Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กฝึกงาน : นักแม่นปืนเยาวชน

Posted By Plook Magazine | 01 ก.ค. 57
1 Views

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

นักแม่นปืนเยาวชน

 กีฬายิงปืน

สำหรับชายฉกรรจ์ ปืนคืออาวุธร้ายแรงที่สร้างความเสียหายถึงแก่ชีวิต ไม่มีใครอยากแตะต้องปืนหากไม่จำเป็น แต่สำหรับหญิงสาวหน้าตาน่ารักที่เราคุ้นหน้าคุ้นตาจาก “37.5 The Stories” ซีรีส์ครอบครัวอลวน ลูกเกด-กีรติกา เจริญไชย ชั้น ม.4 จากโรงเรียนเซนต์ฟรังซีสเซเวียร์ การยิงปืนคือกีฬาที่เธอชื่นชอบและทำได้ดี จากงานอดิเรกจึงกลายเป็นการฝึกฝนอย่างจริงจัง และก้าวสู่การเป็นตัวแทนนักกีฬายิงปืนเยาวชนทีมชาติไทย

 

กีฬายิงปืน

เริ่มต้นจากการชักชวนของคุณพ่อที่ชอบยิงปืน “เกด” รู้จักกับกีฬายิงปืนตั้งแต่อายุ 13 ปี “ที่สมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จะมีสนามยิงปืนที่ใครจะมาฝึกยิงปืนก็ได้ ตอนนั้นมีคอร์สอบรมภาคฤดูร้อนค่ะ พอเรียนจบก็ให้ครูที่สอนมาช่วยสอนตัวต่อตัวเพิ่มเติม ตอนที่เกดเรียนไม่มีใครยิงปืนเป็นเลย อาจารย์ก็สอนว่าลองศูนย์ปืนอย่างนี้ การเล็งมีแบบนี้ แล้วแต่เรา เดินไกปืนอย่างนี้ แนะนำเป้า กระสุน รวมถึงท่ายืนแบบพื้นฐานควรจะยืนแบบนี้ หายใจอย่างนี้”

หลายคนมองว่าการให้เด็กจับปืนผาหน้าไม้เป็นเรื่องอันตรายเกินไป ความจริงก็คือในการฝึกฝนยิงปืนจะใช้ปืนอัดลมเพื่อความปลอดภัยไว้ก่อน “ตอนเรียนจะใช้ปืนอัดลมแบบแก๊สอัดออกซิเจนค่ะ ก่อนที่จะมาเรียนภาคฤดูร้อน คุณพ่อกับคุณแม่ก็จะหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่ามีสนามยิงปืนที่ไหนบ้าง พอรู้ว่ามีสนามที่อยุธยาก็ไปลองยิงแบบพาดยิงสำหรับคนตัวเล็กก่อน แล้วก็มารอเรียนพื้นฐานที่นี่ เพื่อนส่วนใหญ่ก็รุ่นๆ เดียวกันและก็มีโตหน่อยค่ะ”

 

เส้นทางนักกีฬาเยาวชนทีมชาติไทย

จากกิจกรรมในเวลาว่าง “เกด” ให้เวลากับการฝึกฝนอย่างจริงจัง จนพัฒนาทักษะเป็นนักกีฬาแม่นปืนและได้รับโอกาสในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาเยาวชน กีฬานักเรียน และสโมสร รวมถึงการเดินทางไปแข่งขันยังต่างประเทศ

 

ในส่วนของการคัดตัวกีฬาเยาวชน “เกด” เล่าว่า “คุณแม่สนับสนุนให้ไปสมัครค่ะ เริ่มจากยิงแข่งก่อนเพื่อแบ่งเป็นทีมสองทีม จากนั้นจะเว้นระยะไปพักหนึ่งก่อนจะมีการคัดเลือกตัวแทนระดับภาค เป็นเขตๆ ถ้าติดถึงจะได้ไปแข่งกีฬาเยาวชน คัดสองรอบค่ะ กีฬายิงปืนไม่ได้แบ่งรุ่นย่อยเหมือนกีฬาประเภทอื่น รุ่นเยาวชนก็เยาวชนไปเลย อย่างกีฬาอื่นมีแบบอายุไม่เกิน 16 ไม่เกิน 15 ปี นักกีฬารุ่นเกดมีประมาณสิบกว่าคน แบ่งหญิงชาย ปืนสั้นปืนยาว ต่างคนต่างซ้อม กระสุนใครกระสุนมัน ถ้าไม่ได้ไปแข่งด้วยกันหรือว่าได้อยู่ทีมเดียวกัน”

 กีรติกา เจริญไชย

“ยิงให้เข้าเป้า” กติกาการแข่งขันของกีฬายิงปืนไม่ซับซ้อน แค่วัดคะแนนจากความแม่นยำ “เกด” อธิบายคร่าวๆ ว่า “ถ้าเป็นผู้หญิง ประเภทปืนสั้น ก่อนจะแข่งขันต้องชั่งไกก่อนว่าไกผ่านไหม และต้องเข้ากล่องเอาปืนใส่กล่องว่าผ่านไหม ถ้าทุกอย่างผ่านก็คือลงช่อง โดยก่อนที่จะมีแข่งวันหนึ่งจะมีการประกาศรายชื่อออกมาว่าใครอยู่ช่องไหน พอถึงวันแข่งนักกีฬาจะได้เวลาทดสอบศูนย์ 15 นาทีก่อนเริ่มยิงจริง ผู้หญิง 40 นัด 50 นาทีสำหรับเป้าอิเล็กทรอนิกส์ แต่ถ้าเป็นเป้ากระดาษจะมีเวลาให้ชั่วโมงหนึ่ง ช่วงก่อนหมดเวลาสิบนาที หรือห้านาทีก็จะประกาศเตือน สุดท้ายพอแข่งเสร็จอาจจะมีสุ่มตรวจอีกทีว่าช่องนี้ให้ไปชั่งไกใหม่ค่ะ”

 

สมาธิคือสิ่งสำคัญ

กีฬายิงปืนถือได้ว่าเป็นกีฬาที่ใช้สมาธิสูงค่อนข้างสูง แต่สิ่งที่ได้กลับมาก็คือสมาธิเช่นเดียวกัน ในการแข่งขันแต่ละนัดสิ่งมีอิทธิพลต่อนักกีฬา “เกด” บอกว่า “คู่แข่งก็มีอิทธิพลกับเรา อย่างเช่น สมมติว่าถ้าเราอยู่หลังคนที่ยิงดีแล้ว ก็จะเอามากดดันตัวเอง และถ้าเกิดว่าคนที่ยืนข้างเราเดินเข้าเดินออกบ่อยหรือยุกยิก ก็จะเสียสมาธิได้ สภาพแวดล้อมด้านข้างก็คือเกี่ยวเหมือนกัน ทั้งเสียง เสียงดัง อากาศเย็น แสงก็เกี่ยว และสิ่งที่กดดันมากที่สุดคือตัวเอง ต้องพยายามคิดถึงตอนซ้อมเยอะๆ คิดถึงเทคนิคเยอะๆ อย่าคิดถึงคะแนนค่ะ”

อาจจะดูเหมือนเป็นกีฬาที่ค่อนข้างเครียดและกดดัน แต่สิ่งที่ได้รับมีค่ามากกว่านั้น “เกด” เล่าว่า “ได้สมาธิเพิ่มขึ้นค่ะ ได้ประสบการณ์ รู้จักคนเพิ่มขึ้น ได้รู้วิธีจัดการกับตัวเองเพราะว่าเกดทำหลายอย่างต้องไปเรียน บางทีมีถ่ายงาน และมีซ้อมด้วย กีฬาประเภทนี้อาจจะดูเครียด  แต่ถ้ายิงปืนจริงอาจจะไม่เครียด เหมือนได้ผ่อนคลายมันจะตู้มๆ ได้เสียง จะสนุก แล้วยิงก็ยิงเอามันปลดปล่อย แต่แบบพอมายิงแข่งขันแบบนี้เหมือนกับต้องคิดทุกนัดค่ะ ว่านัดนี้เราต้องแบบยิงอย่างนี้ต้องเล็งอย่างนี้ ต้องเดินไกแบบนี้ แล้วไหนจะคะแนนที่ออกมาอีกค่ะ

สำหรับผู้ที่สนใจกีฬายิงปืน สามารถมาได้ที่สมาคมกีฬายิงปืนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สนามกีฬายิงปืนหัวหมาก หรือ สนามยิงปืน ศรภ. รามอินทรา 17

 

ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 42 เดือนมิถุนายน 2557

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow