Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รวมเทคนิครับมืออิทธิฤทธิ์ลูกตามวัยให้อยู่หมัด

Posted By Another Piece | 09 ก.พ. 60
5,729 Views

  Favorite

เลี้ยงลูกต่างวัยก็มีปัญหาต่างกัน เรียกได้ว่าคนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องเตรียมพร้อมรับศึกหนักอยู่ตลอดเวลา แต่ละวัยมีปัญหาอะไรน่าหนักใจบ้าง และจะแก้ไขกันอย่างไรดี ในฉบับมีเรามีเทคนิคเจ๋ง ๆ มาแนะนำกันค่ะ

 

รับมือ “เบบี๋จอมซน”

เบบี๋วัยหัดคลานเริ่มอยากสำรวจโลก เขาจึงคลานไปดูไปเล่นจนทั่วบ้าน ซึ่งพฤติกรรมแสนซนนี้อาจทำให้เบบี๋เกิดอันตรายได้ คุณพ่อคุณแม่ก็ต้องคอยห้ามคอยระแวง ซึ่งเทคนิครับมือจอมซนที่ดีที่สุดคือ “การจัดโซนนิ่ง” นั่นเอง

• จัดมุมปลอดภัย  แบ่งหนึ่งหรือมุมหนึ่งในบ้านเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เบบี๋คลานเล่นได้อย่างอิสระ โดยในพื้นที่นั้นต้องไม่มีของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อเบบี๋แม้แต่ชิ้นเดียว โดยเฉพาะของเล่นชิ้นเล็กที่อาจกลืนลงคอได้ และปลั๊กไฟต่าง ๆ

• ป้องกันทั้งบ้าน  สายไฟ ของมีคม ของที่แตกหักได้ สารเคมีต่าง ๆ และของชิ้นเล็กง่ายแก่การกลืนลงคอ ควรเก็บให้มิดชิด ปลั๊กไฟควรหาที่ปิดให้เรียบร้อย ประตูหรือบันไดควรมีรั้วกั้น และครอบเหลี่ยมโต๊ะ เก้าอี้ หรือตู้ต่างๆ ด้วยยางกันกระแทก ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน ในกรณีที่เราอาจเผลอไผลและลูกคลานออกมาเล่นนอกโซนนิ่ง ลูกน้อยก็จะยังปลอดภัยหายห่วง

 

ภาพ : Shutterstock

 

วัยเตาะแตะจอมขว้าง

วัยนี้หยิบจับอะไรเป็นต้องขว้างลงพื้นตลอด คุณพ่อคุณแม่เก็บให้ก็ขว้างแล้วขว้างอีก เล่นสนุกจนน่าโมโห แต่รู้หรือไม่ว่าสิ่งที่ลูกน้อยกำลังทำอยู่เป็นหนึ่งในพัฒนาการของเขา แล้วอย่างนี้จะแก้ไขอย่างไรหรือปล่อยให้ลูกขว้างต่อไปแบบนี้ เรามีคำตอบมาให้ค่ะ

     • ชวนเล่นเกมปรับพฤติกรรม  ในเมื่อลูกวัยนี้เล่นสนุกด้วยการขว้าง เราก็ลองชวนเขามาเล่นสนุกด้วยการเก็บของเล่นบ้างเสียเลย ลองเปิดเพลงสนุก ๆ แล้วแข่งเก็บของเล่นก่อนจบเพลง ใครเก็บได้มากกว่าคนนั้นชนะและได้รับเสียงปรบมือเป็นรางวัลไปเลย!

     • เล่นปุ๊บเก็บปั๊บ  หากลูกน้อยเล่นหรือขว้างปาอาหาร นั่นหมายความว่าเขาอิ่มแล้ว คุณแม่เพียงเก็บจานอาหารของเขาทันที เพื่อให้รู้ว่าหากเขาเล่นอาหารเมื่อไร เขาจะอดกินเมื่อนั้น ลูกก็จะได้เรียนรู้ในครั้งต่อ ๆ ไปเองว่า อาหารมีไว้กินเพื่ออิ่มท้อง หากอิ่มแล้วคุณพ่อคุณแม่จะเก็บ เขาจะเล่นไม่ได้เด็ดขาด!

 

วัยอนุบาลจอมดื้อ

วัยนี้แสนเอาแต่ใจ อยากได้อะไรก็ต้องได้ หากไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็ต้องเอาด้วยกล เหตุผลอะไรก็ไม่ฟังทั้งนั้น คุณพ่อคุณแม่จึงต้องสู้รบกับลูกวัยนี้จนปวดเศียรเวียนเกล้าไม่เว้นแต่ละวัน เราจึงมีเทคนิคปราบจอมดื้อมาฝากกันค่ะ

     • ตั้งกติกากันก่อน  การทำกติกาหรือข้อตกลงกันไว้ก่อนจะช่วยให้ลูกรู้ว่าเขาควรทำตัวอย่างไร หากมีวี่แววว่าเขาจะทำผิดกจิกา คุณพ่อคุณแม่ก็ช่วยทวนให้เขาฟังใหม่ได้ เพื่อให้กติกากลายเป็นสิ่งคอยเตือนใจให้เขาฉุกคิดก่อนจะออกฤทธิ์อาละวาด

     • รางวัลนี้ดีต่อใจ  รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นของเล่นหรือขนม แต่ควรเป็นช่วงเวลาแสนพิเศษที่คุณพ่อคุณแม่จะมอบความรักให้กับลูก เช่น เล่านิทานให้ฟัง เดินเล่นด้วยกัน หรือร้องเพลงด้วยกัน เป็นต้น ซึ่งในทางตรงกันข้ามหากเขาไม่ทำตามกติกา เขาก็จะสูญเสียโอกาสเหล่านี้ไปนั่นเอง

     • เด็ดขาดเสมอ  หากถึงเวลานอนแล้วไม่ยอมนอน ถึงอย่างไรก็ต้องปิดโทรทัศน์ ปิดไฟนอน และย้ำกับเขาอยู่เสมอว่า “กติกาก็ต้องเป็นกติกาจ้ะ” ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น แต่ไม่ใช่การดุด่าว่ากล่าว เพื่อหลีกเลี่ยงการทะเลาะกับลูก แต่ในขณะเดียวกันก็ทำให้ลูกรู้ได้ด้วยว่าคุณพ่อคุณแม่เอาจริง!

 

วัยประถมจอมจ้อ

เด็กวัยนี้เป็นวัยช่างพูดช่างคุย อยากจะบอกเล่าสิ่งต่างๆ ด้วยความตื่นเต้น ภาคภูมิใจ และเชื่อว่าทุกคนชอบฟังเรื่องราวของเขาเหมือนอย่างที่คุณพ่อคุณแม่ชอบ เขาจึงอยากเล่าประสบการณ์ทุกอย่างให้ทุกคนที่พบเจอได้ฟัง โดยไม่สนใจว่าผู้อื่นอยากฟังไหม หรืออยู่ในสถานการณ์ที่สมควรหรือไม่ ทำให้บางครั้งลูกของเราอาจดูเป็นจอมจ้อจอมคุยโวโดยไม่รู้ตัว

     • นุ่มนวลไว้ก่อน  การบอกกับลูกน้อยอย่างนุ่มนวลว่า ตอนนี้ทุกคนยังไม่พร้อมฟังเรื่องราวของเขาเพราะอะไร และเขาจะสามารถเล่าให้ใครฟังได้เมื่อไร จะช่วยให้ลูกอดทนรอคอยได้ โดยไม่จำเป็นต้องดุให้เขาเสียความมั่นใจ

     • เล่นเกมดีกว่า  อีกวิธีหนึ่งคือชวนเล่นเกม “สลับพูดสลับฟัง” โดยตั้งกติกาว่าเราจะผลัดกันเล่าคนละเรื่อง และเมื่อถึงตาพ่อแม่เล่า ลูกต้องหยุดและฟังอย่างตั้งใจ ในขณะที่พ่อแม่ก็จะตั้งใจฟังสิ่งที่เขาเล่าทีละเรื่องเช่นกัน เกมนี้จะช่วยฝึกความอดทนให้ลูกรู้จักหยุดและทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดีด้วยนั่นเอง

 

วัยวีนจอมซ่า

ลูกวัยทวีนแม้จะยังเป็นเด็ก แต่ก็เริ่มมีส่วนผสมของวัยรุ่นเข้ามาให้คุณพ่อคุณแม่ต้องปวดหัวกันบ้างแล้ว เช่น เริ่มมีอาการติดเพื่อน อยากเป็นที่ยอมรับในกลุ่ม เพื่อนเฮไหนเขาก็จะขอเฮนั่นตามไปบ้าง บางคนชอบเถียง บางคนก็ดื้อเงียบ ทำให้คุณพ่อคุณแม่สับสนและรับมือไม่ถูกในบางครั้ง แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ยากเกินความสามารถของคุณพ่อคุณแม่แน่นอน

     • รับฟังอย่างเข้าใจ  ลูกวัยนี้ต้องการความรักและความเข้าใจสูง การชวนพูดคุยและรับฟังความคิดเห็นของเขาเป็นสิ่งสำคัญ คุณพ่อคุณแม่จึงควรแบ่งเวลาอย่างน้อยวันละ 10-15 นาที เพื่อซักถามและฟังเรื่องราวของเขา โดยไม่มีการบ่นหรือต่อว่า แต่เป็นการรับฟัง ให้คำปรึกษา และช่วยหาวิธีแก้ไขปัญหาแทน

     • สนับสนุนทักษะสังคม  เมื่อลูกขอไปเที่ยวกับเพื่อน คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรปฏิเสธ แต่ใช้โอกาสนี้สนับสนุนให้เขารู้จักการเข้าสังคม โดยคอยรับส่งและกำหนดเวลาไปกลับกับลูกให้แน่นอน หากเขาทำได้ตามที่ตกลงก็จะได้ไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ อีกในครั้งต่อ ๆ ไป

     • ระบายอารมณ์ได้ในพื้นที่ส่วนตัว  ในส่วนของความเจ้าอารมณ์ของลูกวัยนี้ คุณพ่อคุณแม่ควรหลีกเลี่ยงการตอบโต้รุนแรง และอนุญาตให้เขาได้แสดงความคับข้องใจได้ในพื้นที่ส่วนตัว โดยมีข้อแม้ว่าต้องไม่ทำลายข้าวของ ไม่ทำร้ายผู้อื่น และไม่ทำร้ายตนเอง เพียงเท่านี้เราก็สามารถรับมือพายุอารมณ์ของลูกวัยซ่าได้แล้ว

 

เลี้ยงลูกแต่ละวัยมีความยากง่ายแตกต่างกัน ขอเพียงคุณพ่อคุณแม่รู้เขารู้เรา ศึกษาพัฒนาการตามวัยของลูกไว้ก่อน ต่อให้ลูกชวนเรารบร้อยครั้ง เราก็จะยังรับมือได้แบบชิลล์ ๆ ไม่ต้องเหนื่อยกาย เหนื่อยใจ และเหนื่อยอารมณ์แบบที่ผ่านมาแน่นอนค่ะ

 

เรียบเรียง : Tira

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Another Piece
  • 2 Followers
  • Follow