Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หมอกจางๆ หรือควัน – การขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

Posted By Greenpeace Thailand | 30 มี.ค. 60
3,264 Views

  Favorite

ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่ได้สัมผัสกับความสดชื่นของทะเลหมอกและฟ้าใสในยามเช้า  แต่ทันที่อากาศเย็นหมดลงหมอกควันสีทึมๆ ก็จะเข้ามาแทนที่ หมอกควันจากการเผาในที่โล่งและการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างเช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นสาเหตุหลักของวิกฤตหมอกควันพิษปกคุลมในพื้นที่ภาคเหนือ

จากฟ้าใสสู่ฟ้าขมุกขมัว

หมอกควันพิษจากการเผาในที่โล่งและการขยายพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวได้ส่งผลต่อทางเดินหายใจกับผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่หลายภาคเหนือ จากสถิติของศูนย์ทะเบียนมะเร็งเชียงใหม่พบว่ามะเร็งปอดเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับหนึ่งของเชียงใหม่ทุกปีมานานกว่า 30 ปี จากข้อมูลในปี 2550 พบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดในจังหวัดเชียงใหม่ คือ 34.44 ต่อแสนประชากร คนเชียงใหม่มีความเสี่ยงต่อมะเร็งปอดมากกว่าคนไทยทั่วไปถึงเกือบ 7 เท่า และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆสาเหตุของมะเร็งปอดที่สูงกว่าปกตินี้น่าจะมาจากสารก่อมะเร็งชื่อ Polycyclic aromatic hydrocarbon ซึ่งพบในหมอกควันพิษในปริมาณที่ค่อนข้างสูง ในปี พ.ศ. 2555 ซึ่งเป็นปีที่มีความรุนแรงของปัญหาหมอกควันพิษส่งผลให้ยอดผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลพุ่งสูงขึ้น โดยระหว่างวันที่ 1-7 มีนาคม 2555 ในโรงพยาบาล 87 แห่ง มีรายงานผู้ป่วยเข้ารับการรักษาใน 4 กลุ่มโรค ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด 23,685 ราย กลุ่มโรคทางเดินหายใจทุกชนิด 24,837 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 2,265 ราย และกลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 2,610 ราย 

ภาพโดย วัชรพล แดงสุภา

ทำไมจึงต้องเผา?

การเพิ่มขึ้นของความต้องการผลผลิตข้าวโพดเพื่อทำอาหารสัตว์และราคารับซื้อข้าวโพดอันน่าดึงดูดใจ [ThaiNGO, 2012]ทำให้เกษตรกรเห็นช่องทางในการหารายได้จึงเปลี่ยนแนวทางการเกษตรจากการเพาะปลูกเพื่อการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลักมาสู่การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยว เนื่องจากการเกษตรแบบใหม่นี้ใช้พื้นที่มาก การถางและเผาป่าซึ่งเป็นวิธีการเพิ่มพื้นที่การผลิตที่ง่ายและถูกที่สุดจึงถูกนำมาใช้

เมื่อปัญหาหมอกควันพิษเข้าสู่วิกฤตบริษัทผลิตอาหารเลี้ยงสัตว์รายใหญ่กลับโยนความรับผิดชอบให้เกษตรกรรายย่อยเพียงลำพัง และอ้างว่าอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาพื้นที่เกษตรหรือเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่เพาะปลูก ทั้งที่ความเป็นจริงคือผลผลิตข้าวโพดในประเทศไทย 52% ปลูกในพื้นที่ป่าไม้

หากการเกษตรยังคงเป็นไปเพื่อการสร้างผลผลิตให้กับโรงงานอุตสาหกรรมเช่นนี้ต่อไป วิกฤตหมอกควันพิษคงไม่สามารถลดน้อยลงได้ ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐกลับสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกข้าวโพด ด้วยการแจกเมล็ดพันธุ์ของบริษัทใหญ่ให้กับเกษตรกร แทนที่จะส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงตามที่เคยประกาศไว้เมื่อหลายปีก่อน ทางออกที่ยั่งยืนของเกษตรกรรมสำหรับประเทศไทย คือ วนเกษตร และเกษตรกรรมเชิงนิเวศ ที่ไม่ทำลายความสมบูรณ์ของป่าไม้ และสุขภาพของคนในพื้นที่

การเกษตรเชิงนิเวศและวนเกษตร การเพาะปลูกโดยไม่ต้องถางและเผา

การเกษตรเชิงนิเวศ เน้นระบบการจัดการความหลากหลายของพืชและปศุสัตว์สมัยใหม่เพื่อให้ได้ผลผลิตและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ใช้ทรัพยากรตามธรรมชาติในท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนและเกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งยังลดปัจจัยภายนอกให้เหลือน้อยที่สุด (ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง ยาฆ่าหญ้า ฯลฯ)

วนเกษตร (Agroforestry) ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้อย่างหลากหลายในฟาร์มและพื้นที่ชนบทเพื่อการฟื้นฟูผืนดิน เพื่อรักษาระบบนิเวศของป่าไว้ ซึ่งข้อดีของวนเกษตรจะทำให้เกษตรกรไม่จำเป็นต้องถาง และเผาป่าเพื่อให้ได้พื้นที่การเพาะปลูกขนาดใหญ่

ตัวอย่างการปลูกพืชอย่างหลากหลายในแปลงเดียวกัน (ที่มา: tondanolake)

 

เกษตรเชิงนิเวศและวนเกษตรให้ความสำคัญกับการเกื้อกูลกันตามธรรมชาติ แนวทางนี้ไม่มุ่งเน้นการขยายพื้นที่การเกษตรเพื่อผลผลิต ตรงกันข้าม เกษตรเชิงนิเวศและวนเกษตรจะรักษาผืนป่าด้านบนของภูเขาและใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนจากพื้นที่ที่อยู่ต่ำลงมา การปลูกพืชจะให้ความสำคัญกับความหลากหลาย โดยคำถึงปัจจัยหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นความสูงของพืช ขนาดของพืช ความต้องการแสงและน้ำ ความเหมาะสมของพืชต่อสภาพแวดล้อม บทบาทเชิงนิเวศของพืช เป็นต้น ตัวอย่างที่มีอยู่แล้วในภาคเหนือคือการปลูกกาแฟใต้ไม้ใหญ่ แนวทางอันยั่งยืนนี้จะไม่เผาตอซังแต่จะนำวัสดุเหลือใช้จากการเกษตรกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างหลากหลาย เช่น ทำปุ๋ยหมัก คลุมดิน

เทคนิคการทำเกษตรสำหรับพื้นที่ลาดชัน (ที่มา: Agrowing Culture)

ไม่ใช่แค่ข้าวโพดที่ทำได้

ไม่เพียงพืชเศรษฐกิจเช่นข้าวโพดเท่านั้นที่สามารถปลูกแซมกับไม้ใหญ่ ไม้เยื่อกระดาษ ปาล์มน้ำมัน และโกโก้ก็สามารถใช้ระบบวนเกษตรในการเพาะปลูกได้เช่นกัน ในประเทศอินเดียอุตสาหกรรมผลิตกระดาษในประเทศได้สนับสนุนการปลูกไม้เยื่อกระดาษด้วยระบบวนเกษตรโดยอาศัยฝนจากธรรมชาติ (Rainfed Condition) โดยแนะนำให้ปลูกร่วมกับ ฝ้าย พริก ถั่วดำ ถั่วเขียว ข้าว ถั่วลิสง และทานตะวัน ทำให้ในหนึ่งพื้นที่เพาะปลูกเล็ก ๆ มีผลผลิตเพิ่มสูงขึ้น นอกจากเกษตรกรจะได้รายได้จากการปลูกยูคาลิปตัสแล้ว ยังได้รายได้จากพืชเกษตรที่ปลูกแซมด้วย ซึ่งการเพาะปลูกนี้เป็นที่นิยมของเกษตรกรเพราะมั่นใจกับผลตอบแทนที่สูง รัฐบาลสนับสนุน ถ้าผลตอบแทนจากพืชการเกษตรจะต่ำและผันแปรได้นั้นก็เนื่องมาจากปริมาณน้ำฝนที่ผิดปกติและความผันผวนของตลาด

greenpeace

ด้านประเทศบราซิลที่เป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันแหล่งใหญ่แห่งหนึ่งของโลก มีการศึกษาและทำแปลงทดลองปลูกปาล์มน้ำมันด้วยระบบวนเกษตรและพบว่าภายหลัง 4 ปีครึ่งนับตั้งแต่เริ่มสร้างแปลงทดลองการวิเคราะห์ปรากฏว่า ผลผลิตปาล์มน้ำมันเฉลี่ยในระบบวนเกษตรมีมากกว่า 7 ตัน/เฮกตาร์/ปี เปรียบเทียบกับ 5 ตันในการปลูกปาล์มน้ำมันเชิงเดี่ยวที่อายุเท่ากันภายใต้เงื่อนไขที่คล้ายกัน โดยวิธีการปลูกปาล์มด้วยระบบวนเกษตรจะให้ความสำคัญเรื่องร่มเงา (Shading) เป็นหลัก เพราะปาล์มเป็นพืชที่ต้องการแสงแดดมากในการเจริญเติบโตดังนั้นจึงไม่นิยมปลูกพืชที่สูงกว่าต้นปาล์มร่วมด้วยเพราะจะทำให้ต้นปาล์มได้รับแสงแดดไม่เพียงพอ แต่เน้นปลูกต้นปาล์มให้ร่มเงาแก่พืชชนิดอื่นที่ต้องการร่มเงา เช่น โกโก้ และพริกไทยดำ และดูว่าจะสามารถปลูกพืชชนิดใดได้ดีในสภาพแวดล้อมเช่นนี้

ด้านเกษตรกรและชุมชนแบบดั้งเดิมในบราซิลมีความสนใจในการปลูกปาล์มเป็นอย่างมากเพราะมีความต้องการสูง แต่ก็ยังคงกังวลกับรูปแบบเกษตรเชิงเดี่ยวที่ถูกสนับสนุนโดยบริษัท พวกเขากลัวโรคพืชและความเสี่ยงด้านตลาดที่เกี่ยวกับการพึ่งพาสินค้าเพียงอย่างเดียว เกษตรกรยังคงต้องการที่จะสามารถปลูกพืชหลักและพืชเศรษฐกิจ เช่น มันสำปะหลัง ถั่ว โกโก้ ปาล์ม และคูพูอัสซู (cupuaçu) ดังนั้นการปลูกแบบวนเกษตรจึงเป็นทางเลือกที่ดี [World Agroforestry Centre, 2014]

ปาล์มน้ำมัน ระบบวนเกษตรในบราซิล (ที่มา​: World Agroforestry)

ด้วยการเกษตรเชิงนิเวศหรือวนเกษตรจะช่วยให้วิถีชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น ลดการพึ่งพาผลผลิตเพียงอย่างเดียวในตลาด ยังจะช่วยลดปัญหาการขยายตัวของการทำลายป่าไม้เพื่อการเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวในแปลงขนาดใหญ่ (Deforestation for plantation) จากแรงขับของบริษัทอุตสาหกรรมการเกษตรขนาดใหญ่ และนำไปสู่วิกฤตหมอกควันพิษครอบคลุมเป็นบริเวณกว้าง แม้ปัญหาจะเกิดในภาคเหนือ แต่การที่ภาคเหนือเป็นต้นน้ำสายสำคัญของประเทศผลกระทบจากการสูญเสียผืนป่านั้นจึงส่งผลกระทบจากคนที่อยู่กลางน้ำและปลายน้ำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ในฐานะผู้บริโภคสิ่งที่เราทำได้ทันทีคือเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า เลือกบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม บริโภคเนื้อสัตว์เท่าที่จำเป็นให้เหมาะสมกับความต้องการของร่างกาย ไม่กินทิ้งกินขว้าง อย่าปล่อยให้หมอกควันพิษเป็นเรื่องของภาคเหนือเพียงลำพังเพราะป่าผืนนี้เกี่ยวข้องกับลมหายใจของทุกคน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow