Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

the subject : the mascot story มาสคอตไทยเซเลบลายการ์ตูน

Posted By Plook Magazine | 09 มิ.ย. 58
1,690 Views

  Favorite

เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง ภาพประกอบ: พลอยขวัญ สุทธารมณ์


the mascot story
มาสคอตไทยเซเลบลายการ์ตูน




เดือนมิถุนายนนี้ ชาวอาเซียนได้ทำความรู้จักกับ "นิลา" สิงโตที่มีใบหน้ารูปหัวใจกับแผงคอสีแดง มาสคอต (mascot) หรือตุ๊กตาสัญลักษณ์ตัวล่าสุดของการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที 28 เป็นเรื่องปกติไปแล้วที่การแข่งขันกีฬามักมีการใช้ตัวมาสคอตเพื่อสะท้อนความหมายหรือสิ่งที่พยายามนำเสนอ เช่นเดียวกับแบรนด์สินค้าหรือหน่วยงานต่าง ๆ ก็ชอบใช้มาสคอตในการสื่อสาร เพราะมันทั้งน่ารักและมีชีวิตชีวา ทำให้เรารู้สึกดี ๆ และจดจำยี่ห้อได้โดยไม่รู้ตัว

ในประเทศไทยไม่ปรากฏว่ามีการนำมาสคอตมาใช้ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ในขณะที่เราคุ้นเคยกับมาสคอตหน้าร้านฟาสต์ฟู้ดจากต่างแดน ยังมีมาสคอต เมด อิน ไทยแลนด์ ที่เห็นปุ๊บก็ต้องจำได้ว่าเคยรู้จักกันมาก่อน ยกตัวอย่าง "ตาวิเศษ" แม้เวลาจะผ่านมา 30 กว่าปีแล้ว เห็นดวงตาดุ ๆ คู่นี้จ้องมาเมื่อไหร่ก็ขยาดทันที

มาดูกันว่ามาสคอตไทยในตำนานและมาสคอตไทยที่ปังและป๊อบถึงขนาดมี FC ติดตามจะเป็นตัวอะไรกันบ้าง




พ.ศ. 2519
โก๋แก่
ย้อนไปเกือบ 40 ปี คุณชูเกียรติ รวยเจริญทรัพย์ ชื่นชอบการ์ตูนญี่ปุ่นที่แต่งตัวเป็นจิ๊กโก๋สวมแว่นตาดำ จนนำมาใช้เป็นต้นแบบของโลโก้ซองขนมถั่วเคลือบ พร้อมทั้งตั้งชื่อกวน ๆ ว่า โก๋แก่ เมื่อคนจำขนมได้ก็ได้เวลาทำโฆษณา พ.ศ. 2524 ภาพตัวการ์ตูนโก๋แก่ดีดกีตาร์ร้องเพลง "โก๋แก่ มันทุกเม็ด" ทำเอาคนทุกเพศทุกวัยจดจำโก๋แก่ได้ขึ้นใจ จนถึง พ.ศ. 2553 มีการสร้างมาสคอตโก๋แก่พ่วงด้วยสินค้าพรีเมี่ยม จำหน่ายเป็นของสะสมคลาสสิกแบบไทย ๆ



พ.ศ. 2527
ตาวิเศษ
ตาวิเศษเป็นโลโก้ของสมาคมสร้างสรรค์ไทย ที่คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช นายกสมาคมฯ มีแนวคิดให้ออกแบบโลโก้เพื่อการรณรงค์ "ทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง" ในขั้นตอนการทำโฆษณาเป็นการ์ตูน ตั้งใจจะออกแบบฮีโร่ผู้พิทักษ์สิ่งแวดล้อม แต่ด้วยความที่การ์ตูนดูเล่น ๆ ไม่จริงจัง จึงเลือกใช้ดวงตาดุ ๆ และใช้ชื่อว่า ตาวิเศษ หรือ Magic Eyes มีความหมายว่าเป็นดวงตาที่คอยสอดส่อง ดูแล พิทักษ์สิ่งแวดล้อม
ตาวิเศษ นับเป็นโลโก้อันทรงพลังจนต่อยอดเป็นมาสคอต และมีส่วนอย่างยิ่งที่ทำให้การรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในประเทศไทยในตอนนั้น ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง



พ.ศ. 2538
ช้างไชโย
ครั้งแรกที่ประเทศไทยใช้มาสคอตในการเป็นเจ้าภาพการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์ ครั้งที่ 13 สัญลักษณ์ของไทยที่ทุกคนนึกถึงเป็นอันดับแรกย่อมเป็นช้าง สัตว์คู่บ้านคู่เมือง คุณอรรณพ กิตติชัยวรรณ หรือ แอ๊ด มติชน นักวาดการ์ตูนชื่อดังของหนังสือพิมพ์มติชน เป็นผู้วาดภาพการ์ตูนช้างขึ้นก่อนจะประกวดตั้งชื่อช้างนำโชค จนก็ได้ชื่อว่า ช้างไชโย หมายถึงความแข็งแรง ความฉลาด ความสุข และความสนุกสนาน



พ.ศ. 2548
น้องสุขใจ
ถ้าใครยังจำแคมเปญ "เที่ยวที่ไหนก็ไม่สุขใจเท่าบ้านเรา" ของ ททท. ที่มีพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย กับ น้องสุขใจ
นำเที่ยวไปยังสถานที่ท่องเที่ยวในเมืองไทย คงจำมาสคอตหน้าตาคล้ายค่างแว่น ตัวเป็นทรายแก้ว แววตาสีน้ำทะเล ลูกยางที่หัวหมายถึงธรรมชาติของเมืองไทย แถมยังแต่งตัวแบบไทย รอยยิ้มและนิสัยขี้เล่นแบบไทยแท้ นอกจากโฆษณาทางทีวีแล้ว ททท. ยังพามาสคอตน้องสุขใจไปปรากฏตัวทั่วประเทศ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยเที่ยวในเมืองไทยหลังเกิดเหตุการณ์สึนามิทางภาคใต้



พ.ศ. 2549
ตุ๊กตาราชพฤกษ์
แก๊งมาสคอตงานมหกรรมพืชสวนโลก นำทีมโดย น้องคูน หรือราชพฤกษ์ ต้นไม้ประจำชาติ และสมาชิก น้องกุหลาบ นารี บัว ก้านยาว มังคุด ฝักบัว จ้อน และตาทุ่ง ไม่เพียงถูกวางคาแรคเตอร์ไว้อย่างมีเอกลักษณ์ เป็นสัญลักษณ์แทนพืชสวนชนิดต่าง ๆ แต่ยังทำหน้าที่สื่อสารให้ความรู้ตามประเภทของพืช ให้คนทุกเพศทุกวัยเข้าใจง่ายขึ้น
ความสำเร็จจากการใช้มาสคอตในงานมหกรรมพืชสวนโลกในปี 2549 จึงมีการนำมาสคอตกลับมาใช้อีกครั้งในปี 2554 และปรับตัวการ์ตูนให้เป็นสามมิติมากขึ้น แต่กลับไม่เปรี้ยงเท่ากับครั้งแรก



พ.ศ. 2550
หนุ่มไปรษณีย์
หลังจากทำการรีแบรนด์ไปรษณีย์ไทยให้ทันสมัยขึ้น หนุ่มไปรษณีย์ สวมหมวกกันน็อคยิ้มกว้าง ขี่มอเตอร์ไซค์ส่งไปรษณีย์ภัณฑ์ มาสคอตตัวแรกของไปรษณีย์ไทยก็ได้โอกาสทำความรู้จักกับคนไทย พร้อมภาพลักษณ์การให้บริการที่เป็นมิตร ฉับไว เนื่องจากมีที่ทำการไปรษณีย์อยู่ทั่วประเทศ แถมหนุ่มไปรษณีย์ยังถูกจับไปอยู่ในแสตมป์ ซองเอกสาร และของที่ระลึกต่าง ๆ ทำให้ใคร ๆ ก็จำมาสคอตหนุ่มไปรษณีย์ได้



พ.ศ.2550
จ่าเฉย
จากหุ่นตำรวจจราจรตัวที่โรงพยาบาลวิภาวดีมอบให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลไว้ประจำตามสี่แยก เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้คนทำผิดกฎจราจร สองปีต่อมาเมื่อคนคุ้นชินกับจ่าเฉย หุ่นจึงถูกปลดประจำการไปพักใหญ่ ก่อนจะกลับมาอีกครั้งพร้อมคู่หู หมวดช่วย ในฐานะมาสคอตของตำรวจไทย เดี๋ยวนี้จ่าเฉยถูกดันดาราเข้าวงการการ์ตูน และปรากฏตามสื่อต่าง ๆ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว


Did you know?
ความหมายของมาสคอต
คำว่า mascot มาจากศัพท์ภาษาฝรั่งเศสว่า mascotte แปลว่าตัวนำโชค คำนี้ได้รับการบันทึกไว้เป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1867 และเป็นที่รู้จักจากชื่อละครโอเปร่า "La Mascotte" ที่จัดแสดงในปี 1880 จากนั้นจึงถูกปรับใช้ในภาษาอังกฤษเมื่อปี 1881

รู้จักกับ Nila
+ นิลาเป็นสิงโตตัวผู้
+ "นิลา" มาจากชื่อของเจ้าชาย แสง นิลา อุตมะ (Sang Nila Utama) ผู้ค้นพบเกาะสิงคโปร์
+ แผงคอสีแดงคล้ายเปลวไฟหมายถึง ความหลงใหลในกีฬา
+ ใบหน้ารูปหัวใจหมายถึง มิตรภาพที่เกิดขึ้นระหว่างการแข่งขัน



game
ลองทายดูว่ามาสคอตเหล่านี้เป็นของสโมสรฟุตบอลไทยทีมใดบ้าง



เฉลย
1.กิเลนผยอง เอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด
2.กว่างโซ้งมหาภัย เชียงราย ยูไนเต็ด
3.ปีศาจปู สมุทรปราการ ยูไนเต็ด
4.สิงห์เจ้าท่า การท่าเรือ เอฟซี
5.กูปรีอันตราย ศรีสะเกษ เอฟซี
6.สวาทแคท นครราชสีมา เอฟซี
7.ฉลามชล ชลบุรี มาสด้า เอฟซี 


ข้อมูลอ้างอิง
"โก๋แก่ มันทุกเม็ด ถั่วพันล้าน บินไกลถึงต่างแดน รุกตลาดสู่ King of Nuts" ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ www.prachachat.net
"น้องสุขใจ มัคคุเทศก์ตัวน้อยพาเที่ยวทั่วไทย" ASTV ผู้จัดการออนไลน์ www.manager.co.th
"มาสคอสพืชสวนโลก" สาขาพืชผัก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ www.agric-prod.mju.ac.th
"ไม่เสียเปล่า" ไทยรัฐออนไลน์ www.thairath.co.th
"ยิ้มคุณภาพปี 2550 ส่งถึงบ้านจากไปรษณีย์ไทย" นิตยสาร Positioning www.positioningmag.com
28th SEA Games Mascot - Nila www.seagames2015.com
สมาคมสร้างสรรค์ไทย www.magiceyes.or.th 

ที่มา : นิตยสาร plook ปีที่ 5 ฉบับที่ 54 มิถุนายน 2558 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow