Home
Education
Classroom
Knowledge
Blog
TV
ธรรมะ
กิจกรรม
โครงการทรูปลูกปัญญา

ไขมันเกาะตับในเด็กอ้วน

Posted By Plook Parenting | 02 ก.พ. 60
3,413 Views

  Favorite

ไขมันเกาะตับ เป็นอีกหนึ่งโรคอันตรายที่พบได้ในเด็กอ้วน โดยเกิดจากมีไขมันเข้าไปสะสมในตับปริมาณมาก ซึ่งอาหารที่กินเข้าไปถือว่าเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดโรค โดยเฉพาะอาหารที่มีไขมันสูง ฟาสต์ฟู้ดทั้งหลายที่อุดมไปด้วยแป้ง น้ำตาล น้ำมัน ของทอด ขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน รวมทั้งเครื่องดื่มจำพวก น้ำอัดลม น้ำหวานต่าง ๆ

 

หากร่างกายได้รับไขมันเกินกว่าที่ร่างกายต้องการนำไปใช้เป็นพลังงาน ไขมันที่เหลือนั้นจะเข้าไปอยู่ในเซลล์ตับในปริมาณมากเกินกว่าปกติหรือประมาณ 5-10 % ของตับ ส่วนใหญ่จะเป็นไขมันชนิดไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคไขมันเกาะตับ และหากปล่อยให้ไขมันเกาะตับนานเข้า ก็มีโอกาสเกิดตับอักเสบเรื้อรังและตับแข็งเหมือนผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ซี ได้เช่นกัน

 

อาการ

โรคไขมันเกาะตับ มักไม่มีอาการหรืออาจมีอาการที่ไม่จำเพาะ เช่น ปวดท้อง อ่อนเพลีย ดังนั้นในเด็กอ้วนจึงควรรับการตรวจเพิ่มเติม เพื่อให้ทราบว่ามีไขมันพอกตับ หรือตับอักเสบหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ การตรวจอัลตร้าซาวนด์ตับ ส่วนการวินิจฉัย อาจใช้วิธีการ Ultrasound หรือ Fibroscan ร่วมกับเจาะเลือดดู SGOT SGPT ว่ามีภาวะตับอักเสบร่วมด้วยหรือไม่ ตับอักเสบอาศัยการตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับ (SGOT SGPT) แต่เด็กที่มีไขมันพอกตับร่วมกับตับอักเสบบางคนอาจมีค่าการทำงานของตับอยู่ในระดับปกติได้

 

ภาพ Shutterstock

 

แนวทางการป้องกันและวิธีรักษา

1. ลดน้ำหนัก

เป็นสิ่งที่ควรทำอย่างแรก เพราะนอกจากจะช่วยให้ไขมันที่สะสมในร่างกายลดลงแล้ว ยังเป็นการไม่นำไขมันเข้าไปเพิ่มในร่างกายอีก

 

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง

คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจในการเลือกอาหารให้ลูก และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกิน โดยเน้นผัก ผลไม้ โปรตีน แป้งได้บ้างแต่ต้องไม่มากเกินไป หลัก ๆ คือเลี่ยงอาหารไขมันสูง ของทอด ปิ้งย่างทั้งหลาย รวมถึงขนม ของหวาน และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล

 

3. หากิจกรรมที่ได้เคลื่อนไหวร่างกายให้ลูกทำ

ส่วนใหญ่เด็กอ้วนมักไม่ชอบออกกำลังกาย เพราะกลัวเหนื่อยและเคลื่อนไหวร่างกายไม่คล่องแคล่ว คุณพ่อคุณแม่จึงควรหากิจกรรมอะไรก็ได้ที่ทำให้เด็กได้ขยับตัวเคลื่อนไหวร่างกายบ้าง อาจเป็นกิจกรรมง่าย ๆ เช่น พาไปเดินเล่นสวนสาธารณะ เล่นเครื่องเล่นเด็ก หรือหากิจกรรมอื่น ๆ ที่เขาชอบแทนการนั่งเล่นเกมส์หรือนอนดูโทรทัศน์ โดยไม่บีบบังคับมากเกินไป เพราะอาจทำให้เด็กรู้สึกเบื่อ จนทำให้ต่อต้านได้

 

4. ปรึกษาแพทย์

หากเด็กมีน้ำหนักเกินกว่าเกณฑ์หรือเข้าขั้นเสี่ยงเป็นโรคอ้วนแล้ว คุณพ่อคุณแม่ควรพาไปพบแพทย์เพื่อขอคำแนะนำในการดูแล ทั้งเรื่องอาหารการกินและการออกกำลังที่เหมาะสมกับเด็ก

 

ในปัจจุบันยาที่ใช้รักษาไขมันพอกตับในเด็กยังมีจำกัดและยังต้องรอดูผลในระยะยาว ดังนั้นจึงควรป้องกันโดยให้การวินิจฉัยไขมันพอกตับแต่แรกเริ่มในเด็กอ้วน และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินและการใช้ชีวิตของเด็กให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยป้องกันและลดโอกาสการเกิดโรคได้ดีที่สุด

 

เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญาดอทคอมเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เผยแพร่ความรู้เพื่อประโยชน์ของสังคม ข้อความและรูปภาพที่ปรากฏในบทความเป็นการเผยแพร่โดยผู้ใช้งาน หากพบเห็นข้อความและรูปภาพที่ไม่เหมาะสมหรือละเมิดลิขสิทธิ์ กรุณาแจ้งผู้ดูแลระบบเพื่อดำเนินการต่อไป
Tags
  • Posted By
  • Plook Parenting
  • 8 Followers
  • Follow