Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

สัญญาณบ่งบอก ลูกพัฒนาการช้า

Posted By Plook Parenting | 11 เม.ย. 60
4,405 Views

  Favorite

การเห็นลูกเติบโตเป็นเด็กที่แข็งแรงและมีพัฒนาการสมวัย เป็นสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนปรารถนา แต่เมื่อเห็นสัญญาณบางอย่างที่บ่งบอกว่าลูกอาจมีปัญหา หรือมีพัฒนาการล่าช้าจะจัดการอย่างไร


พัฒนาการล่าช้าคืออะไร

โดยทั่วไปเด็กแต่ละช่วงวัยจะมีพัฒนาการขั้นพื้นฐาน หรือการเจริญเติบโตของร่างกาย จิตใจ และสติปัญญาไว้เป็นกรอบกว้าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้คุณพ่อคุณแม่และครอบครัวสังเกตพัฒนาการและพฤติกรรมของเด็กว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ หากพบว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้าด้านในด้านหนึ่ง เช่น การเคลื่อนไหว การพูด การสื่อสาร หรือการช่วยเหลือตัวเอง คุณพ่อคุณแม่ต้องรีบหาสาเหตุเพื่อเตรียมแนวทางการแก้ไขให้เหมาะสมกับเด็กต่อไป

 

วิธีการสังเกตพัฒนาการของเด็กในแต่ละช่วงวัย

เด็กแต่ละคนมีพัฒนาการและการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น เด็กบางคนอาจเริ่มเดินและคลานได้เร็วกว่าเด็กคนอื่น ๆ หรือเด็กบางคนอาจช่างพูดช่างคุยมากกว่าเด็กอีกคน เป็นต้น แต่ทั้งนี้ ลำดับการเรียนรู้ของเด็กมักเหมือน ๆ กัน เช่น เด็กส่วนใหญ่จะเริ่มคลานก่อน แล้วจึงเริ่มเดิน หรือส่งเสียงไม่เป็นภาษาก่อน จากนั้นจึงเริ่มพูดคำแรก คุณพ่อคุณแม่ต้องใส่ใจและสังเกตพัฒนาการของลูกอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ลูกมีพัฒนาการในทุก ๆ ด้านอย่างเหมาะสม


     • เด็กอายุ 0–1 ขวบ เริ่มแยกแยะเสียงของพ่อแม่กับเสียงของคนอื่นได้ สามารถออกเสียงคำง่าย ๆ สั้น ๆ ได้เป็นบางคำ จดจำสิ่งต่าง ๆ รอบตัว รวมไปถึงใบหน้าของพ่อแม่ได้ เริ่มนอนคว่ำและคลานได้ และสนุกกับการขยับนิ้วมือนิ้วเท้า พร้อมทั้งพลิกตัวกลิ้งไปมา และเมื่ออายุได้ 1 ขวบก็จะเริ่มหัดเดินเตาะแตะได้
     • เด็กอายุ 1–3 ขวบ สามารถจดจำคำศัพท์ใหม่ ๆ และสิ่งของรอบตัวได้อย่างรวดเร็ว เข้าใจความหมายของคำ เริ่มพูดเป็นประโยคสั้น ๆ ได้ และชอบวิ่งเล่นปีนป่าย เล่นกับของเล่นหรือนิทานภาพที่ชอบได้เป็นเวลานาน เริ่มมีจินตนาการเป็นของตัวเอง และบางครั้งก็แสดงอาการต่อต้านในสิ่งที่ไม่ชอบได้
     • เด็กอายุ 4–6 ขวบ ช่างพูดช่างคุย มักใช้คำแปลก ๆ ใหม่ ๆ ตลอดเวลา สามารถร้องเพลง และท่องจำนิทานที่ชอบได้ เริ่มอ่านหนังสือได้ รวมทั้งบังคับควบคุมอวัยวะต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ใช้ดินสอหรือระบายสีอย่างคล่องแคล่ว ชอบกระโดดโลดเต้นและวิ่งเล่น ชอบอยู่กับผู้คน เริ่มมีกลุ่มเพื่อนเป็นของตัวเอง และแสดงอารมณ์ความรู้สึกได้ซับซ้อนขึ้น

 

 

ภาพ : ShutterStock


สัญญาณบ่งบอกว่าเด็กมีพัฒนาการล่าช้า

ปัจจัยที่ส่งผลต่อพัฒนาการของลูกน้อย ประกอบด้วย 2 ปัจจัยหลัก คือ พันธุกรรม และสภาพแวดล้อม หากเด็กอยู่ในความเสี่ยงตั้งแต่ในครรภ์หรือแรกคลอด ย่อมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กอย่างชัดเจน โดยสัญญาณบ่งบอกความผิดปกตินี้ จำแนกออกเป็น 4 กลุ่มใหญ่ ๆ ดังนี้


1. พฤติกรรมและการแสดงออก

     – ไม่มีสมาธิ หรือไม่สนใจกิจกรรมที่กำลังทำอยู่
     – สนใจสิ่งของหรือวัตถุใด ๆ มากกว่าการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น
     – ไม่ชอบสบตากับใคร
     – ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเอง หรือทำสิ่งพื้นฐานที่เด็กวัยเดียวกันทำได้
     – ซนผิดปกติ หรือมีพฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรง
     – พูดคุยกับตัวเองบ่อย และมากผิดปกติ
     – ไม่สนใจหรือไม่ต้องการพ่อแม่

2. การเคลื่อนไหวร่างกาย

     – แขนขาเกร็ง หรืออ่อนปวกเปียกผิดปกติ
     – มักใช้ร่างกายด้านใดด้านหนึ่งมากกว่าอีกด้าน
     – เชื่องช้า เซื่องซึม ขาดความกระตือรือร้น

3. การมองเห็น

     – ขยี้ตาบ่อย
     – ไม่มองตามผู้คนหรือสิ่งของ
     – มองไม่ชัด โฟกัสวัตถุไม่ได้
     – มักหยิบวัตถุเข้ามาดูใกล้ ๆ ตามากกว่ามองจากระยะไกล
     – มองขนาดและสีของวัตถุผิดเพี้ยนไป

4. การได้ยิน

     – พูดโต้ตอบเสียงดังผิดปกติ
     – ตอบสนองการเรียกชื่อช้า
     – เข้าใจคำพูดหรือคำสั่งยาก
     – ไม่ตกใจเวลาได้ยินเสียงดัง
     – ออกเสียงคำง่าย ๆ ไม่ได้

 

หากคุณพ่อคุณแม่พบว่าลูกมีสัญญาณความผิดปกติดังที่กล่าวมา ให้ลองสังเกตดูอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเด็กบางคนอาจมีพื้นฐานการเรียนรู้ค่อนข้างช้า แต่ถ้าพ่อแม่สังเกตว่าเด็กมีปัญหาในการเรียนรู้ หรือมีพัฒนาการช้ามากผิดปกติ อาจต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางแก้ปัญหาอย่างถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow