Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ในเด็ก

Posted By Plook Parenting | 11 เม.ย. 60
32,371 Views

  Favorite

พ่อแม่ส่วนใหญ่ต่างคาดหวังให้ลูกมีพฤติกรรมที่ดี เหมาะสมกับวัย แต่เด็กบางคนก็ไม่สามารถมีพฤติกรรมที่เหมาะสมตามมาตรฐานของสังคมได้ หรือที่เรียกว่า เด็กบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ (Emotional and Behavioral Disorders)

 

ซึ่งภาวะบกพร่อมทางพฤติกรรมและอารมณ์นี้มักส่งผลให้เด็กแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ต่อต้านตนเองหรือผู้อื่น มีความรู้สึกนึกคิดที่ผิดไปจากปกติ แสดงออกถึงความต้องการทำร้ายตนเองหรือผู้อื่น มีความเชื่อมั่นในตนเองต่ำ จนส่งผลต่อการเรียน มีปัญหาในการเรียนรู้ มีความยากลำบากในการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างเพื่อนและครู แสดงออกถึงภาวะความเครียดและไม่มีความสุขอย่างเป็นปกติ มีแนวโน้มของอาการทางสุขภาพร่างกาย ซึ่งมีคุณพ่อคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่พบกับปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ของลูก โดยที่ไม่รู้ว่าลูกต้องได้รับการแก้ไขพฤติกรรมที่ถูกต้อง

 

เด็กที่มีความบกพร่องทางอารมณ์จะนำไปสู่ความบกพร่องทางพฤติกรรมที่หลากหลาย ตั้งแต่เบาจนถึงรุนแรง อาจแสดงอาการทางร่างกาย เช่น ปวดศีรษะ ปวดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย หรือมีความหวาดกลัวเมื่อมีปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางด้านการเรียน ทั้งนี้ปัญหาด้านพฤติกรรมและอารมณ์ที่แสดงออกจะต้องเกิดขึ้นบ่อยครั้ง มีระยะเวลาติดต่อกันนานกว่า 6 เดือน โดยลักษณะของปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ในเด็ก สามารถจำแนกได้ตามกลุ่มอาการ ดังนี้

 

     • ปัญหาด้านความประพฤติ (Conduct Disorders) เช่น ใช้กำลังทำร้ายผู้อื่น ทำลายข้าวของ ลักทรัพย์ ฉุนเฉียวง่าย มีอารมณ์หุนหันพลันแล่น และเกรี้ยวกราด มีนิสัยกลับกลอก เชื่อถือไม่ได้ ชอบโทษผู้อื่น และมักโกหกอยู่เสมอ เอะอะและหยาบคาย หนีเรียน รวมถึงหนีออกจากบ้าน ใช้สารเสพติด

     • ปัญหาด้านความสมาธิ (Attention and Concentration) ไม่สามารถจดจ่อต่อสิ่งใดได้นาน มีลักษณะงัวเงีย เซื่องซึม ไม่แสดงความสนใจใด ๆ รวมถึงมีท่าทางเหมือนไม่ฟังสิ่งที่ผู้อื่นพูด

     • ภาวะอยู่ไม่สุข (Hyperactivity) และสมาธิสั้น (Attention Deficit) มีลักษณะกระวนกระวาย ไม่สามารถนั่งนิ่ง ๆ ได้ และหยุกหยิกไปมา พูดคุยตลอดเวลา และมักรบกวนหรือเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นอยู่เสมอ มีทักษะการจัดการในระดับต่ำ

     • การถอนตัวหรือล้มเลิก (Withdrawal) หลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมักรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าผู้อื่น เฉื่อยชา และมีลักษณะคล้ายเหนื่อยตลอดเวลา ขาดความมั่นใจ ขี้อาย ขี้กลัว ไม่ค่อยแสดงความรู้สึก

     • ความผิดปกติในการทำงานของร่างกาย (Function Disorder) มีความผิดปกติเกี่ยวกับพฤติกรรมการกิน (Eating Disorder) เช่น การอาเจียนโดยตั้งใจ (Voluntary Regurgitation) ปฏิเสธที่จะกิน รวมถึงนิสัยการกินสิ่งที่กินไม่ได้ โรคอ้วน (Obesity) มีความผิดปกติของการขับถ่ายทั้งอุจจาระและปัสสาวะ (Elimination Disorder)

     • ภาวะความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ระดับรุนแรง ขาดเหตุผลในการคิด อาการหลงผิด (Delusion) อาการประสาทหลอน (Hallucination) พฤติกรรมการทำร้ายตัวเอง

 

 

ภาพ : ShutterStock

 

สาเหตุ

1. ปัจจัยทางชีวภาพ (Biology)

     – ได้รับอิทธิพลจากพันธุกรรม เช่น โรคจิตเภทหรือจิตเสื่อม และภาวะซึมเศร้า ซึ่งเด็กที่มีปัญหาความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์ ประมาณร้อยละ 20 ถึง 60 นั้น มีสาเหตุมาจากพ่อหรือแม่ที่มีภาวะซึมเศร้า

     – การบาดเจ็บทางสมอง ก็เป็นสาเหตุหนึ่งของความบกพร่องทางพฤติกรรมและอารมณ์เช่นกัน

2. ปัจจัยทางจิตสังคม (Psychosocial)

     – ความเครียดเรื้อรัง สภาพทางครอบครัวที่มีความขัดแย้งรุนแรง รายได้ครอบครัวที่น้อย การอาศัยอยู่ในแหล่งเสื่อมโทรม มีสัมพันธภาพในเชิงลบกับคนรอบข้าง ขาดความอบอุ่น

     – เผชิญเหตุการณ์ที่ตึงเครียด เช่น พ่อแม่แยกทางกัน และการเสียชีวิตของสมาชิกในครอบครัว

     – การถูกทารุณกรรม รวมถึงการถูกเพื่อนกลั่นแกล้ง

 

วิธีการแก้ปัญหา

1. คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจดูแลลูกด้วยความรัก

หากพฤติกรรมไหนที่ไม่เหมาะสมให้รีบชี้แนะ และแสดงตัวอย่างการกระทำที่เหมาะสมให้ลูกเห็น พร้อมทั้งสนับสนุนให้เขาปฏิบัติตาม

 

2. ตั้งกติกาในบ้านให้ชัดเจน

เช่น ห้ามพูดคำหยาบในบ้าน หรือห้ามทำลายข้าวของ เพื่อให้ลูกรู้จักระมัดระวังพฤติกรรมของตนเอง โดยปรับใช้อย่างสมเหตุสมผล และไม่เคร่งครัดเกินไปจนลูกรู้สึกกดดัน

 

3. ชมเชยเมื่อลูกมีพฤติกรรมที่ดี หรือให้รางวัลเด็กบ้าง

เช่น พาไปเที่ยว พาไปกินอาหารนอกบ้าน ซื้อของขวัญของฝากให้ในโอกาสพิเศษบ้าง

 

4. หมั่นสังเกตแนวโน้มพฤติกรรมของลูก

หากลูกมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป ควรหาสาเหตุของปัญหา และรับฟังอย่างเข้าใจ เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด เพราะบางครั้งสาเหตุของพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์อาจเกิดจากความเครียด ความกลัว หรือภาวะซึมเศร้า

 

5. ไม่เป็นต้นเหตุปัญหาของลูก

เช่น ไม่ทะเลาะกันให้ลูกเห็น ไม่เลี้ยงลูกด้วยความเคร่งครัดจนเกินไป และไม่ควรใช้ความรุนแรงในครอบครัว

 

6. คุณพ่อคุณแม่และคุณครู ควรพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหาของเด็กที่พบในบ้านและโรงเรียน

โดยร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับพฤติกรรมดำเนินไปอย่างสอดคล้องและต่อเนื่อง ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กเรียนรู้พฤติกรรมที่เหมาะสมได้ดียิ่งกว่าเดิม


 

ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตล้วนมีอิทธิพลต่อการเจริญเติบโต ต่อความรู้สึกนึกคิด และอารมณ์ของเด็ก ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่และคุณครูจำเป็นต้องเรียนรู้การดูแลเด็กกลุ่มนี้เป็นพิเศษ เพื่อให้เขาได้รับประสบการณ์ชีวิตในด้านบวก ได้รับความรักและความเข้าใจ เพื่อเป็นการเยียวยารักษาปัญหาที่เขามีอยู่ให้คลายลง เด็กจะได้มีความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยในการดำรงชีวิต และสามารถอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow