Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เมื่อลูกพูดได้แต่ไม่ยอมพูด (Selective Mutism) จะจัดการอย่างไรดี

Posted By Plook Parenting | 10 เม.ย. 60
8,425 Views

  Favorite

Selective Mutism (SM) คือ ภาวะที่เด็กไม่ยอมพูดในบางสถานการณ์หรือบางสถานที่ เช่น โรงเรียน สถานที่สาธารณะต่าง ๆ ลักษณะอาการที่พบส่วนใหญ่คือ ไม่ยอมพูดเลยที่โรงเรียน หรือไม่ยอมพูดเมื่ออยู่นอกบ้าน โดยเฉพาะกับผู้ใหญ่ คนที่ไม่คุ้นเคย แต่พออยู่ที่บ้านสามารถพูดกับพี่น้อง และพ่อแม่ได้ปกติ

 

มักเกิดกับเด็กที่มีลักษณะขี้อาย มีพฤติกรรมเก็บกด (Behavioral Inhibition) อาจมีความบกพร่องในการสื่อสารอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น พูดติดอ่าง พูดไม่ชัด ปัญหาการเข้าใจภาษา พบได้บ่อยในเด็กช่วงอายุ 3 - 8 ปี โดยเกิดกับเด็กผู้หญิงมากกว่าเด็กผู้ชาย 


สาเหตุ

     • ปัญหาความล่าช้าของพัฒนาการ หรือปัญหาด้านจิตใจ ในเรื่องของความวิตกกังวล มีลักษณะคล้ายอาการกลัวกิจกรรมทางสังคม (Social Phobia) ในผู้ใหญ่

     • ปัจจัยทางด้านร่างกาย และระบบประสาท จากผลการศึกษาพบว่า มีปัญหาพัฒนาการร่วมด้วย และตรวจพบมีคลื่นไฟฟ้าสมองแบบที่ยังไม่พัฒนาตามวัย (Electroencephalogram Immaturity) หรืออาจถูกทำร้ายร่างกาย โดยเฉพาะการบาดเจ็บบริเวณปาก

     • ส่วนปัจจัยทางด้านจิตสังคม มีความเกี่ยวข้องด้วย เช่น ครอบครัวแตกแยก เกิดเรื่องสะเทือนใจอย่างรุนแรง ต้องแยกจากครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อมเดิม 

 

ภาพ : ShutterStock

 

การรักษา

1. เปิดโอกาสให้เด็กได้อยู่กับสังคมที่หลากหลาย

ได้เล่นกับเพื่อนกลุ่มต่าง ๆ เช่น ไปงานวันเกิดเพื่อน ไปงานรวมญาติ เข้าร่วมกิจกรรมของโรงเรียน แต่ไม่ควรผลักดันลูกไปเข้าสถานการณ์ใหญ่ ๆ ยาก ๆ เช่น การเข้าประกวด การแข่งขันต่าง ๆ เพราะเด็กยังไม่พร้อม อาจล้มเหลว ได้รับแต่ประสบการณ์ที่แย่แทนที่จะรู้สึกว่าทำได้

 

2. ลองให้ลูกฝึกการเคลื่อนไหวของปาก

เช่น เป่าปาก เคี้ยวขนม และใช้เทคนิคการปรับพฤติกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะการให้แรงเสริมทางบวก (Positive Reinforcement) ทันทีที่เริ่มส่งเสียง เริ่มกระซิบ หรือแม้เพียงแค่เริ่มขยับปาก เพื่อจูงใจให้ลูกกล้าพูดมากขึ้น

 

3. คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรทำท่าทางผิดหวัง หรือโมโห เมื่อลูกไม่สามารถแสดงออกได้ดังที่ต้องการ

ควรแสดงความเข้าใจและให้กำลังใจ ให้ลูกลองพยายามครั้งต่อไป

 

4. เวลาเห็นลูกทำท่าอึดอัดหรือตอบคนอื่นช้า อย่า “พูดแทน” หรือ “เร่งเร้า” ให้ลูกพูด

เช่น เวลาสั่งอาหารช้า ก็สั่งให้หรือแย่งตอบคำถาม ที่ผู้ใหญ่คนอื่นถามให้แทน

 

5. คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

การแสดงตัวอย่างที่ดีในสถานการณ์สังคมต่าง ๆ ว่าควรวางตัวอย่างไร ควรพูดแบบไหน เป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ลูกได้เรียนรู้การพูดและการเข้าสังคมอย่างถูกต้อง

 

 

หากเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไป แล้วยังมีอาการไม่ยอมพูดเหมือนเดิม คุณพ่อคุณแม่ควรพาลูกไปพบแพทย์ เพื่อรับการประเมินและวินิจฉัยอาการ เพราะเด็กอาจมีปัญหาด้านอื่น ๆ ซ่อนอยู่ ซึ่งเด็กจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow