Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

W POWER เมื่อผู้หญิงสวมหมวกผู้ชาย

Posted By Plook Magazine | 02 ส.ค. 56
1,360 Views

  Favorite


เรื่อง: ศรินทร เอี่ยมแฟง


เมื่อว่ากันด้วยเรื่องอาชีพ ทฤษฎีความแตกต่างทางสมองระหว่างผู้ชายผู้หญิงที่ว่า ผู้ชายมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์มากกว่าผู้หญิง หรือผู้หญิงมีความสามารถด้านภาษามากกว่าผู้ชาย อาจจะไม่ใช่เรื่องจำเป็นอีกต่อไปเมื่อเทียบกับความรู้ความสามารถของคนๆ นั้น เราจึงมีโอกาสรู้จักกับนักบินอวกาศหญิง หรือนักบัลเล่ต์ชาย(แท้) รวมไปถึงอาชีพต่างๆ ที่ผู้หญิงก้าวข้ามมารับบทบาทไม่ต่างจากผู้ชาย ความรับผิดชอบ ความทุ่มเท ไอเดียความคิดสร้างสรรค์ แรงกายแรงใจมาเต็มร้อยไม่แพ้ชายอกสามศอกแบบนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับหนุ่มสาวรุ่นใหม่จริงๆ
 

ปลัดอำเภอ
ป.แตน
- ว่าที่ ร.ต.หญิง สมพร ประดิษฐ์
ปลัดอำเภองานป้องกัน อ.เสาไห้ จ.สระบุรี

ปลัดอำเภอทำงานทุกบทบาท โดยเนื้องานคือการเข้าไปดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั้งหมด เราต้องลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้าน รับผิดชอบเรื่องความมั่นคงทั้งหมด เช่น การปราบปรามยาเสพติด การช่วยเหลือผู้ประสบภัย การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การรักษาความสงบเรียบร้อย จัดระเบียบสถานบันเทิงสถานบริการ ปราบปรามพอๆ กับตำรวจเลย

ปลัดอำเภอเป็นข้าราชการกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย เป็นผู้ช่วยนายอำเภอ ท่านเป็นผู้บริหารสูงสุด ด้วยสายงานของเรามาทางนี้ มีอำนาจเต็มในเรื่องการปราบปรามโดยเฉพาะ ต้องถือปืน ต้องเรียนผู้บังคับหมวดอาสารักษาดินแดน เรียนยุทธวิธีทางการรบ การจับกุมผู้ร้ายจับกุมผู้ค้ายาด้วยตัวเอง

การเป็นปลัดอำเภอเมื่อก่อนเหมือนจะโก้ดูดี แต่จริงๆ แล้วแบกภาระร้อยแปด ตั้งแต่เด็กเราอยากเป็นปลัดอำเภอ เพราะการเป็นปลัดอำเภอมีอำนาจในการตัดสินใจที่จะช่วยเหลือคนได้เยอะกว่า การบริหารจัดการหรือติดต่อกับส่วนราชการค่อนข้างสะดวก ในสภาพความเป็นชุมชน ชาวบ้าน กำนัน ผู้ใหญ่บ้านยังคงเคารพนายอำเภอหรือปลัดอำเภอ เราก็รู้สึกว่าอยากเป็นผู้นำและพาเขาทำในสิ่งดีๆ ตอนเราเป็นตาสีตาสา เป็นชาวบ้านธรรมดา เวลาไปติดต่อราชการแล้วรู้สึกว่าโดนเอาเปรียบ เลยคิดว่าฉันต้องเป็นให้ได้และทำให้ดีกว่านี้

ความเป็นผู้หญิงมีความละเอียดอ่อน การตัดสินใจก็ค่อนข้างละเอียดกว่าผู้ชาย ปัญหาก็คือเราจะทำให้ชาวบ้านเชื่อมั่นกับผู้หญิงได้ขนาดไหน ยิ่งมารับงานด้านความมั่นคง เขาจะงงว่าทำไมต้องเอาผู้หญิงมาทำงานทั้งที่ผู้ชายมีเยอะ ก็ต้องทำให้เขาเห็นว่าผู้หญิงทำได้และดีกว่าผู้ชายด้วย มีผู้ใหญ่บ้านบอกว่าจะไหวหรือ ไม่รู้อะไรเสียแล้ว! เราก็ต้องออกแอคชั่นให้เห็นความเป็นผู้นำ กล้าคิด กล้าทำ กล้าเสี่ยง เวลาลงพื้นที่เราจะไม่ใช้คำสั่ง แต่ทำเองก่อนให้เขาเห็น แล้วเขาก็จะมาช่วยกัน

อยากทำหน้าที่ของข้าราชการที่ดีให้ได้มากที่สุด ก่อนออกจากวิทยาลัยการปกครอง (โรงเรียนปลัดอำเภอ) เราถวายสัตย์ไว้แล้วว่าจะเป็นข้าราชการที่ดีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เราคนหนึ่งที่เป็นผู้หญิง ถ้าทำแล้วให้ท่านได้ผ่อนคลายบ้าง คลายความกังวลบ้าง ก็ถือว่าเราได้ทำตามสัตย์ปฏิญาณที่ให้ไว้ได้


นักบิน
ปลา-ปารวี วาสิกะสิน 
นักบินผู้ช่วย (First Officer) ไทยแอร์เอเชีย

สมัยเด็กๆ มีโอกาสเข้าไปในค็อกพิทหรือห้องปฏิบัติการการบินกับคุณพ่อที่เป็นนักบิน ได้เห็นภาพที่ตื่นเต้นมาก การทำงานของนักบินก็น่าสนใจมากๆ แต่ก็ไม่คิดอะไรเพราะเราคิดว่าไม่มีนักบินผู้หญิงในสมัยนั้น พอโตขึ้นมาเราก็ไปเรียนในสิ่งที่เราชอบ จบก็มาทำบริษัทกราฟิกของตัวเอง ไปเป็นครีเอทีฟ แล้วออกไปเป็นแอร์โฮสเตส จนวันหนึ่งเพื่อนที่ไทยแอร์เอเชียบอกว่าเปิดรับนักบินและเปิดให้ผู้หญิงเป็น Student Pilot กระบวนการสอบทั้งหมด จนรู้ผลประมาณหกเดือน

การเรียนที่โรงเรียนการบินใช้เวลาประมาณหนึ่งปีนิดๆ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศหรือหลายๆ อย่าง เพื่อให้เราสามารถเก็บชั่วโมงบินได้ครบ พบจบจากโรงเรียนการบินก็จะต้องไป ground school อีกหกเดือน คือการเรียนเกี่ยวกับคู่มือ (manual) ต่างๆ และความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับบริษัทและเครื่องบินที่เราจะขับด้วย รวมขั้นตอนฝึกกับเครื่องซิมูเลเตอร์ (simulator) ตอนนี้ที่บริษัทมีเครื่องอยู่ประเภทเดียวคือ Airbus 320-200 แต่ต้องเรียนเครื่อง Boeing 737 ด้วย พอบินไปได้สักพักต้องเปลี่ยนเครื่องก็ต้องไปฝึกเครื่อง Airbus ใหม่

อาชีพนี้ไม่ได้เอาคนที่เก่งที่สุด แต่เขาจะหาคนที่เหมาะสมกับอาชีพมากที่สุด คุณสมบัติคร่าวๆ คือต้องมีความรับผิดชอบ ตรงต่อเวลา และไม่มีปัญหากับการทำตามกฎเกณฑ์ นอกจากนี้ก็ต้องเป็นคนใจเย็นและมีสติ เวลาเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินจะได้แก้ไขได้ถูกต้อง

จริงๆ มีผู้หญิงเป็นนักบินมาหลายปีแต่เราอาจจะยังไม่เห็นกัน ผู้หญิงกับผู้ชายต่างกันแค่สรีระ ความสามารถไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แค่ตรงนี้ บางทีการเป็นผู้หญิงอาจจะเป็นข้อได้เปรียบมากกว่าด้วย เพราะมีความประนีประนอมมากกว่า

แต่ละไฟล์ทที่เราบินต่างกันทุกวัน เราต้องรู้จักปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ โดยเฉพาะสภาพอากาศ เส้นทางบิน หรือหอบังคับการแต่ละที่ แม้แต่เพื่อนร่วมงานก็เปลี่ยนไปทุกวันด้วย แต่ละคนก็แต่ละสไตล์ หลากหลายดี ตอนนี้ชั่วโมงบิน 3,500 ชั่วโมง อีกนิดหนึ่งก็จะครบเกณฑ์คุณสมบัติกัปตัน อนาคตอันใกล้ก็อยากจะเป็นกัปตัน ตอนนี้บริษัทเรายังไม่มีกัปตันผู้หญิง
 



วิศวกร
แบต
-นาตยา วีระฉายา
วิศวกรโยธา

วิศวกรรมโยธาเกี่ยวกับการก่อสร้างอาคาร ถนน เขื่อน สะพาน งานคอนกรีต วิศวกรโยธามีหน้าที่หลายด้าน อาจจะไปคุมงานก่อสร้าง ออกแบบโครงสร้าง หรือทำเอกสาร เราทำความก้าวหน้าของงานว่าแต่ละโครงการไปถึงไหน ใช้เงินไปเท่าไหร่แล้ว จะถือแบบงานไปเช็คลิสต์หน้างานแล้วประเมินความก้าวหน้า ไล่ดูไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม นอกจากนี้ก็ทำ payment เบิกงวดงานให้กับผู้รับเหมา ตอนนี้ลูกค้ากำลังจะมาโอนห้องคอนโดก็ต้องไปตรวจรับห้องด้วย

การเป็นวิศวกรโยธาต้องมีความอดทนมาก ตอนแรกก็ห่วงสบายอยากอยู่แต่ออฟฟิศ แต่มีกรณีหนึ่งต้องประเมินความก้าวหน้าให้กับธนาคาร ถ้าเราประเมินไปมากกว่าก็เป็นผลกระทบกับบริษัท หลังจากนั้นเราเลยไปหน้างาน ซึ่งชอบนะ เหมือนเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น งานที่บริษัทมันดีเลย์พอสมควร เราอยากไห้ไซท์งานที่เราคุมเสร็จตามเวลา ได้งานที่มีคุณภาพ อยู่ในงบที่วางไว้ ลูกค้าไม่ติเรา งานก่อสร้างอาจจะมีกลุ่มคนเล็กๆ คุมงานก็จริง แต่ถ้าเราร่วมมือกันจริงๆ งานใหญ่แค่ไหนก็ต้องเสร็จทันเวลา ไม่ใช่ว่าจะทำงานอะไรก็ได้ ต้องถามตัวเองว่าเราทำดีสมกับที่เขาให้ความเชื่อใจเราไหม

มีคนสอนไว้ว่าต้องวางตัวให้ดี จะไปเรียกคนงานสนิทสนมก็ไม่ได้ อย่าไปเรียกคนงานว่าพี่ ให้เรียกว่าช่าง เพราะตอนนี้เราอาจจะเป็นเด็ก แต่อนาคตเราอาจจะเป็นผู้จัดการไซท์ ถึงจะเป็นผู้หญิง เราก็เป็นวิศวกร บางทีก็โดนแซว เราก็หันไปทำหน้าดุใส่แล้วเงียบเฉยไว้นิ่งไว้

เคยโดนสัมภาษณ์ว่ารู้ได้อย่างไรว่าผู้หญิงทำงานได้ ก็ตอบอย่างมั่นใจว่าทำได้และอาจจะทำได้มากกว่า เราอาจจะอ่อนโยนในการพูดต่อรอง อ่อนหวาน เพราะผู้ชายเวลาสั่งงานจะแรง

ไม่มีใครคิดว่าเราเป็นผู้หญิงด้วยซ้ำ เพราะเขามองว่าเราเป็นเด็กคนหนึ่ง บางทีก็โมโหว่าทำไมต้องไปช่วยงานที่หน้างานเสาร์อาทิตย์ เขาบอกว่ามั่นใจในตัวเรา แสดงว่าเขามองว่าผู้หญิงผู้ชายทำงานได้เหมือนกัน
 



ผู้กำกับภาพยนตร์
เนาว์
-เสาวนีย์ สังขาระ
เจ้าของโปรดักชั่นส์เฮาส์ Fly again Production House

ศิลปะการทำภาพยนตร์มีทั้งการถ่ายภาพ วาดภาพ ภาษา การเล่าเรื่อง ดนตรี ทั้งหมด เคยเป็นครูเป็นคนทำมูลนิธิมาเจ็ดปี แต่รู้สึกว่ามีบางอย่างขาด ก็ลาออกมาเปิดโปรดักชั่นเฮาส์ชื่อบินสิหรือ Fly Again เราอยากเปลี่ยนแปลงสังคมก็เลยเข้าไปคุยกับช่องไทยพีบีเอส อยากทำรายการโทรทัศน์เรื่องการศึกษาทางเลือก เรามองว่าการศึกษาไม่ได้อยู่ในสถาบันแต่อยู่ในชีวิต ในสังคม ในชุมชน เราเคยไปอยู่อเมริกามาแล้วสามปี เห็นว่าการศึกษาของอเมริกาไม่ใช่คำตอบของบ้านเราและไม่ใช่คำตอบของศตวรรษของใครเลย บ้านเรามีรากจากอินเดีย อินเดียมีรากของศาสนาพุทธและจิตวิญญาณ ถ้าเราต้องการหาความหมายของชีวิต  

เราก็ขายรถ ยืมเงินเพื่อน ไปซื้อกล้องไปอินเดียทำสารคดีเลย เราเรียนรู้จากความผิดพลาดมาก เคยไปเรียนคอร์สฟิล์มสั้นๆ ห้าอาทิตย์ก็ไม่ค่อยได้อะไร แต่สามปีที่อินเดียเราให้ปริญญาเอกด้าน filmmaker กับตัวเองได้เลย ตั้งแต่แรกที่ซื้อกล้องมืออาชีพตัวละสามแสน มีขาตั้งกล้องตัวใหญ่ มีโปรดิวเซอร์ ไดเร็กเตอร์ไปด้วย พอไปจริงๆ แล้วมันกดดันเรื่องกำไรขาดทุน สุดท้ายทีมงานกลับไปเพราะว่างบหมด เราอยู่ต่อทำเอง เลยกลายเป็นหน้าที่ทุกอย่าง เล่าเรื่อง ลงเสียง สุดท้ายเป็นคนแต่งเพลงเองอีก

มีคำพูดหนึ่งที่ชอบมากเลยคือ “Don’t think about it, jump off the cliff and build your wings on the way down” ตอนที่คิดจะทำเราไม่คิดมากเลย ถ้าเจอหน้าผาเราก็กระโดดลงไปเลย มันต้องใช้พลังใจเยอะในการค้นหาตัวเอง เรามีความกลัวแต่เราต้องเข้าใจความกลัวของเราแล้วเข้าไปเผชิญมัน แล้วก็ทำในสิ่งที่รักด้วยนะ ถ้าเราทำในสิ่งที่เรารักไม่รู้เรี่ยวแรงมันมาจากไหน คนหนึ่งอาจจะเดินทางสามสี่ปีไม่ได้ถ้าเขาไม่ได้ทำในสิ่งที่รัก ทุกวันตื่นขึ้นมาตีสี่นั่งเขียนบทเป็นเจ้านายตัวเองเรายังทำได้

ความเป็นผู้หญิงทำงานคนเดียวทำให้ได้รับความช่วยเหลือและร่วมมือด้วยซ้ำ เพราะเชื่อว่าถ้าไปเป็นทีมจะไม่ได้อะไรขนาดนี้ เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเห็นว่าผู้หญิงคนเดียวทำได้ยังไง เอาความกล้ามาจากไหน ตอนแรกอาจจะสงสาร ไม่จริงจังกับเรา มีมาทำเจ้าชู้ใส่ด้วย แต่พอเราเอาจริงเอาจังและเป็นมืออาชีพ เขาก็มองใหม่

งานนี้เป็นมาสเตอร์พีซ การค้นหาได้จบลงแล้ว ที่เหลือเป็นกำไรชีวิตที่แตกออกมาจากงานนี้ ตอนนี้ต้องทำต่อให้ได้ร้อยตอนรอบโลก ระหว่างการเดินทางสามปีได้ 30 ตอนแล้ว เรายังเขียนหนังสือนิยายรักที่จะสร้างเป็นละคร ได้บทหนังมาเรื่องหนึ่ง 
 

ปลา ปารวี แนะนำอยากเป็นนักบินต้องทำอย่างไร
https://www.trueplookpanya.com/plook/the_story_32_1

ค้นหาตัวตน และความถนัดทางอาชีพที่ แบบทดสอบค้นหาตัวเอง (ทางอาชีพ)
https://www.trueplookpanya.com/plook/the_story_32_2

เจาะลึกอาชีพใหม่ ๆ สำหรับคนรุ่นใหม่ในรายการ "อาชีพนอกกระแส"
https://www.trueplookpanya.com/plook/the_story_32_3

 

ที่มาของเนื้อหา : นิตยสาร plook

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow