Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ส่งต่อสำนึกรักษ์น้ำ น้อมนำแนวทางองค์ภูมิพล

Posted By Do Good | 01 มี.ค. 60
3,174 Views

  Favorite

"...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้ น้ำเพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น
ถ้ามีน้ำ คนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้า คนอยู่ได้ 
แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้..."

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน วันที่ 17 มีนาคม 2529

ห้วยสงสัย โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


    “เพราะน้ำคือชีวิต” เมื่อชีวิตขาดแคลนน้ำจึงนำมาสู่ความขัดแย้งระหว่างชีวิตกับชีวิต  เหมือนที่ชาวบ้านตำบลเขากระปุก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ที่ต้องประสบกับปัญหาความขัดแย้งเรื่องการจัดการน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยสงสัย เนื่องจากชาวบ้านบริเวณเหนืออ่างยอมเสียพื้นที่เพื่อสร้างอ่าง แต่คนใต้อ่างกลับเป็นผู้ได้ใช้ประโยชน์จากการใช้น้ำเต็มที่  นำไปสู่การสร้างความไม่พอใจให้ชาวบ้านผู้เสียพื้นที่ และกลายเป็นความขัดแย้งเรื้อรังมานานหลายปี เพราะต่างฝ่ายต่างไม่รู้ต้นตอของปัญหา

    กระทั่งทีมนักวิจัยชาวบ้านได้เข้ามาจัดการปัญหาดังกล่าว โดยการลงพื้นที่ศึกษาชุมชน เพื่อค้นหาสาเหตุของปัญหา และแนวทางการบริหารจัดการน้ำ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง ทว่าพลังของผู้ใหญ่เพียงกลุ่มเดียวยิ่งนานวันก็ยิ่งอ่อนแรง เพราะไม่อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนได้ กลุ่มเยาวชน Oneness ปะกอบด้วย กุ้ง-อภิสิทธิ์ ยากำจัด นุ่น-ศิริรัตน์ แก้วเมืองเพชร กบ-วนิดา ยากำจัด นุช-กัญญารัตน์ แก้วเมืองเพชร นักเรียนโรงเรียนหนองพลับวิทยา  และนัน-ปรียานันท์ เย็นเปิง กับกุ๊ก-ลลนา มาโชค  นักเรียนโรงเรียนคงคาราม  ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ “อาสา” เข้ามาทำ “โครงการน้ำต่อชีวิต” เพื่อเรียนรู้ปัญหาเรื่องน้ำในบ้านเกิด เพื่อสานต่องานที่ผู้ใหญ่วางไว้ ทำให้กลุ่มผู้ใหญ่เริ่มมีความหวังขึ้นมาอีกครั้ง

กลุ่มเยาวชนทีม Oneness โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


    เฉลิมพล ช้างเผือก หนึ่งในทีมนักวิจัย กล่าวว่า “ตอนแรกคิดจะหยุดทำโครงการกันแล้ว เนื่องจากพวกเราล้ามาก และคิดว่าพอแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อเด็กๆ เข้ามาก็กลับรู้สึกกระตือรือร้น และเห็นว่าโครงการควรเดินต่อ เพราะผลสำเร็จที่เราทำได้ยังไม่ยั่งยืน ต้องส่งไม้ต่อให้เยาวชน เพื่อไม่ให้อนาคตย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิมอีก” 

สำหรับแนวทางการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทีมนักวิจัยใช้ “การพูดคุย” กับชาวบ้านแต่ละฝ่ายด้วยข้อมูลสถานการณ์และการจัดการน้ำ ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่ว่ามีหรือไม่มีปัญหาก็ตาม เพราะถ้ารีรอให้เกิดปัญหาแล้วค่อยคุยกันอาจไม่ทันต่อสถานการณ์  เมื่อเด็ก ๆ เข้ามารับไม้ต่อ จึงวางเป้าหมายไปที่การพูดคุยคล้ายทีมผู้ใหญ่ เพื่อให้ชาวบ้านเห็นคุณค่าของน้ำ และเสริมด้วยการทำกิจกรรมสื่อความหมายให้ความรู้และสร้างความรักในสายน้ำ ด้วยเชื่อว่า “ถ้าคนรักน้ำก็ย่อมไม่ทำลายสายน้ำ”

ทีมนักวิจัยผู้ใหญ่ โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


   แม้จะวางเป้าหมายการทำโครงการไว้ว่าจะใช้วิธีการพูดคุยเป็นหลัก แต่ทีมวิจัยมองว่ากระบวนการเช่นนี้ไม่น่าจะทำให้เด็ก ๆ เกิดความรักความหวงแหนแหล่งน้ำได้  จึงออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้เด็ก ๆ ลงพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ที่ไม่ใช่แค่เพื่อรู้จักเรื่องน้ำ แต่ได้เรียนรู้ด้วยว่าชุมชนของตัวเองเป็นอย่างไร ทั้งจุดเด่น-จุดด้อย วิถีชีวิต ประเพณี ซึ่งทำให้ยิ่งพบว่า น้ำสำคัญกับชาวบ้านอย่างไร เพราะคนในชุมชนแห่งนี้ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม 

    กบ-วนิดา เล่าว่า “ตอนลงพื้นที่ไปเจอบ้านหลายหลังที่ต่างระบายปัญหาเรื่องน้ำออกมา พวกเราก็ค่อย ๆ รับฟัง แต่มีหลังหนึ่งที่ไปถามแล้วเขาไม่ตอบและด่ากลับด้วย พวกเราก็คิดว่าเขาคงอึดอัดมาก ไม่อยากพูดถึง แต่ฟังเขาด่าแล้วก็ไม่ท้อ เก็บมาเป็นแรงผลักดันมากกว่า เพราะอยากทำให้เขาเห็นว่าเรื่องน้ำต้องมีทางออก”

    หลังการลงศึกษาชุมชน และพูดคุยกับผู้คนในแต่ละหมู่บ้าน ทำให้กลุ่มเยาวชนเข้าใจมากขึ้นว่า ปัญหาน้ำเกิดจากการจัดสรรน้ำที่ไม่สอดคล้องกับความต้องการของเกษตรกรที่ปลูกพืชต่างชนิด บวกกับปริมาณน้ำฝนที่ลดน้อยลงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงตัดสินใจเข้าไปเรียนรู้การใช้เครื่องมือเก็บข้อมูลกับทีมนักวิจัยชาวบ้านเพื่อให้เข้าใจปริมาณน้ำที่มีของหมู่บ้านมากขึ้น ได้แก่ เครื่องมือวัดอุณหภูมิ เครื่องมือวัดความชื้น วัดปริมาณน้ำในอ่าง และปริมาณน้ำฝน โดยการวัดอุณหภูมิและความชื้นก็เพื่อใช้เปรียบเทียบและคาดเดาว่าวันไหนฝนจะตก ส่วนการวัดปริมาณน้ำจะใช้เพื่อเปรียบเทียบปริมาณที่มีอยู่ แล้วหาวิธีการบริหารจัดการให้พอใช้ ซึ่งกลุ่มเยาวชนจะทำการจดบันทึกทุกวัน เมื่อครบ 1 สัปดาห์ก็นำมาหาค่าเฉลี่ย แล้วบันทึกไว้ทุกเดือน ก่อนจะนำข้อมูลเหล่านี้ไปเผยแพร่ให้คนในชุมชนรับรู้เพื่อให้เข้าใจถึงสถานการณ์ของน้ำในอ่างเก็บน้ำและแนวโน้มของปริมาณน้ำในอนาคต

การวัดปริมาณน้ำในอ่าง โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


    เมื่อเรียนรู้เรื่องน้ำ กระทั่งตัวเองเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำ และรู้สึกหวงแหนสายน้ำมากกว่าที่เคยเป็นมา กลุ่มเยาวชนจึงส่งต่อข้อมูลความรู้สู่ชุมชนในกิจกรรมคืนความรู้ให้ชุมชน โดยช่วงเช้าเป็นการถ่ายทอดกิจกรรมที่พวกเขาทำในโครงการ ส่วนช่วงบ่ายกลุ่มเยาวชนได้ออกแบบเกมที่จะกระตุกจิตสำนึกในการใช้น้ำ ในชื่อว่า เกมเติมให้เต็ม โดยแบ่งชาวบ้านออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 7 คน ต่อเป็นแถวเพื่อส่งถุงน้ำเป็นทอดๆ จากหัวแถวสู่ปลายแถว แล้วให้คนปลายแถวเทน้ำในถุงลงถัง กลุ่มไหนได้ปริมาณน้ำมากที่สุดเป็นผู้ชนะ โดยมีเงื่อนไขที่ว่า ตั้งแต่คนที่ 2 เป็นต้นไปต้องเจาะถุงน้ำด้วยเครื่องมือที่จัดเตรียมไว้ก่อนส่งต่อไปยังอีกคน ทำให้ระหว่างทางมีน้ำเจิ่งนองเต็มไปหมด  โดยบทสรุปของเกมได้ชี้ให้ชาวบ้านเห็นว่า  การเจาะถุงน้ำก็เหมือนการใช้น้ำในชีวิตจริงของแต่ละคน ที่ใช้น้ำปริมาณไม่เท่ากัน ถ้าคนต้นน้ำเจาะรูใหญ่เปรียบเสมือนการใช้น้ำปริมาณมากเกินไป คนปลายน้ำก็จะไม่มีน้ำเทลงถัง หรือไม่มีน้ำเหลือใช้นั่นเอง

เกมเติมให้เต็ม โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


    จากนั้นจึงระดมความคิดเห็นของชาวบ้านว่า อยากเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำกับกลุ่มเยาวชนอย่างไร และอยากเห็นชุมชนเป็นอย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันคือ อยากให้ความร่วมมือและสนับสนุนการทำงานของเด็กๆ เช่น การร่วมลงแรงพัฒนาแหล่งน้ำ การใช้น้ำอย่างประหยัด เป็นต้น ส่วนภาพฝันที่ต้องการให้เกิดขึ้นกับชุมชนคือ อยากเห็นชุมชนมีความสามัคคี คอยช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

กิจกรรมคืนความรู้ให้ชุมชน โดย มูลนิธิสยามกัมมาจล


    การทำงานของทีมวิจัยรุ่นใหญ่ที่ส่งไม้ต่อให้กลุ่มเยาวชนเห็น “คุณค่า” และ “ความหมาย” ของน้ำ ได้ “จุดประกาย” ให้คนในชุมชนเกิด “สำนึกรักและหวงแหนสายน้ำ”  หลังจากนี้คงต้องติดตามกันต่อไปว่าผลลัพธ์ปลายทางจะงดงามเพียงใด ทว่าสิ่งสำคัญที่เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ คือมุมมองของคนรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กที่เห็นว่าปัญหาดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง หากแต่เป็นหน้าที่ของพลเมือง หรือผู้เป็นกำลังของเมือง ที่จะต้องร่วมกันดูแลน้ำอันเปรียบเสมือนชีวิตของทุกคน ดั่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ ทรงเป็นต้นแบบในการทำให้เห็นตลอดเวลาที่ผ่านมาว่า “น้ำคือชีวิต” นั่นเอง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ติดต่อ คุณสุวิภา ตรีสุนทรรัตน์ มูลนิธิสยามกัมมาจล
โทร. 08-7806-3782

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Do Good
  • 4 Followers
  • Follow