Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พ่อของแผ่นดิน ร่มโพธิ์แห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

Posted By Greenpeace Thailand | 03 เม.ย. 60
3,954 Views

  Favorite

“ ทุกวันนี้ ประเทศไทยยังมีทรัพยากรพร้อมมูล ทั้งทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรบุคคล ซึ่งเราสามารถนำมาใช้เสริมสร้างความอุดมสมบูรณ์ และเสถียรภาพอันถาวรของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี ข้อสำคัญ เราต้องรู้จักใช้ทรัพยากรนั้นอย่างฉลาด คือไม่นำมาทุ่มเทใช้ให้เปลืองไปโดยไร้ประโยชน์ หรือได้ประโยชน์ไม่คุ้มค่า หากแต่การระมัดระวังใช้ด้วยความประหยัดรอบคอบ ประกอบด้วยความคิดพิจารณาตามหลักวิชา เหตุผล และความถูกต้องเหมาะสม โดยมุ่งถึงประโยชน์แท้จริงที่จะเกิดแก่ประเทศชาติ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันยืนยาว ”

--- พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
ในการเสด็จออกมหาสมาคม ในงานพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2529

 

ภาพ : Greenpeace

 

ตลอด 70 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานอย่างไม่เคยว่างเว้น และทรงประกอบพระราชกรณียกิจที่ถึงพร้อมด้วยความบริบูรณ์ โดยหนึ่งในพระราชกรณียกิจที่สำคัญของพระองค์ คือ การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือป่าไม้ ซึ่งมีความสำคัญต่อทรัพยากรน้ำและดิน  นับเป็นร่มพระบารมีที่ปกปักษ์สิ่งแวดล้อมของประเทศไทย

 

แนวคิดและทฤษฎีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในโครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้นเกื้อกูลการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด ปัญหาป่าไม้ของไทยที่ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็วก่อให้เกิดภัยแล้ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อยามน้ำหลากก็เกิดน้ำท่วมฉับพลันและมีการพังทลายของดินอย่างรุนแรง จนเป็นปัญหาต่อการประกอบอาชีพทางการเกษตร กลายเป็นทุกข์ร้อนของแผ่นดินที่พระองค์ทรงห่วงใยเป็นอย่างมากตลอดมา จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะฟื้นฟูป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับป่าต้นน้ำเพื่อเก็บกักน้ำและป้องกันอุทกภัย

 

ทฤษฎีและแนวคิดตามพระราชดำริต่อไปนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพระราชกรณียกิจนานัปการของพระองค์

1. ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก 

แนวคิดที่สะท้อนถึงความเข้าพระทัยอย่างลึกซึ้งถึงวิถีแห่งธรรมชาติ โดยที่ได้พระราชทานแนวคิดว่าบางครั้งป่าไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพธรรมชาติช่วงระยะเวลาหนึ่งโดยไม่ต้องทำอะไร ป่าไม้ก็จะขึ้นสมบูรณ์เอง  การระดมปลูกป่าด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ปอกเปลือกหน้าดินซึ่งมีคุณค่ามากออกไป และปลูกพันธุ์ไม้ซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศบริเวณนั้น นอกจากต้นไม้ที่ปลูกไว้จะตายโดยไม่ได้ประโยชน์แล้วยังทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย

2. ปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง

แนวคิดของการผสมผสานความต้องการในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับความต้องการด้านเศรษฐกิจและสังคม  ป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ โดยการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง แบ่งออกเป็น ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ป่าหรือสวนป่า นอกจากประโยชน์เหล่านี้ ป่าไม้ไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็จะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และคงความชุ่มชื้นเอาไว้ อันเป็นการอำนวยประโยชน์อย่างที่ 4 ซึ่งเป็นผลพลอยได้

ดังพระราชดำรัสว่า “...การปลูกป่า 3 อย่าง แต่ให้ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งได้ไม้ผล ไม้สร้างบ้าน และไม้ฟืนนั้น สามารถให้ประโยชน์ได้ถึง 4 อย่าง คือ นอกจากประโยชน์ในตัวเองตามชื่แล้ว ยังสามารถให้ประโยชน์อันที่ 4 ซึ่งเป็นข้อสำคัญ คือ สามารถช่วยอนุรักษ์ดินและต้นน้ำลำธารด้วย...”

3. การปลูกป่าทดแทน

แนวทฤษฏีการพัฒนาป่าไม้เพื่อคืนธรรมชาติสู่แผ่นดินด้วยวิถีทางแบบผสมผสานกันในเชิงปฏิบัติ ซึ่งหนึ่งในใจความของแนวคิดระบุไว้ว่า เพื่อเพิ่มที่อยู่อาศัยให้แก่สัตว์ป่า และปลูกป่าให้ราษฎรมีรายได้เพิ่มขึ้น โดยให้ราษฎรในท้องที่นั้นๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ให้เจริญเติบโต เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้ราษฎรเห็นความสำคัญของการปลูกป่า จนกระทั่งหลายโครงการในปัจจุบันที่เป็นการปลูกป่าทดแทนตามแนวพระราชดำริได้บรรลุผลสัมฤทธิ์น่าพึงพอใจ อาทิเช่น โครงการปลูกป่าชัยพัฒนาแม่ฟ้าหลวง ที่ดอยตุง จังหวัดเชียงราย และที่หนองพลับ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โครงการปลูกสร้างสวนป่าศูนย์ศึกษาการพัฒนาต่างๆ โครงการสวนป่าสิริเจริญวรรษ จังหวัดชลบุรี โครงการปลูกป่าห้วยองคต จังหวัดกาญจนบุรี โครงการปลูกป่าเสริมธรรมชิตในและนอกเขตภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

 

ภาพ : Greenpeace

 

ดังพระราชดำริความตอนหนึ่งว่า “...การปลูกป่าทดแทนในพื้นที่เสื่อมโทรมหรือพื้นที่ต้นน้ำลำธารที่ถูกบุกรุกแผ้วถางจนเป็นภูเขาหัวโล้น แล้วจำต้องปลูกป่าทดแทนเร่งด่วนนั้นควรจะทดลองปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วคลุมแนวร่องน้ำเสียก่อน เพื่อทำให้ความชุ่มชื้นค่อยๆ ทวีขึ้นแผ่ขยายออกไปทั้งสองร่องน้ำ ซึ่งจะทำให้ต้นไม้งอกงามและมีส่วนช่วยป้องกันไฟป่า เพราะไฟจะเกิดง่ายหากป่าขาดความชุ่มชื้น ในปีต่อไปก็ให้ปลูกต้นไม้ในพื้นที่ถัดขึ้นไป ความชุ่มชื้นก็จะแผ่ขยายกว้างต่อไปอีก ต้นไม้จะงอกงามดีตลอดทั้งปี...”

พระองค์ทรงเป็นพระราชาที่ทรงงานหนักที่สุดในโลก และเป็นที่กล่าวว่าไม่มีที่ใดที่พระองค์ไม่เคยเสด็จไปถึง พระองค์ทรงโอบอุ้มผืนดินและผืนป่าเพื่อรักษาความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติไว้ให้กับชาวไทย เป็นหน้าที่ของเราทุกคนแล้วที่จะต้องร่วมปกป้องดูแลสมบัติอันล้ำค่าสานต่อเจตนารมณ์ของพ่อสืบไป

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow