Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ลูกชอบพูดคำหยาบจะแก้ไขได้อย่างไร

Posted By Plook Parenting | 16 มี.ค. 60
6,333 Views

  Favorite

ปัญหาหนักใจอีกอย่างหนึ่งที่คุณพ่อคุณแม่มักพบเจอเมื่อลูกน้อยเริ่มโตจนพูดรู้เรื่อง คือการพูดคำหยาบ ไม่ว่าจะติดมาจากที่โรงเรียน คนรอบข้าง หรือการดูโทรทัศน์

 

ปัญหาการพูดคำหยาบในเด็กเล็ก ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมเลียนแบบจากสิ่งที่พบเห็น ถึงแม้เด็กจะไม่เข้าใจความหมายของคำนั้น ๆ หรือรู้เพียงครึ่ง ๆ กลาง ๆ แต่เมื่อพบเห็นบ่อยครั้ง หรือเห็นคนใกล้ตัวพูดกัน เด็กก็จะลองพูดบ้าง และเมื่อเห็นว่าคำพูดเหล่านั้นดึงดูดความสนใจจากพ่อแม่ได้ เพราะพ่อแม่รีบหันมาหา หรือผู้ใหญ่บางคนหัวเราะเอ็นดู เด็กก็จะเข้าใจว่าการพูดคำเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดี หากคุณพ่อคุณแม่ปล่อยปละละเลย ไม่หาวิธีการแก้ไขพฤติกรรมเหล่านี้ ลูกอาจพูดคำหยาบจนติดเป็นนิสัยไปจนโต ซึ่งส่งผลเสียต่อบุคลิกและภาพลักษณ์ของเด็กเอง

 

ภาพ Shutterstock

 

วิธีการ

1. สอบถามลูกว่าได้ยินถ้อยคำเหล่านี้มาจากไหน

คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรโกรธหรือรีบลงโทษเมื่อได้ยินลูกพูดคำหยาบในทันที ควรสอบถามด้วยความใจเย็น เมื่อรู้ว่าเด็กจดจำคำหยาบเหล่านั้นมาจากไหน ให้อธิบายด้วยเหตุผลว่าคำใดเป็นคำไม่สุภาพ คำใดควรพูดไม่ควรพูด โดยชี้ให้เห็นว่าหากพูดคำเหล่านี้ออกไป จะทำให้คนฟังรู้สึกไม่สบายใจ และยังทำให้ลูกเป็นเด็กไม่น่ารักอีกด้วย

2. สำรวจตัวเองและบุคคลใกล้ชิด

สำหรับเด็กเล็กอายุ 2-4 ปี พัฒนาการช่วงวัยนี้คือการเลียนแบบบุคคลใกล้ชิด หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตว่าคนใกล้ชิดของเด็กพูดคำหยาบใส่กัน หรืออุทานด้วยถ้อยคำไม่เหมาะสม ควรปรึกษากันเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมโดยด่วน ลด ละ เลิกการพูดถ้อยคำหยาบคายกันในบ้าน

3. คอยแนะนำเมื่อลูกดูโทรทัศน์

ทุกครั้งเมื่อลูกดูโทรทัศน์ ไม่ว่าจะเป็นละคร รายการโทรทัศน์ หรือการ์ตูน คุณพ่อคุณแม่ควรนั่งดูพร้อมกับลูก เมื่อมีคำหยาบคายและคำไม่สุภาพปะปนมา คอยอธิบายให้ฟังว่าคำนี้มีความหมายว่าอะไร และทำไมถึงไม่ควรพูดกับผู้อื่น เพื่อให้เด็กรู้จักคิดและเลือกใช้คำให้เหมาะสม

4. ฝึกให้เด็กมองโลกในแง่ดี

เด็กที่มีพื้นฐานทางอารมณ์ไปในทางบวก จะรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเอง เวลาโกรธก็จะไม่อาละวาดโวยวาย เพราะมีความยับยั้งชั่งใจมากกว่าเด็กที่มองโลกในแง่ร้าย และโมโหร้าย ฉะนั้นการหากิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กอารมณ์ดี มีจิตใจสงบ และแจ่มใส จะช่วยให้พฤติกรรมทั้งการพูดและการแสดงออกเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น

5.  ตั้งกฎเรื่องการพูดคำหยาบที่ชัดเจน

หากพบว่าลูกยังคงพูดคำหยาบอยู่ แม้จะพยายามอธิบายให้ฟังหลายครั้ง คุณพ่อคุณแม่ควรตั้งกฎในบ้านให้ชัดเจน เพื่อต่อรองว่าหากใครพูดคำหยาบ จะไม่ได้ทำในสิ่งที่ชอบ เช่น ไม่ได้กินขนม ไม่ได้ดูโทรทัศน์ ไม่ได้ออกไปเที่ยว ซึ่งกฎนี้กำหนดใช้กับทุกคนในบ้าน เพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ก็ไม่ควรพูดคำหยาบใส่กัน เพราะถือเป็นสิ่งที่ไม่ดี

 

การแก้ไขพฤติกรรมการพูดคำหยาบของลูกอาจต้องใช้เวลากว่าลูกจะเลิกพูดได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนและใจเย็น ไม่แสดงท่าทางไม่พอใจที่ลูกยังหลุดพูดคำหยาบบ้างบางครั้ง แต่ควรชื่นชมทุกครั้งที่ลูกไม่พูดคำหยาบ เพื่อเป็นกำลังใจให้เขาเห็นว่าการประพฤติตนดีและพูดจาไพเราะ ย่อมเป็นที่รักของทุกคนที่อยู่ใกล้ชิด

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow