทนเทปคาสเซตต์  เครื่องไมโครคอมพิวเตอร์รุ่นแอปเปิล II นับได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากและเพิ่งถูกเลิกผลิตในปี พ.ศ. ๒๕๓๖ ในช่วง ๑๗ ปีที่ถูกผลิตขึ้นเครื่องแอปเปิล II สามารถจำหน่ายได้ถึง ๕ ล้านเครื่อง 

วิวัฒนาการทางซอฟต์แวร์ 

      ยุคนี้ (พ.ศ. ๒๕๑๗ - ๒๕๒๓) ในช่วงแรก ๆ ไมโครคอมพิวเตอร์มีหลากหลายชนิดมากโดยแต่ละเครื่องจะใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ต่างชนิด เช่น รุ่น ๘๐๘๐ ของบริษัทอินเทล รุ่น ๖๕๐๒ ของบริษัท มอสเทคโนโลยีหรือรุ่น ๖๘๐๐ ของบริษัทโมโตโรล่า (Motorola Corporation) แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการใช้ไมโครโปรเซสเซอร์นานาชนิด คือ การมีชุดคำสั่งที่ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้จึงทำให้โปรแกรมไม่สามารถใช้กันได้แม้กระทั่งการย้ายข้อมูลข้ามเครื่องก็ยังมีปัญหาเนื่องจากเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ของแต่ละบริษัทใช้วิทยาการต่างชนิดในการเก็บข้อมูล เช่น เทปคาสเซ็ตต์หรือแผ่นฟล็อปปีและมีวิธีการแตกต่างกันในการจัดเก็บข้อมูล  ชุดคำสั่งควบคุมระบบที่ใช้กันแพร่หลายในยุคนี้ คือ ซีพีเอ็ม (CPM - Control Program for Microcomputer) ระบบซีพีเอ็มสามารถใช้ได้กับไมโครโพรเซสเซอร์ที่มีชุดคำสั่งของบริษัทอินเทล ตระกูล ๘๐๘๐ เช่น รุ่น ๘๐๘๐, ๘๐๘๕ ของบริษัทอินเทลหรือ Z 80 ของบริษัทไซล็อก (Zilog Corporation) ชุดคำสั่งควบคุมระบบซีพีเอ็มได้รับความนิยมสูงมาก จนกระทั่งได้มีอุปกรณ์เสริมสำหรับเครื่องแอปเปิล II เพื่อที่จะทำให้สามารถใช้ชุดคำสั่งควบคุมระบบซีพีเอ็มได้  ในยุคนั้นมีไมโครคอมพิวเตอร์เกิน ๑๐๐ ชนิด ที่สามารถใช้ชุดคำสั่งควบคุมระบบซีพีเอ็มได้

      ในยุคนั้นผู้ใช้ส่วนใหญ่จะใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ช่วยในการเรียงพิมพ์ (word processing) บริหารฐานข้อมูล (database management) งานบัญชีและเล่นเกม โปรแกรมที่ได้รับความนิยมสำหรับใช้ในการเรียงพิมพ์ ได้แก่ โปรแกรม เวิร์ดสตาร์ (WordStar) และโปรแกรมที่ได้รับความนิยมสำหรับประมวลข้อมูล ได้แก่ โปรแกรม ดีเบส (Dbase) แต่โปรแกรมประเภทนี้ก็มีใช้อยู่ในคอมพิวเตอร์รุ่นที่ใหญ่กว่า เช่น ในมินิคอมพิวเตอร์หรือเมนเฟรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีกลเม็ดมากกว่าและรวดเร็วกว่าจึงทำให้บริษัทและธุรกิจขนาดกลางยังไม่ค่อยมีความสนใจที่จะใช้ไมโครคอมพิวเตอร์มากนัก  โปรแกรมที่ทำให้บริษัทและธุรกิจเริ่มหันมาใช้ไมโครคอมพิวเตอร์ คือ โปรแกรมวิสิเคาก์ (Visicalc) ซึ่งนายแดน บริกลิน (Dan Bincklin, พ.ศ. ๒๔๙๕-, ชาวอเมริกัน) เป็นผู้คิดค้นขึ้นใน ปี พ.ศ. ๒๕๒๒ โดยเขาเล็งเห็นว่าจะมีประโยชน์มากถ้าเขาเขียนโปรแกรมที่สามารถนำมาใช้ในทางธุรกิจได้อย่างอเนกประสงค์โดยผู้ใช้จะต้องให้โครงสร้างของปัญหา  หลังจากนั้นผู้ใช้สามารถป้อนข้อมูลในหลาย ๆ สถานการณ์ และสามารถดูผลวิเคราะห์ได้อย่างทันที  วิธีการเช่นนี้ทำให้ผู้ใช้สามารถเข้าใจปัญหาได้ดียิ่งขึ้น สะดวก และง่ายดาย จึงสามารถแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โปรแกรมประเภทนี้ เรียกว่า โปรแกรมสเปรดชีต (spread sheet) ซึ่งจะมีประโยชน์ในการวิเคราะห์ข้อมูลและทำรายงาน  โปรแกรมนี้ได้เริ่มต้นใช้กับไมโครคอมพิวเตอร์ของแอปเปิล II ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ไมโครคอมพิวเตอร์ มีโปรแกรมที่ยอดเยี่ยมและยังไม่มีใช้บนเครื่องเมนเฟรมและมินิคอมพิวเตอร์  ผู้ใช้ที่ทำงานบริษัทหรือธุรกิจขนาดกลาง มองเห็นประโยชน์ของโปรแกรมนี้จึงได้เริ่มนำไมโครคอมพิวเตอร์มาใช้ในบริษัท โปรแกรมนี้จึงมีส่วนสำคัญมากในการทำให้เครื่องแอปเปิล II จำหน่ายได้ดีมาก

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow