Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

the subject : นี่ไง...เด็กสมัยนี้

Posted By Plook Magazine | 01 ก.ค. 58
1,028 Views

  Favorite

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง และ กัลยาณี แนวเล็ก ภาพประกอบ: พลอยขวัญ สุทธารมณ์



เด็กสมัยนี้ไม่ได้เรื่อง เอาแต่แต่งตัว กินกาแฟแพง ๆ ใช้เงินเปลือง ติดโซเชียล เอาแต่ตัวเอง ความอดทนต่ำ ไม่มีมารยาท ไม่เห็นหัวผู้ใหญ่... บลา บลา บลา สารพัดข้อหาที่เด็กยุคใหม่โดนมองในแง่ลบ ก็ยอมรับนะว่าถ้าไปเดินสยามหรือตามแหล่งรวมวัยรุ่น มันก็มีเด็กแบบที่ว่าส่วนหนึ่งแต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมด และเด็กที่เหมือนจะไม่เอาไหน เอาเข้าจริงมันอาจจะกำลังทำอะไรเจ๋ง ๆ อยู่ก็ได้

นี่ไง...เด็กสมัยนี้ทั้ง 5 ทีมของไทยและต่างประเทศที่ "ได้เรื่อง" ในการลงมือแก้ปัญหาทางสังคมบางอย่างด้วยตัวเอง เพราะเชื่อว่าพลังบวกของเด็กรุ่นใหม่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ และหลายโปรเจ็คต์ก็พิสูจน์แล้วว่าเราทำได้ดีไม่แพ้ผู้ใหญ่

ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ต้องหันมาดูตัวเองบ้างว่าที่บ่น ๆ กันอยู่นี่ คุณลงมือทำที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมแบบ "เด็กเมื่อวานซืน" บ้างหรือเปล่า


Thaivans
ไม่นานนี้สังคมออนไลน์ตื่นเต้นกับป้ายข้อมูลแสดงจุดจอดรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัย ที่เรารู้ ๆ กันอยู่ว่าเป็นย่านปราบเซียนของคนเดินทาง หลายครั้งที่หลงทาง เสียเวลาเดินวนเกาะโน้นเกาะนี้ พอมีป้ายบอกอย่างนี้ก็สะดวกสบายขึ้นเยอะเลย

เบื้องหลังโปรเจ็คต์แจ๋ว ๆ เกิดจาก 7 นักศึกษาสาขาวิชามีเดียอาตส์ ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงงานศึกษาสื่อแสดงจุดจอดรถตู้บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ภายใต้แนวคิด "ขึ้นรถตู้แม่นยำฉับไว สบายใจไม่มีหลง"

"ป้าย direction มี 3 ป้าย ป้ายแรกคือป้ายแผนที่แสดงจุดจอดรถตู้ ป้ายที่สองเป็นป้ายบอกทาง ส่วนป้ายที่สามแสดงข้อมูลรอบรถตู้ โดยโซนแต่ละเกาะ 4 เกาะ 7 จุด แบ่งเป็นสี ๆ มีป้ายบอกทางสองภาษาก่อนจะไปถึง และเมื่อไปถึงจุดขายตั๋วจะมีสีประจำเกาะ ในป้ายมีข้อมูลเกี่ยวกับรถตู้ จุดจอดรถตู้ ราคา เบอร์โทรศัพท์ รอบการเดินรถ" จุ๊บแจงอธิบาย

น้อง ๆ ได้รับแรงบันดาลใจจากเมืองนอกที่การคมนาคมมีระบบสัญลักษณ์ที่ดี และต้องการให้ประเทศไทยมีป้ายบอกทางที่ชัดเจนและเป็นระบบเช่นกัน "เป็นโอกาสสุดท้ายในชุดนักศึกษาที่เราจะทำอะไรให้กับสังคม เราเลยอยากทำงานดีไซน์ที่สามารถแก้ปัญหาในสิ่งที่ประสบด้วยตัวเอง คนรอบข้างรวมถึงสังคมก็พูดถึงกันอยู่บ่อย ๆ เรารู้ว่าขึ้นรถตู้ที่อนุสาวรีย์ชัย แต่ค่อยไม่รู้ว่าต้องขึ้นจุดไหน เราเชื่อว่าจุดเล็ก ๆ ที่เราได้ลงมือทำจริง ๆ จะสามารถเปลี่ยนให้เกิดอะไรที่ยิ่งใหญ่ในอนาคตกับประเทศไทย"

แม้ว่าป้ายสัญลักษณ์ Thaivans จะได้รับเสียงชื่นชมอย่างมาก แต่เมื่อครบกำหนดอนุญาตก็จำเป็นต้องปลดออก ยังดีที่น้อง ๆ ยังเดินหน้าทำแอปพลิเคชันและโมชันอินโฟกราฟิก Thaivans เพื่อให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อไป
www.thaivans.com, FB: Thaivans



แพร-ธาดารัตน์ เฉวียงหงส์/ ภูมิ สุคันธพันธ์/ นับ-ชนทิพา มาลี/ จุ๊บแจง-อภิรัตน์ ฤกษ์อภิเดชา/ แป๋ม-ธันยพัฒน์ อารมณ์ชื่น/ หมิว-ณัฐนันท์ แย้มนุ่น/ ฟิวส์-พีรพงษ์ ไมตรีวงษ์


WinPhysics

วิน-สุทธิชัย บุญประสพ ตกหลุมรักวิชาฟิสิกส์จากการเรียนเรื่องไฟฟ้าที่โรงเรียนราชโบริกานุเคราะห์ จ.ราชบุรี คุณครูบอกเด็กชาย ม.6 ที่เรียนไม่เก่งว่า ฟิสิกส์มองไม่เห็นด้วยตาแต่มีตัวตนอยู่จริง หากเธอเข้าใจวิทยาศาสตร์ถ่องแท้ เธอจะมีทักษะการคิดที่เชื่อมโยงและนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้

นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาตั้งคำถามว่าทำไมระบบการศึกษาไทยจึงมองข้ามการเรียนรู้ที่มาที่ไปของสูตร แต่ให้เด็กรัวท่องจำทำโจทย์แทน เมื่อเข้าเรียนสาขาเคมีเทคนิค จุฬาฯ วินรับสอนพิเศษฟิสิกส์ให้เด็ก ม.ปลาย และเด็กอินเตอร์ที่เอาหลักสูตรมาให้สอน จากการค้นคว้าระบบการสอนฟิสิกส์ของหลายประเทศทั้งอังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น เขาพบว่าต่างประเทศให้ความสำคัญกับกระบวนการก่อนออกมาเป็นสูตร ขณะที่สื่อการสอนก็น่าสนุกและท้าทายไม่แพ้กัน คำถามคือทำไมเด็กไทยจึงไม่มีโอกาสเข้าถึงความรู้เหล่านี้บ้าง

มองย้อนกลับมาในบ้านเรา พ่อแม่ต่างพร้อมจ่ายค่าเรียนพิเศษแม้ลูกจะต้องเรียนกับวิดีโอ แล้วทำไมเราถึงไม่ทำวิดีโอสอนกระบวนการฟิสิกส์แบบสนุก ๆ ในยูทูปให้ดูฟรี นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของ WinPhysics.com เว็บไซต์ที่รวบรวมสื่อการเรียนฟิสิกส์ที่วินผลิตขึ้น โดยเลือกคอนเทนต์ที่ดีที่สุดของหลักสูตรต่างประเทศมาตัดต่อ ในส่วนการทำโจทย์เป็นรูปแบบเกมออนไลน์ กระตุ้นให้เด็กฝึกทำแบบฝึกหัดด้วยตัวเองจากคอมพิวเตอร์อย่างสม่ำเสมอได้

วินหวังว่าเว็บไซต์นี้จะเป็นเครื่องมือช่วยสอนสำหรับครูในโรงเรียนต่างจังหวัด เมื่อฝึกครูหนึ่งคนให้สามารถใช้เครื่องมือนี้ก็จะส่งต่อไปยังเด็กอีกหลายคน "สมมติจะเรียนเรื่องเวกเตอร์ ครูให้เด็กมาดูวิดีโอ ลองทำข้อสอบก่อนและหลังเรียน แค่ 5 นาทีครูจะรู้ทันทีว่ามีจุดไหนที่เด็กยังอ่อนอยู่ สอนเสร็จปุ๊บ ครูสามารถเลือกโจทย์ที่มีอยู่ในเว็บส่งให้เด็กทำ แล้วเราสามารถเรทติ้งสกอร์ให้เลยว่าข้อไหนที่เด็กทำผิด ครูก็เอาตัวนั้นแหละครับมาปรับปรุงเด็ก เพราะฉะนั้นเราช่วยโหลดงานของครูไปมาก"

"วินอยากทำเพราะวินรู้ว่านี่คือสิ่งที่วินเคยอยากได้ตอนเด็ก ๆ และวินรู้ว่ามีหลายคนที่รออยู่ ถ้าในเมืองไทยฟิสิกส์เป็นวิชาที่ยากที่สุด เป็นวิชาที่ทุกคนมีปัญหา แล้วถ้ามันแก้ปัญหาได้ ทำไมเลขจะทำไม่ได้ เคมีจะทำไม่ได้ เด็กสมัยนี้ใช้เครื่องมือเก่ง เราเห็นโลกในแบบที่ผู้ใหญ่สมัยก่อนไม่ได้เห็น โลกในรูปแบบที่เราเห็นคือโลกที่มีความเป็นไปได้"
Winphysics.com
www.trueplookpanya.com/plook/the_subject_55_1 
ทดลองเรียน "การบวกเวคเตอร์ด้วยรูปภาพ" กับ WinPhysics.com




Kiddee Project
เพราะได้เห็นการทำงานด้วยใจของหมอและพยาบาล ตลอดจนบุคลากรในโรงพยาบาลน่าน ที่ไม่เพียงดูแลรักษาชีวิตผู้ป่วย แต่ยังห่วงใยคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน ทำให้สองดีไซเนอร์แบรนด์ TA-THA-TA อาสาเข้ามาออกแบบกระเป๋าที่ทำมาจากขยะรีไซเคิลคือถุงน้ำยาล้างไต ให้เก๋ขึ้นเป็นกอง

โปเต้-วิภาวัส ดาราพงศ์สถาพร และ กีวี่-กวิตา ศรีสันต์ ทั้งสองอายุ 26 ปี จบการศึกษาด้านการออกแบบจากรั้วสถาปัตย์ลาดกระบังและมัณฑนศิลป์ศิลปากร เมื่อพี่ชายของโปเต้ซึ่งเป็นคุณหมออยู่ที่ รพ.น่านแนะนำให้รู้จักกับหมอโบ ซึ่งเป็นคนริเริ่มนำถุงน้ำยาล้างไตมารีไซเคิลขายเพื่อลดขยะและสร้างรายได้ให้คนไข้ ในฐานะนักออกแบบผลิตภัณฑ์ ทั้งสองคนเห็นว่าวัสดุของถุงน้ำยาล้างไตมีความทนทานเหมาะสำหรับทำกระเป๋า การทำงานร่วมกันของหมอและนักออกแบบจึงเกิดขึ้น ภายใต้รูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่โปเต้สนใจมาตั้งแต่สมัยเรียน

"พอหมอโบมาปรึกษา เราก็บอกหมอโบว่ามันไม่ใช่ทำของขาย แต่เป็นกิจการเพื่อสังคม กระเป๋าเราตั้งใจว่าจะไม่ให้รู้สึกเหมือนเอาขยะมาใช้ แต่ให้รู้สึกว่ามันน่าใช้ ไม่ใช่บริจาคอย่างเดียว พอเราขายได้รายได้มา หมอโบจะดูว่าเอาไปช่วยเหลือใครก่อน เช่น เอาไปซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ เพราะเครื่องมือไม่ครอบคลุมใน 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ผู้ป่วยจำเป็นต้องใช้ล้างไต"

"เราไม่ได้คิดว่าภาครัฐเห็นแล้วจะหันมาช่วยเหลือ และเราไม่รอความช่วยเหลือจากใคร เราแค่ทำหน้าที่ของเรา พอเห็นข้อมูลว่าเงินไปช่วยเหลือตรงไหน มันเป็นความสุขอีกแบบที่ไม่ใช่คนซื้อกระเป๋าของเราไปใช้ พอเห็นว่าผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้ เราไม่ต้องเป็นหมอ แต่ก็ช่วยคนอื่นได้ เหมือนคอนเซ็ปต์ของ Kiddee ว่า เมื่อใจเราคิดถึงคนอื่น ความสุขก็จะอยู่รอบตัวเรา" โปเต้ทิ้งท้าย
FB: Kiddeeproject.Thailand



What the FACT!
ผู้ป่วยโรคไต 1 คน ต้องใช้ถุงน้ำยาล้างไต 8 ใบ ต่อ 1 วัน
8 ใบนั้น แบ่งเป็นถุงน้ำยาดีที่ยังไม่ผ่านร่างกาย 4 ถุง ส่วนนี้นำมาทำกระเป๋า
และถุงน้ำยาที่ผ่านร่างกายออกมาอีก 4 ถุง เทศบาลนำไปกำจัด
แปลว่า โรงพยาบาลน่าน 1 แห่งใน 1 ปีจะมีขยะถุงน้ำยาล้างไตเป็น "ล้าน" ใบ
แล้วถ้านับขยะถุงน้ำยาล้างไตทั่วประเทศล่ะ...

Joshua Wong
การชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของชาวฮ่องกง และการเรียกร้องความเป็นอิสระจากจีนแผ่นดินใหญ่ในปีที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นพลังของนักศึกษาชาวฮ่องกงรุ่นใหม่ โดยมีแกนนำเป็นเด็กเนิร์ดอายุ 17 ปี นาม โจชัว หว่อง ซึ่งมีจุดยืนในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หลีกเลี่ยงความรุนแรง

โจชัว หว่อง ไม่ใช่เด็กเมื่อวานซืน 2 ปีที่แล้วเขาเคยต่อต้านนโยบายการศึกษาแห่งชาติที่เชื่อว่ารัฐบาลจีนพยายามล้างสมองเยาวชนฮ่องกง ในครั้งนั้นขบวนการ Scholarism ของเขาสามารถหาแนวร่วมนักเรียนกว่าแสนคนกดดันจนรัฐบาลจีนสั่งระงับหลักสูตร

สำหรับวัยรุ่นฮ่องกง โจชัวเป็นฮีโร่แห่งประชาธิปไตย แต่สำหรับทางการจีน โจชัวคือสัญลักษณ์การท้าทายต่ออำนาจจีนแผ่นดินใหญ่ในฮ่องกง ไม่ว่าเขาจะอยู่ด้านมืดหรือด้านสว่าง นิตยสาร TIME ก็ได้ยกย่องให้โจชัวเป็นหนึ่งในวัยรุ่นที่ทรงอิทธิพลที่สุด ประจำปี 2014 ไปแล้ว



Malala Yousafzai
"ขอให้เราร่วมกันต่อสู้กับการไม่รู้หนังสือ ความยากจน และการก่อการร้าย ให้เราหยิบหนังสือ ปากกาของเราขึ้นมา มันเป็นอาวุธที่ทรงพลังที่สุด เด็กหนึ่งคน ครูหนึ่งคน หนังสือหนึ่งเล่ม และปากกาหนึ่งด้ามสามารถเปลี่ยนโลกได้ การศึกษาเป็นวิธีแก้ปัญหาทางเดียว การศึกษาต้องมาก่อน"

มะลาละห์ ยูซัฟซัย มีอายุเพียง 15 ปีในวันที่ถูกลอบสังหารโดยมือปืนตาลีบัน ในปากีสถานบ้านเกิดของเธอ ด้วยสาเหตุที่เธอพยายามเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิทางการศึกษาของเด็กผู้หญิง เนื่องจากตาลีบันไม่อนุญาตให้เด็กผู้หญิงเรียนหนังสือ การต่อสู้อย่างต่อเนื่องของยูซัฟซัยเข้าตาสื่อต่างชาติและสถาบันสันติภาพระหว่างประเทศ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปรารถนาให้เธอรอดชีวิตทั้งยังมอบของขวัญล้ำค่า ยูซัฟซัยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ ถือเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลที่อายุน้อยที่สุดด้วยวัย 17 ปี
www.trueplookpanya.com/plook/the_subject_55_2 
ฟังสุนทรพจน์ Malala พร้อมคำแปลโดย "สุทธิชัย หยุ่น"




ที่มา : นิตยสาร plook ปีที่ 5 ฉบับที่ 55 กรกฎาคม 2558

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow