Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

หญิง จิตต์ตรา คนเล็กที่ยิ่งใหญ่

Posted By Plook Magazine | 03 ก.พ. 59
1,864 Views

  Favorite

เรื่องและภาพ: กัลยาณี แนวเล็ก
 

หญิง จิตต์ตรา คนเล็กที่ยิ่งใหญ่



แม้ว่าที่มาของ “โรงเรียนรักน้อง” จะมาจากอาการป่วยด้วยโรคไตวายเรื้อรัง จนทำให้เธอตัดสินใจกลับมาทำตามความฝันในวัยเด็ก ผลที่ได้รับกลับมีค่ามากมาย จึงทำให้กลายเป็นที่มาของรางวัลเยาวชนต้นแบบ คนค้นฅน อวอร์ด ครั้งที่ ๗ “ค่าของ ฅน” ที่การันตีได้ว่าสิ่งที่ หญิง-จิตต์ตรา ราชวงศ์ เด็กสาวผู้เพาะกล้าพันธุ์แห่งความดี ได้คิดและสร้างก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง


เรียนนิติ แต่ความฝันคืออยากเป็นครู
จบนิติศาสตร์ ม.รามคำแหงค่ะ เป็นการเรียนพรีดีกรีของมหาวิทยาลัยตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมค่ะ

ก่อนที่จะสร้างโรงเรียนรักน้องก็ยังไม่เคยทำอะไรที่มีผลงานมาก่อน แต่ว่ามันเป็นความฝันที่อยากจะทำตั้งแต่วัยเด็ก ที่เคยทำตอนช่วงแรก คือเป็นการสอนการบ้านน้องและเพื่อนน้องค่ะ ทำให้เราเกิดความชอบในการที่จะสอนหนังสือค่ะ ก็เลยเก็บมาเป็นความฝันตั้งแต่เด็กแล้วว่าอยากจะทำสักวัน อยากจะทำโรงเรียนสอนหนังสือให้น้อง ๆ แบบนี้ค่ะ

หนูคิดว่าถ้าการสอนหนังสือเราไม่จำเป็นต้องเรียนครู แต่ว่ามันขึ้นอยู่กับความชอบของเรา มีความสนใจที่อยากจะสอนหนังสือ หรือว่ามันเป็นความรักในการสอนหนังสือมากกว่าค่ะ


จุดเปลี่ยนในชีวิต

ตอนนั้นยังเรียนอยู่ที่ ม.รามค่ะ ช่วงแรกมีอาการสายตาพร่ามัวเพราะว่าความดันสูง ก็เลยไปตรวจดูสาเหตุน่าจะมาจากไตแต่หมอก็ยังไม่ได้วินิจฉัยว่าไตเสื่อมหรือว่าอะไร หมอบอกว่าถ้าจะรักษาก็คงจะระยะยาว ตอนนั้นก็ใกล้จะเรียนจบก็เลยกลับไปตรวจที่บ้านอีกทีค่ะ

พอป่วยเป็นโรคไตมันเป็นจุดเปลี่ยนคือ ช่วงที่ไปอยู่โรงพยาบาล มันทำให้เราได้เห็นชีวิตในมุมอื่น นอกจากความสดใสร่าเริงในแบบวัยรุ่นกำลังเจอแต่สิ่งสวยงามในโลกภายนอกค่ะ แล้วเราต้องไปเจอบรรยากาศที่เหมือนเป็นช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต แล้วตอนนั้นอยู่ตึกอายุรกรรม สำหรับผู้ป่วยที่เป็นคนสูงอายุและโรคที่ป่วยหนัก เลยได้เรียนรู้ว่าชีวิตมันไม่มีอะไรแน่นอนค่ะ ขนาดเรายังเด็กยังได้มารักษาตัวอยู่ในห้องที่มีแต่คนแก่ เราต้องเปลี่ยนวิธีคิดแล้วก็การดำเนินชีวิตใหม่แล้ว ว่าเวลาที่เหลือเราอาจจะเท่ากับคนที่อายุ 60 ปี แล้วก็ได้ เราก็เลยต้องทำสิ่งที่อยากจะทำให้เร็วขึ้น เราจะไม่รอค่ะ ไม่อยากจะรอแล้วเพราะว่าบางทีชีวิตเราอาจจะไม่ได้ยืนยาวเหมือนเด็กรุ่นราวคราวเดียวกันค่ะ


อะไรที่ทำให้คิดได้ขนาดนั้นในเวลาแค่สองอาทิตย์
เป็นสองอาทิตย์ที่ยาวนานมาก ช่วงแรกกลับมาบ้านก็นอนร้องไห้ทุกคืนค่ะ เพราะกลัวว่าเราจะเป็นอย่างนั้น จะช่วยเหลือครอบครัวไม่ได้แถมยังจะเป็นภาระอีก สิ่งที่ทุกคนให้กำลังใจเรา หญิงก็ไม่รับรู้และเข้าไม่ถึงจิตใจที่เขาส่งมาให้ทุกอย่าง เหมือนไม่ได้ยินไม่รับรู้สักอย่าง

แต่หลังจากที่หญิงได้เจอเด็กคนหนึ่งที่อายุรุ่น ๆ เดียวกัน แต่เขามีสภาพที่ไม่ค่อยดีเท่าไร ก็แอบฟังคนแก่ที่อยู่เตียงข้าง ๆ ถามเด็กคนนั้นว่า นี่หนูป่วยมานานหรือยัง หนูทำอะไรบ้างแต่ละวัน เขาก็บอกว่าไม่ได้ทำอะไรอยู่บ้านก็นอนดูทีวีหรือแค่อยู่เฉย ๆ แล้วก็รักษาตัวไปวัน ๆ หญิงก็เลยมีความคิดว่า ถ้าทำแบบนั้นจะเป็นเหมือนเขาหรือเปล่า พอคิดได้กลับมาวันนั้น ก็เปลี่ยนความคิดเลยว่า หญิงจะไม่อยู่เฉย ๆจะไม่เป็นแบบนั้นเด็ดขาด เริ่มมาปรับเปลี่ยนวิธีคิดและการใช้ชีวิตใหม่เลยค่ะ


ทำไมถึงคิดที่จะทำโรงเรียนขึ้นมา
เราก็มีความคิดว่าอยากจะสอนนักเรียนก็เลยเล่าให้พ่อกับแม่ฟังค่ะ เราก็รู้ว่าพ่อแม่อยากจะให้ทำอยู่แล้วเพราะว่าช่วงนั้นจิตใจเราไม่ค่อยดีเท่าไร เขาก็ไม่อยากให้เราอยู่เงียบ ๆ อยู่เฉย ๆ คนเดียวค่ะ พ่อกับแม่ก็สนับสนุนทุกอย่าง เวลาปกติถ้าไม่ได้สอนหนังสือต้องไปขับรถให้พ่อเพราะพ่อก็สุขภาพไม่แข็งแรง พอเรามาสอนน้องมาทำโรงเรียน พ่อกับแม่ก็จะสละเวลาที่หนูต้องทำงานให้มาเป็นครูมาทำหน้าที่ครูสอนนักเรียนมากขึ้น อย่างเช่น ขับรถไปทำงานไม่ไกลพ่อก็บอกว่า เดี๋ยวพ่อไปเองอยู่สอนน้องเถอะ หรือว่าจะทำกับข้าวก็ไปสอนหนังสือดีกว่าเดี๋ยวแม่ทำเอง

ช่วงแรกมีน้องคนหนึ่งมาถามการบ้าน แล้วมีอะไรบางอย่างทำให้เราอยากจะช่วยสอนเสริมให้เขารู้มากกว่าที่คิด อยากให้เขาคิดนอกจากที่ครูสอนที่โรงเรียน ถ้าเราไม่ตั้งโรงเรียนมันสอนเหมือนไม่มีตัวตน ไม่ชัดเจน ก็เลยคิดว่าต้องเริ่มทำให้เป็นรูปธรรมค่ะ ก็เตรียมอุปกรณ์มาเพื่อที่จะเปิดโรงเรียนสอน สะสมอุปกรณ์อยู่สักพัก ให้น้องมาเรียนดูก่อนว่ายังขาดอะไรอยู่แล้วค่อยซื้อมาเพิ่มค่ะ


โรงเรียนรักน้องเป็นยังไง
โรงเรียนรักน้อง ก็ไม่เชิงแบบว่าเป็นโรงเรียนสักทีเดียว ไม่ใช่ว่าครูสอนนักเรียน แต่เป็นพี่สอนน้องคือ นักเรียนเขาจะกล้าถามทุกอย่าง เขาจะไม่กลัวที่จะถามเรา เขาจะไม่เขินไม่อายเพราะว่าเราก็จะทำตัวสนิทกับเขาเหมือนเราเป็นพี่ มีอะไรเราก็จะใกล้ชิดพูดคุยแล้วก็เล่นกับเขาบ้างนิดหนึ่งเขาจะได้ไม่กลัวเรา เวลาอยากรู้อะไรก็จะได้กล้าถามค่ะ

เริ่มวันแรก หญิงไปบอกครูที่โรงเรียนค่ะ ว่าจะสอนพิเศษให้น้อง ถ้าน้องจะเรียนก็ให้ไปเรียนกับหญิงตอนเย็นหลังจากเลิกเรียน ครูก็ประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงให้ วันแรกที่มาเรียนประมาณ 30กว่าคนก็คือเกือบครึ่งโรงเรียนค่ะ ช่วงแรกก็มีน้องข้างบ้านเขามาช่วยสอน แต่พักหลังก็คือน้องเขาเรียนหนัก เราก็เลยรับหน้าที่สอนคนเดียว สอนวิชาที่เป็นพื้นฐานคณิตศาสตร์ ภาษาไทย และภาษาอังกฤษค่ะ


อะไรที่ทำให้คิดค่าเรียนเป็นจิตสาธารณะ
ช่วงแรกก็สอนเฉย ๆ ตอนเย็นก็ปล่อยให้เขากลับ ทีนี้มีงานพัฒนาหมู่บ้าน ก็คิดว่าถ้าพาน้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงานของเราแล้ว น่าจะเป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งที่เหมือนเป็นการแทรกซึมเขาไปในจิตใจน้อง ปลูกฝังให้น้องทำงานเกี่ยวกับชุมชนหมู่บ้าน เพราะว่างานที่เราทำก็ไม่ได้ค่าตอบแทนค่ะ จากที่เราเป็นคนที่สอนเขาโดยไม่หวังผลตอบแทน อยากจะให้เขาตอบแทนชุมชนโดยที่ไม่หวังผลตอบแทนเหมือนกันเป็นการแลกเปลี่ยนกันค่ะ




รูปแบบกิจกรรมต่าง ๆ

ด้วยความที่แม่เป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เราก็ต้องมีส่วนช่วยแม่ เริ่มถามน้องว่าพี่จะไปทำนี่นะ น้องอยากจะไปช่วยพี่หรือเปล่าค่ะ เขาก็อยากช่วยอยากมีส่วนร่วม ในช่วงแรกเราชวนเขาทำงาน พอช่วงหลังมาเด็กจะกลายเป็นคนชวนเรา ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่า ส่วนที่เราให้เขามันแทรกซึมเข้าไปในใจเขาและเขาก็รู้สึกแล้วว่างานที่ทำเพื่อชุมชนเราด้วยค่ะ

สิ่งที่ทำให้ผู้ปกครองมั่นใจส่งลูกหลานมาเรียน
อาจจะเป็นเพราะที่บ้านเราเปิดทำกิจกรรมงานชุมชนค่ะ เด็กก็ทำกิจกรรมร่วมกับเราประจำอยู่แล้ว ก็เลยทำให้มีความคุ้นเคยและก็ใกล้ชิดกับเราอยู่แล้วค่ะ มีความสนิทสนม ไม่กลัวเรา เพราะว่าก็อยู่ในสังคมช่วยงานหมู่บ้าน รู้จักกันอยู่แล้วค่ะ


จัดการเรียนการสอนยังไง

เราจัดโซนเด็กแยกเป็นกลุ่มแต่สอนเวลาเดียว ขีดกระดานเป็นครึ่งหนึ่งบางทียังมีแยกอนุบาล ป.1 ป.3 ป.4-ป.6 แยกเป็นสี่ชั้นก็มีในกระดานเดียว บางทีครูก็งงด้วยค่ะเวลาสอนไปก็งง (หัวเราะ)

เด็กสุดก็สี่ขวบค่ะ ไม่ใช่ว่ามาเรียนพิเศษ เหมือนมาเล่นกับเพื่อนกับพี่ เราก็ไม่ได้จะสอนวิชาการให้เขาอย่างเดียว ก็ให้เขาผ่อนคลายบ้าง วาดรูประบายสีอะไรอย่างนี้ มันเป็นสิ่งที่เด็กชอบอยู่แล้วค่ะ เราก็ต้องหาดูว่าเด็กคนไหนเหมาะกับอะไร เขาชอบอะไร บางทีอยู่ชั้นเดียวกัน ระดับความคิดหรือว่าวิธีคิดของเขายังไม่ถึงขั้น หญิงก็ต้องลดลงมา เราต้องดูเป็นรายบุคคล เราจะไม่สอนข้าม ๆ ไป


ผลตอบรับหลังจากที่เปิดโรงเรียนรักน้อง

ผลตอบรับถ้าทางเรื่องวิชาการ หญิงจะไม่ค่อยไปถามว่าเขาได้อะไรเพิ่มขึ้น ไม่ได้สนใจเรื่องนั้น แต่สิ่งที่หญิงสนใจคือ เวลากลับไปจะสังเกตพฤติกรรมมากกว่าจากเดิมที่ชอบแย่งของกันเหมือนเด็กทั่วไปคือจะหวงของ สิ่งที่หญิงเห็นตอนนี้คือเด็กเวลาเพื่อนไม่มีอะไรเขาจะเป็นคนเสนอว่ายืมของเราไหม อันนี้คือสิ่งที่หญิงได้และภูมิใจมากที่เห็นพื้นฐานจิตใจของเด็กเขาดีขึ้นค่ะ




สิ่งที่หญิงได้จากการสร้างโรงเรียน

สิ่งที่ได้คือกำลังใจให้ตัวเอง กำลังใจที่วันนั้นเรายังเป็นคนไม่มีกำลังที่จะสู้ ไม่มีกำลังที่จะต่อสู้กับอุปสรรค ท้อแท้มาก และพอมาวันหนึ่งเรามาสร้างโรงเรียนแล้วมันมีผลกับเด็กและคนในชุมชนก็เริ่มแบบมีปฏิสัมพันธ์กันเยอะขึ้น มาดูนักเรียนเรียนมันเกิดความภาคภูมิใจว่าคนป่วยอย่างเราคนหนึ่งสามารถที่จะทำอะไรได้ขนาดนี้ ทั้งที่ตอนเรายังไม่ป่วยเรายังไม่มีแรงที่จะลุกขึ้นมาทำงานแบบนี้ได้เลย คงเป็นเพราะเรื่องความเจ็บป่วยที่มาผลักให้หนูทำเรื่องนี้ค่ะ ที่สำคัญทำให้เราจะมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น คือเด็กมีความร่าเริงสดใส และบริสุทธิ์ทั้งเรื่องของจิตใจ เสียงหัวเราะของเขาเวลาเราได้ยิน มันทำให้จิตใจของเราแบบเบิกบาน ผ่องใส เหมือนมีพลังใจค่ะ เหมือนสิ่งที่สวยงามในโลกใบนี้ยังมีอยู่อีกเยอะค่ะ


หลังจากนี้โรงเรียนจะเป็นยังไง
โรงเรียนที่จริงอยากขยายผลในวิชาอื่น ๆ ที่หญิงไม่ถนัดสอนค่ะ อยากให้มีคนที่เขาถนัดแต่ละวิชาหมุนเวียนกันมาช่วยสอนน้องบ้าง บางทีเราสอนคนเดียวเด็กอาจจะเบื่อบ้าง เพราะเราสอนคนเดียว สอนทุกวันอย่างนี้ อยากให้เขาเจอกับคนอื่นที่มาสอนเขาและก็อาจจะได้วิธีการเรียนรู้แบบใหม่เพิ่มขึ้นค่ะ
ตอนนี้ที่อยากจะทำก็คือ สอนวิชาพวกคอมพิวเตอร์ที่เด็กเกือบจะไม่ได้เรียนที่โรงเรียนเลยคือ หญิงก็อยากสอนแต่ทีนี่อุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีตัวเดียว ก็จะมาดูด้วยกัน อยากให้มีอุปกรณ์ที่เรายังไม่สามารถหามาสอนน้อง หญิงจะพยายามเก็บเงินมาซื้อคอมฯ เพิ่มอยากให้น้องได้เรียนค่ะ


นอกจากสอนหนังสือและยังช่วยงานหมู่บ้านอีกด้วย
ช่วยพัฒนาทางเข้าหมู่บ้านเหมือนมีถนนทางเข้า มีปรับวิวทิวทัศน์ข้างทาง ช่วยปลูกต้นไม้และก็ไปรดน้ำเกือบทุกวัน เราก็จะพาเด็กบางทีก็ไปเก็บขยะบ้าง ถางหญ้าบ้างค่ะ




ช่วงระยะหนึ่งประเพณีวัฒนธรรมภูไทในหมู่บ้าน ในความคิดของหลายคนเป็นสิ่งที่ไม่ทันสมัยมันเป็นเรื่องที่เชย แล้วใครก็ไม่อยากใส่ เราก็เริ่มเป็นคนใส่ไปไหนมาไหน ก็มีคนบอกว่า เออสวยนะ และเดี๋ยวนี้โลกเทคโนโลยีมันก็เยอะ เราก็สื่อสารทางอินเทอร์เน็ตค่ะ ให้คนอื่นได้เห็นเขาก็เริ่มมีความรู้สึกภาคภูมิใจขึ้นมาว่าเราก็เป็นคนภูไทเหมือนกันนะ เราก็น่าจะแต่งตัวแบบนี้ด้วยค่ะ แล้วทุกวันนี้เด็ก ๆ เขาก็ไม่อายที่จะใส่ชุดแบบนี้ค่ะ


มีวิธีคิดเวลาตัวเองท้อยังไง

เคยท้ออยู่เหมือนกันค่ะ บางทีเวลาเราสอนหนังสือไป ทำงานไปอยู่ดี ๆ มันก็เหนื่อย เพราะว่าใจเราอยากจะทำ อยากจะสู้ อยากจะทนอยู่ แต่บางทีร่างกายไม่ไหวอย่างนี้ ต้องขอนักเรียนไปนอน เวลาท้อบางทีก็คิดได้ว่าถ้าท้อกำลังใจของเราสำคัญที่สุดและถ้าไม่มีกำลังใจแล้วใครจะให้กำลังใจเราได้เท่ากับตัวเราเอง ก็ต้องให้กำลังใจตัวเองก่อนค่ะ


สำหรับคนที่กำลังป่วยหรือท้อ
ถ้ากายเราป่วยใจเราก็ป่วยไปด้วย มันไม่มีอะไรดีขึ้นมีแต่จะยิ่งทรุดไปเรื่อย ขั้นแรกเราก็เปลี่ยนที่ความคิดเปลี่ยนที่ใจเราก่อน ถ้าใจเราสู้โรคภัยมันก็ทำอะไรเราไม่ได้ค่ะ ชีวิตเป็นของเรา เราก็ควบคุมไม่ให้สิ่งต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตหรือการสร้างความฝันของเราค่ะ เราก็ใช้มันให้คุ้มค่าที่สุดค่ะ


สมมติถ้าขออะไรได้หนึ่งอย่าง
ขอพรหรอค่ะหญิงก็ยังคิดไม่ออกเลยค่ะ ตอนนี้ยังไม่ได้มีอะไรที่อยากได้ค่ะ หญิงพอใจในสิ่งที่มีอยู่ตอนนี้ ไม่ได้อยากจะขอให้ตัวเองหายจากโรคที่เป็นอยู่เพราะว่าตอนนี้ก็ใช้ชีวิตได้เกือบจะปกติแล้ว ถึงจะไม่ได้รับการเปลี่ยนไตหรือไม่ได้รับการรักษาจนหาย หญิงก็คิดว่าจะใช้ชีวิตต่อไปแบบนี้ได้


“ถ้าท้อกำลังใจของเราสำคัญที่สุดและถ้าไม่มีกำลังใจแล้วใครจะให้กำลังใจเราได้เท่ากับตัวเราเอง”



เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Magazine
  • 3 Followers
  • Follow