Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กฝึกงาน : เรียงเบลอ...เปลี่ยนชีวิต

Posted By Plook Magazine | 30 มิ.ย. 57
253 Views

  Favorite

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก

เรียงเบลอ...เปลี่ยนชีวิต

โครงการ ASA 101

“เรียงเบลอ” คลิปวิดีโอนำเสนอการแก้ปัญหาพฤติกรรมผู้ใช้บริการรถตู้ที่ขาดระเบียบวินัยในการรอคิว ซึ่งพบเห็นบ่อยครั้งในสังคมเมือง ด้วยวิธีการติดป้ายตัวเลขคิวบริเวณวินรถตู้ภายใต้งบประมาณร้อยเดียว แต่สามารถแก้ปัญหาได้ทันที ไอเดียโดนๆ นี้เป็นของนักศึกษา ภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งคว้ารางวัลขวัญใจมหาชนจาก โครงการ ASA 101 ของสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประจำปีนี้

ออกแบบเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดี
โครงการประกวด ASA 101 “Borderless: แข่งขัน...แบ่งปัน” จัดขึ้นโดยสมาคมสถาปนิกสยาม หรือ “อาสา” เพื่อสนับสนุนให้นักศึกษาสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ นำเสนอผลงานสร้างสรรค์พื้นที่หรืออุปกรณ์ใช้สอยขนาดเล็ก ที่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

“ทาง ‘อาสา’ จัดประกวดออกแบบและการจัดบูธทุกปี แต่ละปีจะให้โจทย์มาแตกต่างกันซึ่งปีนี้เกี่ยวกับอาเซียน ภายใต้แนวคิดแบ่งปัน โดยให้โจทย์มาว่าเราจะแบ่งปันอย่างไรเมื่อมีเงินจำนวนน้อย มีเงิน 101 บาทจะเอาไปพัฒนาหรือเอาไปสร้างงานสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถเปลี่ยนสังคมหรือแบ่งปันสิ่งต่างๆ ให้สังคมได้อย่างไร” โบ้-ทศพร เพ็งวิภาส และ โป้ง-รังสรรค์ เกิดบุญมี เป็นตัวแทนของทีมพูดถึงโจทย์ที่ต้องตีความให้ได้ พวกเขาเจาะจงลงไปที่การเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน “เราดูมาจากญี่ปุ่นช่วงที่เกิดอุทกภัยแล้วเขาต่อคิวกันเรียบร้อย ไม่เคยแซงคิวรับอาหารเลย รู้สึกว่าคนไทยทำไม่ได้แน่นอน เราต้องสื่อถึงคนในสังคมให้รู้สึก ก็เริ่มวิเคราะห์ว่าถ้าเราจะทำคลิปให้สังคมดูซึ่งคนส่วนใหญ่เป็นวัยทำงาน พฤติกรรมของเขาคือเช้าขึ้นรถไปทำงาน เย็นก็ต้องขึ้นรถกลับ ชีวิตจะอยู่กับการเดินทางตลอด เราก็เลยเจาะไปที่การคมนาคม ทั้งลงเรือ ขึ้นรถตู้ครับ” “โป้ง” เล่าให้ฟัง

“เรียงเบลอ” 3 นาที 101 บาท
นอกจากงบประมาณ 101 บาทแล้ว ข้อจำกัดอีกอย่างหนึ่งคือเวลาในการนำเสนอในรูปแบบของคลิปวีดีโอ โดยเนื้อหาภายใน 3 นาทีต้องครอบคลุมประเด็นปัญหาที่สนใจ แสดงวิธีการแก้ไขปัญหา และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังการทดลองใช้จริง

โครงการ ASA 101

“เราได้รับโจทย์นี้ก่อนสงกรานต์ ก็ทำเวิร์คช็อปกันทั้งรุ่นมีประมาณ 35 คน แบ่งกลุ่มละ 3 คน เพื่อตีโจทย์เรื่องปัญหาคมนาคม จนเหลือแนวคิดเดียวคือเรื่องการแซงคิวแล้วนำมาหาวิธีแก้กันต่อ ตอนแรกเราลองใช้วิธีขึงเชือก ขีดชอล์ก จนตกลงเป็นตัวเลข แล้วแบ่งกลุ่มกันไปลองทดลองจริงตามสถานที่ ทั้งตามท่าเรือ ฟู้ดคอร์ด บีทีเอส และวินรถตู้ สังเกตพฤติกรรม มีหลายที่ที่สำเร็จเหมือนกัน แต่วินรถตู้จะชัดเจนที่สุดเพราะสถานที่อื่นๆ คนใช้งานไม่เยอะ อย่างเรือต้องขึ้นลงเป็นหน้ากระดานทำให้ใช้ไม่ได้ ฟู้ดคอร์ดก็ไม่สามารถติดป้ายในระดับที่คนมองเห็น” “โบ้” เล่าถึงขั้นตอนการทำงานของโปรเจ็คต์ “เรียงเบลอ”

เมื่อทดลองแล้วประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย ทีมงานจึงให้ความสำคัญกับการถ่ายทำและตัดต่อคลิปเป็นลำดับถัดมา “ทำอย่างไรก็ได้ให้สื่อถึงคนให้เข้าใจ ที่เราเน้นการถ่ายทำจริงคืออยากจะทดลองว่ามันใช้ได้จริง ถ้าเราจะทำสิ่งประดิษฐ์อะไรออกมาเราไม่รู้ว่าคนใช้จริงแล้วได้ผลตอบรับอย่างไร”

ดัดนิสัย คนไทยชอบแซง
ความวุ่นวายริมถนนในเวลาเลิกงาน คิวรถตู้จอดเรียงยาว ผู้โดยสารหน้าตาอิดโรย คลิปวิดีโอเก็บภาพบรรยากาศที่คุ้นตาของคนเมือง ก่อนเปิดเผยภาพการทดลองง่ายๆ แต่ได้ผลอย่างไม่น่าเชื่อ สร้างความประทับใจในยูทูป ทำให้มียอดวิวกว่าสามหมื่นวิว ไม่รวมถึงการแชร์ในโซเชียลมีเดียอื่นๆ

“มันโดน! เพราะเราเจาะกลุ่มลูกค้าได้ค่อนข้างตรงมากกว่าครับ เรานำเสนอคลิปให้คนส่วนใหญ่ในสังคมดู วิเคราะห์ตั้งแต่แรกแล้วว่าคนทำงานเจอปัญหาแบบนี้ทุกวัน แล้วไม่รู้จะแก้อย่างไร พอคลิปนี้ออกมาผลตอบรับก็เลยดี” คำตอบของ “โป้ง” เมื่อถามถึงเหตุผลที่คว้ารางวัลมาได้ ขณะที่ “โบ้” ปิดท้ายด้วยรอยยิ้มว่า “เราเหมือนได้เปลี่ยนความคิดของคนในสังคม และยังเป็นการสร้างชื่อให้สาขาของเราเพราะว่าหลายคนไม่รู้ว่าเรา (ภาควิชาครุศาสตร์สถาปัตยกรรม) มีตัวตน อีกอย่างภูมิใจที่คนในสังคมให้การตอบรับ เราดีใจที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนได้ แม้จะเป็นจุดเล็กๆ ในสังคมใหญ่ๆ แต่ถ้ามีจุดเล็กๆ หลายๆ จุดที่คิดจะเปลี่ยนแปลงก็ทำให้สังคมมีระเบียบได้ครับ”

 

ชมคลิป “เรียงเบลอ” ผลงานนักศึกษา “ครุอุตสถาปัตย์” คลิกที่นี่

ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 30 เดือนมิถุนายน 2556

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow