Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เครื่องทองสมัยรัตนโกสินทร์

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,220 Views

  Favorite

เครื่องทองสมัยรัตนโกสินทร์ยังคงเป็นเครื่องทองที่สืบเนื่องมาจากสมัยอยุธยา และเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ โดยสร้างเครื่องราชูปโภคให้เหมือนของเก่าในสมัยอยุธยา พร้อมกับการสร้างกรุง ที่จัดสร้างไว้ สำหรับพระมหากษัตริย์คือ พระมหามงกุฎ พระชฎายอดต่างๆ พระแสงต่างๆ ชฎามหาชมพู พระสุพรรณราช นอกจากนี้ ยังมีเครื่องทองที่สำคัญอีก ๓ ชิ้น คือ 
บุษบกทรงพระแก้วมรกต 
เป็นบุษบกไม้หุ้มทองคำประดับพลอยสี โดยเฉพาะดาวรายที่เพดานประดับเป็นเก้าดอก เป็นชุดนพเก้า จำหลักกลีบบัวอย่างสวยงาม 
พระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ 
สร้างในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ หุ้มทองคำประดับพลอย ในรัชกาลที่ ๔ ใช้ในราชพิธีมหาสมาคม เสด็จเปิดสภาผู้แทนราษฎร และในกระบวนพยุหยาตราเสด็จเลียบพระนคร 
พระที่นั่งพุดตานถม 
ประจำพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท เป็นฝีมือช่างในรัชกาลที่ ๕ 
นอกจากนี้ยังมีเครื่องยศต่างๆ ของข้าราชบริพาร เป็นเครื่องทองคำลงยา พานขันหมากเป็นพานเหลี่ยม เครื่องยศเหล่านี้ใช้วิธีถมทองที่ทำเป็นพานเครื่องสำอาง ยอดปริกหุ้มทองฝังพลอยสีแดงเม็ดเล็ก รวมถึงถาดล้างหน้า กระโถน นอกจากนี้ ในการแต่งกายของผู้ชายจะมีการคาดเข็มขัดทอง เข็มขัดเงิน เครื่องประดับที่เป็นจี้ทอง มีระย้า สายสร้อยตกแต่งด้วยพลอยใช้สะพายบ่า และแหวนรูปแบบต่างๆ เช่น แหวนทรงมณฑป ทรงดอกไม้ แหวนก้อยนาง กำไลก้านบัว ส่วนที่เป็นของราษฎรก็เป็นเครื่องประดับ มีทั้งสายสร้อยไม่ประดับลวดลายและประดับ ลวดลาย แหวน และกำไลข้อมือ เป็นทั้งเส้นตัน เส้นทองโปร่ง ภายในยัดดินเหลือง บางครั้งเรียกกันว่า ดินส้ม ซึ่งน้ำหนักจริงกับขนาดจะแตกต่างกัน เช่น ขนาดสร้อยข้อมือหนัก ๒ บาท แต่เนื้อทองที่ทำโปร่งจะหนัก เพียง ๑ บาท 
นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา มีการนำเครื่องทองมาประดับตกแต่งกันอย่างอิสระได้ จึงเกิดช่างทองขึ้นมากมาย ทั้งช่างไทยและช่างจีน โดยนิยมทำเป็นทองรูปพรรณ นอกจากนี้ ยังเกิดช่างทองขึ้นตามหัวเมืองด้วย ช่างทองที่มีชื่อเสียง เป็นช่างทองจากเมืองนครศรีธรรมราช และเมืองเพชรบุรี ในกรุงเทพฯ ก็เช่นกัน มีทั้งช่างไทยและช่างจีน แหล่งที่มีชื่อเสียงเป็นสัญลักษณ์ของการตี ทองคำเปลวคือ ถนนตีทอง ข้างวัดสุทัศนเทพวราราม 
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมทองรูปพรรณได้ขยายตัวมากขึ้น โดยผู้ผลิตนำทองคำมาผลิตเป็นเครื่องประดับชนิดต่างๆ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล แหวน ต่างหู ใช้วิธีการผลิตแบบอุตสาหกรรม ด้วยการนำทองมาหลอมให้ละลาย แล้วฉีดลงแบบที่ทำลวดลาย ต่างๆกัน แล้วจึงนำมาประกอบเข้าชิ้นเป็นรูปพรรณต่างๆ บางรายการมีการนำเพชรพลอย และอัญมณีตกแต่งเพิ่มความสวยงามขึ้นอีก ในขณะที่การทำทองรูปพรรณยังมีการว่าจ้าง หรือสั่งทำเป็นรายๆ ไป ขึ้นอยู่กับความพอใจของลูกค้า ที่จะสั่งให้ช่างทองทำตามความต้องการ ส่วนใหญ่จะเป็นการผลิตแบบโบราณซึ่งใช้มือทำเกือบทั้งหมด ช่างทองที่รับทำตามความต้องการของลูกค้ามีอยู่ที่จังหวัดเพชรบุรี สุโขทัย นครศรีธรรมราช และร้านทองบางร้านในกรุงเทพฯ นอกจากทองคำจะเป็นเครื่องประดับของบุคคลทั่วไปแล้ว ยังเกี่ยวข้องกับการประกอบพระราชพิธีของพระมหากษัตริย์ และเป็นเครื่องประกอบพระอิสริยยศ เครื่องราชูปโภค ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา ก็มีการหล่อพระพุทธรูปทองคำองค์เล็กๆ ซึ่งกระทำกันในวาระพิเศษของประเทศ ทองคำที่ยังเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบันคือ ทองคำเปลว ผลิตขึ้น เพื่อปิดองค์พระพุทธรูปให้ดูสวยงาม น่าเลื่อมใสศรัทธา และผลิตเพื่อลงรักปิดทองในงานศิลปะชั้นสูงอีกด้วย

 

พระที่นั่งพุดตานถม
พระที่นั่งพุดตานถม
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow