Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลที่ ๙

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
1,057 Views

  Favorite

การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช

      นับจากเมื่อได้มีการจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค เมื่อคราวฉลองพระนครครบรอบ ๑๕๐ ปี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ ในรัชกาลที่ ๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้วก็ไม่เคยได้จัดอีก จนใน พ.ศ. ๒๕๐๐ ในรัชกาลที่ ๙ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช อันเป็นปีที่ทางราชการได้จัดงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้นและได้จัดให้มีกระบวนเรือพระราชพิธีอัญเชิญพระพุทธรูป พระไตรปิฏก และพระสงฆ์ แห่ไปตามลำแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นการเฉลิมฉลอง กระบวนครั้งนั้นเรียกกันว่า "กระบวนพุทธพยุหยาตรา" การจัดรูปกระบวนเรือคล้ายรูปกระบวนพยุหยาตราน้อยแต่ไม่ครบ เนื่องจากเรือพระราชพิธีชำรุดเสียหายไปบ้าง ไม่มีเรือพอจะจัดให้เต็มรูปริ้วกระบวนแบบฉบับที่มีมาแต่โบราณ  ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๕๐๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดกระบวนพยุหยาตราชลมารค สำหรับเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน ณ วัดอรุณราชวราราม ตามพระราชประเพณีที่เคยมีมาแต่ก็ไม่อาจจัดกระบวนให้ครบถ้วนเป็นกระบวนพยุหยาตราใหญ่ หรือพยุหยาตราน้อยได้เช่นกัน มีเรือดั้งเหลือ ๑๐ คู่ เรือรูปสัตว์ ๒ คู่ คือ เรือพาลีรั้งทวีปกับเรือสุครีพครองเมือง ๑ คู่ เรืออสุรวายุภักษ์กับเรืออสุรปักษาอีก ๑ คู่ เรือที่ไม่มี คือ เรือกระบี่ เรือครุฑ และเรือคู่ชัก จึงใช้เรืออสูรมาเป็นเรือคู่ชัก ใช้เรือดั้งทอง และเรือพญาวานรเสริมริ้วเรือดั้งให้ครบ ๑๑ คู่ และเพื่อให้เป็นไปตามพระราชดำริในอันที่จะฟื้นฟูประเพณีการเสด็จโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค กรมอู่ทหารเรือกรมศิลปากรและสำนักพระราชวังได้ต่อเรือพระราชพิธีและเรือดั้งจนมีครบ ๑๑ คู่ ส่วนเรือรูปสัตว์ก็ต่อตัวลำขึ้นใหม่ใช้หัวเดิมบ้างและต่อใหม่หมดบ้าง จนครบ ๘ ลำ การเสด็จพระราชดำเนินถวายพระกฐินด้วยกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งสุดท้ายประกอบการเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๐ และมีการซ้อมใหญ่อีกครั้งใน พ.ศ. ๒๕๑๒  

      ใน พ.ศ. ๒๕๒๕ เป็นโอกาสที่กรุงรัตนโกสินทร์มีอายุครบ ๒๐๐ ปี รัฐบาลได้จัดงานเฉลิมฉลองขึ้นพระราชพิธีที่ยิ่งใหญ่อย่างหนึ่ง คือ การเสด็จพยุหยาตราชลมารค ในวันที่ ๕ เมษายน และกระบวนพยุหยาตรา ในวันที่ ๑๓ เมษายน โดยอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์แห่ออกเพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำในวันสงกรานต์ อันเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวไทยและถือเป็นสิริมงคลในการฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี การจัดกระบวนพยุหยาตราชลมารคครั้งนี้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ทรงเป็นแม่กองปรับปรุงการจัดริ้วกระบวนจนดูโอ่อ่าตระการตายิ่ง  อย่างไรก็ดีต่อมาในวันที่ ๑๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินในพระราชพิธีถวายผ้าพระกฐินโดยกระบวนพยุหยาตราชลมารค ณ วัดอรุณราชวราราม โดยมีการจัดกระบวนเรือตามแบบกระบวนพยุหยาตราชลมารค (ใหญ่) เมื่อครั้งสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๕ และใช้บทเห่เดิมของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ เป็นบทเห่ชมกระบวนเรือ ชมทิวทัศน์ ชมนก ชมปลา และชมไม้  น.ต.มงคล แสงสว่างเป็นเจ้าหน้าที่เห่ นอกจากนี้มี พ.จ.อ.สุจินต์ สุวรรณ์ และ พ.จ.อ.ทวี นิลวงษ์ เป็นผู้ช่วยในการเห่ด้วย  ก่อนจะถึงวันพระราชพิธีกองทัพเรือได้นำเรือพระที่นั่งออกจัดกระบวนเรือฝึกซ้อมใหญ่ ๒ ครั้ง คือ วันที่ ๖ และ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ 

 

กระบวนพยุหยาตรา
การฝึกซ้อมกระบวนเรือพระที่นั่งของกองทัพเรือ ในงานฉลองพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ. ๒๕๓๐


      ในวันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เป็นวันมหามงคลของราชอาณาจักรไทยอีกวาระหนึ่งด้วยเป็นวันที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองราชย์ได้ ๔๒ ปี ๒๓ วัน ซึ่งนานกว่าพระมหากษัตริยาธิราชทุกพระองค์ในอดีต รัฐบาลได้จัดงานฉลองพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษกขึ้นในงานนี้ระหว่างวันที่ ๒-๕ กรกฎาคม มีการเห่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช และเรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ ที่ท่าราชวรดิษฐ์ โดยบทเห่นั้นคุณหญิงกุลทรัพย์ เกษแม่นกิจ รองอธิบดีกรมศิลปากรเป็นผู้ประพันธ์ จากความงดงามในศิลปกรรมที่ประกอบขึ้นเป็นเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ประกอบกับเป็นเรือที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติไทยแล้วยังมีความสำคัญในการเป็นมรดกของโลกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลอย่างยิ่งลำหนึ่งที่แสดงถึงความมีอัจฉริยะในการต่อเรือของช่างไทยโบราณที่สามารถแสดงออกถึงความเป็นเอกลักษณ์ของชาติได้อย่างดียิ่ง นอกจากนี้ยังเป็นงานศิลปกรรมที่รัฐบาลไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและความสำคัญจึงได้ให้การทำนุบำรุงรักษาเรือ พระที่นั่งสุพรรณหงส์เป็นอย่างดียิ่งจนสามารถนำมารับใช้เบื้องพระยุคลบาทพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในการพระราชพิธีต่าง ๆ จนมาถึงปัจจุบัน อันถือได้ว่าเป็นการสืบต่อความสำคัญทางประวัติศาสตร์ในการต่อเรือและการเดินเรือรวมทั้งการค้าขายทางทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกไกลซึ่งกำเนิดขึ้นมาเป็นเวลาหลายร้อยปีมาแล้ว

 

กระบวนหยุหยาตรา
ประธานองค์การเรือโลก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำปี พ.ศ. ๑๕๓๕ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


      ด้วยความสำคัญของเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ดังกล่าวมาแล้วจึงทำให้องค์การเรือโลกแห่งสหราชอาณาจักรให้ความสนใจส่งผู้แทนมาพิจารณามอบรางวัลเรือโลกแก่เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ในวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๕ (ค.ศ. ๑๙๙๒) คณะกรรมการองค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) ประกอบด้วย นายอีเวน เซาท์บีเทลยัวร์ (MR.EWEN SOUTHBY TAILYOUR) ประธานองค์การเรือโลก นายไมเคิล ไทแนน (MR.MICHAEL TYNAN) นักกฎหมายประจำองค์การฯ และนายเจมส์ ฟอร์ไซท์ (MR.JAMES FORSYTH) ได้เดินทางมายังราชอาณาจักรไทยและได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเหรียญรางวัลเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ คือ เหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำ ปี ค.ศ. ๑๙๙๒ (THE WORLD SHIP TRUST MARITIME HERITAGE AWARD "SUPHANNAHONG ROYAL BARGE") จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานเหรียญรางวัลดังกล่าวแก่อธิบดีกรมศิลปากรครั้งนั้นคือนายสุวิชญ์ รัศมิภูติ ซึ่งเป็นกรมที่รับผิดชอบดูแลรักษาเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ที่จัดแสดงอยู่ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเรือพระราชพิธี

 

การจัดกระบวนพยุหยาตรา
ประธานองค์การเรือโลก ทูลเกล้าฯ ถวายเหรียญรางวัลมรดกทางทะเลขององค์การเรือโลกประจำปี พ.ศ. ๑๕๓๕ แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


      องค์การเรือโลก (WORLD SHIP TRUST) แห่งสหราชอาณาจักรเป็นองค์การที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นองค์กรการกุศลอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ค.ศ. ๑๙๗๙ (พ.ศ. ๒๕๒๒)  มี   ดยุกแห่งเอดินบะระ (DUKE OF EDINBURGH) เป็นองค์อุปถัมภ์โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการศึกษาและความรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเดินเรือ การต่อเรือ ส่งเสริมการทำนุบำรุงรักษาเรือสมัยโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ทั้งต่อโลกและมนุษยชาติเพื่อให้เป็นมรดกที่ล้ำค่าที่สาธารณชนรุ่นหลังจะได้มีโอกาสได้ชื่นชมต่อไป รวมทั้งดำเนินการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรือต่าง ๆ เพื่อบันทึกไว้เป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการทำนุบำรุงเรือนั้น ๆ  องค์การเรือโลกได้เคยมอบรางวัลแก่องค์กรบุคคลและเรือต่าง ๆ แล้ว ๑๒ เหรียญ ที่สำคัญ มีเรือวาซา (WASA) ของสวีเดน เรือแมรีโรส (MARY ROSE) ของสหราชอาณาจักร เรือจิลแลนด์ (JYLLAND) ของเดนมาร์ก เรือยูเอสเอสคอนสติติวชัน (USS CONSTITUTION) ของสหรัฐอเมริกา และในปีเดียวกับที่มอบเหรียญรางวัลให้เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์แห่งราชอาณาจักรไทยนั้นก็ได้มอบรางวัลให้แก่เรือมิกาซา (MIKASA) แห่งประเทศญี่ปุ่นด้วย สำหรับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์นอกจากได้รับเหรียญรางวัลแล้วยังได้รับสาส์นแสดงความยินดีจากเจ้าชายฟิลิป ดยุก แห่งเอดินบะระ ด้วย

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow