Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลักษณะและความสัมพันธ์ของประเพณีหลวงกับประเพณีราษฎร์

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
2,656 Views

  Favorite

ลักษณะและความสัมพันธ์ของประเพณีหลวงกับประเพณีราษฎร์ 

จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจสังคม รวมทั้งพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ การเมือง ศาสนา และความเชื่อในสังคมไทย จะเห็นได้ว่า ดินแดนที่เป็นประเทศไทยนี้ เป็นที่อยู่ของคนหลายเผ่าพันธุ์ที่เข้ามาผสมปนเปกันเป็นเวลาหลายศตวรรษ จนมีวิถีชีวิต และวัฒนธรรมที่กล่าวได้ว่า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ดังจะเห็นได้จากภาษา ศาสนา ความเชื่อ และประเพณีต่างๆ ที่มีที่มาจากสภาพแวดล้อมในทางภูมิศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และวัฒนธรรมของประชาชนในประเทศนี้เป็นสำคัญ

 

พระบรมมหาราชวัง
พระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์ประเพณีหลวง
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18

 

ลักษณะของสังคมไทยเป็นสังคมที่เรียกกันว่า สังคมตามประเพณี ที่มีพื้นฐานมาจากสังคม ที่มีพัฒนาการมาจากสังคมแบบเผ่าพันธุ์ ซึ่งแยกอยู่โดดๆ มีความสมบูรณ์ของตัวเอง มาเป็นสังคมแบบชาวนาที่มีลักษณะสำคัญคือ ในขณะที่ยังรักษาลักษณะบางอย่างของวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนอยู่ ก็ยอมรับ และต้องการรูปแบบบางอย่างของวัฒนธรรมแบบเมืองเข้ามาผสมผสาน และเปลี่ยนแปลงรูปแบบเดิมของตนอยู่เรื่อยๆ ทำให้สังคมชาวนามีสภาพเป็นส่วนหนึ่งของสังคมใหญ่ สังคมชาวนาอื่นๆ บนแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็เช่นเดียวกัน 

ลักษณะทางวัฒนธรรมไทยอาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ระดับมาแต่โบราณ ตามรูปแบบของวิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ประเพณีที่แตกต่างกันของผู้ที่อาศัยอยู่ในสังคมไทย คือ 

๑. วัฒนธรรมของคนในระดับชนชั้นผู้นำ ชนชั้นสูง หรือชนชั้นปกครอง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ เจ้านายเชื้อพระวงศ์ และขุนนาง ซึ่งมีราชสำนักหรือวังเป็นจุดศูนย์กลาง สร้างสรรค์เผยแพร่ออกมาที่เรียกว่า ประเพณีหลวง 

๒. ลักษณะของวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีของไพร่ฟ้าประชาชน หรือชนชั้นที่ถูกปกครอง ที่ประกอบไปด้วย ชาวบ้าน ชาวไร่ ชาวนา สามัญชนทั่วประเทศ ซึ่งจะมีลักษณะหลากหลายแตกต่างกันไป ตามท้องถิ่นที่มีสภาพแวดล้อมต่างกัน มีหมู่บ้านหรือวัดเป็นศูนย์กลางของการสร้างสรรค์เผยแพร่ที่เรียกกันว่า ประเพณีราษฎร์

ความสัมพันธ์ของประเพณีทั้งสองลักษณะนี้ มิได้แยกกันเด็ดขาด แต่มีความสัมพันธ์ที่แสดงถึงความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ของประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์ คือ ได้มีการหยิบยืมเลียนแบบวัฒนธรรมซึ่งกันและกัน ประเพณีหลวงเองก็ได้แบบอย่างของประเพณีราษฎร์มาขัดเกลา ให้ละเอียดอ่อน มีความประณีต วิจิตรซับซ้อน หรือมีความขลังศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ทั้งนี้ด้วยการรับแบบแผนจากต่างประเทศ เช่น อินเดีย จีน เปอร์เซีย มอญ เขมร และชวา เข้า มาผสมผสานจนกลายเป็นประเพณีหลวงโดย สมบูรณ์ หลังจากนั้นแล้ว ก็จะมีอิทธิพลส่งกลับไปสู่ประเพณีราษฎร์อีกครั้งหนึ่งโดยมีวัดเป็นศูนย์กลางของความสัมพันธ์ดังกล่าว ทำให้ประเพณีราษฎร์ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปตามประเพณีหลวง

 

เต้นกำรำเคียว
การเล่นเพลงเต้นกำรำเคียว
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม

 

ประเพณีราษฎร์ตามท้องถิ่นต่างๆ เป็นสังคมแบบชาวนาที่ได้พัฒนาผ่านพ้นสังคมแบบเผ่าพันธุ์ มาเป็นสังคมที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง วัฒนธรรมของสังคมแบบเผ่าพันธุ์กับสังคมแบบเมือง ตัวอย่างเช่น ขณะที่ยังรักษาประเพณีการถือผี หรือประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อดั้งเดิม ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ และการ ทำมาหากินในท้องถิ่นของตนอย่างแน่นแฟ้นอยู่ ก็ยอมรับวัฒนธรรมแบบเมืองเข้ามาผสมผสาน เช่น การรับนับถือพระพุทธศาสนา และประเพณีที่ เนื่องในพระพุทธศาสนา เข้ามาปฏิบัติในวิถีชีวิต ของตนด้วย ประเพณีหลวงจึงมีอิทธิพลเหนือ ประเพณีราษฎร์ และมีส่วนลดความแตกต่างในองค์ประกอบของประเพณีราษฎร์ ผลักดันให้เกิดรูปแบบใหม่ ที่มีความกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันขึ้น

 

หนังใหญ่
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18
โนรา
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18

 

 

นอกจากนี้ ในส่วนของประเพณีราษฎร์เอง ยังสามารถแบ่งความแตกต่างออกได้เป็นสองระดับ คือ ระดับพื้นบ้าน และ ระดับพื้นเมือง

มีคำไทยที่ใช้กันมาแต่สมัยโบราณว่า ซึ่งชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของสังคมไทยแต่โบราณว่า "สร้างบ้านแปงเมือง" น่าจะเกิดจากผู้คนหลายๆ ครอบครัว ได้มาอยู่รวมกันเป็นหมู่บ้านใหญ่ และเมื่อหมูบ้านมีการขยายตัว มีการปกครองที่ซับซ้อนมากขึ้น หมู่บ้านหลายๆ หมู่บ้าน ก็รวมตัวกันขึ้นเป็นเมืองเล็ก แล้วขยายเป็นเมืองใหญ่ ในเวลาต่อมากลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และการปกครอง ที่สัมพันธ์กัน ทั้งชุมชนหมู่บ้าน ที่อยู่ภายในท้องถิ่น กับชุมชนบ้านเมืองอื่นๆ ดังนั้นสังคมใหญ่ๆ ที่รวมกันอยู่อย่างหนาแน่นจึงเรียกว่า "บ้านเมือง" ผลิตผลของชาวบ้านจึงมักเรียกกันว่า เป็นของพื้นบ้านพื้นเมือง ศิลปะที่เป็นการสร้างสรรค์ของชาวบ้านที่สืบทอดกันมาก็จะเรียกกันว่า ศิลปะพื้นบ้านพื้นเมือง เป็นต้น เมื่อพิจารณารูปแบบทางวัฒนธรรมแล้ว คำสองคำนี้จะสะท้อนภาพของประเพณี ๒ ระดับที่กล่าวมาแล้วคือ

 

ประเพณีการบวชลูกแก้ว
ประเพณีการบวชลูกแก้ว
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18

 

ประเพณีพื้นบ้านเกิดจากการสร้างสรรค์ของชาวบ้านหมู่บ้านหนึ่ง หรือชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือหลายหมู่บ้าน ที่มีความคล้ายคลึงกันในเรื่องความเป็นมาของเผ่าพันธุ์ การทำมาหากิน และมักแยกอยู่โดดๆ ห่างไกลจากการติดต่อกับชุมชนที่เป็นเมือง เช่น ประเพณีการเล่นเพลงพิษฐาน ที่ชาวบ้านร้องเล่นในช่วงเทศกาลสงกรานต์ในเขตบ้านเมืองเก่า จังหวัดสุโขทัย หรือการเล่นเพลงเต้นกำรำเคียวของ บางท้องถิ่นในจังหวัดนครสวรรค์ก็จะมีเนื้อหาที่รับรู้กันเฉพาะในท้องถิ่น ที่บรรยายถึงความรู้สึกนึกคิด ความเชื่อ สภาพแวดล้อมทางสังคม และวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ
ประเพณีพื้นเมือง จะมีลักษณะผสมผสานของประเพณีพื้นบ้านหลายๆ ชุมชนเป็นรากฐาน โดยมีการรับประเพณีหลวงมาเป็นตัวสนับสนุนด้วย จนได้รับการยอมรับเชื่อถือเป็นเอกลักษณ์ของหลายๆ ท้องถิ่น อาจพบทั่วทั้งหมู่บ้าน และในเมืองในวงกว้างทั่วทั้งภูมิภาค เช่น ประเพณีการเล่นเพลงฉ่อยและลำตัดของภาคกลาง การเล่นหมอลำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การเล่นโนราในภาคใต้ หรือซอของภาคเหนือ

 

รดน้ำขอพรผู้ใหญ่
การสรงน้ำพระและรดน้ำขอพรจากผู้ใหญ่ในประเพณีสงกรานต์
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 18

 

ประเพณีหลวง และประเพณีราษฎร์นั้น มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะเมื่อมีการปฏิรูปการปกครองในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็น ราชธานี ได้มีการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ทำให้อยุธยาเป็นราชอาณาจักรที่สำคัญ บ้านเล็ก เมืองน้อยที่เคยเป็นอิสระต้องตกอยู่ภายใต้การปกครองของกรุงศรีอยุธยา เป็นเหตุให้ประเพณีหลวงกระจายลงสู่หัวเมืองต่างๆ ที่สำคัญๆ ทั่วราชอาณาจักรแต่นั้นมา เช่น เมืองนครศรีธรรมราช มีฐานะเป็นหัวเมืองใหญ่ทางภาคใต้ ที่ขึ้นตรงต่อเมืองหลวง ที่กรุงศรีอยุธยาโดยมีหัวเมืองเล็กหัวเมืองน้อยอยู่ในความควบคุม เมืองนครศรีธรรมราชย่อมมีวัฒนธรรมพื้นเมืองของตนอยู่แล้ว โดยพัฒนามาจากประเพณีพื้นบ้านของท้องถิ่นนั้นเอง แต่เมื่อเมืองนครศรีธรรมราชเป็นหัวเมืองเอกทางภาคใต้ ที่ติดต่อรับพระบรมราชโองการโดยตรง จากกรุงศรีอยุธยา เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะรับอิทธิพลทางวัฒนธรรมจากกรุงศรีอยุธยาย่อมจะมีอยู่มาก และเพราะเมืองนครศรีธรรมราชมีโอกาส ที่จะติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติด้วย ดังนั้น โอกาสที่จะรับอิทธิพลจากต่างชาติจึงมีอยู่ด้วย

ในทำนองเดียวกัน เมืองนครราชสีมา หรือเมืองเชียงใหม่ที่เป็นหัวเมืองชั้นเอก หรือระดับเมืองประเทศราช จึงย่อมรับประเพณีจากเมืองหลวงที่สลับซับซ้อนมากกว่าประเพณีระดับพื้นบ้านทั่วไป

จะเห็นได้ว่า ในท้องถิ่นต่างๆ นั้น แต่เดิมมีประเพณีพื้นบ้านเป็นพื้นฐานโดยทั่วไปอยู่แล้ว ต่อมาเมื่อตั้งขึ้นเป็นเมือง ก็จะรับอิทธิพลทั้งประเพณีพื้นบ้าน และประเพณีหลวง จนกลายเป็นประเพณีพื้นเมือง ที่มีลักษณะพิเศษขึ้นมาอีกรูปแบบหนึ่ง ที่พร้อมจะส่งอิทธิพลไปสู่ประเพณีพื้นบ้านต่อไป ดังนั้น การที่จะทำความเข้าใจประเพณีหลวง โดยละเลยการทำความเข้าใจประเพณีราษฎร์ หรือในทางกลับกัน จะศึกษาประเพณีราษฎร์ โดยไม่มีพื้นฐานความเข้าใจพัฒนาการของประเพณีหลวง ย่อมอาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เพราะจะไม่สามารถทำความเข้าใจภาพรวม ของพัฒนาการ ของวัฒนธรรมไทยได้เลย เนื่องจากโดยสภาพแวดล้อม ทั้งทางภูมิศาสตร์ สังคม และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์แล้ว วัฒนธรรมไทยมีลักษณะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลง กล่าวคือ มีความพร้อมอยู่เสมอที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่มีความแปลกและใหม่กว่า ประเพณีหลวงจึงมักมีอิทธิพลเหนือประเพณีราษฎร์อย่างมาก การเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมไทยมักจะเริ่มที่ประเพณีหลวงก่อนเสมอ หรืออีกนัยหนึ่งเริ่มจากชนชั้นผู้นำก่อน แล้วจึงส่งผลมายังระดับประเพณีราษฎร์ของประชาชนในท้องถิ่นต่างๆ เป็นเงาตามตัว จนทำให้ประเพณีราษฎร์ในบางท้องถิ่น สลายตัวไปในปัจจุบัน

ปรากฏการณ์เหล่านี้ แสดงให้เห็นถึง ลักษณะของสังคมชาวนา ที่มักจะมองสังคมส่วนกลางเป็นตัวนำการเปลี่ยนแปลง ที่ค่อยๆ เปลี่ยน จากพื้นบ้านมาเป็นพื้นเมือง และเข้าสู่รูปแบบใหม่ ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกันทั่วไปทั้งประเทศตามส่วนกลาง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความเจริญของการคมนาคม การแพร่หลายของสื่อมวลชน และความนิยมวัฒนธรรมสมัยใหม่ด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow