Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีเสริมสร้าง Self-Esteem ของเด็ก

Posted By Plook Parenting | 13 มี.ค. 60
6,297 Views

  Favorite

ความภาคภูมิใจในตัวเอง (Self-esteem) เป็นความรู้สึกเชื่อมั่นในตัวเอง รักตัวเอง และเข้าใจตัวเอง ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้คุณพ่อคุณแม่ต้องช่วยลูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ลูกยังเด็ก

 

เมื่อความรู้สึกรักตัวเองมีมากขึ้นเรื่อย ๆ เด็กก็จะรู้สึกภูมิใจในตัวเอง รู้สึกถึงคุณค่าของตัวเอง และกลายเป็นเด็กที่มีความมั่นใจ แก้ปัญหาได้ดี ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์รอบตัวได้ง่าย อดทนต่อความลำบากได้ดี มีสุขภาพจิตใจแจ่มใส และเป็นเด็กที่มองโลกในแง่ดี

 

ความภูมิใจในตัวเองนับเป็นความรู้สึกที่สำคัญต่อพัฒนาการด้านจิตใจเป็นอย่างมาก เมื่อเด็กรู้จักรักและนับถือตัวเอง เขาก็พร้อมเปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ รอบตัวตลอดเวลา แม้จะเจอปัญหาก็เชื่อมั่นว่าตนเองจะผ่านพ้นไปได้ แต่เด็กที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง และรู้สึกไม่ดีกับตัวเองจะเป็นเด็กขี้วิตกกังวล กลัวสิ่งใหม่ ๆ กลัวความล้มเหลว แก้ปัญหาไม่ได้ และมักมองว่าตัวเองด้อยกว่าคนอื่นอยู่เสมอ หากปล่อยให้เด็กอยู่กับความรู้สึกด้านลบอย่างนี้ต่อไปอาจส่งผลให้เด็กเติบโตขึ้นกลายเป็นคนเก็บกด ซึมเศร้า มองโลกในแง่ร้าย และมีปมด้อยได้

 

ภาพ Shutterstock

 

วิธีการ

1. มอบความรักความอบอุ่นตั้งแต่เล็ก

การแสดงความรักต่อกันในครอบครัว พร้อมทั้งชมเชยให้เด็กรู้ว่าพ่อแม่ภูมิใจในตัวเขามากแค่ไหน เป็นหนึ่งในแรงผลักดันที่ช่วยส่งเสริมความภาคภูมิใจในตัวเองของเด็กได้เป็นอย่างดี เพราะเด็กที่เติบโตขึ้นมาท่ามกลางความรักความอบอุ่นของครอบครัวจะรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและเป็นที่รัก

 

2. สังเกตและดูแลความรู้สึกของลูก

หากคุณพ่อคุณแม่เห็นว่าเด็กมีความวิตกกังวล หรือเครียดเรื่องใดเรื่องหนึ่งมากเป็นพิเศษ ควรรีบเข้าไปถามและช่วยกันหาทางออกที่เหมาะสม เพราะหากปล่อยให้เด็กจมอยู่กับความเครียดต่อไป อาจฝังรากลึกกลายเป็นปมด้อยของเด็กได้ เช่น เด็กเรียนคณิตศาสตร์ไม่ทันเพื่อน ทำให้รู้สึกว่าตนเองเรียนไม่เก่ง หากคุณพ่อคุณแม่เข้าไปให้กำลังใจ และชี้ให้เห็นว่าเขาเก่งวิชาอื่นอีกตั้งมากมาย พร้อมทั้งช่วยเขาทบทวนบทเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ก็จะช่วยให้เด็กคลายความวิตกกังวลและความกดดันตัวเองลงได้

 

3. ช่วยลูกค้นหาความถนัดของตัวเอง

หากลูกมีความรู้สึกกังวลใจตลอดเวลา ลองค้นหาความถนัดของลูกและส่งเสริมให้เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของลูก เพื่อให้ลูกเกิดความรู้สึกภาคภูมิใจในตัวเอง พร้อมกันนั้นหากลูกมีปมด้อยหรือสิ่งที่ไม่ถนัด ก็ช่วยเป็นแรงสนับสนุนให้ลูกพยายามทำสิ่งนั้นให้ดีขึ้นโดยไม่ต้องเปรียบเทียบกับคนอื่น เพราะทุกคนย่อมมีสิ่งที่ถนัดและไม่ถนัดด้วยกันทั้งนั้น

 

4. ส่งเสริมกิจกรรมดี ๆ แก่ลูก

เมื่อมีเวลาว่าง หรือวันหยุด คุณพ่อคุณแม่อาจพาลูกไปเข้าร่วมกิจกรรมใหม่ ๆ เพื่อให้เขาได้พบปะกับเพื่อนใหม่ ได้ทำงานเป็นทีม และได้ทำกิจกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ อาทิ กิจกรรมอาสาสมัคร การทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม เพื่อสร้างความมั่นใจและความรู้สึกเชิงบวกให้แก่ลูก ให้เขารู้สึกภูมิใจที่ได้ทำประโยชน์เพื่อผู้อื่นและสังคม

 

5. สร้างบรรยากาศที่ดีในบ้าน

บ้านที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่น ย่อมส่งผลดีต่อพัฒนาการเด็กไม่ว่าจะเป็นสมอง ร่างกาย และจิตใจ หากบรรยากาศในบ้านเต็มไปด้วยความขัดแย้ง พ่อแม่ทะเลาะกัน ลูกอาจกลายเป็นเด็กเก็บกด ซึมเศร้า และรู้สึกไม่ดีกับตัวเองได้ ฉะนั้นพ่อแม่ไม่ควรทะเลาะหรือเถียงกันต่อหน้าเด็ก หรือหาวิธีปรับความเข้าใจกันอย่างสันติ เพื่อไม่ให้กระทบต่อจิตใจของลูก

 

การเสริมสร้างความมั่นใจของเด็ก ต้องค่อย ๆ สะสมตั้งแต่เล็ก หากเด็กมีพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดี มีความเชื่อมั่นในความรักของครอบครัว และมั่นใจในตัวเอง จะช่วยเปิดโอกาสให้เด็กมีพัฒนาการการเรียนรู้ที่กว้างไกลและแปลกใหม่ขึ้น นำไปสู่การเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพในอนาคตต่อไป

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow