Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กฝึกงาน : DreamMaker แอพออมเงินสร้างฝัน

Posted By Plook Magazine | 27 ส.ค. 57
1 Views

  Favorite

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก

DreamMaker แอพออมเงินสร้างฝัน

แอพพลิเคชั่น DreamMaker

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโครงการส่งเสริมสุขภาวะองค์กรด้วยการส่งเสริม การจัดการความรู้ด้านความรับผิดชอบต่อทางการเงินระดับบุคคล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดตัวทีมผู้ชนะเลิศในการแข่งขันพัฒนาแอพพลิเคชั่นด้านการเงิน (Financial Mobility Apps Awards 2014) ในโครงการ “Smile Money ยิ้มง่ายๆ กับชีวิตเรื่องการเงิน” ได้แก่ ทีมนิสิตจาก ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ผู้พัฒนา แอพพลิเคชั่น DreamMaker ที่มีดีไซน์น่ารักทันสมัย และมีรูปแบบการใช้งานง่าย เพื่อกระตุ้นการบริหารเงินออมให้เป็นไปตามความฝัน

What is your dream?

DreamMaker เป็นแอพพลิเคชั่นการจัดการด้านเงินออมสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยมีคาแร็คเตอร์ “คุณถุงเงิน” ทำหน้าที่ดูแลบัญชีรายรับ รายจ่าย รวมถึงบัญชีเงินออม พร้อมฟังก์ชั่นสรุปภาพรวมของบัญชีในรูปแบบแผนภูมิวงกลมที่ชัดเจน แอพพลิเคชั่นนี้จะคำนวณจำนวนเงินที่ต้องออมในแต่ละวัน จึงเหมาะสำหรับคนที่มีความฝันหรือมีเป้าหมายในการใช้เงินสะสม เช่น ซื้อบ้าน ซื้อรถ เรียนต่อ

แคท-อริสรากรณ์ ศิลานุวัฒน์ เล่าที่มาของการออกแบบแอพพลิเคชั่นว่า “ตอนแรกเราคุยว่าจะออมเงินอย่างไรดี แล้วอยู่ดีๆ ก็มีคนถามขึ้นมาว่าแคทฝันอยากเป็นอะไร อยากได้อะไร แคทบอกว่าฝันอยากเปิดธุรกิจส่วนตัว และเคยได้ยินว่ามีคนฝันว่าอยากเกษียณอายุตอนไม่เกิน 50 ระยะเวลานี้แคทก็ต้องเก็บเงินเพื่อที่จะเปิดธุรกิจให้ได้ ส่วนคนที่อยากเกษียณตอนอายุ 50 ปี ก็ต้องเก็บเงินเพื่อให้พอใช้ในระยะเวลาที่เหลือ เราเลยคิดว่าทำไมไม่ใช้ความฝันพวกนี้เป็นเป้าหมายในการทำแอพล่ะ จุดประสงค์คือช่วยให้คนออมเงินได้ตามเป้าหมาย”

 แอพพลิเคชั่น DreamMaker

Let’s make your dream come true

การสร้างแอพพลิเคชั่นประกอบด้วยหลายองค์ประกอบ สมาชิกแต่ละคนรับหน้าที่ไปตามความสามารถที่แตกต่างกัน โดยเริ่มต้นทำงานจากสมุดเพียงหนึ่งเล่ม กิ๊ฟ-วทันยา นรเศรษฐกมล เริ่มต้นเล่าว่า “เรื่องการออกแบบยกให้กิ๊ฟกับ หมิว (ธันวณัฐ เจียมเจตจรูญ) ส่วนแคทกับ แอน (วรวรรณ สุทาตาร์) จะเขียนโปรแกรมเขียนโค้ด มีสมุดมาเล่มหนึ่ง ก็ช่วยกันวาดรูปว่าแอพจะมีหน้าตาอย่างไร ตรงนี้ต้องมีตัวนี้นะ เขียนปุ่มตรงนี้ ต้องมีกราฟตรงนี้ เป็นโครงร่างให้หมิวออกแบบได้ พอได้แนวคิดก็ไปปรึกษาอาจารย์ให้ช่วยตบคอนเซ็ปต์ให้เข้าที่เข้าทาง”

แอนแนะนำว่าการหาข้อมูลเปรียบเทียบกับแอพพลิเคชั่นที่มีอยู่แล้วจะช่วยให้มีไอเดียในการสร้างแอพพลิเคชั่นใหม่ “เราต้องศึกษาว่าแอพอื่นเขาเป็นอย่างไร มีข้อเสียอย่างไรเราก็จะไม่ทำ เราออกแบบให้ต่างออกไป เพราะถ้าซ้ำกันคนก็ไม่ใช้อยู่ดี

“พอได้คอนเซ็ปต์ก็เริ่มวางเนื้อหาว่าแต่ละหน้าจะมีข้อมูลอะไรบ้าง หมิวรับส่วนนี้ไปออกแบบ แล้วส่งไปเขียนโค้ดต่อ โดยแอนเป็นตัวหลักในการคำนวณ พวกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยแคทจะทำค่ะ”  หมิวเสริมถึงกระบวนการผลิตจนจบ

ขั้นตอนสุดท้ายคือการทดลองใช้ น้องๆ มีโอกาสนำผลงานไปให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการสร้างแอพพลิเคชั่นทดลองใช้และให้คำปรึกษาเพื่อความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น “แคทฝึกงานที่บริษัทเขียนแอพในช่วงนั้นพอดี เลยขอให้พี่เทสเตอร์ลองดูว่าโอเคไหม คนจะใช้เป็นไหม พี่เขาก็บอกว่าอย่างนี้ได้นะ เราก็ลุยกันต่อเลย มีเอาไปให้หม่าม๊ากับพี่ลองเล่นด้วยค่ะ ถ้าหม่าม๊าใช้เป็นแสดงว่าทุกคนต้องใช้เป็นแน่นอน” “แคท” หยอดมุก

Dream bigger

หลังจากคว้ารางวัลชนะเลิศเป็นผลสำเร็จ โมเดลแอพพลิเคชั่น DreamMaker กำลังอยู่ในช่วงการพัฒนาต่อโดยบริษัทแอพพลิเคชั่นมืออาชีพ ให้กลายเป็นแอพพลิเคชั่นที่อัจฉริยะยิ่งขึ้นและพร้อมสำหรับการขายในอนาคต

“เราต้องพัฒนาต่อให้แอพช่วยคนได้มากกว่านี้ค่ะ ต้องทำให้มันฉลาดกว่านี้ ผู้ใช้จะมีความภูมิใจเล็กๆ ที่เดี๋ยวฉันจะสร้างบ้านได้แล้วนะ หรือกระตุ้นให้ผู้ใช้มีเป้าหมายในการออมเงินด้วย ไปถามบางคนว่าทำไมออมเงินแล้วเก็บเงินไม่ได้สักที เขาบอกว่าไม่รู้ว่าจะออมไปทำอะไร”

“อย่างน้อยผู้ใช้แอพก็ได้กำลังใจที่ไปให้ถึงฝัน” คำพูดปิดท้ายของแอนแสดงถึงความตั้งใจของเด็กรุ่นใหม่สี่คนที่ต้องการสนับสนุนทุกความฝันให้เป็นไปได้ เช่นเดียวกับความสำเร็จของพวกเขาในวันนี้

 

ที่มา: นิตยสาร plook ฉบับที่ 45 เดือนกันยายน 2557

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow