Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ทำอย่างไรให้ลูกสูง ?

Posted By Plook Parenting | 18 พ.ย. 65
5,464 Views

  Favorite

คุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความสูงของลูกเป็นอย่างมาก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็อยากให้ลูกตัวสูง รูปร่างดี ยิ่งถ้าคุณพ่อคุณแม่ตัวเล็ก หรือตัวเตี้ยเป็นทุนเดิมก็ยิ่งมีความกังวลว่าลูกจะตัวเตี้ยเหมือนตนเอง หรือแม้แต่คุณพ่อคุณแม่ที่ตัวสูงอยู่แล้ว ก็อาจจะกลัวว่าลูกจะไม่สูงตามเกณฑ์ ... แล้วทำอย่างไรลูกถึงจะตัวสูง ?

 


โดยปกติแล้วเด็กจะมีอัตราการเจริญเติบโตตามช่วงวัย ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ต้องคอยสังเกตว่าส่วนสูงของลูกเพิ่มขึ้นเป็นไปตามเกณฑ์ที่เหมาะสมหรือไม่ ซึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูง มีดังนี้

  • พันธุกรรม มีอิทธิพลสำคัญต่อความสูงของเด็ก ซึ่งเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ที่ตัวเล็กมีแนวโน้มจะมีรูปร่างเล็กตามเผ่าพันธุ์ เช่นเดียวกันกับเด็กที่เกิดจากพ่อแม่รูปร่างสูงก็มีแนวโน้มจะสูงตามไปด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
  • สิ่งแวดล้อม ได้แก่ การรับประทานอาหารไม่เพียงพอ ไม่ครบ 5 หมู่ ขาดการออกกำลังกาย การนอนหลับพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ รวมทั้งมีการเจ็บป่วยเรื้อรัง เช่น เด็กเป็นหอบ หืด ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลทุกเดือน ต้องพ่นยา ทำให้เด็กได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ และระหว่างการป่วยต้องใช้พลังงานค่อนข้างสูงอาจทำให้เด็กเติบโตได้ไม่ดี
  • ฮอร์โมน ความผิดปกติของฮอร์โมนหลายชนิดที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เด็กตัวเตี้ย ได้แก่ ภาวะขาดฮอร์โมนเจริญเติบโต ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน เป็นต้น
  • เชื้อชาติ คนเชื้อชาติตะวันตกจะมีความสูงมากกว่าทางตะวันออก
  • ความเครียด เป็นปัจจัยหนึ่งที่กระทบต่อการเจริญเติบโตของเด็ก เนื่องจากมีผลทำให้การหลั่งฮอร์โมนการเจริญเติบโตผิดปกติไป

ร่างกายของเด็กจะสูงเร็วที่สุดมีอยู่ 2 ช่วง คือ ตอนแรกเกิดจนถึงอายุ 1 ปี และช่วงวัยรุ่นอายุเริ่มตั้งแต่ 9 -14 ปี เด็กในสองช่วงนี้จะมีความสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากให้ลูกตัวสูงควรรีบบำรุงให้ลูกตั้งแต่ยังเล็ก

 

ภาพ : Pixbay

 

วิธีการ

1. ใส่ใจในโภชนาการ

เด็กควรได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ แต่ให้จัดสัดส่วนอย่างเหมาะสมในปริมาณที่เพียงพอต่อวัน เน้นอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกระดูก อาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม เนื้อสัตว์จำพวกปลา ผักผลไม้

2. ดูแลสุขภาพของลูก

การเกิดโรคภัยไข้เจ็บบางชนิดก็ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเด็กเช่นกัน คุณพ่อคุณแม่ควรให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพของลูก พยายามป้องกันไม่ให้ลูกเจ็บป่วยด้วยการดูแลใส่ใจทั้งเรื่องอาหารการกิน ความเป็นอยู่ ให้ถูกสุขลักษณะเพื่อป้องกันการเกิดโรคต่าง ๆ

3. ให้ลูกนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ

ควรพาลูกเข้านอนก่อน 4 ทุ่ม และนอนหลับอย่างน้อย  8 - 9 ชั่วโมง สำหรับเด็กเล็กควรนอนหลับ 10 - 13 ชั่วโมงต่อคืน เนื่องจากขณะที่นอนหลับสนิทร่างกายจะผลิตโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญเติบโต และในเด็กวัย 1 ปีขึ้นไป คุณพ่อคุณแม่ควรฝึกให้ลูกหลับยาวในช่วงเวลากลางคืน ควรงดนมมื้อดึกและควรให้นอนแต่หัวค่ำเพื่อให้โกรทฮอร์โมนหลั่งออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. พาลูกออกกำลังกาย

การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มมวลกระดูก เพิ่มความแข็งแรงของกระดูก ควรเลือกกิจกรรมที่มีแรงกระแทกจากการกระโดด ซึ่งเป็นเหมือนการกระตุ้นข้อต่อกระดูกให้มีการยืดตัวขึ้น เพิ่มความยาวของกระดูกสันหลัง หรือกิจกรรมเคลื่อนไหวทุกส่วนของร่างกาย เช่น การเล่นบาสเกตบอล กระโดดเชือก ว่ายน้ำ และควรออกกำลังกายเป็นประจำ ใช้เวลาอย่างน้อยครั้งละ 30 นาที

5. ดูแลสุขภาพจิตใจของลูก

เพราะความเครียดก็ส่งผลให้การเติบโตของเด็กหยุดชะงักลงได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องหมั่นพูดคุยเล่นกับลูก และสร้างรอยยิ้มให้กันและกันอยู่เสมอ การได้รับความอบอุ่นในครอบครัวจะทำให้เด็กมีอารมณ์ดี สุขภาพจิตที่ดี ส่งผลให้เกิดการเจริญเติบโตที่ดีของร่างกายเช่นกัน

 

แต่หากคุณพ่อคุณแม่มีความกังวลและเห็นว่าลูกมีความผิดปกติเรื่องความสูง เช่น เตี้ยกว่าค่าเฉลี่ยของเด็กวัยเดียวกันมากเกินไป ควรพาลูกไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการเด็ก เพราะอาจหมายถึงความผิดปกติของร่างกายหรือโรคต่าง ๆ ซึ่งควรได้รับคำแนะนำและการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow