Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

โอ้ มัทนิน จากเทพเกมเมอร์ สู่เบื้องหลังคนทำเกม

Posted By Plook Magazine | 07 มี.ค. 59
1,119 Views

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก

 

โอ้ มัทนิน
จากเทพเกม สู่เบื้องหลังคนทำเกม

 

จากเด็กติดเกมมาสู่เบื้องหลังคนทำเกมไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะมีเพียงความชอบอย่างเดียวก็ทำเกมออกมาได้ แต่ต้องเต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและรักในเกม โอ้-มัทนิน วิชูวัตน์ Game Designer&Game Product บริษัท ทรู ดิจิตอล พลัส จำกัด ถือเป็นตัวอย่างของคนที่มีใจรักทั้งเป็นเล่นและผู้สร้างเกมที่ไม่ได้เป็นกันได้ง่าย ๆ


เริ่มสนใจเกมตั้งแต่เมื่อไร
ตั้งแต่เด็กครับ โตมากับเกมจะมี Famicomที่เป็นเครื่องสีแดง ๆ ขาว ๆ โตมาอีกหน่อยก็จะมี Gameboy มีเครื่องซูเปอร์ เรียกว่าเราโตมาแบบนั้นเลยครับ ตั้งแต่รุ่นเก่า ๆ จนมาเป็น PS1 (Playstation 1) PS2 จนมาเล่นเกมบนคอมพิวเตอร์ แล้วก็เป็นเกมมือถือที่เล่นในปัจจุบัน


ชอบจนถึงขั้นเลือกคณะเรียนที่เกี่ยวกับเกม
ใช่ เรารู้แล้วว่าชอบเล่นเกมแต่ยังไม่รู้เลยว่าชอบทำเกมหรือเปล่า ตอนนั้นเมื่อสมัยห้าหกปีที่แล้ว คณะทำเกมยังไม่มีในไทย แล้วเราก็ไม่รู้ว่าชอบอะไร ก็ไปสมัครคณะนู้นคณะนี้เรียนไปเรื่อย เรียนไปทั่วดูว่าเราชอบหรือเปล่า ปรากฏว่าเรียนออกมาก็ไม่ได้ชอบ จนเราหาข้อมูลหาอะไรที่เกี่ยวกับเกม เจอคณะหนึ่งคือ คณะคอมพิวเตอร์เกมมัลติมีเดีย ม.รังสิต เรารู้สึกว่าใช่เลยที่เรียนสร้างเกม มันเป็นความฝัน วันนี้คือเราอยากจะทำเกมที่แบบว่าเป็นเกมแห่งความฝัน เกมที่เราอยากเล่นแต่ไม่มีใครทำออกมาเลย อยากทำเกมนี้ออกมาให้เราเล่นให้คนอื่นเล่นหรือแค่ทำออกมาให้ตัวเองเล่นก็รู้สึกดีใจแล้วครับ ก็เลยเลือกคณะนี้


ทำเกมต้องมีทั้งศาสตร์ทั้งศิลป์
อย่างคณะนี้เป็นคณะที่รวมสิ่งที่ไม่น่าจะรวมสองอย่างเข้าด้วยกันได้นั่นก็คือ การเขียนโปรแกรมซึ่งเป็นสายของ วิทย์-คณิต แล้วก็การทำกราฟิก การทำพวกภาพก็เป็นสายของศิลป์ แต่คนทำเกมจริง ๆ แล้วการที่จะประกอบออกมาเป็นเกมได้ต้องใช้สองศาสตร์นี้ผสมกันก็คือ การเขียนโปรแกรม ทำให้พวกภาพการ์ตูนแอนิเมชั่นมีอินเตอร์แอคทีฟกับเรา ซึ่งมันค่อนข้างยาก เพราะว่าบางคนวาดรูปเก่งเขียนโปรแกรมไม่ได้ บางคนเขียนโปรแกรมได้แต่วาดรูปไม่ได้ คนที่ก่งมาก ๆ เขาจะสามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ว่าถ้าบางคนเก่งแอนิเมชั่นไปเลยก็อาจจะไปหารวมทีมเพื่อนที่เป็นโปรแกรม เราทำแอนิเมชั่น เราทำตัวการ์ตูนตัวนี้มา นายเขียนโปรแกรมวิ่งเข้าไปให้มันตีรันฟันแทงในด่านนี้สิอะไรอย่างนี้ครับ


ผู้ใหญ่มักจะมองว่าเด็กเล่นเกมไร้สาระมีความคิดเห็นว่าอย่างไร
สิ่งนี้เป็นสิ่งที่เจอปัญหาตั้งแต่เด็ก คือแม้กระทั่งโตมาจนทำงานเราก็ยังเจออยู่ พ่อแม่เขาจะมองเราเป็นเด็กอยู่ ก็ต้องเข้าใจว่าพ่อแม่ต่างจากเราเยอะทางด้านอายุ พูดง่าย ๆ ก็คือ เขาก็เป็นคนรุ่นเก่า เราก็เป็นคนรุ่นใหม่ เขาไม่เข้าใจว่าเกมคืออะไร เกมมันหารายได้ได้ คือเขาไม่ทราบ เขาก็คิดว่าเกมเล่นแล้วก็เหมือนเล่นเกมสนุกสนานตีรันฟันแทงกันคงไม่มีประโยชน์แค่ผ่อนคลายเฉย ๆ บางทีเราเล่นมากไปทำให้เราแบบไม่ใส่ใจการเรียน พ่อแม่ก็จะเริ่มมาทักท้วงแล้วว่าจะเล่นเยอะไปไหน ถึงตอนทำงานแม่ก็ยังถามอยู่ว่ายังเล่นเกมเยอะอยู่หรือเปล่า ก็บอกแม่ว่ามันต้องเล่น มันเป็นอาชีพเป็นงานเรา ถ้าไม่เล่นเราก็ไม่มีไอเดียใหม่ ๆ มาทำเกม อะไรกำลังสนุกสนานเทรนด์ตอนนี้ของเกมเป็นยังไงบ้าง ถ้าเราไม่รู้เหมือนย่ำอยู่กับที่ครับ


ข้อพิสูจน์ว่าเกมไม่ได้ไร้สาระอย่างเดียว
เคยจะพิสูจน์ตัวเองมาตั้งแต่เด็กแล้ว ตอนที่เราเรียนมัธยมอยู่ เกมแร็กนาร็อก (Ragnarok Online) เป็นเกมออนไลน์ที่ดังมาก ติดกันทั้งบ้านทั้งเมือง ผมถึงขั้นบางวันก็ไม่ไปเรียน นั่งเล่นเกมทั้งวันทั้งคืน เวลามี Guild Wars เราไปรอที่ร้านเกมสองวันก่อนที่จะถึงเวลาทำ Guild Wars แล้วตอนนั้นจะมีขายของในเกม เวลาเล่นเราหาไอเทมหรือว่าของแพง ๆ ที่หายาก ๆ ในเกมก็จะขายเป็นเงินจริงกัน

ด้วยความเป็นเด็กก็พิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่าเกมหาเงินได้นะ ขายของในเกมหารายได้หนึ่งเดือนประมาณ สามสี่หมื่นบาทสำหรับเด็กคนหนึ่งครับ รู้สึกว่าเยอะมากเลยนะทำงานไม่รู้จะได้เงินเยอะขนาดนั้นไหม ก็คุยโม้ให้พ่อแม่ฟังว่าทำได้นะเล่นเกมก็หาเงินได้ ต่อไปจะไม่เรียนแล้วจะขายของในเกมแบบนี้เลี้ยงตัวเองเลี้ยงพ่อแม่ ก็คิดแบบนี้เลย แต่พ่อแม่ก็ตอบกลับมาว่า มันจะทำอย่างนี้ได้ตลอดไปหรอ คือถ้าเราหยุดเล่นเงินจะหายไปไหม คือถ้าวันไหนเราป่วยเราไม่ได้เล่นไม่มีอะไรมาขาย มันจะยังเป็นเงินที่เลี้ยงเราเลี้ยงครอบครัวเราได้หรือเปล่า วันนั้นก็เลยฉุกคิดขึ้นมาว่าจริง ๆ มันไม่ใช่สิ่งที่พิสูจน์ได้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความมั่นคง ตอนนั้นก็เลยมีจุดเปลี่ยนเราต้องไปหาที่เรียน เรายังรักในเกมอยู่จนเราเรียนจบมาเกี่ยวกับด้านนี้โดยตรง เข้ามาทำงานเกมโดยตรง เงินเดือนเดือนแรกก็เป็นข้อพิสูจน์ให้พ่อแม่เห็นว่า ที่เราชอบเล่นเกมตั้งแต่เด็กใช้ในการหาเงินได้จนถึงทุกวันนี้ เป็นแรงผลักดันเป็นอะไรที่ทำให้เราอยากทำตรงนี้ให้สำเร็จ แล้วก็อยากจะพิสูจน์ให้ที่บ้านเห็น ให้คนรอบข้างรู้ว่าเราเป็นเด็กติดเกม รู้ว่ามันไร้ประโยชน์ แต่ถ้าเราทำในสิ่งที่ชอบทำให้มันสุดทำออกมาก็ประสบความสำเร็จเหมือนกัน


เข้าร่วม Global Game Jam
ตอนนั้นอยู่ปีสี่ครับ จะมีการแข่งขันGlobal Game Jamซึ่งเราจะต้องทำเกมหนึ่งให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมง โดยที่เราไปในงานหน้าหาสมาชิกกันหน้างาน แจมกันคนนี้อยากได้ใคร มาแจมกับเราสิ รวมตัวกันทำทีม พอถึงเวลาเริ่มงานเขาก็จะเปิดธีมงาน คอนเซ็ปต์งาน เป็นคีย์ของงานนั้นว่าปีนั้น ๆ มีโจทย์อะไร เช่น มีซาวด์มา กราฟิกมา ให้เราทำเกมเกี่ยวกับสิ่งที่เขาใบ้มาให้เสร็จภายใน 48 ชั่วโมง นั่นคือความโหดของมัน ตอนนั้นทรูดิจิตอลพลัสเครือของทรูไปเป็นสปอนเซอร์ของงาน เขาก็ไปดูว่ามีเด็กไทยหน้าใหม่ที่มีความสามารถทางด้านนี้ไหม เขาสนใจก็ติดต่อให้เราเข้ามาทำเกมให้บริษัท พูดง่าย ๆ ก็คือ Global Game Jam จุดประกายทำให้เขาเห็นเรา ถ้าจำไม่ผิดได้ป๊อปปูล่า ผมทำหน้าที่ดีไซน์แล้วก็กราฟิกด้วยตอนนั้น

หน้าที่ที่อยากทำในทีมสร้างเกม
ตั้งแต่แรกตั้งใจจะป็นเทคนิคอลอาร์ตติสครับ อยากเป็นคนที่สามารถทำงานของกราฟิกให้โปรแกรมเมอร์เข้าใจได้ คือหน้าที่นี้ไม่ค่อยมีในไทย แต่เป็นหน้าที่การงานที่ดี เราค่อนข้างจะหวังไว้งานที่อยากเป็นอยากทำจังเลย แต่ที่นี่ไม่ค่อยมี มีแต่โปรแกรมเมอร์อาร์ตติสหรือดีไซน์อย่างนี้ไปเลย งานเทคนิคอลอาร์ตติส ก็คือการผสมผสานระหว่างการทำโปรแกรมกับกราฟิกครับ เช่น เราจะทำกราฟิกอย่างไรให้โปรแกรมเมอร์ใช้งานได้ง่ายที่สุด หรือเราจะเตรียมกราฟิกอย่างไรให้โปรแกรมเมอร์ ได้ใช้ความรู้ทั้งสองฝั่งซึ่งเราเรียนมาเราค่อนข้างชัดเจนตั้งแต่แรกอยู่แล้ว แต่ว่าเราอยากทำเกม เราอยากมีความรู้ทั้งสองฝั่งเลย ทั้งกราฟิกแล้วก็โปรแกรม


กว่าจะมาเป็นเกมดีไซเนอร์
การที่จะเป็นเกมดีไซเนอร์ได้นะครับ อย่างแรกเราจะต้องฝึกทางด้านความคิดก่อน เราจะต้องมีความคิดครีเอทอะไรใหม่ ๆ ออกมาตลอดเวลา บางทีการเป็นเกมดีไซเนอร์ฝึกทางด้านความคิดการวางแผน การวางหมากกลยุทธ์ว่าเราจะวางเกมแบบนี้ ๆ ให้ดำเนินอย่างนี้ เกิดความสนุกที่จุดนี้ แล้วก็วนซ้ำเล่นอยู่อย่างนี้ก็ต้องฝึกฝน เพราะว่าอยู่ดี ๆ เราไม่สามารถคิดได้เลย บางทีก็เกิดจากการที่เราไปเล่นเกมคนอื่น เล่นเยอะ ๆ แล้วมาต่อยอด หรือเกิดจากการไปเที่ยวหรือไปใช้ชีวิตเห็นไอเดียบางอย่างก็จดมาจำมา สิ่งนี้สามารถเอามาทำเกมได้


เกมดีไซเนอร์ต้องทำอะไรบ้าง
สมมติต้องทำเกมหนึ่ง เราก็ต้องออกแบบเกม แต่ว่าถ้าเป็นแบบฟอร์มมาตรฐานเขาจะมีสิ่งที่เรียกว่าgame design document (GDD) สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับคนที่จะเป็นเกมดีไซเนอร์จะต้องทำให้ได้ เรียกว่าเป็นหัวใจของเกมนั้นเลยก็ว่าได้ GDD ก็คือการออกแบบเกมทั้งหมดลงในหนังสือหนึ่งเล่ม จะเป็นพวกเกมคอนเซ็ปต์ เลเวลดีไซน์ก็คือการออกแบบด่านแต่ละด่าน กลไกการเล่น ภาพคอนเซ็ปต์อาร์ตกราฟิก จะไปในทิศทางไหน คือทุกอย่างเกมดีไซน์ต้องทำสิ่งนี้ หรือถ้าใครได้ GDD ไปสตูดิโอนั้นจะต้องทำเกมออกมา แบบที่เราวางแผนไว้เลย ถ้าเกิดมีสักสามบริษัทได้หนังสือเล่มนี้ไป สามบริษัทนี้จะทำออกมาเหมือนกันเลย เพราะว่าคนเขียน GDDเขียนไว้ละเอียด


แรงบันดาลใจในการออกแบบเกม
การใช้ชีวิต ดูหนัง ฟังเพลง สิ่งเหล่านี้ที่จะทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการทำงานในแต่ละวันได้ การเล่นเกมของคนอื่นก็เป็นสิ่งที่สร้างแรงบันดาลใจได้เหมือนกัน เคยเล่นเกมของบริษัทนี้ดีจังเลย รู้สึกอยากทำให้ได้ ก็เป็นแรงบันดาลใจ แรงผลักดันให้เราจะทำตรงนี้ออกมาให้ดีเหมือนกัน อย่างเช่น ได้ไปทำโปเกม่อน เราไปทำเกมคีออส (ตู้เกม) กับทีมโปเกมอน ตรงนั้นเกมก็จะเป็นอีกสไตล์หนึ่ง เราก็หาอินสปายเรชั่นดูโปเกมอน เจ้าพิกะจูมีคาแรกเตอร์ยังไง หรือว่ามอนสเตอร์ตัวอื่น ๆ มันทำอะไรยังไงบ้าง แล้วเราก็ไปดูกลุ่มเป้าหมาย ต้องไปศึกษาตรงนั้นดูว่าเด็กเขาจะสนุกกับอะไร สมมติว่าเราเป็นเด็กทำอะไรแล้วสนุก หาแรงบันดาลใจจนสามารถทำเกมโปเกมอนออกมา แล้วเด็ก ๆ ก็เล่นได้ พอเราไปดูตามงาน เขาเล่นเกมของเรา เขาก็มีความสุข แฮปปี้ แสดงว่าจริง ๆ เกมก็เล่นได้ทุกวัย แต่ว่าเราทำอะไรเข้ากับเขาหรือเปล่า


Game Productอีกหน้าที่หนึ่ง
ดูโปรดักส์ของโมบายอย่างเต็มตัวก็คืองานที่ผ่านมาจะมี Total Football Manager Thailandจะเป็นเกมวางแผนการเล่นฟุตบอลออนไลน์ เล่นได้ทั้งบนคอมพิวเตอร์ มือถือทั้งandroid iosแล้วก็ตัวล่าสุดที่ทำอยู่ก็คือ The Battle of Gods (BOG) การขยับหน้าที่จากดีไซเนอร์มาทำโปรดักส์น่าจะต่างกันมาก แต่ว่าไม่ต่างกันเลยเรื่องการวางแผนครับ ดีไซเนอร์เขาวางแผนเพื่อที่จะทำการออกแบบเกม ให้เกมสำเร็จออกมา แต่โปรดักส์เกมสำเร็จอยู่แล้ว เรามีหน้าที่แค่วางแผนว่าเราจะปล่อยเกมนี้ให้ผู้เล่นวันไหนเล่นด้วยโปรโมชั่นอะไร เล่นแล้วถ้าไม่ชอบเราจะมีแผนอะไรสำรองมาทำให้ผู้เล่นกลับมาเล่น หรือคนที่เล่นแล้วรู้สึกไม่พอใจเราจะทำยังไงถึงจะให้เขาพอใจ คือทุกอย่างโปรดักส์เป็นคนวางแผน ซึ่งเรื่องนี้จะคล้ายกับเกมดีไซน์เหมือนกัน ถ้าเกิดเราไม่มีความรู้อะไรเลย แต่เราเข้าใจการทำงานในทุกส่วน เข้าใจตัวผู้เล่น ตัวลูกค้าว่าเขาต้องการอะไร งั้นเราหากลไกของทั้งสองฝั่งสามารถทำงานนี้ได้ง่ายขึ้น เป็นงานอีกรูปแบบหนึ่งต่างจากดีไซเนอร์เลย


จากเด็กเล่นเกม จนถึงตอนนี้กลายมาเป็นคนทำเกม
รู้สึกดีนะครับ รู้สึกภาคภูมิใจ เพราะไม่คิดว่าเราจะมาถึงจุดนี้ได้ เราไม่คิดว่าการเล่นเกมของเราจะหาเงินได้ บางทีเราไปบอกเพื่อนเรา ไปบอกคนรู้จักว่าเกมที่เล่นอยู่เราทำนะเขายังไม่เชื่อเราเลย แต่มันคือความจริงที่เราภาคภูมิใจ เวลาเราไปบอกเขาว่าเราจับโปรดักส์นี้อยู่ เราก็รู้สึกโอเคกับมันเพราะว่าหนึ่งคือเราเป็นคนชอบเล่นเกม เรารู้สึกว่าการเล่นเกมมันก็สามารถมีประโยชน์ได้ หาเงินได้ แล้วก็หลาย ๆ คนอาจจะสบประมาทว่าเล่นเกมไม่มีอนาคตคืออยากจะบอกว่าก็ไม่เสมอไป อยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่าว่าจะทำสิ่งที่ชอบให้เป็นสิ่งที่ดีได้หรือเปล่า จะทำสิ่งที่ชอบให้กลายเป็นเงิน ผมว่าถ้าเราชอบอะไรแล้วก็ทำสิ่งนั้นไปให้สุด ๆ มันสามารถย้อนกลับมาเป็นสิ่งที่ดีให้ได้เสมอครับ


แนวเกมที่อยากทำ
อยากจะทำแบบพวกแฟนตาซีครับ อารมณ์แบบไฟนอลแฟนตาซี แต่ให้เป็นแบบว่าเป็นไทย เด็กไทยติดไฟนอลแฟนตาซีของญี่ปุ่นกันเต็มไปหมดเลย จริง ๆ แล้วบ้านเมืองเราก็มีสตอรี่บางอย่างที่สามารถเอาไปทำเกมได้ ก็อยากจะทำให้ดูน่าสนใจยิ่งขึ้น ถ้าเกิดเด็กไทยหรือคนในประเทศมาเล่น รู้สึกมันน่าเบื่อเรื่องราวของบ้านเราก็สนุกดีนะอาจจะไม่ต้องอิงความจริงหรือประวัติศาสตร์อะไรมาก แต่เล่นแล้วรู้สึกได้กลิ่นอาย ให้มันดูแบบเพ้อ ๆ ไปเลย ไม่ต้องมาเก็บเงินเก็บอะไรคนเล่นได้แล้วมีความสุข คือสิ่งที่ยากทำ อยากจะทำเกมเหมือนเราเล่นเกมแล้วเราสามารถเข้าไปอยู่ในโลกของเกมได้จริง ๆ ทุกคนเข้าไปอยู่ในโลกของเกมได้มากที่สุด ตอนนี้เทคโนโลยีก็ไปไกลแล้วก็ไม่แน่อาจจะทำได้ นอนหลับแล้วเข้าไปอยู่ในเกมได้หรือเปล่า นั่นคือความฝันสูงสุดที่อยากจะทำครับ


ก้าวต่อไป
ตัวผมก็จะทำเกมต่อไปไม่ว่าจะเป็นในด้าน desing developer หรือจะขยับตัวไปทำโปรแกรมหรือกราฟิกในยามที่เบื่อ เราจะเก็บเกี่ยวงานในฝั่งสายเกมให้ได้มากที่สุด เพราะว่าทุกอย่างมันมีสิ่งที่เราทำได้และทำไม่ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้คือการประกอบกันออกมาเป็นบริษัทเกม อนาคตเราอยากจะมีบริษัทเกมที่ทำเองหรือเป็นบริษัทที่สนองความต้องการของตัวเอง แต่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างไม่ง่ายขนาดนั้น ไม่ใช่อยู่ ๆ แค่มีเงินก็สามารถทำออกมาได้เลย หลาย ๆ บริษัทที่มีเงินทำมาออกมาแล้วก็ปิดตัวลงไป สิ่งนี้คือก้าวต่อไปของเรา เราต้องศึกษาเกี่ยวกับด้านเกม โปรดักส์ มาร์เก็ตติ้ง การติดต่อสื่อสารกับ developerหรือแม้กระทั่งการพัฒนาเกมเองเราต้องรู้ให้มากที่สุด ยิ่งเรารู้มากที่สุดเราก็จะทำสิ่งนี้ออกมาได้ดีที่สุด เราสามารถทำสิ่งที่ใกล้ความฝันได้มากที่สุดเหมือนกันครับ


จุดสูงสุดของคนทำเกมคืออะไร
ของผมคือการที่เราทำเกมออกมาเกมหนึ่ง อาจจะไม่ต้องมีรายได้ดีมาก ไม่ต้องเก็บเงินก็ได้ แต่มีคนเล่นมาก ทุกคนพูดถึง ทุกคนเล่นอย่างสนุกสนานมีความสุข ทุกคนอาจจะเครียดระหว่างรอรถไฟฟ้าอาจจะหยิบมันขึ้นมาเล่นสักนาทีสองนาที เรายิ้มให้มันก็รู้สึกมีความสุขแล้ว การเล่นเกมก็เหมือนการผ่อนคลาย ทำให้ผู้เล่นได้สนุกผ่อนคลายกับมัน ผมว่านั่นคือจุดสูงสุดของคนทำเกมแล้วครับ ที่มีคนยอมรับเกมของเรา


คำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากทำเกม
ก่อนอื่นน้องต้องแยกให้ออกระหว่างอยากทำเกมกับชอบเล่นเกม เพราะว่าถ้าแยกไม่ออกเราอาจจะมาแบบผิดทางก็ได้ ผมมีเพื่อนหลายคนที่เรียนมาพร้อมกันที่คิดว่าอยากทำเกม แต่จริง ๆ แล้วเขาอยากเล่นเกม แล้วเขาก็เรียนไม่จบ หมายความว่าอะไร ถ้าเกิดเราอยากเล่นเกมให้เราไปหาคณะอะไรก็ได้ที่มีเวลาเยอะ ๆ เรียนจบแน่ เราจะได้เล่นเกมเพราะว่าคณะที่พี่เรียนมา มันยาก ทั้งต้องเขียนโปรแกรม ต้องครีเอทีฟ ต้องทำกราฟิกให้เป็น คือเราขาดอะไรอย่างหนึ่งไม่ได้ ทุกคนในคณะต้องเป็นอย่างนี้ เป็นพื้นฐานของคนที่จะสร้างเกมต้องมีความรู้พวกนี้ ซึ่งความรู้พวกนี้ก็ต้องใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนนาน ต้องตั้งใจกับมันมากถึงจะออกมาดี การจะมายืนตรงจุดนี้ได้ จะประสบความสำเร็จในด้านนี้ได้ การที่จะลบคำสบประมาทของคนอื่นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย


สำหรับน้องที่อยากเล่นเกมแล้วอยากลองทำเกม วิธีง่าย ๆ เลยก็คือ เราก็ต้องมองดูว่าเกมที่เราเล่นมันเป็นเกมแนวไหน เช่น RPG หรือเป็นแนว shooting เป็นเกมประเภทไหนเราก็มาดูว่าเขาสื่อความหมายอะไรลงไปในเกมประเภทนั้น เช่น อย่างเกมยิงกันใช้ผู้ชายทำไมถึงไม่ใช้ผู้หญิง ลองหานัยสําคัญที่เขาใส่ลงมาในเกม แล้วเราก็ลองจับจุดดูว่า ก็เพราะว่ามันเป็นเกมยิงกัน ก็เลยใช้ผู้ชายใส่ชุดทหารถือปืนออกมายิง แล้วก็จะมีอะไรแฝงอยู่ในนั้น แล้วก็ลองไปดูแม็กคานิกส์ของเกม เช่น รูปแบบการเล่นเกม จะทำให้เราสามารถคิดเลเวลดีไซน์ได้ เพราะสำคัญมาก จะทำให้เราคิดด่านหรือเกมเพลย์ของเกมหนึ่งออก เช่น เล่นเกมหนึ่งไป เดี๋ยวตัวนี้กำลังจะมา ศัตรูตัวนี้กำลังจะมา เราก็ดูแม็กคานิกส์ของมัน กี่นาทีมา มาตอนไหน ถ้าเกิดเราจับได้ว่าจะมาที่วินาทีนี้นั้นแสดงว่าเรากำลังถอดเลเวลดีไซน์ของคนพัฒนาเกม ๆ นั้นได้ ถ้าเราจับจุดตรงนั้นได้ เราก็สามารถเอากระดาษเอสี่แผ่นหนึ่งมาเขียนเลยว่า วินาทีนี้ตัวนี้ออกมา วินานี้ตัวนี้ออกมา นั่นคืองานเปเปอร์ของเกมดีไซน์ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการที่พัฒนาเกมต่อ ๆ ไปได้ หมายความว่าเราสามารถแกะเกมดีไซน์ แกะเลเวลดีไซน์ของเขาได้ เราก็แค่ไปดูคาแรกเตอร์ ดูงานว่าทำไมเขาต้องทำตัวน่ารักแบบนี้ เพราะเขาต้องการให้เกมออกมาดูน่ารักอะไรอย่างนี้ เล่นเราไม่เล่นอย่างเดียว ต้องคิดตามว่าทำไมเขาทำออกมาแบบนี้ ทำออกมาเพื่อให้คนกลุ่มไหน ทำออกมาเพื่อให้คนประเภทไหนเล่น ว่าง ๆ ก็ลองเขียนเปเปอร์เขียนอะไรออกมาอย่างที่บอกดู ก็จะเป็นจุดเริ่มต้นของผู้พัฒนาเกมได้ครับผม

 

“บางทีก็เกิดจากการที่เราไปเล่นเกมคนอื่น เล่นเยอะ ๆ แล้วมาต่อยอด หรือเกิดจากการไปเที่ยวหรือไปใช้ชีวิตเห็นไอเดียบางอย่างก็จดมาจำมา สิ่งนี้สามารถเอามาทำเกมได้”


เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow