Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

the story : กว่าจะเป็นหนังสือ

Posted By Plook Magazine | 14 ธ.ค. 59
1,737 Views

  Favorite

กว่าจะเป็นหนังสือ 

ราว 5,000 ปีก่อนคริสตกาล มนุษย์แถบอารยธรรมเมโสโปเตเมียเริ่มรู้จักการใช้ของแข็งกดลงบน "ดิน" เพื่อให้เกิดเป็นลวดลายและตัวอักษร จนถึงอารยธรรมกรีกโบราณจึงใช้วิธีเขียนตัวหนังสือลงบน "แผ่นไม้" ที่ทำจากต้นบีช (Beech) หรือที่เรียกกันในภาษาแองโกล-แซกซอนว่า BOC จนเป็นที่มาของคำว่า Book ในปัจจุบัน ขณะที่อีกฟากของอารยธรรมในดินแดนตะวันออกอย่างจีน ก็เริ่มมีการบันทึกตัวอักษรลงบนแผ่นไม้และใบลาน ตั้งแต่ 1,300 ปีก่อนคริสตกาล จนกระทั่งมนุษย์ได้คิดค้นกระดาษ วิธีการพิมพ์ และพัฒนามาเป็น "หนังสือ" ในเวลาต่อมา

ปัจจุบันมนุษย์ยังคงก้าวต่อไปกับการใช้สื่อต่าง ๆ เพื่อบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราว อย่าง "สื่อออนไลน์" ที่เริ่มเข้ามามีบทบาทและแทนที่หนังสือ แต่ถึงกระนั้นในช่วงชีวิตของเรา การบันทึกและถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ในรูปแบบ "หนังสือ" ดูจะเป็นสิ่งที่ทรงคุณค่าที่สุด นั่นเพราะหนังสือทุกเล่ม ล้วนเกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจ ลองมาดูกันสิว่า กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มหนึ่ง ใครต้องทำอะไรกันบ้าง

 

 

ขั้นแรก : ประชุมกองบรรณาธิการ
การทำงานของกองบรรณาธิการเปรียบเสมือนหัวใจสำคัญของการทำหนังสือเพราะเป็นการสร้างสรรค์เนื้อหาที่เป็นเอกลักษณ์ของหนังสือนั้น ๆ โดยเป็นขั้นตอนก่อนการผลิต เริ่มจากการประชุมกองบรรณาธิการ ประกอบไปด้วย บรรณาธิการหรือบก. นักเขียนประจำกองบก. ช่างภาพ ฝ่ายศิลปกรรม และเลขานุการกองบก. หรือผู้ประสานงาน เพื่อกำหนดทิศทางเนื้อหา แนวคิดหลักหรือธีมของหนังสือแต่ละเล่มให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สภาพสังคม ฤดูกาล ซึ่งเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของผู้อ่าน หลังจากได้ทิศทางของเนื้อหาในแต่ละฉบับแล้วบก. ก็จะมอบหมายงานให้แต่ละทีมไปหาข้อมูล สัมภาษณ์และเขียนเป็นต้นฉบับขึ้น เช่น ทีมข่าว ทีมสารคดี ทีมแฟชั่น โดยจะมีช่างภาพตามไปถ่ายภาพข่าวหรือสารคดี เพื่อนำมาประกอบกับต้นฉบับข้อเขียนอีกด้วย ส่วนฝ่ายศิลปกรรมเมื่อได้ธีมเล่มก็เริ่มหาข้อมูลหาแนวทางในการออกแบบกราฟิกให้เหมาะกับรูปแบบของเล่มนั้น และเลขานุการกองบก. ก็จะประสานงานกับนักเขียนนอกเกี่ยวกับต้นฉบับ รวมไปถึงประสานงานในด้านอื่น ๆ อีกด้วย
 

 

บรรณาธิการ หรือบก.


บรรณาธิการ หรือ บก.

หน้าที่ : ดูแลควบคุมการทำงานของทุกกระบวนการในการทำนิตยสารทั้งเล่มให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มอบหมายงานให้กับแต่ละคนในกองบรรณาธิการ รวมถึงการเขียนคอลัมน์ บทบรรณาธิการ ตรวจทานและปรับปรุงต้นฉบับของนักเขียนให้ถูกต้องสมบูรณ์และอยู่ในธีมของเล่ม บางแห่งจะมีบก. เพียงคนเดียว บางแห่งแบ่งย่อยตามฝ่ายต่าง ๆ เช่น บก.สารคดี, บก.บทความ, บก.ภาพ, บก.แฟชั่น และ บก.บห. หรือบรรณาธิการบริหารเป็นตำแหน่งสูงสุด
คุณสมบัติ : รู้รอบ มองการณ์ไกล คิดให้ลึก มีความอดทน รักในการทำหนังสือ ชอบเขียน ชอบอ่านหนังสือ ตามเทรนด์โลกได้ทัน เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ มีความละเอียดรอบคอบ
ทำงานร่วมกับ : ทุกฝ่าย
ทักษะ : สื่อสารกับคนอื่น ๆ ได้ดี
            มีความคิดสร้างสรรค์
            ถนัดหลายด้านทั้งศิลปะและการบริหาร
            แก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ดี
            ทักษะด้านภาษาดีเยี่ยม
คณะที่ตรงสาย : วารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์

 

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ หรือ คอลัมนิสต์

นักเขียนประจำกองบรรณาธิการ หรือ คอลัมนิสต์
หน้าที่ : หาข้อมูล เรียบเรียง เขียนต้นฉบับตามคอลัมน์ที่ได้รับมอบหมาย
คุณสมบัติ : รักการเขียน ชอบการอ่าน หาความรู้รอบตัวอยู่เสมอ
ทำงานร่วมกับ : บก. และช่างภาพ
ทักษะ : เขียนเรื่องยากให้เข้าใจง่าย
           ใช้ภาษาได้ถูกต้อง
           มีความคิดสร้างสรรค์
คณะที่ตรงสาย : วารสารศาสตร์ หรือนิเทศศาสตร์
 

ช่างภาพ


ช่างภาพ
หน้าที่ : รับผิดชอบภาพถ่ายประกอบคอลัมน์ที่ได้รับมอบหมาย โดยภาพถ่ายต้องช่วยเสริมเนื้อหาในคอลัมน์เพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
คุณสมบัติ : ชอบถ่ายภาพ รู้จักหามุมมองใหม่ ๆ อยู่เสมอ ที่สำคัญต้องลุย ถึก และอดทน
ทำงานร่วมกับ : บก. และนักเขียนประจำคอลัมน์นั้น ๆ
ทักษะ : ถ่ายทอดเนื้อเรื่องผ่านภาพถ่ายได้ดี
            มีความคิดสร้างสรรค์
คณะที่ตรงสาย : สาขาการถ่ายภาพ
 

ฝ่ายศิลปกรรม


ฝ่ายศิลปกรรม
หน้าที่ : ออกแบบคอลัมน์ จัดวางองค์ประกอบภาพทั้งกราฟิกและภาพถ่าย วางเลย์เอาท์จัดลำดับเนื้อหาให้สวยงาม คงเอกลักษณ์ของหนังสือ โดดเด่นดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน แต่ต้องอ่านง่ายไม่สับสน
คุณสมบัติ : มีความคิดสร้างสรรค์ เรียนรู้อยู่เสมอ สื่อสารด้วยภาพได้ดี ชอบวาดภาพ
ทำงานร่วมกับ : บก. นักเขียน และช่างภาพ
ทักษะ : ดีไซน์ตัวหนังสือกับรูปภาพให้ไปด้วยกันได้
            รู้การจัดวางองค์ประกอบของหนังสือ
คณะที่ตรงสาย : นิเทศศิลป์ มัณฑณศิลป์ และศิลปกรรมศาสตร์
 

เลขานุการกองบรรณาธิการ หรือผู้ประสานงาน


เลขานุการกองบรรณาธิการ หรือผู้ประสานงาน
หน้าที่ : ประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ตั้งแต่ บก. นักเขียนนอกกองบก. เพื่อติดตามต้นฉบับ ฝ่ายสถานที่ในกรณีมีการขอใช้สถานที่ ร้านเสื้อผ้าหากมีการถ่ายแฟชั่น การเบิกจ่ายค่าเดินทางจนถึงค่าใช้จ่ายในการออกกองเพื่อสัมภาษณ์หรือทำคอลัมน์อีกด้วย
คุณสมบัติ : ช่างพูดช่างเจรจา มีวินัย ตรงต่อเวลา ชอบดูแล ถึกและอดทน
ทำงานร่วมกับ : ทุกคนในกองบก.
ทักษะ : สื่อสารได้ดี มีความละเอียด รอบคอบ
คณะที่ตรงสาย : คณะไหนก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้เพียงแค่มีใจรัก

 

ขั้นที่สอง : ต้นฉบับต้องพร้อม
เมื่อได้รับหัวข้อเรื่อง หรือทิศทางจากการประชุมกองบก. แล้วนักเขียนก็เริ่มลงมือหาข้อมูลต่าง ๆ หรือสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อนำมาเขียนเป็นต้นฉบับในคอลัมน์ที่ตนเองรับผิดชอบ ช่างภาพก็จัดการถ่ายภาพตามที่พูดคุยกับนักเขียนและบก. แต่ละฝ่ายแยกย้ายไปทำหน้าที่ของตัวเอง หลังจากนั้นรวบรวมเนื้อหาและต้นฉบับมารวมที่บก. แล้วบก.จะเป็นผู้ตรวจทานเนื้อหาทั้งหมดเรียกได้ว่าไม่มีส่วนไหนไม่ผ่านตา และทำการแก้ไขต้นฉบับก่อนส่งให้ฝ่ายศิลปกรรมวางเลย์เอาต์จัดหน้าหนังสือโดยประกอบข้อความและภาพเข้าด้วยกัน หลังจากนั้นส่งต่อพิสูจน์อักษรเพื่อเช็คว่ามีคำไหนเขียนผิดบ้างพร้อมกับแก้ไขให้ถูกต้อง
 

พิสูจน์อักษร


พิสูจน์อักษร
หน้าที่ : อ่านและตรวจทานข้อเขียนทุกคำ ทุกตัวอักษร ในแต่ละคอลัมน์ที่ถูกวางเลย์เอาต์เรียบร้อยแล้ว ไม่ให้มีข้อผิดพลาด
คุณสมบัติ : ช่างสังเกต มีความละเอียดรอบคอบ
ทำงานร่วมกับ : บก. และฝ่ายศิลปกรรม
ทักษะ : มีความรู้ด้านภาษาดีเยี่ยมเหมือนกินพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานเข้าไป
คณะที่ตรงสาย : เอกภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์, มนุษยศาสตร์ หรือศิลปศาสตร์

 

ขั้นตอนสุดท้าย : จากอักษรเป็นรูปเล่ม
เมื่อผ่านตรวจทานและแก้ไขความถูกต้องแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการส่งเข้าโรงพิมพ์ เพื่อแยกสีต่าง ๆ ซึ่งทางโรงพิมพ์จะส่งกลับมาให้กองบก. ตรวจเช็คอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่กระบวนการตีพิมพ์และเข้าเล่มเพื่อนำไปจัดจำหน่ายต่อไป

นอกจากกองบรรณาธิการที่รับหน้าที่ผลิตเนื้อหาแล้ว ยังมีอีกหลายหน้าที่ที่มีความสำคัญทำให้หนังสือสามารถตีพิมพ์และส่งถึงมือผู้อ่านได้ ก็คือ

ฝ่ายการตลาด โฆษณา และจัดจำหน่าย


ฝ่ายการตลาด โฆษณา และจัดจำหน่าย

หน้าที่ : ดูแลการวางแผนการตลาด วางแผนการส่งเสริมการขายหนังสือ ประสานงานกับผู้จัดจำหน่าย และแผงหนังสือต่าง ๆ เพื่อให้หนังสือไปถึงมือผู้อ่านได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงจัดหารายได้จากการขายพื้นที่โฆษณาในหน้าหนังสือ
คุณสมบัติ : ช่างพูดช่างเจรจา มองการณ์ไกล
ทำงานร่วมกับ : บก. และลูกค้า
ทักษะ : มีทักษะการพูดสูง
           มีทักษะการต่อรอง
คณะที่ตรงสาย : สาขาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ
 

ฝ่ายการเงินและบัญชี


ฝ่ายการเงินและบัญชี
หน้าที่ : รับผิดชอบงานด้านงบประมาณ การเงิน บัญชีรายรับ-รายจ่าย ทั้งหมดของกระบวนทำหนังสือ
คุณสมบัติ : ละเอียด รอบคอบ ชอบตัวเลข
ทำงานร่วมกับ : บก. และเลขานุการกองบรรณาธิการหรือผู้ประสานงาน
ทักษะ : มองการณ์ไกล
            อยู่กับตัวเลขได้ดี
            อยู่กับงานเอกสารได้ดี
คณะที่ตรงสาย : บัญชี

 

คงเห็นกันแล้วว่า กว่าจะเป็นหนังสือสักเล่มไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องผ่านกระบวนการคิด ใช้เวลา ความมุ่งมั่นและตั้งใจของทีมงานทุกฝ่ายอย่างมากมายมหาศาล เพราะฉะนั้นลองใช้เวลาว่างหาหนังสือสักเล่มมาเปิดอ่านกันเถอะ

 

เรื่อง : กัลยาณี แนวเล็ก
ภาพประกอบ : พลอยขวัญ สุทธารมณ์ และอารัมภ์พร เอี่ยมวุฒิ


นิตยสาร plook

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow