Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

กรวัฒน์ แห่ง Eko CEO อนาคตไกล

Posted By Plook Magazine | 07 ก.ย. 59
7,559 Views

  Favorite

 

 กรวัฒน์ แห่ง eko 
 CEO อนาคตไกล  

กรวัฒน์ แห่ง eko
กรวัฒน์ แห่ง eko


“ผมมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจหนึ่ง แล้วสร้างมันให้ไปไกลที่สุดเท่าที่จะไปได้” ย้อนไปเมื่อสี่ปีที่แล้ว เด็กหนุ่มคนหนึ่งเริ่มทำแอปพลิเคชันแชทเพื่อใช้ในกลุ่มเพื่อน และเขาก็พัฒนามันมาเรื่อย ๆ จนวันนี้กลายเป็น Eko แอปพลิเคชันที่องค์กรและบริษัทชั้นนำเลือกใช้เพื่อการสื่อสารในองค์กร และกำลังก้าวสู่ตลาดเอเชียอย่างเต็มภาคภูมิ นับเป็น CEO อายุน้อยที่ประสบความสำเร็จ ด้วยความคิดและความมุ่งมั่นที่โตเกินวัยของ ภู-กรวัฒน์ เจียรวนนท์ CEO แห่ง Eko Communications จึงทำให้เขาเป็นที่น่าจับตามองในโลกของธุรกิจเทคโนโลยีได้อย่างไม่ยากนัก
 

ก่อนที่จะเป็น CEO อายุน้อย

ผมเรียนที่เมืองไทยจนถึงอายุ 13 แล้วก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประจำที่รัฐนิวเจอร์ซีย์ 4 ปี ตอนอยู่ปีสองปีสามก็เริ่มคิดทำธุรกิจนี้ขึ้นมา แล้วก็ได้ทำต่อมาเรื่อย ๆ จนจบไฮสคูล หลังจากจบไฮสคูลก็ได้หยุดไปหนึ่งปี ผมก็กลับมาที่นิวยอร์กเพื่อมาเรียนต่อที่ Columbia University แล้วจึงกลับมาสานต่ออีกครั้ง พอธุรกิจโตขึ้นเรื่อย ๆ ก็เลยย้ายบริษัทกลับมาที่เมืองไทยเพื่อทุ่มเทให้กับมันอย่างเต็มที่ครับ
 

จุดเริ่มต้นของ Eko

ตั้งแต่เกิดมาก็เห็นคุณพ่อ (ศุภชัย เจียรวนนท์) คุณปู่ (ธนินท์ เจียรวนนท์) และคนรอบข้างทำธุรกิจต่าง ๆ แล้วมันเกิดประโยชน์ต่อสังคมในวงกว้าง ก็เลยรู้สึกว่าอยากจะทำให้ได้เหมือนท่าน แล้วยุคนั้นเป็นยุคที่ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ทำเฟซบุ๊กจนได้รับความนิยมอย่างมากตั้งแต่อายุยังน้อย ก็เลยคิดว่ายุคนี้อายุไม่ใช่อุปสรรคที่จะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ แล้วตอนที่เราสร้าง Eko ขึ้นมานั้นก็เป็นแอปพลิเคชันที่เราทำเพื่อใช้ในกลุ่มเพื่อนไฮสคูลที่อเมริกาเท่านั้นครับ
 

จากแอปเพื่อเพื่อนมาเป็นแอปเพื่อองค์กร

สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับสตาร์ทอัพก็คือถ้าล้มเหลวในสิ่งที่ทำอยู่ต้องรีบเรียนรู้และปรับปรุงอย่างรวดเร็ว Eko ก็เหมือนกัน เวอร์ชั่นแรกที่เราทำพอเปิดตัวออกไปก็ไม่ประสบความสำเร็จ เราจึงรีบนำมาปรับปรุงแก้ไข แล้วคิดเพิ่มเติมเข้าไปว่า เรามีโอกาสหรือช่องทางในการพัฒนาแอปพลิเคชันในทางอื่นไหม ในเวอร์ชั่นแรกที่เราทำเป็น Group messaging ที่ไม่ใช่เพียงแค่แชทได้อย่างเดียว แต่มันมีระบบการจัดการในตัวแอปพลิเคชันด้วย จึงไม่เหมาะสำหรับเด็กไฮสคูลแล้วล่ะ เลยมาคิดว่าน่าจะนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้ เพราะคนที่ทำงานในบริษัท เขาต้องบริหารจัดการงานหลายอย่าง ก็เลยคิดว่าทำแอปพลิเคชันเพื่อธุรกิจน่าจะดีกว่า อีกอย่างมือถือก็โตเร็วมาก บริษัทต่าง ๆ ที่นำหน้าในเทคโนโลยีการสื่อสารก้าวตามเทรนด์ไม่ทันและไม่ได้ย้ายระบบให้มาอยู่ในมือถือ หรือแม้กระทั่งพนักงานในบริษัทหรือแบงก์ใหญ่ ๆ มีการใช้โซเชียลเข้ามาช่วย แต่ก็ไม่มีฟังก์ชันมากพอที่จะซัพพอร์ตการทำงาน หรือไม่มีความปลอดภัยเพียงพอสำหรับระบบของธนาคาร อีกอย่างตลาดของธุรกิจนี้มันกว้าง คู่แข่งของเราไม่ค่อยมี เราก็เลยเห็นโอกาสมหาศาลที่จะเข้ามาทำตรงนี้ครับ

 

"เราพยายามสร้างองค์กรที่มีผู้นำที่สามารถคิดเก่ง
คิดอะไรได้ด้วยตัวเองและพวกเขาก็ต้องมีความรับผิดชอบ
และมีส่วนร่วมในการคิดว่าบริษัทของเราจะก้าวเดินไปทางไหน"

 

Eko คืออะไร

ตอนที่สร้าง Eko เราเห็นว่ามือถือมันเปลี่ยนวิธีการทำงานของคนทั่วโลก แต่เราก็เห็นว่าในแง่ของแอปพลิเคชันที่อยู่บนมือถือเรายังไม่ได้ใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่ เราก็เลยเห็นว่าแอปพลิเคชันบนมือถือนี่แหละจะมีโอกาสเปลี่ยนธุรกิจและการทำงานให้ยิ่งใหญ่กว่าสมัยก่อนอีกหลายเท่า ดังนั้นเป้าหมายของเราคือการสร้างแอปพลิเคชันที่เป็นช่องทางการสื่อสารในธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถบริหารจัดการได้ และช่วยให้คนทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกมากขึ้นนั่นเองครับ
 

กรวัฒน์ แห่ง eko
ทีมงาน eko


การบริหารงานของ CEO อายุน้อย

ในบริษัทผมอายุน้อยกว่าพนักงานทั้งหมด แต่สิ่งที่เด็กอย่างผมต้องเข้าใจก็คือ เรามีหลายอย่างที่ต้องเรียนรู้ โดยเฉพาะจากคนที่มีประสบการณ์ ผมต้องเรียนรู้จากเขา ตอนที่ผมสร้างทีมขึ้นมาผมใช้วิธีการหาคนที่เก่งในแต่ละด้าน เพื่อที่เขาจะสามารถให้คำแนะนำเราได้ว่าสิ่งไหนต้องทำยังไง ผมให้อิสระในการทำงานกับทุกคน ผมเชื่อว่าพวกเขาทำได้และคิดว่าทำได้สำเร็จด้วย โดยที่ผมไม่เข้าไปยุ่งเลย เราพยายามสร้างองค์กรที่มีผู้นำที่สามารถคิดเก่ง คิดอะไรได้ด้วยตัวเองและพวกเขาก็ต้องมีความรับผิดชอบ และมีส่วนร่วมในการคิดว่าบริษัทของเราจะก้าวเดินไปทางไหน อีกอย่างเราไม่ได้มากำหนดเวลาการทำงาน เรื่องการแต่งตัว หรือแม้กระทั่งเราไม่มีมาจำกัดเรื่องวันหยุด ไม่เพียงแค่นั้นเรายังมีทุกอย่างที่ Silicon Valley มี ผมเชื่อว่าการบริหารคนต้องเปิดกว้างด้วย ให้เขาเห็นว่าแนวทางของธุรกิจจะไปทางไหน อย่างเช่น ลูกค้าที่กัวลาลัมเปอร์มีอยู่หลายราย แต่พวกเขายังไม่เคยไปมาเลเซียเลย ก็อาจจะทำให้เขาไม่เข้าใจตลาดดีพอ เราก็จ่ายค่าตั๋วให้เขาไปเที่ยวเลย อยากให้เดินทางไปหลาย ๆ ประเทศเพื่อเปิดโลกทัศน์ครับ

 

"ผมเชื่อว่าการบริหารคนต้องเปิดกว้างด้วย"

 

เทรนด์ของเทคโนโลยี

ผมคิดว่ามันยากที่จะพูดได้ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร มันจะไปทางไหน แต่ว่าเทรนด์ที่มาแรงที่สุดในตอนนี้และเห็นผลกระทบโดยตรงเลยก็คือเทคโนโลยีเสมือนจริง ซึ่งก็คือ Augmented Reality (AR) กับ Virtual Reality (VR) นี่เป็นเทคโนโลยีที่ผมคิดว่ามีโอกาสจริงที่จะเปลี่ยนสิ่งต่าง ๆ ได้ครับ
 

เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา

ผมคิดว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตสามารถเปลี่ยนการศึกษาของเราได้ อาจจะด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ที่เรายังมองไม่เห็น แต่อีกสักร้อยปีเราอาจจะเห็นความเปลี่ยนแปลงว่ามันยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ได้ มันทำให้ทุกคนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ตมีโอกาสเท่าเทียมกันมากขึ้น อย่างเด็กที่อยู่ต่างจังหวัดก็จะมีโอกาสได้รับข้อมูลข่าวสารมากขึ้น หรือคนที่อาจจะไม่ได้อยู่ใกล้ห้องสมุดใหญ่ ก็มีโอกาสที่จะเรียนรู้และเข้าถึงแหล่งความรู้ที่มีมากมายมหาศาลไม่ต่างจากคนที่อยู่นิวยอร์กหรือที่ไหนก็ได้ สิ่งสำคัญที่สุดก็คือมันช่วยให้คนที่มีโอกาสน้อยกว่าได้มีโอกาสมากขึ้นนั่นเองครับ

 

กรวัฒน์ แห่ง eko
กรวัฒน์ แห่ง eko


 

แนวคิดที่ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น

ครอบครัวผมมีแนวคิดในการทำธุรกิจจากรุ่นสู่รุ่นอย่างหนึ่งก็คือ ห้ามเข้าไปทำธุรกิจในเครือและห้ามทำธุรกิจที่สำเร็จแล้ว ซึ่งทำให้ผมคิดว่าเราคงต้องคิดทำอะไรใหม่ ๆ และคิดว่าต้องทำยังไง เป็นการฝึกตัวเองให้เรียนรู้ไปด้วย ที่มาของแนวคิดนี้เกิดจากความแตกต่างในแต่ละเจเนเรชั่น ซึ่งสิ่งที่หายไปในแต่ละเจเนเรชั่นก็คือไฟที่อยากจะสร้างสิ่งใหม่ ๆ ไฟที่อยากจะเติบโต และไฟที่อยากจะเรียนรู้ว่าการสร้างธุรกิจจากศูนย์นี่เป็นยังไง ดังนั้นครอบครัวต้องปลูกฝังแบบนี้เพราะว่าอยากให้รุ่นต่อ ๆ ไปยังคงมีแนวคิดในการสร้างธุรกิจให้เติบโตนั่นเองครับ
 

ต้นแบบในการทำงานหรือการดำเนินชีวิต

จริง ๆ มีหลายคนที่ผมชื่นชม อย่างสตีฟ จอบส์ หรือบิลเกต แต่ร้อยเปอร์เซ็นต์เลยต้นแบบของผมคือคุณพ่อ เพราะเวลาที่เรามองคนเก่ง ๆ ระดับโลก เราก็มองจากภายนอกโดยที่เราไม่รู้จริง ๆ ว่าเขาผ่านอะไรมาบ้าง แต่ผมได้เห็นคุณพ่อกับคุณปู่มาตั้งแต่เด็ก ๆ รู้ว่าพวกท่านทำงานหนักแค่ไหน ฝ่าฟันอะไรมาบ้าง ซึ่งมันทำให้รู้ว่าสิ่งที่ผมทำมันเพิ่งเริ่มต้น และความล้มเหลวของผมมันเล็กมาก ก็เลยปลุกกระแสไฟให้เราไม่ยอมแพ้ครับ
 

เป้าหมายในอนาคต

ผมมุ่งมั่นที่จะสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมาแล้วก็ทำให้มันไปให้ไกลที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมไม่คิดที่จะทำธุรกิจเพื่อเงินอย่างเดียว แต่อยากจะสร้างธุรกิจนี้ให้ยืนยาวและยืนอยู่ด้วยตัวเองให้ได้ เป็นการสร้างรากฐานธุรกิจในไทยด้วย เพราะว่าทุกประเทศที่สร้างเทคโนโลยีขึ้นมา เขามีฐานที่แข็งแรงอยู่แล้ว และผมคิดว่าการที่ Eko จะสำเร็จได้พนักงานก็จะต้องเรียนรู้ไปด้วย สร้างให้พวกเขามีประสบการณ์มากพอที่จะออกไปสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพระดับโลกให้มากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วประเทศเราก็จะมีโอกาสเป็นศูนย์กลางการส่งออกนวัตกรรมเหมือนกับประเทศเล็ก ๆ อย่างอิสราเอล
 

ส่วนเรื่องวิสัยทัศน์และความฝันของ Eko ที่นอกเหนือจากการเป็นส่วนช่วยให้ธุรกิจดำเนินไปได้ดี ก็คือผมคิดว่ามันเป็นสเตปแรกของเทคโนโลยีที่จะช่วยให้คนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งผมว่าอันนี้สำคัญ เพราะว่าทุกวันนี้หลายคนต้องออกจากบ้าน จากครอบครัวเพื่อเข้ามาทำงานในเมือง แต่ถ้าเราทำเทคโนโลยีเพื่อช่วยให้พวกเขาทำงานจากที่ไหนก็ได้เสมือนว่าพวกเขาทำงานอยู่ในออฟฟิศ มันก็จะทำให้โอกาสในการทำงานเท่าเทียมกันไม่ว่าจะอยู่ประเทศไหน จังหวัดอะไร ที่สำคัญพวกเขายังได้อยู่กับครอบครัวด้วยครับ


"ผมพูดตลอดว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดมันไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณฉลาดแค่ไหน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือคุณต้องมีไฟที่ไม่ยอมแพ้"

 

กรวัฒน์ แห่ง eko
กรวัฒน์ แห่ง eko

 

เรื่อง : กัลยาณี แนวเล็ก และพิษณุกรณ์ เต็มปัน ภาพ : กัลยาณี แนวเล็ก

 

นิตยสาร plook
นิตยสาร plook

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow