Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

อนุกรมอุปราคาซาโรส

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
1,117 Views

  Favorite

อนุกรมอุปราคาซาโรส


เมื่อการเกิดb"อุปราคา" ต้องขึ้นอยู่กับดิถีของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ในภาวะที่เหมาะสม คือ ดวงจันทร์ต้องอยู่ในวันเพ็ญหรือวันเดือนมืด และดวงอาทิตย์ต้องอยู่ใกล้โนดของดวงจันทร์ อุปราคาจะเกิดซ้ำใหม่ได้เมื่อครบรอบระยะเวลาหนึ่ง ระยะเวลาที่จะเป็นได้ ต้องได้เดือนจันทรคติ (๒๙.๕๓๐๕๙ วัน) และปีอุปราคา (๓๔๖.๖๒ วัน) มีตัวคูณร่วมน้อยพอดีกัน ระยะเวลานี้จะหาได้อย่างใกล้เคียงที่สุดเท่ากับ ๒๒๓ เดือนจันทรคติ ซึ่งเท่ากับ ๖,๕๘๕.๓๒ วัน น้อยกว่า ๑๙ ปี อุปราคาเพียง ๐.๔๖ วัน ระยะเวลานานนี้ชาวชาลดีน (Chaldean) โบราณเป็นผู้พบนานกว่าสองพันปีมาแล้ว เขาให้ชื่อว่า ซาโรส (saros) ซึ่งมีความหมายว่า การซ้ำ ภายหลังการเกิดอุปราคาครั้งหนึ่งขึ้นแล้ว จากเวลานั้นอีก ๖,๕๘๕.๓๒ วัน ดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์จึงจะอยู่ในตำแหน่งซึ่งมีความสัมพันธ์คล้ายกันและจะเกิดอุปราคาอีกครั้งหนึ่ง ในระยะเวลาหนึ่งซาโรส จะมีอุปราคาเกิดขึ้นหลายครั้ง อุปราคาที่เกิดเป็นจันทรุปราคา ๒๙ ครั้ง และสุริยุปราคา ๔๑ ครั้ง ในทั้งหมดนี้ จะเป็นสุริยุปราคาเต็มดวง ๑๐ ครั้ง และอุปราคาเหล่านี้จะเกิดใกล้เคียงกับซาโรสถัดไป แต่จะเป็นได้ที่ลองจิจูด ๑๒๐° ตะวันตก ห่างออกไปจากเดิม ระหว่างเวลานั้นโลกได้หมุนตัวไปแล้ว ประมาณ ๖,๕๘๕ ๑/๓  รอบ

 

แสดงวิถีของสุริยุปราคา
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

ภาพบน : แสดงวิถีของสุริยุปราคาหมดดวงสามครั้งที่เกิดในระยะเวลาหนึ่งซาโรส ภายหลังสามซาโรส หรือ ๕๔ ปี ๑ เดือน สุริยุปราคาจะกลับมาเกิดประมาณที่ลองจิจูดเดิม แต่เนื่องจากความต่างกันเล็กน้อย ระหว่างซาโรสกับเลขจำนวนเต็มหน่วยของปีอุปราคา ดวงอาทิตย์จึงได้เคลื่อนตำแหน่งไปทางตะวันตกเล็กน้อยนับเนื่องจากโนด และอุปราคาชุดใหม่ก็เกิดเหนือกว่าเดิมเล็กน้อยถ้าเป็นเวลาที่โนดลง หรือใต้ลงไปเล็กน้อยถ้าเป็นเวลาที่โนดขึ้น ส่วนภาพขวาหน้า ๓๒ แสดงวิถีของสุริยุปราคาหมดดวงจำนวนหนึ่งที่เกิดในช่วงเวลาสามซาโรส สุริยุปราคาเหล่านี้เกิดเวลาที่โนดขึ้น ดังนั้นอนุกรมสุริยุปราคาจึงตั้งต้นที่ขั้วโลกเหนือและเลื่อนลงมาทางใต้อย่างช้าๆ

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"

เรามีความภูมิใจที่พระมหากษัตริย์ไทย คือ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาสามารถในวิทยาศาสตร์ ประชาชนชาวไทยได้เริ่มแรกรับพระราชทานความรู้ในวิชานี้ตามวิธีการของวิทยาศาสตร์อย่างถูกต้อง

สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย"
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

 

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณเวลาการเกิดคราสต่าง ๆ ในสุริยุปราคา ซึ่งเกิดเมื่อวันที่ ๑๘ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑ ที่กรุงเทพ ฯ ซึ่งเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังมืดไม่หมดดวง และที่หว้ากอ ซึ่งอยู่ใกล้เขาสามร้อยยอด ในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อันเป็นสถานที่ซึ่งเห็นสุริยุปราคามืดหมดดวง

พระบาทสมเด็จเสด็จรับเซอร์
"พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" เสด็จออกรับ "เซอร์ แฮ์รี ออร์ด" เจ้าเมืองสิงคโปร์ ในโอกาสเสด็จทรงกล้องส่องสุริยุปราคาหมดดวง ที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. ๒๔๑๑
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

 

สุริยุปราคา
สุริยุปราคาหมดดวง เมื่อ พ.ศ. ๒๔๑๑ ซึ่งพันตรี "เทนแนนต์" (Tennant) ถ่ายที่อินเดีย เป็นสุริยุปราคาเดียวกันกับที่ "พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว" ทรงเห็นที่ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ทางซ้ายจะเห็นลำพวยก๊าซพุ่งขึ้น สูงประมาณ ๑๔๐,๐๐๐ กิโลเมตรจากดวงอาทิตย์
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 


คณะนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส ก็ได้ขอพระบรมราชานุญาตตั้งค่ายสังเกตการณ์วัดดูสุริยุปราคา ที่ใต้พลับพลาค่ายหลวงประมาณ ๑๘ เส้น พอได้เวลา สุริยุปราคาก็ได้เกิดขึ้นตามแนวทางที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงคำนวณไว้ โดยผลที่ทรงคำนวณ ดังที่ได้ทรงประกาศไป เมื่อเทียบกับที่คณะดาราศาสตร์อังกฤษได้ทำรายงานไว้เกือบจะไม่มีความแตกต่างคลาดเคลื่อนกันเลย ในรายงานนั้นได้บอกไว้ว่า 

"ก่อนเวลาหมดดวง ๕ นาที อากาศมืดมัวมากขึ้น สิ่งต่าง ๆ ที่อยู่บนบกแลเห็นจดจำได้ยาก ต้นไม้ที่บริเวณใกล้ชิดกับบ้านดูเป็นกลุ่มดำไปหมด ดาวส่องแสงให้เห็นทางตรงศีรษะ เรือกำปั่นในทะเลห่าง ๓ ไมล์แลไม่เห็นเลย เมื่อเวลาเงาพระจันทร์บังดวงอาทิตย์ทั้งดวงมืดมากทีเดียว ในชั่วระยะ ๒-๓ ฟุต และเห็นร่างกายคนจำกันไม่ได้ และไม่สามารถกำหนดประมาณระยะใกล้ไกลได้ดี ต้องใช้ไฟส่องดู ใกล้ ๆ ในท้องฟ้ามีดาวส่องแสงทั่วไป ไม่พบเห็นมีแสงลูกปัดกระจาย แต่ได้เห็นแสงพลุ่งจากดวงจันทร์ไปถึงขอบดวงอาทิตย์ ๒ แห่ง แต่แสงนั้นอยู่ชั่วเวลา ๒-๓ นาที สุริยุปราคาจับเต็ม คราสได้ ๖ นาที ๔๕ วินาที แสงสว่างของดวงอาทิตย์เริ่มส่งคอโรนา" 

 

___________________________________________________________________

 

ความสำเร็จในการทรงทำนายสุริยุปราคาครั้งนั้น ได้ทำให้พระเกียรติคุณ ซึ่งเป็นที่ทราบและยอมรับนับถือในหมู่ชาวตะวันตกอยู่ก่อนแล้วนั้น ยิ่งแพร่หลายกระจายไกลออกไปอีกเป็นอันมาก เพื่อน้อมเกล้า ฯ รำลึกถึงในพระมหากรุณาธิคุณในพระราชกรณียกิจอันเกี่ยวกับสุริยุปราคา จึงขออัญเชิญประกาศเรื่องสุริยุปราคาหมดดวงมาตีพิมพ์ไว้ในที่นี้ด้วย

 

๓๐๒ ประกาศสุริยุปราคาหมดดวง


ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก 
มีพระบรมราชโองการมารพระบัณฑูรสุรสิงหนาท ให้ประกาศแก่ข้าราชการผู้ใหญ่ ผู้น้อย แลพระสงฆ์สามเณร แลทวยราษฎร์ทั้งปวงในกรุงเทพ ฯ แลหัวเมืองทราบทั่วกันว่าสุริยุปราคาครั้งนี้จะมีในวันอังคาร เดือน ๑๐ ขึ้น ๑ ค่ำ ปีมะโรง สัมฤทธิศก จะจับในเวลาเช้า ๔ โมงเศษ ไปจนเวลาบ่ายโมงเศษ จึงจะโมกษบริสุทธิ์ ก็สุริยุปราคาครั้งนี้ในกรุงเทพ ฯ นี้จะไม่ได้เห็นจับหมดดวง จะเห็นดวงพระอาทิตย์อยู่น้อยข้างเหนือ แรกจะจับทิศพายัพค่อนอุดรในเวลาเช้า ๔ โมงกับบาท หนึ่ง แล้วหันคราสไปข้างใต้จนถึงเวลา ๕ โมง ๗ บาท จะสิ้นดวงข้างทิศอาคเนย์ ครั้นเวลา ๕ โมง ๘ บาทแล้ว พระอาทิตย์จะออกจากที่บังข้างทิศพายัพ ครั้นบ่ายโมงกับ ๖ บาท จะโมกษบริสุทธิ์หลุดข้างทิศอาคเนย์ คำทายนี้ว่าที่ตำบลหัววาน 

แต่ในกรุงเทพ ฯ นี้ จะจับเวลาเช้า ๔ โมงกับบาทหนึ่งค่อย ๆ จับทิศพายัพเหมือนกัน แล้วจะหันเร่ไปข้างทิศประจิมแลหรดีแลทักษิณจะจับมากที่สุดสัก ๕ ส่วนหรือ ๖ ส่วน เหลือส่วนหนึ่ง เมื่อเวลา ๕ โมง ๘ บาท จะเหลืออยู่ข้างทิศอีสานแลอุดร แล้วก็จะเร่ไปคายแลหลุดข้างทิศอาคเนย์เหมือนกัน ต่อในทะเลลงไปในทิศใต้โดยอย่างใกล้ทีเดียวถึงประมาณ ๖,๐๐๐ เส้นเศษ จึงจะได้เห็นจับสิ้นดวง พระอาทิตย์มืดมิดอยู่นานถึงบาทหนึ่งของนาฬิกา คือ ๖ นาทีนาฬิกากล แต่ในที่ต่าง ๆ เวลาจับนั้นบาทแลนาทีก็คงไม่ต้องกัน สุริยุปราคาหมดดวงเช่นนี้ในพระราชอาณาจักร แผ่นดินสยามล่วงกาลนานถึง ๕๖๐ ปีเศษ จึงจะได้เป็นจะได้เห็นคราวหนึ่ง เป็นการแปลกประหลาดอยู่ 

แลการคำนวณสุริยุปราคาที่ว่าจะเป็นเช่นนี้ ได้ทรงด้วยพระองค์ทราบเป็นแน่มานานก่อน ความเล่าลือกันอื้ออึงกันในคนต่างประเทศจะทราบ เพราะคนต่างประเทศอื้ออึงในเร็ว ๆ นี้ก็หาไม่ ได้ทรงกำหนดได้ว่า จะเสด็จพระราชดำเนินลงไปทอดพระเนตร บัดนี้กำหนดนั้นถึงแล้ว จึงจะเสด็จพระราชดำเนินออกไปเมืองประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยพระราชวงศานุวงศ์แลเสนาบดีบางท่าน ทอดพระเนตรสุริยุปราคาที่ในอ่าวทะเล ชื่อ อ่าวแม่รำพึง แขวงเมืองประจวบคีรีขันธ์ 

ในกรุงเทพ ฯ นี้มีพระเจ้าน้องยาเธอกรมหลวงเทเวศรวัชรินทร์ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท กรมหมื่นวรศักดาพิศาล กรมหมื่นภูบาลบริรักษ์ พระเจ้าราชวงศ์เธอกรมหมื่นภูมินทรภักดี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นอนันตการฤทธิ พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นสิทธิสุขุมการ แลเจ้าพระยาทิพากรวงศ์มหาโกษาธิบดี เจ้าพระยายมราช เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ เจ้าพระยาพลเทพ เจ้าพระยามุขมนตรี พระยาสิงหราชฤทธิไกร พระยามณเฑียรบาล จะได้อยู่รักษาพระนคร สุริยุปราคาครั้งนี้ไม่มีใครมายุยงดอก อย่าให้ราษฎรเล่าลือไปว่าในหลวงถูกหลอกถูกลวงไม่รู้เท่าทันคนยุคนยงอะไรๆ 
 

ประกาศ ณ วันพฤหัสบดี เดือน ๙ แรม ๓ ค่ำ จุลศักราช ๑๒๓๐ ปีมะโรง สัมฤทธิศก
 
 
กล้องโทรทรรศน์
กล้องโทรทรรศน์ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงใช้ส่องทอดพระเนตรสุริยุปราคา ที่ตำบลหว้ากอ 
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

___________________________________________________________________

 

วันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้มีสุริยุปราคาหมดดวงเห็นได้ทางภาคใต้ของประเทศไทย ได้มีคณะนักดาราศาสตร์อังกฤษและคณะนักดาราศาสตร์เยอรมัน ได้ขอพระบรมราชานุญาตให้เข้ามาทำการวัดสังเกตการณ์สุริยุปราคาครั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุเคราะห์ให้ทางราชการได้ช่วยเหลือเป็นอย่างดี คณะเยอรมันตั้งถ่ายเครื่องมือวัดที่ใกล้สถานีรถไฟโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี คณะอังกฤษตั้งถ่ายเครื่องมือวัดที่สนามหน้าจังหวัด เวลาเต็มคราสนานประมาณ ๕ นาที เวลานั้นท้องฟ้ามืดมาก 

ในรัชกาลที่ ๙ สมัยพระบาทสมเด็จพระปรมิทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีสุริยุปราคาหมดดวงเมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๘ คณะนักดาราศาสตร์อเมริการับทำการวัดที่บริเวณพระราชวังบางปะอิน เวลาเต็มคราสนานกว่า ๖ นาที ความมืดสลัวท้องฟ้าเวลาเต็มคราสไม่มากเท่าครั้งที่ปัตตานีที่กรุงเทพ ฯ เห็นสุริยุปราคาหมดดวงเหมือนกัน แต่น้อยกว่า ๖ นาที 

โดยที่สุริยุปราคาหมดดวงเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าดูที่สุด และเป็นโอกาสให้นักวิทยาศาสตร์ทำการศึกษาค้นคว้าได้โดยที่ไม่มีทางจะทำได้ในเวลาอื่น ทุกครั้งที่มีสุริยุปราคาหมดดวงจะต้องมีนักดาราศาสตร์ไปตั้งเครื่องทำการส่องดูสุริยุปราคานั้น ตามวิถีโคจรของสุริยุปราคา ไม่ว่าตำบลที่จะเห็นสุริยุปราคาได้นั้นอยู่ห่างไกลจากบ้านเมืองของนักดาราศาสตร์มากเท่าใด ยิ่งเมื่อการคมนาคมเจริญและสะดวกยิ่งขึ้นกว่าสมัยก่อน ก็เป็นอันหวังได้แน่นอนว่าต้องมีนักดาราศาสตร์ทำการส่องสุริยุปราคาหมดดวงหลายคณะด้วยกันทุกครั้ง แยกย้ายกันไปตามวิถีโคจรของสุริยุปราคานั้น บางแห่งในที่กันดารไกลจากบ้านเมือง ต้องมีการเตรียมตั้งเครื่องมือทำการส่องเป็นเวลาหลายเดือน และพอถึงกำหนดเวลาสุริยุปราคาจริง บางที่อากาศไม่ดี ไม่ได้ผลอะไรเลย 

สืบเนื่องจากสุริยุปราคาหมดดวง พ.ศ. ๒๔๑๑ นักดาราศาสตร์ได้ความคิดไปทำการศึกษาค้นคว้าต่อมา จนได้พบว่าที่ดวงอาทิตย์มีฮีเลียม และต่อมาก็ได้ค้นพบมีฮีเลียมในโลกเรา ฮีเลียมนี้เป็นผลิตผลของการแปลงกัมมันตภาพรังสี (radioactive transformation) เกือบทุกราย

 

สุริยุปราคาเต็มดวง
สุริยุปราคาหมดดวง เมื่อวันที่ ๒๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ ปรากฏเห็นได้ชัดในบริเวณกรุงเทพมหานคร
จาก หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

 

สุริยุปราคาหมดดวงนาน ๆ จะเกิดให้เห็นซ้ำที่เดิม สุริยุปราคาวงแหวนก็คล้ายกัน นาน ๆ จึงจะเกิดให้เห็นซ้ำที่เดิม แต่ก็ยังเกิดบ่อยครั้งกว่าสุริยุปราคาหมดดวง สุริยุปราคาวงแหวนเป็นปรากฏการณ์ที่น่าดูแต่ไม่ตื่นเต้นเท่าสุริยุปราคาหมดดวง และมีความสำคัญทางวิทยาศาสตร์น้อยกว่ากันด้วย ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะรายที่เกิดขึ้นเห็นในประเทศไทยเมื่อไม่นานมากนัก

 

สุริยุปราคาวงแหวน
สุริยุปราคาวงแหวน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘ ถ่ายที่กรุงเทพมหานคร  
จากหนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ฯ เล่ม 1

 

เมื่อวันที่ ๑๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๐๑ ได้เกิดสุริยุปราคาวงแหวนที่เห็นได้ในประเทศไทยหลายแห่งในพื้นที่กว้างประมาณ ๒๖๐ กิโลเมตร ตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ไปจนถึงจังหวัดอุบลราชธานี ที่กรุงเทพ ฯ เห็นวงแหวนเต็มกลางดวงเมื่อเวลา ๙ นาฬิกา ๙ นาที และเป็นวงแหวนนาน ประมาณ ๖ นาที 

สุริยุปราคาวงแหวนครั้งสุดท้ายที่เห็นในประเทศไทย เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๘ เห็นวงแหวนที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เพชรบูรณ์ และสุรินทร์ เป็นรูปวงแหวนประมาณ ๓ นาทีที่เชียงใหม่ และ ๔ นาทีที่สุรินทร์ ที่กรุงเทพ ฯ แลเห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วนไม่เป็นวงแหวน

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow