Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

รู้มั้ย ทำไมวัยเตาะแตะถึงชอบเหวี่ยงชอบวีน

Posted By Another Piece | 07 ก.พ. 60
5,720 Views

  Favorite

เกือบทุกบ้านจะต้องปวดหัวเพราะเจอกับความเจ้าอารมณ์ของลูกน้อยวัยเตาะแตะ ที่เอะอะอะไรก็ร้องไห้ เหวี่ยง วีน โวยวาย ว่าแต่ลูกของเราเป็นเหมือนลูกบ้านอื่นไหมนะ เราจะมาเผยความลับที่ทำให้เด็ก ๆ วัยนี้มีพฤติกรรมเหวี่ยงวีนกันค่ะ แล้วคุณพ่อคุณแม่จะเข้าใจลูกของเรามากขึ้น

 

"เพราะความกลัว"

ทุกครั้งที่เจ้าตัวน้อยของเราระเบิดอารมณ์ใส่นั่นเป็นเพราะความกลัวและเกิดความคับข้องใจอะไรบางอย่าง เขายังไม่รู้จักวิธีระบายความกลัวและความคับข้องใจนั้นอย่างถูกต้อง ถือเป็นพัฒนาการปกติของเด็ก ๆ วัยนี้ การเหวี่ยงวีนของเด็กจะมีระยะเวลาราว ๆ 10 นาที ซึ่งผู้เชี่ยวชาญศึกษาและวิเคราะห์ออกมา ดังนี้

วินาทีการเหวี่ยงวีนของวัยเตาะแตะ

0 วินาที             เริ่มออกอาการ เตรียมจะแผลงฤทธิ์เดช

30 วินาที           เริ่มกระทืบเท้าหรือแสดงกิริยาไม่พอใจบางอย่าง

90 วินาที           เริ่มกรีดร้อง เตะถีบ โอ๊ย โมโหแบบสุด ๆ ไปเลย

3.30 นาที          เริ่มหมดแรง แล้วก็อยากได้คุณแม่มาปลอบแล้วล่ะ แต่ยังมีฟอร์มหน่อย ๆ

6 นาที              อ้าว ทำเหมือนไม่เคยมีอะไรเกิดขึ้นเสียอย่างนั้น

10 นาที            วิ่งเล่นสบายใจเฉิบ แต่ถ้า...10 นาทีไปแล้ว ลูกของคุณยังไม่สามารถคุมอารมณ์ตัวเองลงได้ละก็

                      ต้องปรึกษาคุณหมอแล้วล่ะ

 

ภาพ : Shutterstock

 

"สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่"

สมองส่วนหน้าที่ทำหน้าที่เรื่องควบคุมอารมณ์และพัฒนาการทางสังคมจะพัฒนาเต็มที่เมื่อตอนอายุ 4 ขวบ การที่เด็กเตาะแตะจะยังคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้จึงไม่ใช่เรื่องแปลก รวมถึงยังไม่เข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลได้ เหตุการณ์หลาย ๆ อย่างที่เขาพบในชีวิตเป็นสิ่งแปลกใหม่ เริ่มมีกฎเกณฑ์ที่เขาต้องทำตาม มีหน้าที่ที่เขาต้องเริ่มทำ ทำให้เกิดความสับสนและเครียดได้ จึงระบายออกด้วยอารมณ์ เช่น จู่ ๆ ก็กลัวการลงอ่างอาบน้ำ เพราะคิดว่าเขาจะถูกดูดลงไป เลยร้องไห้งอแงไม่ยอมอาบ เป็นต้น

รับมือเมื่อเตาะแตะวีน

            • เมื่อลูกวีนหรือเหวี่ยง เราอย่าเหวี่ยงตาม แต่ให้นิ่งเฉย ทำเป็นไม่สนใจเสีย แล้วลองดูและถามตัวเองว่าลูกทำพฤติกรรมแบบนี้เพราะอะไร

            • ขณะลูกกำลังโมโห การเข้าไปปลอบลูกในทันทีจะยิ่งส่งเสริมพฤติกรรมไม่ดีเช่นนี้มากยิ่งขึ้น ลูกจะไม่ได้เรียนรู้อะไร แต่ควรสนับสนุนพฤติกรรมดี เช่นบอกกับลูกว่า อารมณ์ดี หายโมโหแล้วเราค่อยคุยกัน เราค่อยมากอดกัน แต่ไม่พูดด้วยอารมณ์เด็ดขาด เป็นต้น เมื่อลูกเห็นว่าคุณแม่รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์เขาก็จะค่อย ๆ ซึมซับพฤติกรรมดี ๆ เหล่านั้นในที่สุด

 

การรับมือพายุอารมณ์ของวัยเตาะแตะอาจเหนื่อยและยากเย็น แต่หากคุณพ่อคุณแม่รู้เท่าทันอารมณ์ของลูกและของตัวเอง ก็จะช่วยพัฒนาลูกไปในทางที่ถูกต้องมากขึ้น การโกรธมาโกรธกลับ ลูกก็จะยิ่งโกรธและไม่สามารถระบายความคับข้องใจออกไปได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ต้องอดทนนะคะ แล้ววันหนึ่งจะเห็นดอกผลงาม ๆ งอกเงยให้เชยชมแน่นอนค่ะ

 

ข้อมูลอ้างอิงPatty Onderko. Why Toddlers Throw Temper Tantrums. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2560 จาก http://www.parenting.com/article/toddler-temper-tantrums

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Another Piece
  • 2 Followers
  • Follow