Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เกษตรกรรมเชิงนิเวศเลี้ยงโลกได้อย่างยั่งยืน

Posted By Greenpeace Thailand | 30 มี.ค. 60
4,177 Views

  Favorite

คำถามหนึ่งที่เกิดขึ้นท่ามกลางกระแสพืชดัดแปลงพันธุกรรมในขณะที่ประชากรโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  คือ หากไม่สนับสนุนพืชดัดแปลงพันธุกรรม แล้วเกษตรกรรมเชิงนิเวศ หรือการทำเกษตรอินทรีย์ จะสามารถเลี้ยงโลกได้จริงหรือ?

นี่ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝันของกลุ่มเกษตรกรหัวโบราณ หรือนักอนุรักษ์ แต่มีงานวิจัยพิสูจน์ออกมาแล้วว่าเกษตรกรรมเชิงนิเวศสามารถเลี้ยงโลกได้จริง เนื่องจากการเลี้ยงประชากรโลกให้ได้อย่างยั่งยืน ไม่ได้เกิดขึ้นได้จากความสามารถในการเพิ่มผลผลิตเพียงลำพัง แต่ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญอีกหลายอย่าง เช่น สิทธิความเท่าเทียม ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และการบริโภคของเรา

greenpeace

ไม่ใช่อาหารไม่พอ แต่เพราะไม่สามารถเข้าถึงอาหาร

งานวิจัยในวารสาร Journal of Sustainable Agriculture ในปี 2555 ระบุไว้ว่าเกษตรกรทั่วโลกได้ผลิตอาหารจำนวนมากพอที่จะเลี้ยงคนบนโลกจำนวน 10,000 ล้านคน (ปัจจุบันมีประชากรโลกจำนวน 7,000 กว่าล้านคน) และรายงานจากสำนักข่าว Economist ในปี 2554 เผยข้อมูลในทิศทางเดียวกัน และเสริมว่า “เกษตรกรได้ผลิตอาหารออกมาจำนวนมากเกินความต้องการอยู่แล้ว หรือมากกว่าจำนวนความต้องการทางโภชนาการขั้นต่ำสุดถึงสองเท่า หากมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนอาหาร คงไม่ใช่สาเหตุจากปัญหาด้านศักยภาพในการเพาะปลูกหรือทางเทคนิคใด ๆ”

แต่ปัจจุบันที่ประชากรโลกอย่างน้อย 800 ล้านคน ยังคงใช้ชีวิตอย่างหิวโหยในทุกวันนั้นเป็นเพราะการขาดสิทธิและความเท่าเทียมในการเข้าถึงที่ดิน น้ำ อาหาร และปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีวิต เกษตรกรรายย่อยและขนาดกลาง คือ กลุ่มผู้ผลิตอาหารสำคัญของโลก ซึ่งครอบคลุมปริมาณอาหารร้อยละ 80 ในประเทศที่กำลังพัฒนา การขยายสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ จึงเป็นสิทธิพื้นฐานที่สำคัญในการตอบโจทย์ทางด้านความมั่นคงทางอาหาร และการแก้ไขปัญหาความยากจน

 

greenpeace

ปลูกพืชเพื่อคน หรือปลูกพืชเพื่อใคร?

นี่เป็นคำถามที่น่าคิด การเกษตรเพื่ออุตสาหกรรม หรือการเกษตรที่ผลิตขึ้นเพื่อผลผลิตจำนวนมหาศาลในปัจจุบันไม่ใช่การทำการเกษตรเพื่อ “เลี้ยงประชากรโลก” แต่เป็นการปลูกเพื่อเลี้ยงไก่ หมู วัว หรือรถยนต์ อาทิเช่น ร้อยละ 40 ของการปลูกข้าวโพดในประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นการผลิตเพื่อเป็นพืชพลังงาน (biofuel) และอีกร้อยละ 35 นั้นเพื่อการปศุสัตว์ ซึ่งการเกษตรเพื่ออุตสาหกรรมเช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย หนึ่งในทางออกที่ผู้บริโภคอย่างเราสามารถทำได้ คือ การลดการบริโภคเนื้อสัตว์ วิธีนี้จะเป็นการช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรผืนดิน น้ำ และอาหารไปกับการทำปศุสัตว์ และหันมาปลูกพืชเพื่อเลี้ยงคนมากขึ้น นอกจากนี้การลดขยะอาหาร (food waste) ยังเป็นปัจจัยที่สำคัญในการลดปัญหาการขาดแคลนอาหาร เนื่องจาก 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตขึ้นทั่วโลกนั้นกลายเป็นอาหารเหลือทิ้ง (มูลค่าที่สูญเสียไปเท่ากับ 680,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับประเทศอุตสาหกรรม และ 310,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในประเทศกำลังพัฒนา) เรียกได้ว่าเพียงแค่ 1 ใน 4 ของปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งทั่วโลกนี้ มีปริมาณมากเพียงพอสำหรับการเลี้ยงคนอีก 870 ล้านคน นี่ถือเป็นการสูญเปล่าทางทรัพยากรทั้งการใช้ผืนดินในการปลูกพืชเพื่ออุตสาหกรรม และการทำปศุสัตว์

greenpeace

ปลูกอย่างยั่งยืน มีกินอย่างยั่งยืน

พืชพรรณธัญญาหารที่ดีมีคุณค่าย่อมเกิดขึ้นจากดินและน้ำที่อุดมสมบูรณ์ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสม นั่นหมายถึงการมีกินและการที่จะปลูกพืชเลี้ยงโลกได้อย่างยั่งยืนนั้นจะต้องรักษาระบบนิเวศของโลกให้สมบูรณ์ด้วยเช่นกัน ซึ่งวิถีการเกษตรที่สามารถตอบโจทย์นี้ได้ คือ เกษตรกรรมเชิงนิเวศ ไม่ใช่เกษตรเพื่ออุตสาหกรรม หรือการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีที่ทำร้ายคนปลูก คนกิน และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

งานวิจัยโดยองค์กร Friends of the Earth เผยว่า การเลี้ยงประชากรโลกได้อย่างยั่งยืนจะต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือ การปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพไว้ ซึ่งจำเป็นต่อการผลิตอาหารทั้งเพื่อปัจจุบันและอนาคต ดังนั้นเกษตรกรรมเชิงนิเวศจึงเป็นคำตอบของความมั่นคงทางอาหาร ที่สามารถต่อกรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการกัดเซาะหน้าดิน การขาดแคลนน้ำ และช่วยฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ การพัฒนาความอุดมสมบูรณ์ในดิน การกักเก็บน้ำ และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม คือหัวใจสำคัญที่เกษตรเพื่ออุตสาหกรรมไม่สามารถทำได้เทียบเท่า ด้วยเหตุนี้เองเกษตรกรรมเชิงนิเวศ รวมถึงการทำเกษตรอินทรีย์จึงสามารถผลิตอาหารเพื่อประชากรโลกได้อย่างยั่งยืน โดยที่ยังเกื้อกูลเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียม รวมถึงสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม

greenpeace
 

ดังที่งานวิจัยโดยองค์กร Friends of the Earth ระบุไว้ ทางออกของปัญหาขาดแคลนอาหารไม่ใช่การดึงดันผลิตอาหารบนสิ่งแวดล้อมที่ถูกทำลาย และท่ามกลางความไม่เท่าเทียมกันทางสิทธิ และการเข้าถึงทรัพยากรผืนดิน น้ำและอื่น ๆ แต่คือการสร้างระบบอาหารที่ยั่งยืน บนพื้นฐานที่เป็นธรรมสำหรับทุกคน อย่างไรก็ตาม เกษตรกรรมเชิงนิเวศกำลังถูกแปรเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่เกษตรเพื่ออุตสาหกรรม และเกษตรที่พึ่งพาสารเคมี ทำให้หลงเหลือพื้นที่เกษตรกรรมที่ยั่งยืนจำนวนน้อยเต็มที ซึ่งหากภาครัฐสนับสนุนทางด้านนโยบาย ความรู้ที่ถูกต้อง และให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มที่แก่เกษตรกรที่ทำการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรรมเชิงนิเวศเป็นเกษตรกรรมกระแสหลัก ลดปัญหาความเลื่อมล้ำ และสามารถผลิตอาหารได้อย่างยั่งยืนหล่อเลี้ยงประชากรโลกได้อย่างเท่าเทียม ดีสำหรับโลกและดีสำหรับทุกคน

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Greenpeace Thailand
  • 0 Followers
  • Follow