Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

'เรือนไทย'

Posted By Plookpedia | 20 เม.ย. 60
9,809 Views

  Favorite

 

สิ่งที่คุ้นเคยกับชีวิตเราตั้งแต่เกิดจนเติบโตมาถึงทุกวันนี้ก็คือ บ้าน เราจะไปโรงเรียน ไปเที่ยว หรือไปธุระแห่งหนใดก็ตาม ในที่สุดเราก็กลับบ้านของเรา เมื่อก่อนคนเรายังไม่รู้จัดสร้างบ้านปลูกเรือน ได้แต่อาศัยอยู่ตามถ้ำเชิงผา โคนต้นไม้ใหญ่ ต่อมารู้จักเอากิ่งไม้มาทำเป็นโครง เอาใบไม้มามุงเป็นหลังคา ทำเป็นฝา เป็นเพิง ดัดแปลงตกแต่งกันไปเรื่อยๆ รู้จักรักสวยรักงาม เพิ่มเติม เปลี่ยนแปลงไปทีละเล็กทีละน้อย ในที่สุดก็กลายมาเป็นบ้านเรือนเหมือนทุกวันนี้

เรือนไทย
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 13

เรือนของปู่ ย่า ตา ยาย ของเรานั้น ยังพอหาดูได้ตามต่างจังหวัด มีหลังคาสูงแหลมบ้าง มุงด้วยกระเบื้องบ้าง มุงด้วยจาก หญ้าคาใบตองตึง ยกใต้ถุนสูง มีห้องนอน ห้องครัว ระเบียงและชานอยู่ชั้นบน

ที่ใต้ถุน ใช้เป็นที่นั่งเล่น ที่เก็บของ บางครั้งก็ใช้เป็นที่เลี้ยงสัตว์ ฝาเรือนทำด้วยไม้สักบ้าง ไม้ไผ่บ้าง ใบไม้บ้าง พื้น เสา และโครงหลังคาเป็นไม้เหมือนฝา บางหลังต่อชายคาออกมา เพื่อกันแดดส่อง และกันฝนสาดด้วย

 

เรามักจะเรียกที่พักอาศัยว่า "บ้าน" เสมอ ความจริงบ้าน คือ ส่วนที่มีบริเวณที่ดินโดยรอบ รวมกับตัวอาคารทั้งหมด เฉพาะตัวอาคารนั้น เรียกว่า "เรือน" ภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคกลาง จนถึงภาคใต้ของประเทศไทย มีเรือนพักอาศัยแตกต่างกันหลายลักษณะ ขึ้นอยู่กับท้องถิ่นที่ตั้ง และสภาพแวดล้อม
 

เรือนไทยยกพื้นใต้ถุนสูง
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 13

'เรือนไทย' ทั่วไปเป็นเรือนยกพื้นใต้ถุนสูง ประกอบด้วยห้องนอน ห้องครัว ระเบียง และชาน หลังคาทรงจั่ว มุงด้วยกระเบื้องดินเผา จาก แฝก หญ้าคา หรือใบตองตึง เรือนของผู้มีอาชีพต่างๆ เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน เรือนผู้มีฐานะอันจะกิน (คหบดี) เรือนที่อยู่ในเมือง เรือนที่อยู่ในชนบท เรือนชาวเขา เรือนชาวประมง มีรายละเอียดแตกต่างกันไป ซึ่งพอสรุปเป็นประเภทใหญ่ๆ ได้ ๒ ประเภท คือ เรือนไทยเดิมที่มีแบบแผน และเรือนพื้นบ้านในชนบททั่วไป

 

 

เรือนไทยเดิม
หนังสือสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่ม 13

'เรือนไทยเดิม' ตั้งอยู่ในเขตตัวเมือง และในเขตนอกเมือง เป็นเรือนที่มีรูปร่างลักษณะแบบแผนของแต่ละหลังที่แน่นอน และคล้ายคลึงกันเป็นส่วนใหญ่ จะแตกต่างกันบ้างในส่วนที่เป็นขนาดของเรือน แบบฝาแต่ละชนิด การจัดชาน การวางบันได และส่วนปลีกย่อยอื่นๆ เท่านั้น

เรือนประเภทนี้ มีวิธีการก่อสร้างที่ละเอียดประณีต เป็นเรือนที่ถาวร และทนทาน มีอายุอยู่ได้นานตั้งแต่ ๕๐ ปีขึ้นไป เรือนไทยเดิมที่มีแบบแผนดังกล่าว มีอยู่ในเขตภาคเหนือ และภาคกลาง

 

'เรือนพื้นบ้าน' เป็นเรือนที่สร้างขึ้นในชนบท และใกล้ชุมชน ซึ่งผู้เป็นเจ้าของมีอาชีพเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ และประมง เช่น ชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน และชาวประมง จะใช้วัสดุท้องถิ่นที่หามาได้ง่ายๆ ราคาถูก ฝีมือปลูกสร้างไม่ใคร่ประณีต แต่มีความงามทางด้านรูปทรง สัดส่วน ขนาดของตัวไม้ ตลอดจนมีความกลมกลืนกับธรรมชาติอย่างดียิ่ง เรือนพื้นบ้านนี้มีอยู่ในเขตภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plookpedia
  • 15 Followers
  • Follow