Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกษตรกรรมเชิงนิเวศ: หลัก 7 ประการของระบบอาหารเพื่อมนุษยชาติ

Posted By Greenpeace Thailand | 31 มี.ค. 60
2,900 Views

  Favorite

วิสัยทัศน์ด้านอาหารและเกษตรกรรมของกรีนพีซ

เราใช้ชีวิตอยู่กับระบบอาหารที่ล้มเหลว แค่เพียงตัวเลขไม่กี่ตัวก็ทำให้เรารู้ได้ทันทีว่ามีบางสิ่งบางอย่างผิดปกติ ในทุกค่ำคืนทั่วโลกมีคนเกือบหนึ่งพันล้านคนต้องล้มตัวลงนอนอย่างหิวโหย แม้ว่าปริมาณอาหารที่เราผลิตได้ทุกวันนี้จะเพียงพอสำหรับเลี้ยงคนทั้งเจ็ดพันล้านคนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้มีประมาณหนึ่งพันล้านคนที่มีน้ำหนักเกินหรือกำลังทนทุกข์กับโรคอ้วนด้วย ทว่าอาหารประมาณร้อยละ 30 ที่เราผลิตได้กลับสูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย

greenpeace

วิธีแก้ไขของเราไม่ได้อยู่ที่การผลิตอาหารให้มากขึ้น แต่จะต้องผลิตให้แก่คนที่ยังขาดแคลนและผลิตด้วยความเคารพต่อธรรมชาติ ซึ่งอุตสาหกรรมการเกษตรในปัจจุบันไม่ได้ปฏิบัติเช่นนั้น โลกของเรากำลังเผชิญวิกฤตอย่างหนักเพราะเราผลาญทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำให้ผืนดินสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ เริ่มสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและคุณภาพของแหล่งน้ำที่ดี สารพิษต่างๆสะสมอยู่รอบตัวเราพร้อมกับปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นในสภาวะที่ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมกับความกดดันจากปริมาณทรัพยากรในโลกซึ่งร่อยหรอลงเรื่อยๆ

ระบบเกษตรกรรมของเราทุกวันนี้พึ่งพาการใช้สารเคมีปริมาณมหาศาลพอๆกับการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล อีกทั้งยังถูกครอบงำโดยบริษัทขนาดยักษ์เพียงไม่กี่รายที่รวมตัวอยู่แค่บางภูมิภาคของโลก โดยเฉพาะในประเทศอุตสาหกรรมที่ร่ำรวย อุตสาหกรรมเกษตรนั้นเน้นผลิตพืชผลหลักอยู่เพียงไม่กี่ชนิด ซึ่งทำลายความยั่งยืนด้านอาหารและระบบนิเวศอันจำเป็นอย่างยิ่งต่อความอยู่รอดของมนุษย์

ระบบเกษตรกรรมแบบนี้สร้างมลพิษสู่แหล่งน้ำ ผืนดิน และอากาศ  และยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพของโลกอย่างร้ายแรง อีกทั้งเป็นอันตรายต่อสุขภาวะของเกษตรกรและผู้บริโภคด้วย เกษตรอุตสาหกรรมซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบอาหารที่ล้มเหลว ได้ก่อให้เกิดสิ่งต่างๆเหล่านี้ตามมา ได้แก่

1. บริษัทขนาดใหญ่มีอิทธิพลครอบงำในบางภูมิภาคของโลกมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรและผู้บริโภคมีอำนาจต่อรองน้อยลงในการเลือกอาหารและกรรมวิธีผลิตอาหาร

2. เกิดความสิ้นเปลืองในกระบวนการผลิตอาหารสูงมาก (คิดเป็นร้อยละ 20-30) โดยเฉพาะขั้นตอนหลังการเก็บเกี่ยวในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา และขั้นตอนกระจายสินค้า/หลังการบริโภคในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (FAO, 2011a)

3. ที่ดินผืนใหญ่และพืชผลจำนวนมากถูกนำไปเลี้ยงปศุสัตว์ (ประมาณร้อยละ 30 ของที่ดิน และร้อยละ 75 ของพื้นที่เกษตรกรรม) และผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ (ประมาณร้อยละ 5 ของพืชผลทั้งหมด) (Searchinger & Heimlich 2015)

4. ระบบอาหารของโลกขึ้นอยู่กับการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเพียงไม่กี่ชนิดเพื่อการค้า ทำให้อาหารขาดความหลากหลายและส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะมักจะมีคุณค่าทางโภชนาการไม่ครบถ้วน เป็นสาเหตุของภาวะขาดสารอาหารและโรคอ้วน

5. เกิดผลกระทบสำคัญต่อระบบนิเวศ ได้แก่:
- ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศอย่างร้ายแรงและก่อมลพิษทางอากาศ (ประมาณร้อยละ 25 ของก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของหน้าดิน (IPCC 2014)
- เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำและการปนเปื้อนของแหล่งน้ำในหลายภูมิภาคของโลก เนื่องจากปริมาณน้ำจืดถึงร้อยละ 70 ถูกนำไปใช้เพื่อการเกษตร
- ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ ได้แก่ ปัญหาดินเปรี้ยวที่ลุกลามเนื่องจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากเกินไป และการสูญเสียอินทรียสารในดิน
- ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายของชีวภาพทางการเกษตร ทั้งพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์ในฟาร์ม ไปจนถึงระดับภูมิประเทศที่มีความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตน้อยลง

greenpeace

และปัญหานี้ยังเกี่ยวโยงไปถึงประเด็นความเป็นธรรมในสังคมอีกด้วย เช่น เกษตรกรขาดความเสมอภาคในการเข้าถึงทรัพยากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อเกษตรกรเพศหญิง ความสิ้นเปลืองในกระบวนการผลิตอาหาร และการถูกจำกัดทางเลือกในการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนจากระบบอาหารที่ล้มเหลวนี้ไปสู่การทำเกษตรกรรมเชิงนิเวศแทน

บทสรุป : ทวงคืนอาหารของเราด้วยเกษตรกรรมเชิงนิเวศ

เราทุกคนมีส่วนช่วยกันเปลี่ยนระบบที่ล้มเหลวนี้ไปสู่ระบบอาหารเพื่อมนุษยชาติและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วยได้อย่างไรบ้าง?  ทุก ๆ วันเราควรถามตัวเองอย่างน้อยวันละสามครั้งว่า : มื้อนี้เราจะทานอะไรดี ?

นี่เป็นคำถามที่ขมขื่นและยังไร้คำตอบสำหรับคนอีกเกือบหนึ่งพันล้านคนในโลก

แต่สำหรับพวกเราส่วนใหญ่ที่โชคดีพอจะมีสิทธิ์เลือกอาหารเพื่อการบริโภค คำถามนี้เป็นโอกาสให้เราได้ลงมือริเริ่มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอย่างยิ่งได้

ระบบอาหารที่ล้มเหลวนี้แตกต่างจากปัญหาความไม่เป็นธรรมอื่นๆในโลก เพราะเรื่องอาหารอยู่ใกล้ตัวเรามากจนเรารู้สึก สัมผัส ได้กลิ่น และลิ้มรสของมันทุกวัน วันละสองถึงสามครั้ง เรื่องนี้เชื่อมโยงกับสิ่งที่เราบริโภค ผู้คนที่ผลิตอาหารให้เรา และขั้นตอนการผลิตอาหารเหล่านั้น วิกฤตทางการเกษตรของเราก็คือวิกฤตเรื่องอาหารการกิน ชีวิตของชาวไร่ชาวนา และสิ่งที่เราต้องเลือกมาใส่จานทุกวัน ดังวาทะเด็ดของ ไมเคิล โปล์แลน ที่ว่า “การบริโภคอาหารเป็นกิจกรรมทางการเมืองอย่างหนึ่ง”

มีหลายอย่างที่เราในฐานะพลเมือง ผู้บริโภค หรือแค่เพียงนักกินคนหนึ่งสามารถทำได้ เราเริ่มต้นได้ด้วยการเลือกชนิดและแหล่งที่มาของอาหารที่จะซื้อ พยายามไม่กินทิ้งกินขว้างและพยายามบริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เรื่องง่ายๆที่เราทำได้อีกอย่างก็คือทำความรู้จัก พูดคุย และสนใจฟังเรื่องราวของชาวนาชาวไร่ผู้ผลิตอาหาร เพื่อจะได้สัมผัสถึงความรู้สึกที่อยู่เบื้องหลังการผลิตอาหารให้เราได้รับประทาน การไปตลาดสดและซื้อผลิตผลจากเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางก็เป็นวิธีง่ายๆที่จะทำให้เราได้รู้ที่มาที่ไปของอาหารที่เรารับประทานและเกษตรกรผู้ผลิต นอกจากนั้นเราอาจจะหาแรงบันดาลใจเพื่อปฏิวัติการทานอาหารของเราได้จากพ่อครัวหลายท่าน เช่น เจมี่ โอลิเวอร์ , ไมค์ ต้าเถิง ซาเถา และ เอควิลส์ ชาเวส  ที่ต่างคิดค้นเคล็ดลับและสูตรอาหารมากมาย ซึ่งเป็นทางเลือกเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืนและหลากหลายยิ่งขึ้น

เรายังสานต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้ด้วยการนำเศษอาหารเหลือทิ้งมาทำปุ๋ยใช้เองที่บ้าน หรืออาจจะชวนกันรวมกลุ่มทำในโรงเรียน หมู่บ้าน และชุมชน เพราะการทำปุ๋ยเป็นกระบวนการเปลี่ยนของเสียให้กลายเป็นทรัพยากรอันมีค่า ที่จะช่วยพลิกฟื้นผืนดินของเราให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ และพัฒนาระบบอาหารของเราให้ดีขึ้นได้

สุดท้ายนี้เราอาจลองผลิตอาหารเอง โดยปลูกพืชผักสมุนไพรบนระเบียงและลานบ้าน และรวมกลุ่มกันทำสวนผักกลางเมือง แปลงผักของชุมชน หรือสวนครัวในโรงเรียนของลูกๆ นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่เราอาจริเริ่มทำได้อีกหลายอย่าง ตั้งแต่เรื่องง่ายๆไปจนถึงเรื่องที่ต้องทุ่มเท การลงมือปลูกผักเพื่อการบริโภคเองเล็กๆน้อยๆเหล่านี้จะทำให้เรารู้สึกภูมิใจ และเกิดแรงบันดาลใจจากการได้สัมผัสปาฏิหาริย์ของสายน้ำ แสงแดด และผืนดิน ที่มารวมตัวกันเป็นอาหารซึ่งให้ชีวิตแก่เรา ด้วยสิ่งเล็กๆเพียงสิ่งเดียวนี้ก็อาจกลายเป็นจุดเริ่มต้นอันสำคัญของการปฏิวัติระบบอาหารซึ่งจำเป็นต่อโลกของเราได้

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow