Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีการผลิตทองรูปพรรณ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,699 Views

  Favorite

วิธีการผลิตทองรูปพรรณ
มี ๒ ส่วน คือ กระบวนการผลิตและการประกอบเข้าด้วยกันเป็นทองรูปพรรณ 

๑. กระบวนการผลิต 
มีหลายขั้นตอน แต่ละขั้นตอนมีความสำคัญ ที่จะผลิตทองให้ได้ตามรูปแบบ ที่ช่างทองออกแบบไว้ ได้แก่ 


การคัดเลือกเนื้อทอง 
เอกลักษณ์ของทองสุโขทัยจะใช้ทองร้อยละ ๙๙.๙๙ ซึ่งเกือบจะเป็นทองบริสุทธิ์ ทั้งนี้เพื่อให้เนื้อทองสวยงามเหลืองอร่าม ไม่แข็ง เหมาะที่จะแปรรูป ในกระบวนการผลิตต่างๆ คือ การดัด ตัด บุ ขึ้นรูป ช่างที่ชำนาญจะแยกเนื้อทองแต่ละชนิดได้ด้วยสายตา และยังบอกคุณภาพของเนื้อทองได้ว่า ควรจะนำทองไปหลอมใหม่หรือไม่ เพราะเมื่อเนื้อทองไม่บริสุทธิ์ หากนำไปหลอมใหม่จะมีสารต่างๆ เจือปน ทำให้เนื้อทองแข็ง ยากต่อการขึ้นรูป หรือทำลวดลาย 

การหลอมทอง 
ทองคำสามารถนำมาหลอมละลายด้วยความร้อน ๑๐๖๓ องศาเซลเซียส เมื่อทองละลาย ก็นำไปเทลงเบ้าเป็นทองแท่งขนาดเล็ก แล้วนำไปรีดหรือเทลงเบ้า ให้มีลักษณะเป็นแผ่นหรือวงกลมขนาดต่างๆ ตามแต่จะนำไปทำชิ้นงานลักษณะใด เช่น ถักเป็นสายสร้อย บุ (เคาะขึ้นรูป) รีด ฉลุ แกะสลัก ตกแต่งเป็นลูกประดับ ได้แก่ ลูกประดับทรงกระบอก หกเหลี่ยม เต่าร้าง ลูกสน 

 

เททองลงแบบ
เททองลงแบบ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29



การหล่อ 
เป็นการนำทองมาหล่อ ด้วยการใช้ความร้อน โดยนำทองมาใส่เบ้าดินเผา ใช้ความร้อนเป่าที่ ๑๐๖๓ องศาเซลเซียส จนทองละลายเป็นของเหลว จึงนำทองไปเทลงในแม่พิมพ์แบบต่างๆ ส่วนมากจะเป็นกำไล แหวน ข้อต่อ สายสร้อย ลูกประดับ หัวเข็มขัด กระดุม และชิ้นงานเฉพาะอย่าง เมื่อทองเย็นลงแล้ว ก็นำชิ้นงาน ไปตกแต่งตามต้องการอีกครั้งหนึ่ง 


การตี เป็นการนำทองที่หลอมแล้ว ไปตีให้เป็นแผ่นบางลงไปอีก หรือหากเป็นแท่งเหลี่ยมเล็ก ก็ตีให้มีขนาดเล็กลงไปอีก เพื่อความสะดวกในการนำไปขึ้นรูป แกะลวดลาย ฉลุ หรือรีดเป็นเส้น การตีทองจะต้องตีให้ละเอียดและสม่ำเสมอ การตี บางครั้งเรียกว่า “การบุ” หรือ “การเคาะ” ซึ่งเป็นการตีเพื่อขึ้นรูปตามแบบต่างๆ โดยช่างทองเป็นผู้ออกแบบลวดลายในชิ้นงานนั้น ส่วนมากบุเป็นลายไทย เช่น ลายพันธุ์พฤกษา ลายก้านเทศ นอกจากนี้ยังบุตามแบบพิมพ์อีก ด้วย เช่น บุลูกประดับ สร้อยข้อมือ กำไล การตี บุ หรือเคาะ เป็นกระบวนการที่อยู่ในขั้นตอนเตรียมการประกอบเป็นทองรูปพรรณ 

 

นำแผ่นทองมาเคาะในแม่แบบทรงกลม
นำแผ่นทองมาเคาะในแม่แบบทรงกลม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29



การชักลวดหรือการรีด 
เป็นการนำทองที่หลอมเป็นแท่งแล้ว มาตีให้เข้ากับขนาดของรูแป้นรีด เมื่อได้ขนาดที่ใกล้เคียงกับรูของแป้นแล้ว นำทองสอดเข้ารูแป้นรีด จากนั้นใช้คีมดึงออกมาอีกด้านหนึ่ง ลวดที่ออกมาจะมีเนื้อสม่ำเสมอ และมีขนาดต่างกัน ตามที่ช่างทองต้องการ หรืออาจใช้ทองที่หลอมแล้วและมีขนาดใกล้เคียงกับรูของแป้น ในกรณีนี้ไม่ต้องตี ในส่วนการรีดก็ทำคล้ายๆ กัน ส่วนมากจะมีเครื่องรีดด้วยมือ ช่างทองสามารถปรับแต่งลูกรีดได้ขึ้นอยู่กับงาน ตั้งแต่ขนาดโตสุดจนเล็กสุด ส่วนมากจะรีดออกมาเป็นเส้นลวดขนาดเล็ก แต่ไม่ว่าจะเป็นการชักลวด หรือการรีด ก็มีจุดประสงค์เดียวกันคือ ต้องการให้ชิ้นทองเป็นเส้นขนาดเล็กจนนำมาสาน หรือถักเป็นชิ้นงานได้ 

การทำไข่ปลา 
ได้จากการนำทองที่ ได้จากการชักลวดหรือการรีดแล้ว มาตัดเป็นท่อนเล็กๆ ขนาด ๑๓ มิลลิเมตร จากนั้นนำไปเผาไฟหรือเป่าแล่น จนทองหลอมละลายเป็นก้อนกลมเล็กๆ คล้ายไข่ปลา ไข่ปลานี้นำ ไปเป็นส่วนประดับตกแต่งชิ้นงาน 

 

ทำเป็นขดสปริง เพื่อเป็นส่วนประดับ
ทำเป็นขดสปริง เพื่อเป็นส่วนประดับ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29



การสลักและการดุน 
คำว่า “สลัก” หมายถึง การทำให้เป็นลวดลาย หรือเขียนให้เป็นตัวหนังสือด้วยของมีคม ความหมายในที่นี้หมายถึง การใช้สิ่วหรือเครื่องมือสลัก ตอกด้วยค้อน ลงไปบนแผ่นโลหะ ให้เป็นร่องลึก เพื่อให้เห็นลวดลายหรือภาพชัดเจน โดยที่ไม่ต้องให้เนื้อของโลหะนั้นๆ หลุดหรือสึกออกไป 
การดุน หมายถึง การทำให้โลหะต่างๆ (แผ่นทอง แผ่นเงิน หรือโลหะอื่นๆ) เป็นรอยนูนขึ้นมา เช่น รอยนูนของพระพุทธรูป ดอกไม้ สัตว์ และองค์ประกอบทางศิลปกรรมอื่นๆ

 

ชิ้นงานที่กำลังติดลวดลาย
ชิ้นงานที่กำลังติดลวดลาย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

 

ติดลวดลาย
ติดลวดลาย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29



๒. การประกอบเป็นทองรูปพรรณ 
เมื่อผ่านขั้นตอนแรกของการทำทองรูปพรรณ ซึ่งแยกออกเป็นส่วนๆ ต่างๆ เช่น ลวดทอง ไข่ปลา แผ่นทองลวดลายสลักดุน ก็จะนำส่วนเหล่านั้น มาประกอบเป็นทองรูปพรรณ ตามที่ต้องการ เช่น นำลวดทองคำขนาดต่างๆมาถักเป็นสายสร้อยคอ เป็นแบบ ๔ เสา ๖ เสา ถักเสร็จติดตะขอ ล้างขัดทำความสะอาด ถ้าไม่ต้องการตกแต่งลวดลาย ก็พร้อมส่งให้ลูกค้าหรือสวมใส่ได้ทันที แต่ถ้าต้องการประดับตกแต่งให้สวยงามยิ่งขึ้นไปอีก ช่างทองก็จะต้องผลิตชิ้นส่วนประดับรูปร่างต่างๆ เพื่อประกอบเข้ากับชิ้นงานทองรูปพรรณนั้น จนแล้วเสร็จตามที่ออกแบบไว้ การประกอบเป็นทองรูปพรรณมีกรรมวิธี ดังนี้ 

การถักหรือสานทอง 
เป็นการถัก หรือสานทองจากเส้นลวดที่ได้จากการชักจนทองเป็นเส้นลวด แล้วนำมาถักหรือสานเป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ สร้อยข้อเท้า การถักสร้อยต่างๆ เหล่านี้ นิยมถักแบบสร้อย ๔ เสา ๖ เสา ๘ เสา แบบสมอเกลียว วิธีการถักเริ่มจาก ช่างทองจะวัดขนาดความยาวของสายสร้อยตามที่ลูกค้าต้องการ เมื่อได้ขนาดและความยาวแล้ว ช่างจะลงมือถักจากลวดที่ชักมาแล้ว สายสร้อยจะมีขนาดเล็กหรือใหญ่ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า ถ้าใช้ลวดทองเส้นใหญ่ เมื่อถักเสร็จแล้ว ก็จะได้สายสร้อยเส้นใหญ่ด้วย 


การทำอะไหล่ส่วนประดับ 
เป็นการประดับตกแต่งชิ้นงานทองรูปพรรณให้สวยงาม ลวดลาย หรือส่วนประดับต่างๆ จะมีลักษณะอย่างไร ขึ้นอยู่กับการออกแบบของช่างทอง และความต้องการของลูกค้า ส่วนมากจะประดับเข้ากับชิ้นงานทองรูปพรรณ ที่เป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ สร้อยข้อเท้า กำไล-ข้อมือ แหวน ต่างหู หัวเข็มขัด หรือชิ้นงานอื่นเฉพาะอย่าง โดยช่างทองต้องมีตัวอย่างให้ลูกค้าดู หรือสอบถามความต้องการของลูกค้าก่อนว่า ต้องการรูปลักษณะใด จากนั้นช่างทอง ก็จะผลิตชิ้นงานตามแบบที่กำหนดไว้นั้น อะไหล่ส่วนประดับส่วนมากจะเป็นปะวะหล่ำ ลูกสน เต่าร้าง ได้จากการนำลวดทองตีเกลียวตัดแบ่งเป็นวงกลมเล็กๆ หรือขดให้เป็นลวดลายดอกไม้ ลายพันธุ์พฤกษา ตัดต่อเข้าเป็นรูปทรงกลม หรือทรงกระบอกเล็กๆ ขนาดตามความเหมาะสมของชิ้นงาน ส่วนใหญ่อะไหล่ประดับ ที่เป็นทรงกระบอก จะมีลวดลายกระหนก และลายเครือเถา ทำจากเส้นลวดทองตีเกลียว นำมาขดงอจนเข้ารูป ตามต้องการ หากมีช่องว่างระหว่างลาย ก็จะประดับด้วยการลงยาให้เกิดสีต่างๆ ส่วนมากจะเป็นสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน 

 

ชิ้นส่วนที่จะนำไปเป็นชิ้นส่วนประดับ
ชิ้นส่วนที่จะนำไปเป็นชิ้นส่วนประดับ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

 

ชิ้นงานและอะไหล่ตกแต่ง
ชิ้นงานและอะไหล่ตกแต่ง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

ลงสี (ลงยา) เพิ่มสีสัน
ลงสี (ลงยา) เพิ่มสีสัน
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

ตัวอย่างชิ้นงานทองรูปพรรณที่ประดับด้วยการลงยา
ตัวอย่างชิ้นงานทองรูปพรรณที่ประดับด้วยการลงยา
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


นอกจากนี้ ยังมีชิ้นงานเฉพาะอีกบางลักษณะ ได้แก่ ส่วนประดับที่เกิดจากการแกะสลัก การดุน การบุ เพื่อให้เกิดลวดลายต่างๆ เช่น ลายกระหนก ลายเครือเถา ลายพันธุ์พฤกษา ลายสัตว์ต่างๆ บางครั้งก็มีการ ลงยาผสมผสานเข้าไปด้วย ทำให้ดูสวยงามยิ่งขึ้น ส่วนประดับที่เกิดจากการแกะสลัก การดุน และการบุนั้น ส่วนมากเป็นจี้ทองประดับเข้ากับสร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไลข้อมือ โดยในการทำอะไหล่ประดับของงานทองรูปพรรณ จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการดัด เคาะ ขึ้นรูป การแกะสลัก และการฉลุ เพื่อให้เกิดลวดลายบนเนื้อทอง นอกจากนี้ยังมีการติดผลึก เพื่อติดอัญมณีลงบนชิ้นงาน และการฝังผลึก โดยการฝังอัญมณีลงบนชิ้นงาน แล้วตกแต่งขอบให้ยึดติดกับชิ้นงาน เช่น ยึดเพชรพลอยเข้ากับเรือนของแหวน ต่างหู กำไลข้อมือ การเกาะก็เป็นการยึดติดอัญมณีเข้ากับชิ้นงานอีกวิธีหนึ่ง ด้วยการทำตะขอยึดติดเข้ากับชิ้นงาน เช่น ตะขอยึดติดเพชรพลอยเข้ากับหัวแหวน ปัจจุบันมีการผลิตทองรูปพรรณเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วไป ส่วนมากใช้เป็นเครื่องประดับ มีการผลิตทั้งแบบอุตสาหกรรมโดยการใช้เครื่องจักร และผลิตจากฝีมือของช่างแต่ละคน ที่มีชื่อเสียงก็เป็นช่างทองเพชรบุรี ศรีสัชนาลัย สุโขทัย หรือที่เรียกกันว่า “ทองลวดลายโบราณ”กระบวนการผลิต ทำด้วยมือของช่างผู้ชำนาญงานทั้งสิ้น ทองโบราณสุโขทัยจึงเป็นที่ถูกใจของผู้ซื้อ ที่อยากจะได้ไว้ครอบครอง เพราะเป็นงานหัตถกรรมที่ใช้ศิลปะชั้นสูง ผนวกกับความชำนาญของช่างทอง จนเกิดเป็นชิ้นงานที่มีลักษณะของไทยแท้ ยากที่จะหาชนชาติใดมาลอกเลียนแบบได้

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow