Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

วิธีการสังเกตว่าลูกเป็นโรคออทิสติกหรือไม่

Posted By Plook Parenting | 17 ก.พ. 60
25,502 Views

  Favorite

ออทิสติก เป็นกลุ่มอาการความผิดปกติด้านพัฒนาการของเด็ก มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของโครงสร้างหรือสารเคมีบางอย่างของสมอง แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นสมองส่วนใด ทำให้เกิดความบกพร่องของพัฒนาการด้านภาษาและสังคม ซึ่งความรุนแรงจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับไอคิว และความผิดปกติอื่น ๆ ที่พบร่วมด้วย

 

เด็กที่เป็นโรคนี้จะเป็นตั้งแต่แรกเกิด โดยมีหลายสาเหตุ เช่น พันธุกรรม การที่พ่อแม่มีโรคบางอย่างถ่ายทอดถึงลูกในครรภ์ การที่แม่ติดเชื้อไวรัสบางตัวขณะที่ตั้งครรภ์ ความไม่สมดุลของสารเคมีในร่างกาย รวมทั้งการติดเชื้อขณะคลอด อย่างไรก็ตามยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดได้ แต่แพทย์เชื่อว่าโรคนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ในครรภ์มารดา

 

ในเด็กเล็กอาการจะเริ่มแสดงออกมาให้เห็นเมื่ออายุ 3 - 5 เดือน
และจะแสดงอาการให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเมื่อเด็กอายุได้ 2 - 3 ขวบ

 

การที่พ่อแม่จะรู้ว่าลูกมีความผิดปกติหรือไม่นั้น สามารถเริ่มสังเกตได้เมื่อลูกมีอายุ 3 เดือนขึ้นไป โดยสังเกตจากภาษาทางกาย เพราะเด็กปกติจะมีการโต้ตอบกับพ่อแม่ ด้วยการยิ้ม หัวเราะ จดจำหน้าพ่อแม่ได้ และมีการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างที่มากระตุ้น เช่น ทำท่าคว้าของเล่น สนใจโมบายที่แขวนอยู่ ส่วนเด็กที่เป็นออทิสติกจะแสดงอาการเฉย ๆ เมื่อเห็นสิ่งรอบข้าง และมีการทำพฤติกรรมที่ซ้ำ ๆ เช่น ขยับมือแบบเดิม ๆ หรือเพ่งมองอะไรซ้ำ ๆ  สำหรับเด็กวัย 3 ขวบขึ้นไปสังเกตได้จากการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง พัฒนาการทางด้านสังคมและพัฒนาการทางด้านการสื่อสารว่าเป็นไปตามวัยหรือไม่ เด็กที่เป็นออทิสติกกระบวนการพัฒนาจะเป็นไปอย่างช้าๆ  ซึ่งสามารถสังเกตพัฒนาการของลูกได้ ดังนี้

 

ภาพ Shutterstock

 

อาการ

1. พัฒนาการทางด้านพฤติกรรม

              - มีการเล่นที่ไม่เหมาะสมกับระดับพัฒนาการ เช่น เล่นสมมติไม่เป็น หรือเล่นตามจินตนาการไม่ได้ เล่นของเล่นไม่เป็น ชอบเล่นอะไรซ้ำ ๆ สนใจเพียงบางส่วนของวัตถุ เช่น เล่นแต่ล้อรถ ใบพัด พัดลม เครื่องซักผ้า ชอบเอาของมาเรียงเป็นแถว ชอบของหมุนได้

              - หมกมุ่นอยู่กับการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งที่ไม่เหมาะสมหรือทำซ้ำ ๆ มากเกินไป เช่น เคลื่อนไหวซ้ำ ๆ สะบัดมือ เล่นมือ หมุนตัว เขย่งเท้า โยกตัว โขกศีรษะ ทำร้ายร่างกายตัวเอง

              - ชอบทำมีกิจกรรมเดิมซ้ำ ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงได้ยาก เช่น  ดูหนังการ์ตูนเรื่องเดิม ฟังเพลงเดิมซ้ำ ๆ รวมถึงการกิน ชอบกินแต่อาหารชนิดเดิม ๆ กินยาก

              - ปรับตัวยากต่อการเปลี่ยนแปลง ยึดติดกับขั้นตอนในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่สามารถยืดหยุ่นได้ เป็นเด็กเจ้าระเบียบกว่าเด็กวัยเดียวกัน หรือไม่ก็ติดของบางอย่างมากเกินไป

              - ตอบสนองต่อสิ่งเร้ามากหรือน้อยเกินไป เช่น ไม่สามารถทนเสียงดังได้ หรือชอบทำให้เกิดเสียงดัง ๆ

 

2. พัฒนาการทางด้านภาษา

              - ไม่สามารถใช้ภาษาท่าทาง หรือภาษากายสื่อสารกับบุคคลอื่น เช่น การสบตา การแสดงอารมณ์ความรู้สึกทางสีหน้า รวมถึงไม่สามารถปฏิเสธหรือตอบรับด้วยการพยักหน้าหรือส่ายหน้า

              - ส่งเสียงไม่เป็นภาษา พูดคำหรือวลีที่ไม่มีความหมายซ้ำ ๆ พูดเล่นเสียง เช่น พูดระดับเสียงเดียว พูดเสียงสูง หรือพูดเสียงต่ำโดยใช้คำที่ตนเองเข้าใจความหมายเท่านั้น

              - ไม่สามารถบอกความต้องการของตนเองได้ เช่น ถ้าอยากได้ของ ก็จะไม่พูด ไม่รู้ชี้นิ้วบอก แต่จะจับมือคนอื่นไปชี้หรือพาเข้าไปใกล้สิ่งที่ต้องการ

              - พูดช้าหรือไม่พูด และไม่มีความพยายามในการสื่อสาร

              - ในรายที่สามารถพูดได้ จะไม่สามารถเริ่มต้นการสนทนาและดำเนินการสนทนาได้อย่างต่อเนื่องตรงตามวัตถุประสงค์ ตอบไม่ตรงคำถาม พูดสลับคำ

              - ชอบพูดทวนคำที่คนอื่นพูดจบ หรือพูดตามโทรทัศน์ ทั้งแบบทันทีทันใดหรือสักระยะหลังจากได้ยิน

              - ไม่เข้าใจมุกตลก คำเปรียบเทียบ ประชดประชัน หรือสุภาษิต สำนวนคำพังเพยต่าง ๆ

 

3. พัฒนาการทางด้านสังคม

              - ขาดทักษะการสื่อสารทางสังคมและทางอารมณ์กับบุคคลอื่น ขาดความสามารถในการเข้าร่วมกิจกรรมกับผู้อื่น ไม่มีความสนใจและไม่มีความสนุกสนานร่วมกับผู้อื่น ไม่มองหน้า ไม่สบตาในขณะพูดหรือทำกิจกรรมร่วมกัน

              - เรียกชื่อแล้วไม่หันหาเสียง แต่จะสนใจเสียงอื่น ๆ และไม่สนใจฟังเวลาที่พูดด้วย

              - ชอบเล่นคนเดียว ไม่ชอบเข้าหาใคร ไม่สามารถสร้างสัมพันธภาพกับบุคคลให้เหมาะสมตามวัย

              - ไม่รู้จักแสดงความรักกับพ่อแม่หรือคนอื่น ๆ เช่น การกอด ไม่แสดงท่าทางดีใจเมื่อพบพ่อแม่ หรือไม่วิ่งหาพ่อแม่เพื่อขอความช่วยเหลือ และไม่ร้องตามเมื่อพ่อแม่จากไป รวมถึงไม่กลัวคนแปลกหน้า

              - ไม่สามารถแสดงอารมณ์อย่างเหมาะสม ไม่แสดงสีหน้าท่าทาง ไม่ยิ้ม ทำหน้าเฉยตลอด ไม่เข้าใจเรื่องอารมณ์ความรู้สึก

              - ไม่เข้าใจสถานการณ์ทางสังคมที่ซับซ้อน ไม่เข้าใจคำสั่ง ไม่รู้จักกาลเทศะ ไม่สามารถเข้าใจความรู้สึกของตนเองและของผู้อื่น

              - ไม่รู้จักแบ่งขนม หรือของเล่นให้เด็กคนอื่น

              - ไม่สามารถทำท่าทางเลียนแบบผู้ใหญ่ได้

 

แม้ว่ากลุ่มโรคออทิสติกจะเป็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นตลอดชีวิตและรักษาไม่หายขาด แต่ก็พบว่ามีเด็กที่เป็นแล้วสามารถดูแลช่วยเหลือตนเองได้ บางคนสามารถเรียนจนจบและดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติ แต่จะต้องมีปัจจัยหลายอย่าง เช่น เด็กมีระดับไอคิวมากกว่า 70 หรือไม่มีภาวะปัญญาอ่อนร่วม ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับการที่เด็กได้รับการวินิจฉัยและการรักษาตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะมีโอกาสพัฒนาได้มากกว่าการรักษาเมื่อมีอายุมากขึ้น โดยสิ่งสำคัญที่สุดคือการได้รับความเอาใจใส่จากพ่อแม่และครอบครัว ซึ่งจะทำให้เด็กสามารถเรียนรู้ และมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ ดีขึ้นจนสามารถใช้ชีวิตปกติได้ต่อไปในสังคม

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow