Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทองคำ

Posted By Plookpedia | 21 เม.ย. 60
937 Views

  Favorite

ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทองคำ

๑.๑ คุณสมบัติทางเคมีและทางฟิสิกส์
- คุณสมบัติทางเคมี ทองคำเป็นโลหะ ที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ มีสูตรทางเคมีคือ Au มักเกิดผสมกับแร่เงิน (Ag) หรือเกิดรวมกับแร่อื่นๆ เช่น เทลลูเรียม (Te) ทองแดง (Cu) เหล็ก (Fe) จะละลายในกรดกัดทองเท่านั้น
- คุณสมบัติทางฟิสิกส์ ลักษณะที่พบทั่วไปเป็นเกล็ด หรือเม็ดกลมเล็กๆ หรือเป็นก้อนใหญ่ ที่พบในรูปของผลึกนั้นหายาก และมักไม่ค่อยสมบูรณ์ ทองคำมีสีเหลืองเข้มมันวาว ถ้ามีโลหะเงินปนมากกว่าร้อยละ ๒๐ ทองคำก็จะมีสีเหลืองอ่อนจางๆ เรียกว่า อิเล็กทรัม (electrum) ทองคำมีความแข็ง ๒.๕ - ๓ ซึ่งนับว่าอ่อนถ้าเทียบกับโลหะชนิดอื่น นอกจากนี้ยังดึงให้เป็นเส้นเล็กๆ ได้ง่าย 
เมื่อผสมกับโลหะชนิดอื่นจะทำให้เนื้อทองคำแข็งขึ้น ทองคำมีความถ่วงจำเพาะ ๑๕ - ๑๙ แล้วแต่ว่า เนื้อทองคำจะมีส่วนผสมของโลหะชนิดอื่นมากน้อยเพียงใด หากเป็นทองคำบริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ จะมีความถ่วงจำเพาะ ๑๙.๓ ความบริสุทธิ์ของทองคำคิดเป็นกะรัต (carat) โดยกำหนดว่า ทองคำ ๒๔ กะรัต เป็นทองคำบริสุทธิ์ 

 

ก้อนแร่ในสายแร่ทองคำ
ก้อนแร่ในสายแร่ทองคำ
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29


๑.๒ แหล่งกำเนิดทองคำ
ทองคำเกิดขึ้นได้จากแหล่งปฐมภูมิ (Primary deposit) และแหล่งทุติยภูมิ (Secondary deposit)
๑. เกิดจากแหล่งปฐมภูมิ 
คือ เป็นแหล่งแร่อยู่ในสายหรือทางแร่ทองคำ (gold bearing vien) ซึ่งเกิดรวมกับหินอัคนี เช่น เกิดรวมในสายแร่ควอตซ์ปนกับแร่ไพไรต์ แร่คาลโดไพไรต์ แร่กาลีนา แร่สฟาเลอไรต์ ซึ่งแร่เหล่านี้มีความสัมพันธ์กับมวลหินแกรนิต การเกิดของแร่ทองคำแบบนี้ จะมีสารละลายน้ำร้อน (hydrothermal solution) ที่มาจากต้นกำเนิดที่เรียกว่า หินหนืด (magma) ซึ่งเคลื่อนตัวตามรอยแตกของหินภายใต้เปลือกโลก ส่วนบนของมวลหินหนืดจะเป็นหินแกรนิต และสารละลายน้ำร้อนจะตกผลึกให้เป็นแร่ หรือสายแร่ตามรอยแตก 
๒. เกิดจากแหล่งทุติยภูมิ 
เป็นแหล่งแร่บนลานแร่ (placer deposit) ซึ่งมีธารน้ำไหลผ่าน มักปนกับแร่หนักชนิดอื่นๆ ที่ทนกับการสึกกร่อน เช่น แร่แมกนีไทต์ แร่อิลเมไนต์ แร่การ์เนต ทองคำขาว โดยมีชั้นดิน หรือกรวดทรายปิดทับชั้นที่มีแร่ไว้ การเกิดแบบนี้ หินต้นกำเนิดมักอยู่ในภูมิประเทศที่เป็นภูเขา หรือพื้นที่ลาดชัน เมื่อเกิดการผุสลายตัวไปตามธรรมชาติ ก็ถูกธารน้ำไหลพัดพาไปจากแหล่งเดิม แต่ทองคำและแร่อื่นที่หนักและทนต่อการสึกกร่อนผุพัง ก็จะแยกตัวออกจากเศษหินดินทรายอื่นๆ และสะสมมากขึ้นตรงบริเวณที่เป็นแหล่งลานแร่ ซึ่งถ้าเป็น แหล่งแร่ท้องน้ำ (stream deposit) แร่จะสะสมรวมตัวกันมากขึ้นบริเวณท้องน้ำ จนกลายเป็นแหล่งแร่ ส่วนการสะสมของแร่ที่มีอยู่ตามไหล่เขา หรือที่ลาดชันใกล้กับหินต้นกำเนิด หรือสายแร่เดิม จะเป็น แหล่งแร่พลัด (eluvial deposit) ต่อมาจะมีตะกอนของดิน ทราย กรวดมาทับถมกันเป็นชั้นหนา จนเกิดเป็นลานหรือแหล่งแร่ทองคำ การผลิตทองคำของโลกส่วนใหญ่จะได้จากแหล่งลานแร่ ซึ่งพบได้ในทุกทวีป แหล่งแร่ที่ถือว่าสำคัญที่สุดอยู่ที่มณฑลทรานสวาล ในประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นประเทศที่ผลิตทองคำได้ถึงร้อยละ ๔๐ ของผลผลิตทั่วโลก 
๑.๓ คุณลักษณะของทองคำและการนำมาใช้ประโยชน์
“คุณลักษณะของเนื้อทองคำเป็นเครื่องชี้บอกคุณภาพของทอง” เป็นคำกล่าวที่พิจารณาเนื้อทอง โดยตั้งพิกัดราคาทอง ตามคุณลักษณะของเนื้อทองนั้นๆ มีตั้งแต่ เนื้อสี่ถึงเนื้อเก้า ตามประกาศของรัชกาลที่ ๔ เช่น ทองเนื้อหกคือ ทองหนัก ๑ บาท ราคา ๖ บาท ทองเนื้อเก้าคือ ทองหนัก ๑ บาท ราคา ๙ บาท 
ทองเนื้อเก้าเป็นทองที่บริสุทธิ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ เนื้อจะสุกปลั่ง สีเหลืองอมแดง เป็นทองธรรมชาติ บางครั้งเรียกว่า “ทองชมพูนุท” หรือ “ทองเนื้อแท้” นอกจากนี้ ในรัชกาลที่ ๔ ยังกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน ทอง (เหรียญทองกษาปณ์) ไว้ด้วย คือ

- ทองทศ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๑๐ ของ ชั่ง หรือเท่ากับ ๘ บาท (๑ ชั่ง = ๘๐ บาท)
- ทองพิศ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๒๐ ของชั่ง หรือเท่ากับ ๔ บาท
- ทองพัดดึงส์ มีค่าเท่ากับ ๑ ใน ๓๒ ของชั่ง หรือเท่ากับ ๒.๕๐ บาท
 
ทองคำเปลวใช้ลงรักปิดทอง
ทองคำเปลวใช้ลงรักปิดทอง
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

 

ตัวอย่างทองโบราณศรีสัชนาลัย
ตัวอย่างทองโบราณศรีสัชนาลัย
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 29

 

 
เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow