Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

พระจริยวัตร อันงดงามของ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 พระผู้เชียวชาญ ด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

Posted By มหัทธโน | 08 ก.พ. 60
23,559 Views

  Favorite

 

สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ผู้เชียวชาญด้านประวัติศาสตร์ และโบราณคดี ลูกศิษย์หลวงปู่ฝั้น ผู้แสนสมถะ และเพียบพร้อมด้วยพระจริยวัตรอันงดงาม 

ประเทศไทย กำลังจะมีสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ต่อจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

เมื่อ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โปรดเกล้าฯ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามฯ เป็นสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 แล้ว โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จฯ ประกอบพระพิธีสถาปนาในวันที่ 12 ก.พ. 60 ที่วัดพระแก้ว เวลา 17.00 น. 

 

 

 

มาทำความรู้จักพระจริยวัตรอันงดงามของสมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 ของเรากันค่ะ 
แม้ท่านไม่ใช่พระที่เรียนเปรียญธรรมสูง จบเพียงเปรียญธรรม 6 ประโยค แต่ที่ผ่านมา สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 18 (วาสนมหาเถร) ก็จบเปรียญธรรม 4 ประโยค

 

แต่มีคุณสมบัติที่โดดเด่นงดงาม คือ ความเรียบง่าย เคร่งครัดในกฎระเบียบวินัย เที่ยงธรรม และเป็นพระสายปฏิบัติ  

ท่านเคร่งครัดต่อการปฏิบัติกิจของสงฆ์มาก จะถอดรองเท้าตลอด แม้จะเป็นพระในระดับพระราชาคณะ ไม่มีสมบัติพัสถาน ทรงไว้ซึ่งเป็นพระแท้ ไม่มัวหมองเรื่องเงินทอง เวลารับกิจนิมนต์บางครั้งก็เดินทางด้วยรถแท็กซี่ เดินด้วยเท้าเปล่า

 

นับว่าเป็นพระที่มีความเรียบง่าย  เคร่งครัดในกฎระเบียบแต่มีความแช่มช้อย ซึ่งท่านจะไม่ต่อว่าผู้ใด แต่ถึงเวลาจะตัดสินผิดถูก ท่านจะเที่ยงธรรม

ซึ่งที่ผ่านมา เคยมีกรณีพระทำผิดพระธรรมวินัย  แต่ท่านก็ตัดสินความผิดอย่างเที่ยงธรรม ไม่เห็นแก่คนรู้จักหรือฝ่ายเดียวกัน ก่อนหน้านี้ หลายสิบปีมาแล้ว เจ้าประคุณสมเด็จเคยนั่งรถโดยสารตามลำพัง เพื่อตามไปฟังพระธรรมเทศนาของหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ สถานที่ต่าง ๆ ไม่เว้นแม้แต่พื้นที่ห่างไกล


ข้อสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ ท่านเป็นพระที่ทันสมัย โดยเรียนจบปริญญาโท ที่มหาวิทยาลัยพาราณสี ทางด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เป็นผู้ใช้ภาษาอังกฤษได้ดี

ซึ่งทำงานเป็นพระธรรมทูตมาโดยตลอด ซึ่งท่านได้ทำงานสำคัญ คือ การไปช่วยประดิษฐานพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท ที่ประเทศออสเตรเลีย

โดยในช่วงแรก เป็นการไปเผยแผ่ศาสนาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2516 ที่นครซิดนีย์ หลังจากนั้น ได้มีการผลักดันพุทธสมาคม และมีการตั้งพุทธสมาคมขึ้นอีกหลายเมือง อาทิ แคนเบอร์รา เมลเบิร์น ดาร์วิน

 

ซึ่งการวางรากฐานดังกล่าวทำให้พระพุทธศาสนาในประเทศออสเตรเลียมั่นคงเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ และพุทธาวาส ให้กับ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในช่วงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ที่วัดธัมมธโร (แปลว่า ทรงไว้ซึ่งธรรม) ที่กรุงแคนเบอร์รา



 

 

คำบรรยายภาพ :

สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อัมพโร) นำพาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และพุทธศาสนิกชน เข้ากราบนมัสการถวายมุทิตาสักการะแด่ “พระธรรมมงคลญาณ (หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร)”  เนื่องในโอกาสฉลองอายุวัฒนมงคลครบ ๙๓ ปี เมื่อวันจันทร์ที่ ๗ มกราคม พ.ศ. ๒๕๕๖  ณ วัดธรรมมงคล เถาบุญญนนท์วิหาร กรุงเทพมหานคร 

เป็นความงดงามทางจริยวัตรต่อพระสงฆ์ด้วยกัน ว่าจะคำนึงถึงอายุพรรษาเป็นหลัก ไม่ใช่สมณศักดิ์ หรือตำแหน่งทางคณะสงฆ์ หรืออายุขัย  ท่านจึงเป็นฝ่ายนั่งก้มลงกราบหลวงพ่อวิริยังค์ได้อย่างงดงาม

 

พระนามของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

 พระนามของสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20 จะใช้พระนามว่า

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ และต่อท้ายด้วยชื่อเดิม

 

โดยพระนามสมเด็จพระสังฆราช ที่จารึกในพระสุพรรณบัฏ คือ

"สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สุขุมธรรมวิธานธำรง สกลมหาสงฆปริณายก ตรีปิฎกธราจารย อัมพราภิธานสังฆวิสุต ปาพจนุตตมสาสนโสภณ กิตตินิรมลคุรุฐานียบัณฑิต วชิราลงกรณนริศรปสันนาภิสิตประกาศ วิสารทนาถธรรมทูตาภิวุฒ ทศมินทรสมมุติปฐมสกลคณาธิเบศร ปวิธเนตโยภาสวาสนวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิบูลสีลสมาจารวัตรวิปัสสนสุนทร ชินวรมหามุนีวงศานุศิษฎ บวรธรรมบพิตร สมเด็จพระสังฆราช""

ซึ่งเป็นพระนามของสมเด็จพระสังฆราชตั้งแต่สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 1 ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนถึงองค์ที่ 18  

 

หมายเหตุ :

ส่วนสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ซึ่งเป็นสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 19 นั้น มีพระนามแตกต่างจาก 18 องค์ที่ผ่านมา เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 โปรดสถาปนาให้มีชื่อเดิม ก่อนที่จะเป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

ประวัติ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20 


สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) เดิมชื่อ อัมพร ประสัตถพงศ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2470 ณ ตำบลบางป่า อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อนายนับ ประสัตถพงศ์ โยมมารดาชื่อนางตาล ประสัตถพงศ์ ครอบครัวประกอบอาชีพค้าขาย เรียนชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเทวานุเคราะห์ กองบินน้อยที่ 4 ตำบลโคกกระเทียม อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 

การบรรพชาอุปสมบท 
บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อ พ.ศ. 2480 ณ วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระธรรมเสนานี (เงิน นนฺโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ 

ต่อมาได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2491 ณ พัทธสีมาวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระจินดากรมุนี (ทองเจือ จินฺตากโร) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ 

 



การศึกษาพระปริยัติธรรม 
สามเณรอัมพร ประสัตถพงศ์ ไปอยู่จำพรรษาที่วัดตรีญาติ ต.พงสวาย เพื่อศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรม พ.ศ. 2483 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี จากนั้น พ.ศ. 2484 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นโทและ พ.ศ. 2486 สามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และสอบได้เปรียญธรรม 3 ประโยค เมื่อพ.ศ. 2488 สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค 

เมื่อ พ.ศ. 2490 ได้ย้ายมาอยู่จำพรรษา ณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม โดยสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระจินดากรมุนี นำมาฝากกับสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน) สกลมหาสังฆปริณายก 

ภายหลังอุปสมบทเมื่อ พ.ศ. 2491 ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักเรียนวัดราชบพิธฯ จน พ.ศ. 2491 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค และ พ.ศ. 2493 สามารถสอบได้เปรียญธรรม 6 ประโยค 

ต่อมา เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เป็นนักศึกษารุ่นที่ 5 จบศาสนศาสตรบัณฑิต เมื่อปี พ.ศ. 2500 และได้เดินทางไปศึกษาต่อระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี (Banaras Hindu University) ประเทศอินเดีย จบการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2512 ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี 

ปี พ.ศ. 2552 สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ถวายศาสนศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาพุทธศาสตร์ 

ปี พ.ศ. 2553 สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาธรรมนิเทศ[3] 

 



ตำแหน่งปัจจุบัน 
- เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร 
- กรรมการมหาเถรสมาคม 
- กรรมการคณะธรรมยุต 
- กรรมการเถรสมาคมคณะธรรมยุต 
- ที่ปรึกษาเจ้าคณะภาค 14-15 (ธรรมยุต) 
- แม่กองงานพระธรรมทูต 

สมณศักดิ์ 
พ.ศ. 2514 เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระปริยัติกวี 
พ.ศ. 2524 เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชสารสุธี 
พ.ศ. 2533 เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพเมธาภรณ์ 
พ.ศ. 2538 เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมเมธาภรณ์ 
พ.ศ. 2543 เป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองที่ พระสาสนโสภณ 
พ.ศ. 2552 เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ (ข้อมูลจาก-วิกิพีเดีย)

 

 

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
  • Posted By
  • มหัทธโน
  • 4 Followers
  • Follow