Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

เด็กฝึกงาน : WiseMat แชมป์นวัตกรรมนำธุรกิจ

Posted By Plook Magazine | 30 มิ.ย. 57
1 Views

  Favorite

เรื่อง: กัลยาณี แนวเล็ก

WiseMat
แชมป์นวัตกรรมนำธุรกิจ

Asia Venture Challenge

“นวัตกรรมหินมวลเบาใช้ในการผสมคอนกรีตที่มีโอกาสทางธุรกิจ 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยพัฒนาแผนธุรกิจมาจากผลงานวิจัยของ สวทช.” แผนธุรกิจของทีม WiseMat อันประกอบด้วย ก้อง-ก้อง ธีรชุติมานันท์ บี-ชลดา โรจนรุ่งทวี ลูกน้ำ-กิตติกาญจน์ ตันธนะสฤษดิ์ และ พ็อค-พลภัทร เหล่าจรุงเภสัชกร นักศึกษาโครงการปริญญาโททางการตลาด หลักสูตรนานาชาติ (MIM) ม.ธรรมศาสตร์ สามารถคว้ารางวัลรองชนะเลิศ ารแข่งขันแผนธุรกิจประจำภาคพื้นเอเชีย Asia Venture Challenge ประจำปี 2556 และรางวัลชนะเลิศด้านการเสนอแผนธุรกิจในเวลา 60 วินาที

โอกาสของนวัตกรรมก่อสร้าง
“การทำธุรกิจเหมือนการสร้างบ้าน แผนธุรกิจเป็นการทำพิมพ์เขียวของการสร้างบ้านขึ้นมา เราอาจจะสร้างบ้านโดยไม่มีพิมพ์เขียวหรือไม่มีการออกแบบได้นะครับ แต่บ้านจะอยู่แข็งแรงหรือเปล่าก็อาจจะแล้วแต่ดวง แต่ถ้ามีวิสัยทัศน์และวิเคราะห์ทุกอย่างไว้ดี วางแผนให้ดี บ้านก็จะแข็งแรงและอยู่ได้นาน” “พ็อค” ให้นิยามของคำว่าแผนธุรกิจ

จากโปรเจ็คต์ที่ได้รับมอบหมายในชั่วโมงเรียน ทีม WiseMat แสดงความสามารถด้านการวางแผนธุรกิจระดับมืออาชีพ จนกลายเป็นตัวแทนรั้วโดมเข้าแข่งขันในระดับภูมิภาคเอเชีย “บี” เล่าว่า “เราหาโปรดักส์ที่เป็นนวัตกรรมใหม่เพื่อนำมาพัฒนาเป็นแผนธุรกิจ เราไปดูหลายชิ้นมากจนมาเจอโปรดักส์ที่เกี่ยวกับธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ ตัวบีเองทำงานอยู่ในวงการนี้อยู่แล้ว ก้องก็อยู่ในกลุ่มอสังหาฯ และวัสดุก่อสร้าง เราก็เลยรู้สึกว่าน่าจะเหมาะกับความสามารถของทีมเรา แผนธุรกิจนี้หลักๆ คือการวางตัวเป็นผู้ผลิตและผู้จำหน่ายหินมวลเบา ผลิตภัณฑ์ของเราจะเป็นตัวหินมวลเบาที่ใช้ทดแทนหินที่ใช้ในการผสมคอนกรีตในการก่อสร้างทั่วไป”

วางแผนดี มีชัยไปกว่าครึ่ง
WiseMat มีระยะเวลาสิบเดือนในการคิดแผนธุรกิจ ค้นหาตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อเจาะตลาด สร้างโอกาสทางธุรกิจให้ได้มูลค่า 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ทีมจะบริหารอย่างไรบ้างนั้น “ลูกน้ำ” เป็นตัวแทนบอกเล่าถึงกระบวนการทำงาน

Asia Venture Challenge

“ช่วงแรกจะเรียกว่า idea generation เราจะออกไปหาไอเดียในตลาดนวัตกรรมต่างๆ ช่วงที่สองเราจะต้องดูตลาด market validation ว่ามันมีตลาดสำหรับสิ่งนี้จริงหรือเปล่า และตลาดปัจจุบันเขาทำอะไรกันอยู่ แล้วปัญหาของมันคืออะไร และเราไปช่วยแก้ไขปัญหาในตลาดได้อย่างไร ถ้าเราผ่านพวกนั้นมาหมดแล้ว ส่วนที่สามก็จะเริ่มเอาข้อมูลต่างๆ มาวางเป็นแผนธุรกิจจริงๆ ว่าเราจะเข้าตลาดแบบไหนที่เหมาะสมที่สุด และจะขายลูกค้าอย่างไรให้ delivered value มากที่สุด

ด้วยความที่แต่ละส่วนมีรายละเอียดที่ต้องทำเยอะ เราต้องลงไปคุยกับนักวิจัยด้วยในส่วนแรก จากนั้นก็ต้องมาศึกษาตลาด กระบวนการตรงนี้เหมือนกับจะเสียเวลาในแง่ที่เราต้องออกไปคุยกับลูกค้าจริงๆ นอกจากนี้ยังไปคุยกับบริษัทหิน บริษัทปูนซีเมนต์และคุยกับผู้ใช้คือบริษัทอสังหาริมทรัพย์ด้วยค่ะ ขั้นตอนแรกนี่แหละที่ใช้เวลานานมากที่สุด แต่ถ้าเราเริ่มต้นได้ถูกต้อง ก็จะทำให้หนทางข้างหน้าง่ายขึ้น ตอนนั้นใช้เวลาประมาณสามสี่เดือนในการหาข้อมูล”

โปรเจ็คต์สร้างนักธุรกิจมืออาชีพ
จากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีความเป็นมืออาชีพต่างสาขากัน กลายเป็นจุดแข็งเมื่อพวกเขาสามารถใช้ความถนัดเฉพาะทางเหล่านั้นมาออกแบบแผนธุรกิจร่วมกันได้อย่างลงตัว โปรเจ็คต์ทางการตลาดของ WiseMat จึงประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติ ภายใต้แนวคิด Passion Driving Entrepreneurial Success จากการประกวดครั้งนี้

ในความคิดของ “ก้อง” ทีมเวิร์คที่เข้มแข็งแบบนี้เองที่นำมาซึ่งชัยชนะ “เรามีความถนัดคนละด้าน บีเองเป็นซีอีโอธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับหินและซีเมนต์ ลูกน้ำก็เชี่ยวชาญทางด้านไฟแนนซ์ ส่วนพ็อคจะเชี่ยวชาญด้านการผลิต ส่วนผมเองชำนาญด้านลูกค้าครับ”

“พ็อค” เสริมว่า “เราได้ประสบการณ์ระหว่างการทำงาน เราต้องนำเสนอผลงานหลายรอบกว่าจะได้แข่งเวทีนี้ ประสบการณ์การคิดการแก้ปัญหา การตอบคำถามเฉพาะหน้า อีกอย่างหนึ่งคือได้เจอคนที่มีความคิดเห็นหลายอย่าง เรียนรู้มุมมองของคนอื่นว่าเขามองจุดอ่อนของโปรเจ็คต์ว่าอย่างไร เราก็เก็บจุดนั้นมาพัฒนาและเป็นการฝึกวิธีคิดของเราเอง เวลาจะมองอะไรก็จะได้มองหลายๆ ด้าน นอกจากจะเห็นจุดอ่อนแล้วยังทำให้มองเห็นโอกาสที่ไม่เคยมองเห็นด้วยครับ”

 

ที่มา : นิตยสาร plook ฉบับที่ 29 เดือนพฤษภาคม 2556

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow