Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รัตนโกสินทร์ 2 in 1

Posted By Plook Magazine | 16 ส.ค. 54
5,426 Views

  Favorite

เรื่องและภาพ: ศรินทร เอี่ยมแฟง

 

รัตนโกสินทร์ 2 in 1
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


ถนนราชดำเนินเป็นถนนที่เก็บสะสมประวัติศาสตร์ของกรุงเทพมหานครเอาไว้มากมาย ถ้าเราลองนั่งไล่เหตุการณ์หรือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของกรุงเทพฯ ก็มักจะปรากฏชื่อถนนสายนี้อยู่เสมอ เมื่อกรุงเทพฯ เมืองฟ้าอมรของเรามีพิพิธภัณฑ์น้องใหม่เกิดขึ้นเพื่อบอกเล่าความเป็นมาของกรุงเทพฯ ซึ่งในอดีตถูกเรียกว่า “รัตนโกสินทร์” แถมยังตั้งอยู่บนถนนราชดำเนินในจุดที่สวยที่สุดจุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ทำให้เราไม่พลาดมาชื่นชม “นิทรรศน์รัตนโกสินทร์” แห่งนี้
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


นิทรรศน์รัตนโกสินทร์เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ทำการปรับปรุงตึกทรงตะวันตกริมถนนราชดำเนินให้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สมัยใหม่ จะว่าไปก็เหมือนกับเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์ซึ่งเล่าเรื่องประวัติการสร้างกรุงรัตนโกสินทร์ไปจนถึงพัฒนาการของกรุงเทพฯ ในรัชกาลต่างๆ ภายใต้ราชวงศ์จักรี ที่จัดแสดงผ่านสื่ออินเตอร์แอคทีฟ ทำให้เรื่องราวในอดีตมีความน่าสนใจยิ่งขึ้น ยิ่งได้เจ้าหน้าที่ชุดแดงมาเดินนำพร้อมกับสรุปข้อมูลสำคัญในแต่ละห้อง ช่วยให้คนแพ้ตัวหนังสือสนุกกับการเดินทัวร์ยิ่งขึ้น
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


พิพิธภัณฑ์นี้แบ่งเนื้อหาออกเป็น 7 ห้อง ห้องแรกคือ รัตนโกสินทร์เรืองโรจน์ เริ่มเล่าเรื่องการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ผ่านการฉายภาพแบบ 4 มิติ เลยได้ทราบว่ากรุงรัตนโกสินทร์วางผังเมืองตามแบบกรุงศรีอยุธยาซึ่งมีความเจริญรุ่งเรืองมาก่อนหน้า เมื่อรัชกาลที่ 1 ทรงย้ายเมืองหลวงจากกรุงธนบุรีข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังกรุงเทพมหานครเมื่อปี พ.ศ. 2325 ทรงสร้างวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) และพระบรมมหาราชวัง ห้องที่ 2 เกียรติยศแผ่นดินสยาม จึงเป็นการจำลองสถาปัตยกรรมภายในและภายนอกของวัดพระแก้วและพระบรมมหาราชวัง ที่น่าตื่นเต้นคือการจำลองบรรยากาศภายในเขตพระราชฐานชั้นใน ซึ่งเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้ผู้ชายเข้า ด้านในโชว์หุ่นขี้ผึ้งนางสนมต้นแบบกุลสตรีไทย ทักทายกันพอเป็นพิธีเราก็เข้ามาสู่ห้องที่ 3 เรืองนามมหรสพศิลป์ ซึ่งมีห้องแสดงมหรสพครบถ้วนทั้ง ละคร รำ โขน หุ่น หนัง และครอบคลุมมุมมอง 360 องศา
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์
นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์                                  

นอกจากกรุงรัตนโกสินทร์จะมีความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมแล้ว ห้องที่ 4 ลือระบิลพระราชพิธี ยังสะท้อนประเพณีอันงดงามของกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี ใครพลาดชมกระบวนพระยุหยาตราทางชลมารค ห้องนี้มีให้ชมเพลินๆ ในรูปแบบ 3 มิติ หันมาอีกทีถึงกับสะดุ้งโหยง เพราะด้านหลังมีช้างเผือกตัวใหญ่งาโง้งยาว เจ้าหน้าที่ประจำห้องปลอบขวัญก่อนให้ข้อมูลว่า กษัตริย์แต่ละพระองค์จะมีช้างเผือกคู่บารมีเพื่อแสดงถึงบุญญาธิการ ยิ่งมีมากยิ่งเสริมบารมีมาก
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


เดินไปเล่นไปไม่ทันไรก็เข้ามาสู่เขตบ้านเมืองและวัดที่เราคุ้นเคยกันดีในห้องที่ 5 สง่าศรีสถาปัตยกรรม เลยไม่เสียเวลามากนัก เช่นเดียวกับห้องที่ 6 ดื่มด่ำย่านชุมชน ที่รวมแหล่งกิน เที่ยว ทั่วกรุงเทพฯ ไฮไลท์สำคัญเป็นห้องจัดแสดงชุมชนหัตถศิลป์ของกรุงเทพฯ ทั้ง 12 แห่งที่ชาวบ้านมีความเชี่ยวชาญงานช่างแตกต่างกัน เช่น ชุมชนช่างทอง บ้านพานถม ถนนดินสอ
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


นิทรรศน์รัตนโกสินทร์

ในที่สุดเราก็เดินมาจนถึงห้องสุดท้ายบริเวณชั้นบนสุดซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นจุดชมวิวถนนราชดำเนินที่สวยที่สุด เพราะมองเห็นภูเขาทอง โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร ลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ รวมถึงถนนราชดำเนินนอกทั้งเส้นที่ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้ใหญ่ ถึงตรงนี้เลยต้องขอนั่งจิบกาแฟชมวิว ดื่มด่ำบรรยากาศของกรุงรัตนโกสินทร์อย่างเต็มที่ ก่อนจะลงมาซื้อของที่ระลึกที่ชั้นล่างสุด
 

นิทรรศน์รัตนโกสินทร์


การได้มาเที่ยวนิทรรศน์รัตนโกสินทร์จึงเป็นทริป 2 in 1 เพราะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกรุงรัตนโกสินทร์ภายในเวลา 2 ชั่วโมง และยังได้เยี่ยมชมโบราณสถานคืออาคารนิทรรศน์รัตนโกสินทร์ที่ตั้งของพิพิธภัณฑ์นี้ซึ่งมีอายุกว่า 60 ปีแล้ว รวมไปถึงสถานที่สำคัญบริเวณใกล้เคียง เป็นทริปทัศนศึกษาที่ทั้งสนุกทั้งภูมิใจในความยิ่งใหญ่ของกรุงรัตนโกสินทร์ของเรา ไชโย!

 

พิกัด
ถนนราชดำเนินกลาง ข้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์
โทร. 02-621-0044 เว็บไซต์ http://www.nitasrattanakosin.com/
เปิดทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 11.00-20.00 น. ค่าเข้าชมสำหรับเด็ก 50 บาท ผู้ใหญ่ 200 บาท 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow